เส้นทางรวย 'หมอเสริฐ' นักเทคโอเวอร์มือฉมัง ก่อนโดน ก.ล.ต.สั่งฟัน 'ปั่นหุ้น'
"...ผลจากการที่ “หมอเสริฐ” นักกว้านซื้อกิจการตัวยง หนุนส่งให้บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือไล่เทคโอเวอร์กิจการโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ส่งผลให้ปัจจุบัน”อาณาจักรกรุงเทพดุสิตเวชการ” เป็นเจ้าของเครือโรงพยาบาล 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ,กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช ,โรงพยาบาลบี เอ็น เอช ,กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ,กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล และกลุ่มโรงพยาบาลรอยัล ... ไม่เพียงเท่านั้น ในขณะที่ธุรกิจโรงพยาบาลและสายการบินที่อยู่ในการครอบครองของ “หมอเสริฐ” กำลังไปได้ด้วยดี แต่แล้วในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หรือในปี 2556 “หมอเสริฐ” ได้บุกเบิกเข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจทีวีดิจิทัล และเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ PPTV ช่อง 36 หลังจากบริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ชนะประมูลช่องโทรทัศน์หมวดทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) ด้วยราคา 3,460 ล้านบาท..."
สร้างความตกตะลึงกันไปทั้งวงการตลาดหุ้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ดำเนินคดีด้วยลงโทษทางแพ่งกับ “หมอเสริฐ” น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ , “หมอปุย” พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ลูกคนที่สามของหมอเสริฐ และนางนฤมล ใจหนักแน่น กรณีสร้างราคาหลักทรัพย์ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA โดยเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่งเป็นเงินสูงถึง 499.45 ล้านบาท
พร้อมกันนั้น ก.ล.ต.ยังสั่งห้ามทั้ง 3 คน เป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ และบริษัทจดทะเบียนอีกด้วย(อ่านประกอบ : ก.ล.ต.ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง 'หมอเสริฐ' ปรับ499 ล. - ห้ามเป็นกก.บริษัทจดทะเบียน)
เมื่อตรวจสอบข้อมูลแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของผู้บริหาร (แบบ 59) ของก.ล.ต. พบว่า ตั้งแต่ 13 พ.ย.2558 ถึง 12 ม.ค.2559 เฉพาะ “หมอเสริฐ” คนเดียว เข้าซื้อหุ้นบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 25 ครั้ง ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2558 จำนวน 1.8 ล้านหุ้นที่ราคาหุ้นละ 20.50 บาท และซื้อหุ้นต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2559 เข้าซื้อหุ้นอีก 5.59 ล้านหุ้นที่ราคาหุ้นละ 24.88 บาท
สำหรับการเข้าซื้อหุ้น 25 ครั้งดังกล่าว “หมอเสริฐ” เข้าซื้อหุ้นรวม 97,874,200 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 22.61 บาท/หุ้น โดยใช้เงินซื้อหุ้น 2,241,418,095 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หมอเสริฐ ได้โอนหุ้นให้กับลูกสาว คือ นางอาริญา ปราสาททองโอสถ จำนวน 2 ครั้ง จำนวน 76,000,0000 หุ้น (อ่านตารางประกอบ 1)
“หมอเสริฐ” น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ
ปัจจุบัน “หมอเสริฐ” ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด มหาชน (BDMS) เครือโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นเจ้าของและผู้บริหารบริษัททั้งในและนอกตลาดหุ้นหลายแห่ง ทั้งธุรกิจสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” สถานีโทรทัศน์ PPTV ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ทและห้องชุด ธุรกิจร้านขายปลีกผลิตภัณฑ์งานฝีมือคนไทยและของที่ระลึก
“หมอเสริฐ” ถือเป็นบุุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในวงการตลาดหุ้น ในฐานะเศรษฐีหุ้นอันดับ 1 ของเมืองไทย โดยเป็นเศรษฐีหุ้นอันดับ 1 ครั้งแรกเมื่อปี 2556 โดยถือครอบหุ้นมูลค่า 36,596 ล้านบาท และในเดือน ธ.ค.2561 ที่ผ่านมา วารสารการเงินธนาคาร จัดอันดับ “หมอเสริฐ” เป็นแชมป์เศรษฐีหุ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 6 โดยถือครองหุ้นคิดเป็นมูลค่า 77,129 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 13,602 ล้านบาท หรือรวยขึ้น 21.41% เมื่อเทียบกับปี 2560
ทั้งนี้ “หมอเสริฐ” ถือครองหุ้นใน 4 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) โดยถือหุ้นอันดับ 1 สัดส่วน 18.47% มูลค่า 73,786.86 ล้านบาท 2.บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นสัดส่วน 10.61% มูลค่า 2,985.22 ล้านบาท 3.บริษัท โรงพยาบาลนนทเวช จำกัด (มหาชน) หรือ NTV ถือหุ้นสัดส่วน 0.79% มูลค่า 75.48 ล้านบาท และ 4.กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย (SPF) มูลค่า 281.75 ล้านบาท
“หมอเสริฐ” ยังติดอันดับ 50 เศรษฐีไทย ซึ่งการจัดอันดับเศรษฐีไทยประจำปี 2561 โดยนิตยสาร “Forbe Thailand” ปรากฎว่า “หมอเสริฐ” ร่ำรวยเป็นอันดับที่ 8 ของประเทศ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 1.047 แสนล้านบาท
ที่มา : นิตยสาร Forbes Thailand
สำหรับเส้นทางธุรกิจนั้น “หมอเสริฐ” เกิดเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2476 ปัจจุบันอายุย่าง 86 ปี บ้านเกิดอยู่ จ.พระนครศรีอยุธยา จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช เมื่อปี 2501 และทำงานเป็นศัลยแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราช เป็นเวลา 5 ปี ก่อนจะออกมาตั้ง บริษัท กรุงเทพสหกล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะงานก่อสร้างที่สนามบินอู่ตะเภา ในสมัยที่สหรัฐมาตั้งฐานทัพในประเทศไทยช่วงสงครามเวียดนาม
ขณะเดียวกัน “หมอเสริฐ” ยังรับงานเป็นที่ปรึกษาบริษัท ยูเนี่ยนออยส์ (ภายหลังชื่อว่า บริษัท ยูโนแคลไทยแลนด์ จำกัด และเปลี่ยนมาเป็นบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด) โดยทำหน้าที่ประสานงานกับสหรัฐเกี่ยวกับการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในประเทศไทย พร้อมทั้งก่อตั้ง บริษัท ไทยปิโตรเลียมเซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านกำลังคนและเครื่องจักรแก่บริษัทสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน
ปัจจุบันบริษัทบริษัท ไทยปิโตรเลียมเซอร์วิส จำกัด ยังเปิดดำเนินการอยู่ แต่เปลี่ยนไปประกอบธุรกิจบริการใช้ท่าเรือ จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์
เรียกได้ว่าเส้นทางอาชีพที่ “หมอเสริฐ” เลือกเดินในวัยหนุ่ม แตกต่างอย่างสิ้นเชิงในกับอาชีพดั่งเดิมของครอบครัวที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเวชกรรมโอสถ คือ “ยาหอม” โดยมีโรงงานผลิตและจำหน่าย “ยาหอมปราสาททอง” และ “ยาหอมอินแท่งทอง” บริเวณแยกพลับพลาไชย กรุงเทพฯ
ต่อมาในปี 2511 “หมอเสริฐ” เข้าสู่ธุรกิจสายการบิน โดยจัดตั้งแผนกการบินภายใต้ชื่อ “สหกลแอร์” ภายใต้บริษัท กรุงเทพสหกล จำกัด ให้บริการเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำกับกองทัพสหรัฐ และจ้างเหมาบินสำรวจอ่าวไทยและบนบกให้กับบริษัทน้ำมันต่างชาติเป็นหลัก
ก่อนจะแยกแผนกออกมาตั้งเป็น บริษัท สหกลแอร์ จำกัด ในปี 2527 และเปิดให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ หลังกระทรวงคมนาคมมีนโยบายเปิดให้สายการบินแบบเช่าเหมาลำเข้ามาให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ โดยเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ กรุงเทพ-โคราช และกรุงเทพ-สุรินทร์ เมื่อ 20 ม.ค.2529 และเปิดเที่ยวบิน กรุงเทพ-กระบี่ และกรุงเทพ-สมุย ในเวลาต่อมา จากนั้นปี 2532 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด ผู้ให้บริการสายการบิน “บางกอกแอร์เวร์ส”
ขอบคุณภาพ : นิตยสารแพรว
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสายการบินของ “หมอเสริฐ” ก้าวเข้าสู่ยุครุ่งโรจน์ คือ การเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะสมุย หลังรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาเกาะสมุยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวนานาชาติ ประกอบกับบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด เปิดให้บริการสนามบินสมุย สนามบินเอกชนแห่งแรกซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่ 250 ไร่ หลังจากบริษัทได้รับอนุญาตจากภาครัฐให้เริ่มก่อสร้างในปี 2527 และเปิดให้บริการในปี 2532 หรือในอีก 5 ปีต่อมา
เส้นทางบินกรุงเทพ-สมุย สร้างผลกำไรให้กับทางบริษัทในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แม้จะแลกมาด้วยการหาเงินมาลงทุนสร้างสนามบินสมุยกว่า 200 ล้านบาทในสมัยนั้น จากนั้น “หมอเสริฐ” นำบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนพ.ย.2557 ส่งผลให้ในการจัดอันดับเศรษฐีหุ้นปี 2558 บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ทำให้ความมั่งคั่งของหมอเสริฐเพิ่มขึ้นถึง 7,545 ล้านบาท
ข้อมูล ณ ปี 2560 สายการบินบางกอกแอร์เวร์ส มีผู้โดยสาร 5.94 ล้านคน และสนามบินสมุยมีผู้โดยสารมาใช้บริการ 1.3 ล้านคน ขณะที่บริษัทมีรายได้รวม 29,309 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 787 ล้านบาท โดยมีสินทรัพย์รวม 57,941 ล้านบาท เมื่อหักลบกับหนี้สินที่มีอยู่ 29,556 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 28,313 ล้านบาท
ที่มา : Bangkok Airways
ล่าสุดบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันมี “กัปตันเต๋” พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ลูกชายคนโตของ “หมอเสริฐ” เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ได้จับมือกับพันธมิตรต่างชาติเข้าร่วมประมูลสัมปทานบริหารร้านค้าปลอดภาษีอาการ (ดิวตี้ฟรี) ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งสัญญาณสัมปทานเดิมจะสิ้นสุดลงในเดือนก.ย.2563 โดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะเปิดประมูลสัมปทานดังกล่าวในช่วงต้นปี 2562
“กัปตันเต๋” พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ
ส่วนการเข้าสู่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน และเป็นธุรกิจหลักที่สร้างความมั่งคั่งอย่างมหาศาลให้กับ “หมอเสริฐ” นั้น เริ่มต้นในปี 2512 โดย “หมอเสริฐ” ร่วมกับพรรคพวก ก่อตั้ง บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2512 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท และเปิดให้บริการโรงพยาบาลกรุงเทพ ในเดือน ก.พ.2515 และนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนต.ค.2534 ก่อนจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในปี 2537 จนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป และสามารถรอดพ้นวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มาได้ กระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อปี 2546-2547 เป็นต้นมา หลังจากรัฐบาลเดินหน้านโยบาย “เมดิเคิลฮับ” หรือการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการรักษาพยาบาล ส่งผลให้ชาวต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
เมื่อเห็นโอกาสสร้างกำไรมหาศาลจากนโยบายเมดิคัลฮับ “หมอเสริฐ” และบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ขยายสาขาโรงพยาบาลที่ตัวเองมีอยู่ และเริ่มกว้านซื้อและควบรวมกิจการกับเครือโรงพยาบาลต่างๆ
เริ่มจากการเข้าซื้อ บริษัท โรงพยาบาลกรุงธน จำกัด (มหาชน) ในปี 2553 ตามมาด้วยการเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลทั้งหมดในเครือพญาไท และเครือโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล จากบริษัท เฮลท์ เน็ตเวิร์ค จากกลุ่มของนายวิชัย ทองแดง เป็นเงิน 9,825 ล้านบาท ในปี 2554 ซึ่งถือเป็นดีลซื้อโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย และต่อมาได้เข้าเทคโอเวอร์โรงพยาบาลเมโย ด้วยเม็ดเงิน 1,390 ล้านบาท
ในขณะที่การซื้อกิจการครั้งใหญ่ ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือน ก.ย.2559 โดยคณะกรรมการฯ มีมติให้บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อกิจการโรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ ซึ่งประกอบด้วยตัวอาคารโรงแรม และพื้นที่รวม 15 ไร่ ด้วยเม็ดเงินสูงถึง 10,800 ล้านบาท จากตระกูล “สมบัติศิริ” เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์สุขภาพแบบครบวงจร “BDMS Wellness Clinic” ปิดตำนานแบรนด์ “ปาร์คนายเลิศ” ที่ดำเนินกิจการมานานกว่า 130 ปี
BDMS Wellness Clinic
ผลจากการที่ “หมอเสริฐ” นักกว้านซื้อกิจการตัวยง หนุนส่งให้บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือไล่เทคโอเวอร์กิจการโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ส่งผลให้ปัจจุบัน”อาณาจักรกรุงเทพดุสิตเวชการ” เป็นเจ้าของเครือโรงพยาบาล 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ,กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช ,โรงพยาบาลบี เอ็น เอช ,กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท ,กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล และกลุ่มโรงพยาบาลรอยัล
ล่าสุดปี 2560 มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนของไทย 4.23 ล้านราย จากปี 2545 ที่มีเพียง 6.3 แสนคนเท่านั้น ส่งผลให้เครือกรุงเทพดุสิตเวชการ ซึ่งมีโรงพยาบาลทั้งในและต่างประเทศ 45 แห่ง จำนวน 8,015 เตียง (รายงานประจำปี 2560 บริษัท BDMS) มีมูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 369,787 ล้านบาท (18 ม.ค.2562) จากเมื่อ 50 ปีก่อนที่มีทุนจดทะเบียนเพียง 10 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2561 ที่ผ่านมา บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ขายหุ้นบริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) หรือ RAM ที่ถืออยู่ในสัดส่วน 38.24% ออกไปทั้งหมด และได้เงินมาตุนในกระเป๋า 12,847 ล้านบาท ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก เมื่อคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติกำหนดให้ ยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เข้าเป็นสินค้าและบริการควบคุม
แต่ทว่าจนถึงขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้นำมติ กกร.เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ทำให้เกิดกระแสข่าวกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนวิ่งเต้น “เจรจาต่อรอง” และ “ล็อบบี้” กลุ่มผู้มีอำนาจ เพราะหากยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ กลายเป็นสินค้าควบคุม จะส่งผลกระทบต่อกำไรของกลุ่มโรงพยาบาลอย่างหนัก และแน่นอนว่าจะมีผลกระทบต่อเครือกรุงเทพดุสิตเวชการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไม่เพียงเท่านั้น ในขณะที่ธุรกิจโรงพยาบาลและสายการบินที่อยู่ในการครอบครองของ “หมอเสริฐ” กำลังไปได้ด้วยดี แต่แล้วในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หรือในปี 2556 “หมอเสริฐ” ได้บุกเบิกเข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่ คือ ธุรกิจทีวีดิจิทัล และเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ PPTV ช่อง 36 หลังจากบริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ชนะประมูลช่องโทรทัศน์หมวดทั่วไปแบบความคมชัดสูง (HD) ด้วยราคา 3,460 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของสถานีโทรทัศน์ PPTV ช่อง 36 ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก โดยข้อมูลจากกรมทะเบียนธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด มีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องนับตั้งแต่จดทะเบียนตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2556 โดยปี 2556 มีผลขาดทุน 97 ล้านบาท ปี 2557 มีผลขาดทุน 1,102 ล้านบาท ปี 2558 มีผลขาดทุน 1,799 ล้านบาท ปี 2559 มีผลขาดทุน 1,996 ล้านบาท และปี 2560 มีผลขาดทุน 2,028 ล้านบาท
หรือเท่ากับว่าเพียง 5 ปี ของการเข้าไปลงทุนในธุรกิจทีวีดิจิทัล ปรากฏว่า สถานีโทรทัศน์ PPTV ของ “หมอเสริฐ” มีผลขาดทุนรวมกว่า 7,022 ล้านบาท
แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าการลงทุนธุรกิจทีวีดิจิทัลของ “หมอเสริฐ” และครอบครัวปราสาททองโอสถ จะอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ไปเสียทั้งหมด เพราะในเดือนพ.ย.2559 บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของครอบครัวปราสาททองโอสถ (พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ลูกสาวหมอเสริฐ ถือหุ้น 99.98%) ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เจ้าของสถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิทัลช่อง ONE31 เป็นเงิน 1,905 ล้านบาท
พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ
ดีลซื้อธุรกิจทีดิจิดิจิทัลครั้งนี้ ทำให้ครอบครัวปราสาททองโอสถ กลายเป็นถือหุ้นใหญ่ของสถานีโทรทัศน์ช่อง ONE31 โดยถือหุ้นในสัดส่วน 50% ส่วนบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือ 25.5% และกลุ่มนายถกลเกียรติ วีรวรรณ ลดถือหุ้นเหลือ 24.50%
ข้อมูลล่าสุดปี 2560 ปรากฎว่า บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งครอบครัวปราสาททองโอสถเพิ่งเข้ามาถือหุ้นได้เพียงปีเดียว พลิกกลับมาทำกำไร 123 ล้านบาท หลังจากที่ขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2556 โดยเฉพาะในปี 2557 บริษัท มีผลขาดทุนสูงถึง 2,541 ล้านบาท
เหล่านี้คือเส้นทางธุรกิจที่ยาวนานมากกว่าครึ่งศตวรรรษ และเป็นที่มาของความมั่งคั่งของ “ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” นักเทคโอเวอร์มือฉมัง และนักลงทุนที่เมื่อมองเห็นโอกาสอยู่ที่ใดแล้ว จะไม่ยอมปล่อยโอกาสนั้นให้หลุดมือเป็นอันขาด
(ตาราง 1) รายงานข้อมูลการซื้อ-โอนหุ้นบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ของ น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ระหว่างวันที่ 13 พ.ย.2558 ถึงวันที่ 12 ม.ค.2559
ที่มา : แบบ 59 ก.ล.ต. สำนักข่าวอิศรารวบรวม