ชงสภาองค์กรชุมชน ดึงหมอ-อสม.-อปท.ทำแผนตำบล 5 ปีชี้วัดท้องถิ่นเข้มแข็ง
นักกม.เสนอ อปท.จับมือชุมชน ถอดปมกระจายอำนาจพื้นที่ นักการศึกษาแนะสภาองค์กรชุมชนคุมการเมืองท้องถิ่น ชวนชาวบ้านร่วมจับตาแก้รัฐธรรมนูญหมวดสิทธิรากหญ้าไม่ให้ถอยหลังลงคลอง
เร็วๆนี้ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานกรรมการพอช. กล่าวในเวทีเสวนาสืบทอดอุดมการณ์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมถึงการสร้างความเข้มแข็งชุมชนฐานรากว่า การปฏิรูปประเทศไทยต้องสร้างฐานรากโดยให้มีตัวแทนทุกภาคส่วนดึงหมอพยาบาล อสม. ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วม ทำแผนในระยะเวลา 5 ปีจากนั้นก็ถอดแผนเป็นโครงการ นำไปสู่การปฏิบัติพัฒนาไปสู่อนาคตและทำให้ตรงกับปัญหาในพื้นที่
“ตัวชี้วัดความเข้มแข็งคือแผนพัฒนาของชุมชน การพัฒนาถ้าไม่มีแผนก็ทำไม่สำเร็จ จากการติดตามดูในเกือบทุกตำบลท้องถิ่นไม่เคยมีแผนพัฒนามีแต่โครงการ ซึ่งมีความไม่แน่นอนเปลี่ยนได้ตลอดเมื่อผู้บริหารเปลี่ยน การทำให้เข้มแข็งทุกตำบลต้องมีแผนชุมชนกำหนดทิศทาง เช่นเดียวกับการปฏิรูปประเทศถ้าประชาชนไม่ร่วมไม่มีทางสำเร็จ”
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎมาย กล่าวว่า สภาองค์กรชุมชนต้องตรวจสอบการพัฒนาของรัฐที่มาจากข้างบนส่งผลกระทบชุมชน รวมทั้งเรื่องการขัดแย้งในการจัดการทรัพยากร ต้องเป็นอิสระทางการเมือง เนื่องจากปัจจุบันพูดได้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถูกรัฐบาลยึดครองงบประมาณ ถูกส่วนกลางจัดการทุกอย่าง ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศต้องผนึกกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องช่วยทำให้องค์กรส่วนท้องถิ่นมีพลังขึ้นเพราะลำพังองค์กรท้องถิ่นทำไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงให้เป็นจังหวัดปกครองตนเอง รวมทั้งระยะข้างหน้าสภาองค์กรชุมชนจำนวนกว่า 3,000 แห่ง ต้องรักษาสถานภาพให้มีพลังถ้ามีอุปสรรคใหญ่ต้องมองไปข้างหน้าร่วมกัน
“กระแสการกระจายอำนาจเป็นการพัฒนาที่สำคัญที่สุด ถ้ายึดกุมได้ก็ทำให้ประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง เป็นการกระจายอำนาจที่ถึงมือประชาชน ถ้าอำนาจตัดสินใจอยู่ที่ประชาชนก็สามารถตอบโจทย์ปัญหาต่างๆได้ ไม่ใช่ประชาธิปไตยกับการแก้ปัญหาไม่เคยไปด้วยกันสักที”
ขณะที่นายชัชวาล ทองดีเลิศ นักพัฒนาองค์กรเอกชน กล่าวถึงกระบวนการทำชุมชนเข้มแข็งว่า กระบวนการโลกาภิวัฒ์มาพร้อมกับอำนาจรัฐแบบแนวดิ่งจากบนลงล่าง การแก้ปัญหาแบบแยกส่วน ทำให้ชุมชนอ่อนแอ องค์กรชุมชนจึงพยายามสร้างความสัมพันธ์แนวราบ เป็นประชาธิปไตยแบบฐานรากดึงเอาพลังท้องถิ่นขึ้นมา จากวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งเป็นสิทธิโดยธรรมชาติที่ชาวบ้านจะลุกขึ้นมาดูแลตนเอง สร้างการมีส่วนร่วมทุกระดับ ร่วมกำหนดทิศทางประเทศ ตรวจสอบนโยบายรัฐซึ่งต้องเชื่อมพลังทุกกลุ่ม สร้างพลังทางปัญญา กำหนดทิศทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับแต่ละท้องถิ่น จัดการตนเองทุกระดับ คลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดจากการเมืองท้องถิ่น ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกกต.ฝ่ายเดียว
“มีการนำแนวทางสภาองค์กรชุมชนไปออกแบบจังหวัดจัดการตนเอง เช่น จังหวัดเชียงใหม่ถ้าจะขยับไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย องค์กรท้องถิ่นต้องจัดการเรื่องการคลังที่ปัจจุบันเก็บภาษีให้ส่วนกลาง จากนั้นก็รอให้ส่วนกลางจ่ายกลับมาประมาณ 25 % ถ้าเป็นแบบนี้ไม่มีทางเติบโต ต่อไปท้องถิ่นเก็บเองทั้งหมดและค่อยจัดสรรส่งให้ส่วนกลาง 30% ซึ่งสภาองค์กรชุมชนทั้งระดับจังหวัดและระดับชาติต้องผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อร่วมวางแผนพัฒนาให้มากถ้าไม่ทำชุมชนจะเป็นผู้ถูกกระทำไม่รู้จบ”
ที่มาภาพ : http://ccnn01.wordpress.com/2011/09/05/%E0%B8%9E%E0%B8%AD%E0%B8%8A/