คำต่อคำ #2 ‘ปรีชา’ ยันนาฬิกาหรู 'บิ๊กป้อม' เทียบคดีรถโฟล์คตู้ ‘สุพจน์’ ไม่ได้ (ดูคลิป)
‘ปรีชา’ ยันนาฬิการหรู 'บิ๊กป้อม' เทียบคดีรถโฟล์คตู้ ‘สุพจน์’ ไม่ได้ เพราะลักษณะต่างกัน เผยพยานหลักฐานทั้งหมดชี้เป็นของ 'ปัฐวาท ศรีสุขวงศ์' ผู้เสียชีวิต ระบุอุปนิสัยชอบสะสม เอื้อเฟื้อให้เพื่อนฝูงหยิบยืม
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันอิศรา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดกิจกรรมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบบรรณาธิการสื่อ โดยมีบางช่วงบางตอน บรรณาธิการสื่อหลายสำนัก ซักถามคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถึงสาเหตุในการตีตกคดีนาฬิกาหรู ที่มีการกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ซึ่งสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รวบรวมเหตุผลของกรรมการ ป.ป.ช. เเต่ละคนมาเสนอ
โดยในวันนี้ คือ นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. (ทำหน้าที่ประธานชั่วคราวในที่ประชุมวันลงมติคดีนาฬิกาหรู เนื่องจาก พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ถอนตัว)
นายปรีชา ยอมรับว่าผมเป็นหนึ่งในเสียงข้างมาก และการพิจารณากรณีนี้ เป็นเรื่องพยานหลักฐานที่ปรากฏกับบุคคลที่ให้การ ทั้งหมดยืนยันว่า ตัวนาฬิกาเป็นของผู้เสียชีวิต (นายปัฐวาท ศรีสุขวงศ์) เมื่อตรวจสอบในเรื่อสภาพฐานะ หรือความเป็นอยู่ พบข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียชีวิตชอบสะสมเรื่องนี้ มีอุปนิสัยเอื้อเฟื้อให้เพื่อนฝูงหยิบยืมของ จากการตรวจสอบบ้าน ผ่านการร่วมมือจากทายาท แสดงให้เห็นถึงทุนทรัพย์ในส่วนของนาฬิกาหรูว่ามีถึง 137 เรือน โดยจำนวน 22 เรือนที่เป็นประเด็นก็รวมอยู่ในนี้ด้วย
ส่วนขั้นตอนพิสูจน์ที่มาที่ไปของนาฬิกาหรูว่าใครเป็นผู้ครอบครอง เมื่อพบข้อเท็จจริงแล้วว่า ผู้เสียชีวิตเป็นคนชอบสะสมนาฬิกาหรู เมื่อเชื่อในลักษณะอย่างนั้น แต่ว่ากรณีนี้จะตรวจสอบต่อไปได้หรือไม่ กลายเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะ พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาฯ ที่ขอความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยต่างประเทศตอบกลับมาตามที่เลขาธิการ ป.ป.ช. ชี้แจง คือ ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เพราะไม่ได้เป็นคดีอาญาที่เกี่ยวกับการทุจริต แต่เป็นกรณีตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ในเมื่อไม่มีหลักฐานจากต่างประเทศ และข้อกฎหมายที่จะไปต่อได้ เพราะฉะนั้นเสียงข้างมากจึงเห็นว่า ควรจะหยุดเพียงเท่านี้ เพราะหยานหลักฐานไปต่อไม่ได้ ส่วนข้างน้อยเห็นว่า ยังมีบางประเด็นที่ตรวจสอบเชิงลึก และหารายละเอียดได้อยู่ จนอาจมีมูลไต่สวนได้ เป็นเรื่องความเห็นที่แตกต่างกัน
ส่วนในเรื่องการเปรียบเทียบกับกรณีการครอบครองรถโฟล์คตู้ของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจนเป็นที่ยุติแล้วว่า เงินและรถคันดังกล่าวเป็นของนายสุพจน์ นอกจากนี้ศาลฎีกา พิพากษาในคดีแพ่งด้วยว่า นายสุพจน์ร่ำรวยผิดปกติ เนื่องจากได้รับรถมาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
จุดต่างคือ ลักษณะการครอบครองหรือได้มาต่างกัน คือ กรณีรถโฟล์คตู้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายสุพจน์ครอบครองต่อเนื่องระหว่างปี 2552-2554 จนกระทั่งถึงวันทีเกิดเหตุการณ์ปล้นบ้าน และเงินที่จัดซื้อจัดหา ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักธุรกิจที่ให้เงินไป พบว่า นายสุพจน์ เป็นผู้เลือกรุ่น เลือกสี และที่สำคัญครอบครองเป็นเวลาถึง 2 ปี 4 เดือน และเลขรถ ตรงกับเลขทะเบียนบ้านของนายสุพจน์ รวมถึงการบำรุงรักษาที่ใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน นี่เป็นเรื่องที่นำคำพิพากษามาเทียบกับกรณีนาฬิกาหรู ที่พบว่า ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน
ยืนยันว่า ในการพิจารณา เป็นไปโดยอิสระ ไม่มีอะไรกดดัน ขณะเดียวกันหากชี้แจงมากอาจกลายเป็นการแก้ตัวของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอาจกระทบกับครอบครัว ดังนั้นจึงกราบเรียนให้ทราบว่า พิจารณาด้วยพยานหลักฐานเท่าที่มี ส่วนข้างน้อยยืนยันว่าควรตรวจสอบต่อไป เพราะไม่มีอะไรชัดเจน ก็เป็นดุลพินิจของแต่ละคน
อ่านประกอบ : เลขาฯ ป.ป.ช.เล่ายิบ เบื้องหลังเหตุผลตีตกคดีนาฬิกาหรู‘บิ๊กป้อม’? (ดูคลิป)
ป.ป.ช.จ่อใช้วิธีถ่ายรูป-พิมพ์มือผู้ถูกกล่าวหา ลั่นเคลียร์คดีการเมืองให้หมดในปี’64
คำต่อคำ! เลขาฯ-กก.ป.ป.ช.เล่ายิบ เบื้องหลังเหตุผลตีตกคดีนาฬิกาหรู‘บิ๊กป้อม’?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/