เหยื่อข่าวออนไลน์กับสิทธิที่จะถูกลืม
“ สิทธิที่จะถูกลืม คือ เวอร์ชั่นที่พัฒนาแล้วของสิทธิความเป็นส่วนตัว และสิทธิที่จะถูกลืมในโลกดิจิทัลทุกวันนี้ เราจะถูกอดีตของตัวเองตามหลอกหลอนตลอดเวลา”
สิทธิที่จะถูกลืม (right to be forgotten)ได้รับการรับรองจากกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และแตกต่างกันอย่างไรกับสิทธิในความเป็นส่วนตัว (right to privacy)
ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้คำตอบไว้ในเวที Media Forum ครั้งที่ 7 "เหยื่อข่าวออนไลน์กับสิทธิที่จะถูกลืม" จัดโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ The Centre for Humanitarian Dialogue's (HD) ที่จัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้
ขณะนี้สิทธิที่จะถูกลืมไม่มีบทบัญญัติใดๆ ในกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ “ ไม่มีการรับรองสิทธิที่จะถูกลืมโดยตรง” แต่สิทธิที่จะถูกลืม ก็เริ่มปรากฏในกฎหมายของสหภาพยุโรป (EU) 28 ประเทศ ส่วนความแตกต่างระหว่าง สิทธิในความเป็นส่วนตัว กับ สิทธิที่จะถูกลืมนั้น
“สิทธิในความเป็นส่วนตัว” เป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้เปิดเผยสู่สาธารณะ ได้รับการรับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตรา 12 หรือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มาตรา 17 ขณะที่ “สิทธิที่จะถูกลืม” เป็นข้อมูลที่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะไปแล้ว และอยากให้มีการลบข้อมูลออกไป
ดร.ศรีประภา ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงสิทธิที่จะถูกลืมว่า เริ่มเป็นประเด็นใน EU เมื่อมีการฟ้องร้องกูเกิล (Google) ในประเทศสเปน โดยนายมาริโอ คอสเตฮา กอนซาเลส นักธุรกิจชาวสเปน พบว่า มีข้อมูลเกี่ยวกับการประมูลขายบ้าน บนเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง หลังจากที่เขาประสบวิกฤติทางการเงินในอดีต โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเก่า ซึ่งปัจจุบันเขาประกาศขายและใช้หนี้หมดแล้ว ผ่านพ้นวิกฤติทางเศรษฐกิจนั้นได้แล้ว แต่ข้อมูลยังอยู่บนออนไลน์ไปทั่วโลก
เขาร้องเรียนไปที่ศาลที่สเปน ขอให้ช่วยลบข้อมูล แต่ก็ไม่เป็นผล จากนั้นเขาไปที่ศาลยุติธรรมแห่งยุโรป จนตัดสินให้กูเกิลลบข้อมูลออกไป แต่กูเกิลก็ไม่ได้ลบข้อมูลในกูเกิลดอทคอม แปลว่า ข้อมูลยังปรากฏทั่วโลก ถูกลบออกเฉพาะที่ปรากฏใน 28 ประเทศอียูเท่านั้น
“แปลว่า การตัดสินใจลบข้อมูลหรือไม่ลบข้อมูล ขึ้นอยู่กับกูเกิล แม้แต่รัฐก็ไม่มีอำนาจ เจ้าของเว็บไซด์หรือ controller Data ควบคุมข้อมูลทั้งหมดเป็นผู้ตัดสินใจ”
ดร.ศรีประภา ยังให้ข้อมูลอีกว่า ที่ผ่านกูเกิ้ลถูกร้องให้ลบข้อมูลออก 1.3-1.7 ล้านเรื่อง (2015) แต่กูเกิ้ลพิจารณา "ยอมลบ" ข้อมูลออกแค่ 41% เท่านั้น ที่เหลือเขาเห็นว่า ไม่ควรลบออก
ในมุมของกฎหมายกับความเป็นส่วนตัว และสิทธิที่จะถูกลืม อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า สิทธิความเป็นส่วนตัว เป็นคำที่ค่อนข้างกำกวม และเป็นคำที่เราไม่แน่ใจหมายถึงอะไรกันแน่ บ้างก็ว่า คือ สิทธิที่จะอยู่คนเดียว สิทธิที่จะเก็บรักษาความลับของตนเอง และสิทธิการควบคุมข้อมูลของเราจะถูกนำไปใช้อย่างไร หรือเผยแพร่สู่บุคคลที่สามอย่างไร
“หากจะถามว่า สิทธิที่จะถูกลืม คืออะไร ก็จะบอกว่า สิทธิที่จะถูกลืม คือ เวอร์ชั่นที่พัฒนาแล้วของสิทธิความเป็นส่วนตัว และสิทธิที่จะถูกลืมในโลกดิจิทัลทุกวันนี้ เราจะถูกอดีตของตัวเองตามหลอกหลอนตลอดเวลา”
สำหรับการทำงานของสื่อ อาจารย์ฐิติรัตน์ มีข้อเสนอว่า ทุกวันนี้มีข้อมูลที่ถูกปล่อยออกมาอย่างผิดพลาด ชื่อจริงที่ไม่ควรปล่อย ที่อยู่ของเหยื่ออาชญากรรม ไม่ควรออกไป ซึ่งสร้างความเสียหายร้ายแรงกว่ายุคอนาล็อก ฉะนั้น สื่อหลักต้องเป็นผู้นำในการกรองข้อมูล หรือหากพลาดไปแล้ว ก็ต้องนำข้อมูลตรงนี้ออก โดยการร่วมมือกันลบข้อมูลเหล่านี้ออกจากพื้นที่สาธารณะ หรือทำให้เข้าถึงยากขึ้น
อาจารย์ฐิติรัตน์ ยังยกตัวอย่าง กรณีเด็กหายไปจากบ้าน ในหลายๆ ประเทศจะใช้วิธีการแบ่งว่า หากเด็กหายตัวไปและเกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศจะไม่เปิดเผยชื่อจริง โดยใช้เป็นข้อมูลอื่นๆ แทน เช่น วัน เวลาที่หายไป เพื่อให้ส่งข้อมูลกลับมาให้ตำรวจได้ เป็นต้น หรือบางประเทศมีกฎหมายชัดเจน เหยื่ออาชญากรรมที่เป็นเด็กจะมีกฎหมายกลางออกมาชัดเจนห้ามเปิดเผยชื่อต่อสาธารณชน
ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตั้งเป็นคำถามว่า สิทธิที่จะถูกลืม ใครควรตัดสิน ข้อมูลนี้ควรถูกลืม อันนี้ยากมาก แต่สมมุติว่า เรามีกรรมการ มีศาลตัดสิน ต่อให้มีปัญหาก็ยังไม่จบ มีคำถามต่อไปว่า ใครมีหน้าที่ต้องปฏิบัติบ้าง สื่อมวลชน เว็บข่าว กูเกิล
"คนเป็นเจ้าของเนื้อหาลบมากน้อยแค่ไหน ลบพารากราฟ ลบทั้งข่าว ลบทั้งหน้า หรือกรณีสถานีโทรทัศน์ ไม่ได้นำเสนอข้อมูล ใครมีภาระต้องทำ และจะมีความยากมากกว่านี้อีก ยุคนี้มีเทคโนโลยี AI และ Blockchain "
ดร.ภูมิ ชวนให้คิดเพิ่มเติม อย่าง Blockchain สั่งแล้วลบไม่ได้ จะทำอย่างไรแปลว่า ต่อไปนี้ใครก็ตามแต่อยากทำให้ข้อมูลของคนอื่นไม่สามารถถูกลบได้ ก็เอาไปไว้ที่ Blockchain ก่อน หากลบไม่ได้เราจะจัดการข้อมูลเหล่านั้นอย่างไร