ปชช. 53.31% ระบุได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองใน กทม.
นิด้าโพลเผย ประชาชน 53.31% ระบุได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพ แนะกรมควมคุมมลพิษต้องรับผิดชอบและแก้ไขปัญหา
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ปัญหาฝุ่นละอองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16 – 17 มกราคม 2562 กรณีศึกษาจากประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,253 หน่วยตัวอย่างเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละอองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลการสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล”ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (SimpleRandom Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.31 ระบุว่า ได้รับผลกระทบ ขณะที่ร้อยละ 46.69 ระบุว่า ไม่ได้รับผลกระทบ ในจำนวนผู้ที่ระบุว่าได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.05 ระบุว่า หายใจไม่สะดวก รองลงมา ร้อยละ 41.47 ระบุว่า แสบจมูก ร้อยละ 24.10 ระบุว่า ระคายเคืองตา ร้อยละ 10.18 ระบุว่า ไอ จาม เจ็บคอ แสบคอ ร้อยละ 9.43 ระบุว่า คันตามร่างกาย และร้อยละ 2.54 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เป็นหวัด น้ำมูกไหล และทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ค่อยดี
สำหรับหน่วยงานที่ต้องออกมารับผิดชอบในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.31 ระบุว่า กรมควบคุมมลพิษ รองลงมา ร้อยละ 45.97 ระบุว่า หน่วยงานกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 30.49 ระบุว่า กรมการขนส่งทางบก ร้อยละ 30.41 ระบุว่า กรมอนามัย/กรมการแพทย์/กรมควบคุมโรค ร้อยละ 22.67 ระบุว่า องค์การการขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ร้อยละ 20.75 ระบุว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร้อยละ 17.72 ระบุว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร้อยละ 13.97 ระบุว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ร้อยละ 1.68 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม ขณะที่บางส่วนระบุว่า รัฐบาล และร้อยละ 0.88 ระบุว่า ไม่แน่ใจ
ด้านสาเหตุของปัญหาฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.05 ระบุว่า รถประจำทาง/รถบรรทุก/รถปิกอัพที่ปล่อยควันดำ รองลงมา ร้อยละ 29.77 ระบุว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้า/ใต้ดิน/ตึก/อาคาร ร้อยละ 11.33 ระบุว่า โรงงานอุตสาหกรรม ร้อยละ 9.66 ระบุว่า รถยนต์ส่วนบุคคล/แท็กซี่/รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 4.23 ระบุว่า การเผาขยะในที่โล่งแจ้ง ร้อยละ 0.80 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ขณะที่บางส่วนระบุว่า เกิดจากการทำลายสิ่งแวดล้อม ตัดต้นไม้ และร้อยละ 0.16 ระบุว่า ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ของภาครัฐ/รัฐบาล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.63 ระบุว่า ควบคุมมาตรฐานและตรวจวัด ค่าฝุ่นละอองในทุก ๆ ที่ ที่มีการก่อสร้าง ไม่ให้ค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน รองลงมา ร้อยละ 33.52 ระบุว่า การจัดการจราจรที่ดี ไม่ให้เกิดปัญหารถติด สาเหตุของการเกิดมลพิษบนท้องถนน ร้อยละ 28.81 ระบุว่า ให้มีมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละอองอย่างจริงจัง ร้อยละ 24.34 ระบุว่า อนุมัติการก่อสร้างขนาดใหญ่ ให้เริ่มสร้างทีละโครงการทีละจุด ไม่เริ่มก่อสร้างพร้อม ๆ กัน ร้อยละ 22.59 ระบุว่า รณรงค์ลดการใช้รถส่วนตัว หันมาใช้การเดินทางด้วยขนส่งมวลชน ร้อยละ 15.00 ระบุว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น เพื่อดูดซับ และลดผลกระทบจากมลพิษในอากาศ ร้อยละ 10.38 ระบุว่า แจกมาส์กปิดจมูกที่สามารถกันฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 ได้ ร้อยละ 7.18 ระบุว่า หยุดโรงงานอุตสาหกรรม ร้อยละ 5.03 ระบุว่า เก็บภาษีกับผู้ที่ก่อมลพิษ ร้อยละ 3.19 ระบุว่า ใช้แอพพลิเคชันที่ตรวจค่ามลพิษ ฝุ่นพิษต่าง ๆ เช่น AQI กรมควบคุมมลพิษ ฯลฯ ร้อยละ 7.02 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ทำฝนเทียม ฉีดน้ำบริเวณที่มีฝุ่นละออง มีมาตรการควบคุมดูแลท่อไอเสียรถทุกชนิด กำหนดอายุการใช้งานของรถยนต์เร่งโครงการที่กำลังก่อสร้างให้เสร็จโดยเร็ว ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ร้อยละ 0.16 ระบุว่า ไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.08 ไม่ระบุ