เปิดสารพัดมาตรการ มหานครชั้นนำโลก แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 - ย้อนดูเมืองไทย จะไปทางไหนดี?
"...กรุงออสโลได้มีการปรับปรุงระบบการขนส่งภายในเมือง โดยในตอนนี้มีข้อมูลว่าเมืองออสโลนั้นมีสัดส่วนการใช้รถพลังงานไฟฟ้าสูงที่สุดในโลก เป็นเมืองที่มีการใช้รถประจำทางพลังงานทางเลือกมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก นอกจากนี้ยังมีการวางแผนว่าในปี 2562 นี้กรุงออสโลจะห้ามการใช้รถในใจกลางเมืองทั้งหมด ซึ่งแม้ว่านักธุรกิจและนักการเมืองจะประท้วงกับคำประกาศดังกล่าวนี้ ทางกรุงออสโลก็ได้แก้เกมด้วยการห้ามไม่ให้มีที่จอดรถแทน ควบคู่กับการเพิ่มเส้นทางจักรยานรวมระยะรวมอีก 40 ไมล์..."
ดูเหมือนว่าปัญหาภัยฝุ่น PM2.5 กำลังสร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ก็ยังไม่มีมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบมากนัก
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้สำรวจแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ในต่างประเทศ พบว่า นิตยสาร The Beam ซึ่งเป็นนิตยสารที่เขียนบทความเกี่ยวกับการใช้พลังงานสะอาด โดยมุ่งเน้นไปที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาให้น้อยที่สุด เคยนำเสนอบทความว่าด้วยการต่อสู้กับปัญหามลภาวะและปัญหาฝุ่น PM2.5 ในเมืองต่างๆในทวีปยุโรป เช่น ในกรุงลอนดอน เบอร์ลิน ปารีส โคเปนเฮเกน ออกซ์ฟอร์ด และออสโล ไว้
สำนักข่าวอิศรา เห็นว่าข้อมูลที่ปรากฎในบทความชิ้นนี้ มีความสำคัญหลายประการ จึงได้เรียบเรียงมานำเสนอตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
@การแก้ปัญหามลภาวะในกรุงลอนดอน โดยใช้ค่าปรับ
นับตั้งแต่ปี 2546 แม้ว่ายานพาหนะที่ปล่อยมลพิษ จะสามารถเข้าสู่ใจกลางเมืองหลวงของประเทศอังกฤษได้ แต่เจ้าของรถจะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 1,150 ปอนด์ หรือ 46,919 บาทต่อวัน นอกจากนี้ กล้องสังเกตการณ์จะมีการบันทึกเลขทะเบียนยานพาหนะเอาไว้ ทำให้เจ้าของรถต้องไปเสียค่าปรับ และถ้าหากเสียค่าปรับช้า จำนวนค่าปรับจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โดยระบบค่าธรรมเนียมดังกล่าวที่จะมีผลในช่วงเวลาตั้งแต่ 7.00 น.-18.00 น. นับตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ จะยกเว้นให้เฉพาะยานพาหนะประเภทรถจักรยานยนต์ รถแท็กซี่ และยานพาหนะอื่นๆที่ใช้พลังงานทางเลือกเท่านั้น
อย่างไรก็ดี แม้จะมีมาตรการดังกล่าวนี้ออกมา ชาวลอนดอนก็ยังเผชิญปัญหาการหายใจเอาฝุ่นละอองระดับ 2.5 เข้าไปอยู่ดี
เพราะข้อเท็จจริง คือ ที่มาของฝุ่นขนาด 2.5 นั้น มาจากฝุ่นของยางและเบรกรถยนต์ ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดก็น่าจะเป็นการใช้รถพลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืน
จึงทำให้ กรุงลอนดอน มีการเพิ่มจำนวนการใช้รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และปรากฎข้อมูลว่าในช่วงสิ้นปี 2560 ที่ผ่านมา ลอนดอนกลายเป็นเมืองที่มีรถประจำทางไฟฟ้ามากที่สุดในยุโรป
ขณะนี้ กรุงลอนดอน มีแผนงานว่าจะแปรสภาพรถประจำทางชั้นเดียวให้เป็นรถประจำทางพลังงานไฟฟ้าให้ได้จำนวน 300 คัน ภายในสิ้นปี 2563 เป็นอย่างช้า และจะแปลงรถประจำทาง 2 ชั้นทั่วทั้งกรุงลอนดอนให้กลายเป็นรถประจำทางพลังงานไฮบริด (พลังงานผสมระหว่างน้ำมันและไฟฟ้า) ให้ได้ภายในสิ้นปี 2562 นี้
ทั้งนี้ นาย Sadiq Kahn นายกเทศมนตรีลอนดอน ได้ประกาศด้วยว่า ทางด่วนเส้นที่ 4 ของกรุงลอนดอนนั้นถือว่าเป็นทางด่วนเส้นแรกที่จะมีเลนสำหรับจักรยานเข้าสู่กรุงลอนดอน และช่วยเพิ่มการปั่นจักรยานได้ถึงร้อยละ 70
@การเฝ้าระวังมลภาวะในกรุงเบอร์ลิน
ในช่วงปี 2551 ก่อนที่จะมีการถกเถียงกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกอย่างเฉียบพลัน
เมืองหลวงของเยอรมันได้มีการกำหนดเขตมลพิษต่ำในพื้นที่ใจกลางเมืองเป็นพื้นที่กว้างกว่า 88 ตารางกิโลเมตร ส่งผลทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในใจกลางเมืองต้องปรับวิถีชีวิตตามไปด้วย
โดยยานพาหนะที่ใช้น้ำมัน และใช้น้ำมันดีเซลที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดจะถูกห้ามไม่ให้ใช้ในเมืองโดยสิ้นเชิง
และกรุงเบอร์ลินยังได้มีการสนับสนุนให้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยในปี 2558 ที่ผ่านมา ในเมืองมีจุดชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถพลังงานไฟฟ้ามากกว่า 400 จุด และมีการตั้งจุดสำหรับเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนให้กับรถยนต์อีก 4 จุดประกอบกัน
นอกจากนี้ พฤติกรรมของประชาชนในกรุงเบอร์ลินก็ถือว่ามีส่วนช่วยด้วย โดยชาวเมืองมักจะนิยมเช่ารถ หรือรถสกูตเตอร์ไฟฟ้าเพื่อจะขับขี่ไปทำงาน ไปเที่ยวทะเลสาบในช่วงวันหยุดวันอาทิตย์ และชาวเมืองส่วนมากมีพฤติกรรมการใช้รถจักรยานมากกว่ารถประเภทอื่นๆ
ขณะที่ ภูมิทัศน์ของถนนในกรุงเบอร์ลินนั้น ก็มีลักษณะที่เอื้อให้กับรถจักรยานและรถประจำทางมากกว่าการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน
โดยในปีที่ผ่านมามีการประกาศโครงการก่อสร้างทางด่วนสำหรับรถจักรยานมากกว่า 12เส้นทางที่จะตัดผ่านชานเมืองเข้าสู่กรุงเบอร์ลินโดยตรง มีการตั้งความหวังว่ากรุงเบอร์ลินในอนาคตนั้นจะเป็นเมืองที่มีความเป็นมิตรต่อนักปั่นมากที่สุดในยุโรป
@ความพยายามของปารีสในการแบนรถที่ใช้น้ำมันและน้ำมันดีเซล
กรุงปารีสนั้นเป็นที่รู้กันดีว่ามีความพยายามจะต่อสู้กับภาวะเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมาโดยตลอด
โดยในเดือน มี.ค. 2559 เมืองแห่งนี้ต้องเจอกับปัญหาหมอกควันอย่างรุนแรง จนกระทั่งหมอกดังกล่าวนั้นบดบังทัศนยภาพของหอไอเฟลไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งสาเหตุก็มาจากการใช้ยานพาหนะบนท้องถนน
ทางปารีสจึงต้องพยายามรับมือกับสถานการณ์ที่ว่านี้ จึงได้มีการออกมาตรการที่เข้มข้นเพื่อที่จะลดจำนวนของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปที่ใช้เชื้อเพลิงไม่มีคุณภาพบนท้องถนนลง และเริ่มเล็งเห็นการใช้อย่างอื่นที่ไม่ใช่รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษ
ทางการปารีสจึงได้มีการห้ามไม่ให้รถที่มีอายุมากกว่า 20 ปีวิ่งบนท้องถนน เนื่องจากรถยนต์ที่ผลิตในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นยังไม่ได้มีมาตรฐานการควบคุมมลภาวะที่ทันสมัยพอ และยังมีการเปลี่ยนแปลงถนนเรียบแม่น้ำแซนน์เพื่อให้เป็นทางคนเดินและทางจักรยานประกอบกัน
โดยทางปารีสเองก็ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี 2573 จะไม่มีรถที่ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันปกติหลงเหลืออยู่ในปารีส
@การส่งเสริมรถจักรยานในกรุงโคเปนเฮเกน
กรุงโคเปนเฮเกนเองคาดหวังว่าจะได้รับมาตรฐานความเป็นกลางด้านการปล่อยก๊าซคาร์บอนในปี 2568 และคาดหวังว่าจะมีผู้ใช้จักรยานจำนวนร้อยละ 50 ในปี 2568 เช่นกัน โดยเมืองโคเปนเฮเกนได้แปรสภาพถนนหลายสายเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้จักรยานแล้ว อาทิ การทำสัญญาณจราจรที่เอื้อให้กับการสัญจรด้วยจักรยาน
ทั้งนี้ เมืองโคเปนเฮเกนมีการวางแผนการใช้งบประมาณเป็นจำนวน 134 ล้านยูโร หรือ 4,841,649,238 บาท ในระยะเวลา 10 ปี เพื่อที่จะวางโครงสร้างการเดินทางด้วยจักรยานในเมือง โดยขณะนี้มีการกำหนดว่าการขนส่งจักรยานเข้าเมืองด้วยรถไฟนั้นจะไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด และยังมีการกำหนดมาตรการการจำกัดความเร็วในเมืองซึ่งระบุว่าไม่ควรเกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งการกำหนดเช่นนี้นั้นทำให้ไม่ต้องไปเสียพื้นที่ให้กับที่จอดรถ และยังทำให้บรรลุแผนที่จะลดจำนวนผู้ขับขี่จักรยานยนต์ลงไป
@เมืองออกซ์ฟอร์ดกับการลงทุนการใช้พลังงานไฟฟ้า
ทางด้านเมืองออกซ์ฟอร์ด ในประเทศอังกฤษเองก็มีแผนการว่าจะเป็นเมืองซึ่งปราศจากการปล่อยก๊าซมลพิษให้ได้ภายในปี 2578 โดยขณะนี้เมืองได้วางยุทธศาสตร์เอาไว้ว่าภายใน 20 ปีจะต้องห้ามการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันและน้ำมันดีเซลทั้งหมดออกไปให้ได้ ในปี 2563 หกถนนในเมืองจะมีการปิดไม่ให้สัญจรด้วยยานพาหนะที่ใช้ความร้อนซึ่งรวมถึงรถแท็กซี่และรถประจำทาง และมีการคาดการณ์ว่าจะสามารถขยายพื้นที่ต้องห้ามดังกล่าวจนครอบคลุมพื้นที่ใจกลางเมืองได้ภายในปี 2578
สำหรับผู้ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้นในอนาคตจะมีการเปิดให้เสียค่าจอดรถในราคาถูกกว่าปกติ ซึ่งมาตรการเหล่านี้นั้นถือเป็นความพยายามที่จะลดค่าก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งแม้ตอนนี้จะมีปริมารลดลงมากแล้ว แต่ก็ยังมีอันตรายสูงอยู่
เบื้องต้น มีการคาดการณ์ว่ามาตรการดังกล่าวนี้จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 7 ล้านปอนด์
@กรุงออสโลกับการลดจำนวนลานจอดรถ
นับตั้งแต่ที่กลุ่มพันธมิตรการเมืองหัวก้าวหน้าได้ครองที่นั่งในสภาเมืองออสโล เมืองหลวงของประเทศนอร์เวย์ ในเดือน ต.ค. 2558 พวกเขาก็ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องสร้างกรุงออสโลให้เป็นเมืองที่มีพื้นที่สีเขียว และมีสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ จึงได้มีการขายกิจการที่เกี่ยวข้องกับถ่านหินในเมืองออกไปทั้งหมด เพื่อจะสร้างพื้นที่ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนแทนโดยจะต้องเป้าว่าในปี 2573 จะต้องมีการลดจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 95 จากค่าที่เคยวัดได้ในปี 2533
กรุงออสโลได้มีการปรับปรุงระบบการขนส่งภายในเมือง โดยในตอนนี้มีข้อมูลว่าเมืองออสโลนั้นมีสัดส่วนการใช้รถพลังงานไฟฟ้าสูงที่สุดในโลก เป็นเมืองที่มีการใช้รถประจำทางพลังงานทางเลือกมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก
นอกจากนี้ยังมีการวางแผนว่าในปี 2562 นี้กรุงออสโลจะห้ามการใช้รถในใจกลางเมืองทั้งหมด ซึ่งแม้ว่านักธุรกิจและนักการเมืองจะประท้วงกับคำประกาศดังกล่าวนี้ ทางกรุงออสโลก็ได้แก้เกมด้วยการห้ามไม่ให้มีที่จอดรถแทน ควบคู่กับการเพิ่มเส้นทางจักรยานรวมระยะรวมอีก 40 ไมล์
(เรียบเรียงเรื่อง-ภาพประกอบ จากเว็บไซต์: https://medium.com/thebeammagazine/the-fight-against-pollution-in-european-cities-29d9b502a285)
ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่มหานครชั้นนำของโลก พยายามสรรหามาใช้เพื่อแก้ปัญหามลพิษในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงแห่งประเทศไทย ที่กำลังประสบกับภาวะค่าฝุ่น PM2.5 แบบฉับพลันทันด่วน นโยบายการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่คนไทยอย่างเห็นมากที่สุด ในห้วงเวลานี้? แม้ว่าโลกแห่งความจริง จะเป็นความหวังอันริบหรี่แค่ไหนก็ตามที
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/