ทส.ชี้ 2 ปีทำฐานข้อมูลชุมชน 1,500 แห่ง สภาพัฒน์ดันกองทุนช่วยชาวบ้านพัฒนาศก.ฐานราก
ทส.ชี้ภูมิปัญญาท้องถิ่นคือจุดแข็งช่วยประเทศพ้นวิกฤติเศรษฐกิจ ตั้งเป้า 2 ปีทำฐานข้อมูลความหลากลายทางชีวภาพชุมชนได้ 1,500 แห่ง สภาพัฒน์ดันกองทุนศก.สร้างสรรค์ลงแผน 11 ช่วยชาวบ้านพัฒนาจากฐานราก ขณะที่วิสาหกิจชุมชนไม้กวาดต้นเป้ง-ชาขลู่ซิวรางวัลพัฒนาผลิตภัณฑ์ดีเด่น 53
วันนี้ (23 ก.ย.) ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.)จัด“มหกรรมทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ปี 2553” โดย นายพิมุก สิมะโรจน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ หากดูเฉพาะพันธุ์พืชมีมากถึง 15,000 ชนิด ซึ่งทุนทางธรรมชาติเหล่านี้จะเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดังกล่าวยังต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะการแปรรูป การตลาด เงินทุน ที่สำคัญคือการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งชุมชนมีอยู่เดิม อันเป็นจุดแข็งและต้นทุนที่จะทำให้ประเทศก้าวข้ามความผันผวนเศรษฐกิจมหภาคไปได้
นายชาตรี ช่วยประสิทธิ์ รองปลัดทส. กล่าวถึงประเด็นปัญหาของความหลากหลายทางชีวภาพว่า ในส่วนที่ ทส.ดูแล ขณะนี้มีปัญหาเชิงพื้นที่ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกทำลายเนื่องจากการพัฒนาโครงการของรัฐและเอกชน, การลักลอบขโมยเมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อตะเข็บชายแดน ซึ่งดูเหมือนจะรุนแรงและควบคุมได้ยากมากขึ้น ตรงนี้นอกจากเจ้าหน้าที่รับผิดชอบแล้วอาจต้องอาศัยชุมชนเจ้าของพื้นที่ช่วยเข้ามามีบทบาทในการดูแลรักษาอีกทางหนึ่ง
“ความหลากหลายทางชีวภาพป็นจุดเริ่มของการสร้างฐานเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต แต่ประเด็นคือตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าสิ่งที่มีสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ตราบใดที่ไม่รู้ว่าคืออะไรหายไปตอนไหนจึงไม่ทราบ ดังนั้นการเร่งศึกษาและถ่ายทอดสู่ชุมชน เพื่อเติมเต็มองค์ความรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากที่สถาบันการศึกษาต้องยื่นมือเข้าช่วย”
รองปลัด ทส. กล่าวต่อไปว่า ที่ต้องทำคือระบบฐานข้อมูลชุมชน ที่ระบุข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับความหลากหลายในพื้นที่ ทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ พิกัดทางภูมิศาสตร์ที่แน่นอน เพื่อผลักดันต่อยอดสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมเพื่อใช้เป็นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คาดว่าอีก 2 ปีข้างหน้าจะเร่งทำให้สำเร็จได้ 1,500 ชุมชน
นางสาวลดาวัลย์ คำพา ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของสภาพัฒน์ ได้กำหนดประเด็นดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 โดยเน้นเศรษฐกิจฐานชีวภาพควบคู่ไปเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาทำผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมที่สร้างมูลค่า พัฒนาเชิงตลาด ขณะเดียวกันต้องไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ คือเมื่อใดก็ตามที่นำไปใช้ต้องมีการหาสิ่งใหม่มาทดแทนเสมอ
“ความจริงเรามีการเชื่อมโยงประเด็นนี้ตั้งแต่แผน 10 และชาวบ้านก็มาทำกันเองมาเรื่อยๆ แต่อาจไม่ได้เป็นระบบมากนัก ต่อไปในแผน 11 คงจะมีความชัดเจนมากขึ้นเพราะจะมีการจัดตั้งกองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อช่วยเหลือชุมชนและหน่วยงานที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนภายใต้ฐานทรัพยากรแต่ขาดเงินสนับสนุน”
นางสาวลดาวัลย์ ยังกล่าวอีกว่า สายโยงความความหลากหลายทางชีวภาพก่อนนำไปสู่การเป็นฐานรางวัลการประกวดสำคัญทางเศรษฐกิจ สามารถทำได้ตั้งแต่ระดับชาวบ้าน ชุมชนเล็กๆ เพื่อสร้างฐานความมั่นคงให้ชีวิตก่อนไปถึงระดับผู้ประกอบการ ที่อาจต้องอาศัยภาครัฐหรือเอกชนมาสนับสนุน ก่อนไปถึงระดับการวิจัยเพื่อต่อยอดภูมิปัญญาจากฐานรากสู่ความมั่นคงในเศรษฐกิจระดับชาติ
ทั้งนี้ ในงานยังมีการมอบรางวัล Bio-Economy Awards 2010 ให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่ตระหนักถึงคุณค่าและรู้จักใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยรางวัลสาขาผู้นำชุมชนและองค์กรดีเด่น ได้แก่ นายอเนก สีเขียวสด (อเนกฟาร์ม), นายอภิชาต วัฒนกุล ประธานสหกรณ์กวางแห่งประเทศไทย, พอ.บุญส่ง มหาวิเศษศิลป์ รองประธานชุมรมไก่ฟ้าแห่งประเทศไทย, รางวัลสาขาพัฒนาผลิตภัณฑ์ดีเด่น ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำไม้กวาดจากต้นเป้ง (มะพร้าวโคก) ต.บ้านโคก อ.เมือง จ.มุกดาหาร ,วิสาหกิจชุมชนพัฒนาทรัพยากรชีวภาพ (ชาขลู่) ต.บ่อ อ.ขลุง จ.จันทบุรี
และรางวัลบรรจุภัณฑ์ทรัพยากรชีวภาพไทยระดับอุดมศึกษา โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายนทัต มาศวัฒนกุล จากมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี, รองชนะเลิศอันดับ 1 นายอนุชิต พรมพะเนา มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาเชียงใหม่, รองชนะเลิศอันดับ 2 นางสาวพรรณวษา ศิวิไล มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี,รางวัลชมเชย ได้แก่ นายธีรพันธ์ พรมจันทร์ มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน และนางสาวอรชลลดา ทับทิมดี จากมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี.