ทำไมเด็กอนุบาล จึงไม่ควรสอบเข้า ป.1
ระบบแพ้คัดออกไป ตอบอะไรกับคำว่า ศรัทธา ในเมื่อมันกำลังทำลายศรัทธา ทำลายแรงบันดาลใจ แปลงกายแรงบันดาลใจเป็นแรงกดดัน ระบบแพ้คัดออกในช่วงประถมวัยไม่เหมาะกับพัฒนาการเด็ก เป็นการทารุณกรรมเด็ก
เหตุใดคนทำงาน หรือขับเคลื่อนเรื่องเด็กปฐมวัย ต้องมารวมตัวกันเพื่อถกประเด็น "ทำไมเด็กอนุบาล จึงไม่ควรสอบเข้าป.1" ณ ห้องศูนย์การเรียนรู้อเนกประสงค์ TK Park เซ็นทรัลเวิร์ลด์ กทม.
คณะทำงานพัฒนาเด็กประถมวัย เป็นรวมตัวของบุคคลและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ด้วยมองเห็นว่า ในขั้นตอนที่ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กประถมวัย พ.ศ..... กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น จำเป็นต้องเสริมข้อมูลและความคิดเห็นทางวิชาการด้านปฐมวัย จากผู้ทรงคุณวุฒิทุกสาขา ทั้งจิตแพทย์เด็ก กุมารแพทย์ นักการศึกษา นักจิตวิทยา ผู้บริหารท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะนำข้อมูลนั้นไปนำเสนอแก่คณะกรรมาธิการวิสามัญของสนช. และสมาชิกสนช. พร้อมกับหวังให้การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นไปโดยรอบด้าน และคำนึงถึงประโยชน์อันจะเกิดขึ้นกับตัวเด็กเป็นสำคัญ รวมทั้งคำนึงถึงการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อคุณภาพของประเทศในระยะยาว
ข้อมูลสำคัญจากผู้รู้จริง ถึงสนช. ในร่างพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กประถมวัยฯ หนึ่งในสาระสำคัญ คือ การยกเลิกการสอบเข้าป.1
ข้อเท็จจริง
1.ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กประถมวัย พ.ศ.....ที่จัดขึ้นโดยคณะอนุกรรมการเด็กเล็ก ในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ 4 ครั้งที่จัดขึ้นในทั่วทุกภาค โดยสาระสำคัญ ได้รับการรับรองเห็นด้วยจากทุกเวทีประชาพิจารณ์
2.ร่างพ.ร.บ.นี้ ร่างขึ้นเพื่อ
- ประกันสิทธิของเด็กปฐมวัยที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง การดูแล การพัฒนาและการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของช่วงวันและธรรมชาติของสมอง
- เพื่อให้หลักประกันว่า การพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายด้าน นับตั้งแต่สาธารณสุข การศึกษา การปกครองท้องถิ่น และการพัฒนาครอบครัว จะได้รับการใส่ใจและบูรณาการอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดคุณภาพในการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้แก่เด็กปฐมวัยอย่างแท้จริง ไม่ใช่ต่างหน่วยต่างทำ หรือทำแล้วไม่เกิดผล ดังที่เคยเป็นมาในอดีต
- เพื่อแก้วิกฤตเด็กปฐมวัย ที่พบโดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องว่า พัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ล่าช้าประมาณ 30% โดยสถิตินี้ต่อเนื่องมากกว่า 15 ปี
- เพื่อวางรากฐานให้มั่นใจว่า สังคมไทยจะพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศให้สามารถแบกรับภารกิจโลกยุค disruption ได้อย่างแท้จริง
3.คณะรัฐมนตรี (วันที่ 24 ตุลาคม 2561) ได้อนุมัติหลักการและสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และความเห็นของหน่วยงานต่างๆ ไปประกอบการพิจารณา จากนั้นจึงส่งให้คณะกรรมาธิการวิสามัญที่สนช.แต่งตั้ง ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ต่อไป
4.การยกเลิกสอบเข้า ป.1 เป็นหนึ่งในสาระสำคัญที่สุดของพ.ร.บ.ฉบับนี้
เนื่องจากการสอบเข้าป.1 เป็นวิกฤตการพัฒนาเด็กปฐมวัยของสังคมไทยมาต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 ปี ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะเด็กที่เข้าสู่การสอบในโรงเรียนดังๆ จำนวนไม่กี่พันคนต่อปีเท่านั้น แต่ได้เกิดเป็นกระแสกระทบค่านิยมที่ผิดในการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยไปทั่วประเทศ แม้แต่ในชนบทที่ห่างไกล พ่อแม่ก็มีค่านิยมว่าต้องเร่งรัดให้เด็กอนุบาลอ่าน ออก เขียนได้ เพื่อลูกจะได้พร้อมต่อการไปสอบเข้าชั้นป.1 ของโรงเรียนในอำเภอ หรือตัวจังหวัด จนอนุบาลไม่ว่าโรงเรียนแบบใด ณ ที่แห่งใด ไม่สามารถพัฒนาเด็กได้ตามหลักการปฐมวัยที่ร่ำเรียนมา
ประเด็นนี้ กลายเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้พัฒนาการเด็กปฐมวัยไทยล่าช้าถึง 30% ต่อเนื่องมากว่า 15 ปี
แรงกดดันต่อเนื่องยาวนานในการเร่งรัดอ่าน เขียน การติว กลายเป็นความเครียดเรื้อรังที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการพัฒนาสมองของเด็ก และการพ่ายแพ้จากการสอบส่งผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของเด็ก และทำให้เกิดภาวะไม่รักการเรียนในระยาว
นอกจากนี้ เมื่อ "เสาเข็มชีวิต" ในช่วงปฐมวัยคลอนแคลน ก็ย่อมส่งผลต่อคุณภาพของการเรียนต่อในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาต่อไป
ที่สำคัญ การสอบคัดเลือกเข้า ป.1 เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม เด็กในเศรษฐานะระดับสูง ย่อมมีโอกาสสอบได้มากกว่า
5.ทั่วโลกเข้าใจตรงกันว่า ระบบการแพ้คัดออกในเด็กปฐมวัย เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก และเป็นการเลือกปฏิบัติ
ดังจะเห็นว่า นานาประเทศ เช่น ฟินแลนด์ จีน สิงคโปร์ แม้กระทั่งล่าสุด มาเลเซียก็ได้มีการประกาศยกเลิกการสอบตั้งแต่ระดับประถมลงมา เพื่อไม่สร้างแรงกดดันที่บั่นทอนทำร้ายพัฒนาการและสมองของเด็กเล็ก
6.สาระสำคัญอื่น ที่กำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.ฉบับเข้าสู่ครม. เพื่อสร้างหลักประกันว่า การพัฒนาเด็กประถมวัยของประเทศไทย จะเป็นไปตามหลักวิชาการ และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเด็กประถมวัย ได้แก่
@ นิยาม เด็ประถมวัย คือ 0-8 ปี ซึ่งเป็นไปตามหลักที่องค์การสากล เช่น UNICEF,UNESCO ได้ระบุไว้ โดยมีการกำหนดให้มีระบบการพัฒนาเด็กประถมวัย เป็น 4 ช่วง ครอบคลุมตั้งแต่ช่วงก่อนคลอด แรกเกิด ช่วงอายุ 3-6 ปี และช่วงอายุ 6-8 ปี หรือวัยรอยเชื่อมต่อกับประถมศึกษา
@ จัดให้มีการพัฒนาเด็กประถมวัยในช่วงรอยต่อระหว่างระดับอนุบาลกับระดับประถมศึกษาอย่างต่อเนื่องและราบรื่น
@ เด็กประถมวัยต้องได้รับการดูแล พัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และปัญญาให้สมวัย 1.อยู่รอดปลอดภัย มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี 2.มีพัฒนาการที่ดีรอบด้านที่เหมาะสมตามวัย สามารถเรียนรู้อย่างสอดคล้องกับหลักการพัฒนาศักยภาพและความต้องการจำเป็นพิเศษ และสามารถซึมซับสุนทรียะและวัฒนธรรมที่หลากหลายได้ 3.มีอุปนิสัยใฝ่ดี มีคุณธรรม มีวินัย ใฝ่รู้ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองและพลเมืองโลก
@ กำหนดให้รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดบริการและสวัสดิการ ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และด้านสังคมที่มีคุณภาพ แก่เด็กปฐมวัย หญิงมีครรภ์ และบุคคลในครอบครัวเด็กปฐมวัยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย เว้นแต่หลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด
@ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินการหน่วยให้บริการทางสาธารณสุขและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ทั้งของรัฐและเอกชนให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย
@ ให้บทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่และอำนาจจัดให้มีการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนที่เกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว การตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ การเลี้ยงดูบุตร การพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมทั้งให้มีหน้าที่และอำนาจจัดให้มีสวัสดิการแก่หญิงมีครรภ์ในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม
@ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และให้มี "สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย" มีฐานะเป็นนิติบุคคล ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือวิสาหกิจ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานของคณะกรรมการในการเชื่อมโยงบูรณาการระหว่างกระทรวง กรม กองต่างๆ
@ จัดให้มีฐานข้อมูลเด็กปฐมวัยที่เชื่อมต่อระหว่างวัยและส่งต่อระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลของเด็กจากหน่วยงานหนึ่งไปอีกหน่วยงานหนึ่ง เพื่อการพัฒนาส่งเสริมที่เหมาะสมและต่อเนื่องกับสภาวะของเด็กแต่ละคน
เป็นต้น
สำหรับมุมมองผู้เกาะติดเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน รศ.นพ.สุริยเดล ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ในฐานะอดีตผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ โดยได้ยกประเด็นที่นักจิตวิทยาทั่วโลกได้ถกเถียงกันที่ประเทศญี่ปุ่นว่า อะไรที่มนุษย์มีเหนือหุ่นยนต์ (AI) ซึ่งพบว่า มีอยู่ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.จินตนาการ 2.จิตสำนึก 3.คุณธรรม 4.ความรัก สายใยรัก และ5.แรงบันดาลใจ
"เราวิเคราะห์ว่า ระบบแพ้คัดของช่วงชั้นประถมวัยไม่มีทางทำให้เกิด 5 ข้อข้างต้นได้เลย สวนทางกันสิ้นดี"
รศ.นพ.สุริยเดล ย้ำถึงระบบแพ้คัดออกช่วงประถมวัย ไม่ใช่ทำให้จินตนาการจะเกิดขึ้น แต่จะกลายเป็นการเรียนรู้แบบท่องจำ ไม่สร้างสรรค์ เรากำลังพูดถึงจิตสำนึกและคุณธรรม แต่กลับกลายเป็นการปลูกฝังความเห็นแก่ตัวตั้งแต่เด็กปฐมวัย ไม่ใช่เรื่องจิตสำนึกจิตสาธารณะ จิตอาสา แม้แต่เรื่องความพอเพียง ความรักที่ถูกเทไปให้ก็กลายเป็นวัตถุนิยม บริโภคนิยม
รศ.นพ.สุริยเดล ยังตั้งคำถาม เพื่อให้เป็นตัวชี้วัดง่ายๆ ว่า มีเด็กสักกี่คนทั้งประเทศ พร้อมเผชิญความยากลำบากขั้นพื้นฐาน เพราะแม้แต่การปัดกวาดถูบ้าน ล้างจาน ก็ยังกลายเป็นเรื่องเสียเวลา ต้องเอาเวลาไปเรียนหนังสือ ไปเรียนเสริม
"ทำไมมนุษย์มีความต่างกับหุ่นยนต์ เพราะมนุษย์มีก๊อกสอง คือแรงบันดานใจ ศรัทธามาพลังเกินร้อย คำถามคือว่า ระบบแพ้คัดออกไป ตอบอะไรกับคำว่า ศรัทธา ในเมื่อมันกำลังทำลายศรัทธา ไปทำลายแรงบันดาลใจ แปลงกายแรงบันดาลใจเป็นแรงกดดัน ระบบแพ้คัดออกในช่วงประถมวัยไม่เหมาะกับพัฒนาการเด็ก เป็นการทารุณกรรมเด็ก"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิดคำชี้แจงประกอบการเสนอ ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยฯ กับมาตรา 10 เลิกสอบเข้าป.1
หมอประเสริฐ ชี้ศตวรรษแห่งการเรียนท่องจำหมดไปแล้ว แนะรัฐปลดล็อค เลิกสอบเข้าป.1