เมืองใหม่ 'บูรพนา' ฝันได้แต่ไปไม่ถึงฝั่ง
โครงการเมืองใหม่ “บูรพนา” ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (กรอ.) ระหว่างการประชุม ครม. สัญจร จ.ชลบุรี 17-19 มิ.ย. ที่ผ่านมา
แทบทุกสายตาต่างจับจ้องมองไปในเรื่องการปั้นฝันสร้างราคาที่ดินให้ฟูฟ่อง กระนั้น ผู้เข้าร่วมประชุม กรอ.ทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 70 คน มีเกินครึ่ง “ส่ายหน้า” ไม่รู้จักโครงการนี้ หรือจุดประสงค์ของการสร้างเมืองใหม่
เพราะจู่ ๆ ก็มีการเสนอเรื่องให้วงประชุม กรอ. พิจารณาอนุมัติเพื่อสนับสนุนโครงการ
แม้แต่ตัว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเองได้แต่ทำหน้างงๆ มีเพียงคนรุ่นเก่าอย่าง ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย และรัฐมนตรีสูงวัยอีก 2-3 คน ที่รู้ที่มาที่ไปของโครงการนี้อย่างดี และพยายามอธิบายภาพเป็นฉากๆ
โครงการก่อสร้างเมืองใหม่บูรพา มีรากศัพท์มากจากคำว่า “บูรพา+พัฒนา” เป็นโครงการร่างแผนกันมาตั้งแต่เมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว
บูรพนาถูกวางบทบาทให้เป็น “เมืองใหม่” เคียงคู่กับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ตามแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด ในยุค “โชติช่วงชัชวาล”
ทว่าเมืองใหม่แห่งนี้เดินหน้าไปไม่ถึง “ฝั่งฝัน” ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้เวลาจะล่วงเลยถึงวันนี้ก็ตาม
แต่โครงการเมืองใหม่ในบูรพนายังอยู่ในความสนใจและมีผู้พยายามผลักดันโปรเจกต์นี้เรื่อยมา โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงมหาดไทย กลุ่มทุนในพื้นที่และกลุ่มทุนใหญ่จากส่วนกลาง
กระทั่งปี 2551 กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดการ “ปัดฝุ่น” โครงการเมืองใหม่บูรพนาขึ้นมาทำการศึกษาอีกครั้ง โดยครั้งนี้อยู่ภายใต้ชื่อ “โครการพัฒนาเมืองศูนย์กลางจังหวัดบูรพนา”
พิมพ์เขียว “บูรพนา” ที่กรมโยธาธิการฯ วาดฝันไว้นั้น จะให้เมืองนี้เป็นเมืองศูนย์กลางของกลุ่ม จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
พร้อมทั้งจัดวางผังยุทธศาสตร์การใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาเมืองและชุมชน การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ การลงทุนระบบคมนมคมขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อที่จะชี้นำการพัฒนาพื้นที่แบบบูรณาการอย่างเบ็ดเสร็จ
เมื่อพลิกเอกสารรายละเอียดโครงการ มีการระบุที่ตั้งเมื่อใหม่ขึ้นว่าอยู่ในพื้นที่รอยต่อ อ.บางละมุง และ อ.นิคมพัฒนา เมืองบริวาร อบต.เขาไม้แก้ว ห้วยใหญ่ จ.ชลบุรี เทศบาลมะขามคู่ อบต.พนานิคม มาบยางพร จ.ระยอง
มีการประมาณการการใช้พื้นที่สำหรับสร้างเมืองใหม่ 100 ตารางกิโลเมตร หรือ 6.25 หมื่นไร่ เพื่อรองรับประชากรเกือบครึ่งล้านคน
จุดประสงค์การสร้างเมืองใหม่ก็เพื่อตอบรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชากรที่กระจายตัวสู่พื้นที่ด้านใน (In Land) เป็นเมืองศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การบริการ การศึกษา การวิจัยและพัฒนา
ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งหลาบรูปแบบทั้งทางอากาศ ทางทะเล และทางบก มีการพัฒนาเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
เชื่อมโยงกับโครงข่ายระบบรางและส่งเสริมกิจกรรมด้านอุตสาหกรรมและการเกษตร
ถือเป็นเมืองใหม่ที่ถูกวาดฝันไว้ใน “จินตนาการ” อย่างสวยหรู
แต่ต้องฟันธง ณ ที่นี้เลยว่าโครงการเมืองใหม่ “บูรพนา” แทบไม่มีโอกาสไปถึงฝั่งฝันในระยะใกล้เลย
เนื่องเพราะมีปัจจัยอย่างน้อย 5 ประการ ที่เป็นคำถามค้างคาอยู่
ประการแรก คือ การไม่ได้รับการสนับสนุนของฝ่ายการเมือง ชุมชนและท้องถิ่น
เพราะแม้นักการเมืองท้องถิ่นและกลุ่มทุนในท้องที่จะผลักดันโครงการนี้เต็มที่ แต่ฟังเสียงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีท่าที “กังขา” กับโครงการที่มีวัตถุประสงค์ไม่ชัดเจน
แม้แต่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง ให้มุมมองเกี่ยวกับการสร้างเมืองใหม่แห่งนี้ว่า
“คิดว่าโอกาสเกิดโครงการนี้ไม่น่าจะสูงเพราะคิดมา 30 ปี แต่ไม่มีรัฐบาลไหนสนใจ ไม่สานต่อ ไม่พูดถึง ไม่มีการศึกษา ไม่มีความเห็นทั้งทางบวกหรือทางลบ โอกาสเกิดถ้ามี ก็มีน้อยมาก หรือไม่ก็ไม่มีโอกาสเลย ลองคิดดูโครงการถูกคิดมา 30 ปี แต่ไม่มีใครพูดถึง จนมาได้ยินวันนี้ เพราะถ้าดี คงมีคนหยิบขึ้นมาดูเนืองๆ”
อย่างไรก็ตาม กิตติรัตน์ ระบุว่า ในฐานะรัฐบาลเมื่อเอกชนหยิบยกเรื่องนี้มาถามรัฐบาลว่า จะผลักดันต่อหรือไม่ ก็ต้องรับเอาไปศึกษาว่า ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะไปศึกษาทบทวนโครงการนี้ และปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทว่าสิ่งที่ กิตติรัตน์ ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า เอกชนถามรัฐบาลว่า สนใจจะผลักดันโครงการนี้ต่อหรือไม่ ผมคิดว่าเอกชนเขาสนใจ เพราะเป็นโอการการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์
ส่วนใครจะไปเก็งกำไรก็ช่วยไม่ได้
เป็นการตอกย้ำได้ดีว่าการ “ปลุกผี” โครงการเมืองใหม่บูรพนา ทำให้ราคาที่ดินในพื้นที่เป้าหมายถีบตัวสูงขึ้น
ประการที่ 2 การจัดวางโครงสร้างการปกครองเมืองใหม่จะอยู่ในรูปแบบใด เพราะในเมื่อพิจารณาเขตอำนาจปกครองพบว่าพื้นที่นี้กินบริเวณรอยต่อ 2 จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
จึงจำเป็นต้องร่างกฎหมายองค์กรปกครองพื้นที่พิเศษขึ้นมาใหม่ เช่น เมืองพัทยา หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ ขณะที่ปัญหาเรื่องการจัดสรร “อำนาจ” ปกครองเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้
ประการที่ 3 หากแผนสร้างเมืองใหม่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจริงๆ รัฐบาลจำเป็นต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก็ไม่ต่างกับการตัดถนนผ่านป่าเพื่อไปสร้างเมืองใน “หุบเขา” ทั้งยังต้องมีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้คนอพยพไปอยู่เมืองใหม่อีก ก็ต้องถามกลับว่า การลงทุนสร้างเมืองใหม่คุ้มค่ากับผลที่ได้รับหรือไม่
นอกจากนี้ ยังต้องคิดไกลไปต่อว่าเมืองใหม่แห่งนี้จะมีรายได้จากแหล่งใด
หากประชากรเบาบางและตั้งพื้นที่โดดๆ เดี่ยวๆ ไม่มีแหล่งโรงงานนิคมอุตสาหกรรมเมืองใหม่ก็แทบไม่มีรายได้เลี้ยงตัวเอง และจำเป็นต้อง “แบมือ” ของบประมาณจากรัฐบาลกลางอยู่ร่ำไป
ประการที่ 4 หากการสร้างเมืองใหม่มีจุดประสงค์เพื่อย้ายประชากรและชุมชนออกจากพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม น่าจะมีทางเลือกในการย้ายมีแนวทางที่ใช้เงินลงทุนน้อยกว่า เช่น การย้ายชุมชนหรือที่พักแรงงานไปอยู่ในเขต “กันชน” จากนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งเป็นระยะทาง 10-20 กิโลเมตร และเป็นผลดีต่อแรงงานที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องเดินทางไกล
แต่ทว่า วัตถุประสงค์การสร้างเมืองใหม่กลับยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ทั้งสิ้น ว่าเมืองใหม่แห่งนี้ จะเป็นพัฒนาเมืองเศรษฐกิจใหม่ ศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง
หรือเป็นการสร้างเมือง เพื่ออพยพคนออกจากเขตนิคมอุตสาหกรรม
เมื่อไม่มีโจทย์ชัดเจน การเกิดขึ้นของเมืองใหม่จึงเป็นไปได้ยาก
ขณะที่โครงการเมืองใหม่บูรพนาที่ริเริ่มเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ซึ่งวันนั้นความหนาแน่นของประชากรและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เบาบาง มีพื้นที่กว้างขวาง ต่างจากวันนี้ที่พื้นที่สร้างเมืองใหม่หนาแน่นขึ้น
แน่นอนว่า การสร้างเมืองใหม่ก็คงหนีไม่พ้นที่จะจัดวางผังเมืองใหม่ หรืออาจต้องรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง
นั่นเป็นสาเหตุทำให้เกิดการต้อต้านและความขัดแย้งในพื้นที่
ประการสุดท้าย การยอมรับจากชุมชนในพื้นที่กับการรับรองการพัฒนา หากไม่มีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ หรือหากมีกลุ่มนายทุนเข้าไปกว้านซื้อที่ดินเก็งกำไร คนที่เดือดร้อนก็คือ คนในพื้นที่นั่นเอง
เพราะถูกนายทุนบีบให้ขายที่ดินทำกิน ไม่ว่าจะโดนการเจรจา หรือขมขู่ก็ตาม
สิ่งเหล่านี้ ล้วนไม่เป็นผลดีกับคนในถิ่นฐานเดิมเลย เพราะนอกไม่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาแล้ว ยังถูกขับไล่ให้ออกจากถิ่นฐานเดิม
ส่วนคนที่ได้ประโยชน์ คือ นักการเมือง นายทุน และผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น
เมื่อพิเคราะห์จากปัจจัยเบื้องต้นแล้ว เมืองใหม่บูรพนาจึงเป็นเพียงโครงการในความฝันที่ยากจะเกิดขึ้น
แต่ถูกจุดกระแสเพื่อ “ปั่นราคา” ที่ดินเท่านั้นเอง