ชัด ๆ เหตุผล ก.พ.ร. หัก กก.ปฏิรูปประเทศ ไฉนตัดทิ้ง-ทำหมันแผนตั้ง 52 หน่วยงานใหม่?
“…แผนการปฏิรูปประเทศที่กำหนดให้มีหน่วยงานตั้งใหม่รวม 52 หน่วยงานนั้น ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ สมควรที่คณะรัฐมนตรีจะได้มีมติให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ตัดข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ออกจากแผนการปฏิรูปประเทศ ถ้าจะขอจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นยิ่ง กับต้องมีข้อเสนอให้ยกเลิกหรือยุบรวมหน่วยงานที่มีอยู่เดิม เพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนทั้งในด้านภารกิจ และงบประมาณ…”
หลายคนอาจทราบไปแล้วว่าช่วงต้นเดือน ม.ค. 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) ที่ขอให้ทบทวนการจัดตั้งหน่วยงานรัฐใหม่ 52 หน่วยงาน ตามแผนการปฏิรูปประเทศ โดย ก.พ.ร. เห็นว่า อาจทำให้เกิดความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานเดิม หากกรณีจำเป็นจริง ๆ ต้องยุบเลิกหรือยุบรวมหน่วยงานเดิมเสียก่อน นอกจากนี้เห็นว่าอาจเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ และไม่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ
ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐอื่น ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สำนักงาน ก.พ. กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น ต่างเห็นพ้องกับ ก.พ.ร. ในการขอให้ทบทวนการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ทั้ง 52 หน่วยดังกล่าว (อ่านประกอบ : รุมค้าน!เบื้องหลัง ครม.ทวนตั้ง 52 หน่วยงานใหม่ เปลืองงบ-ไม่สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ)
แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า เหตุผลที่แท้จริงคืออะไร ทำไม ก.พ.ร. ถึงยอม ‘หัก’ ข้อเสนอที่มาจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านดังกล่าว ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเหตุผลฉบับเต็มของ ก.พ.ร. ในกรณีดังกล่าวมานำเสนอ สรุปได้ดังนี้
พลิกที่มาที่ไปของกรณีนี้เกิดขึ้นหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2561 เรื่อง การขอจัดตั้งหน่วยงานตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ กำหนดให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศในประเด็นการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ต้องพิจารณาปรับปรุงบทบาท ภารกิจ และโครงสร้างของหน่วยงานที่มีอยู่เดิมเป็นลำดับแรกก่อน และหากยังมีความจำเป็นต้องจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ควรจัดตั้งเฉพาะที่มีเหตุผลและความจำเป็น และคำนึงถึงค่าใช้จ่าย
แต่ยังปรากฏว่า มีการเสนอร่างกฎหมายที่มีการจัดตั้งหน่วยงาน คณะกรรมการ และกองทุน เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นจำนวนมาก โดยอ้างว่า เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศ
สำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะสร้างปัญหาค่าใช้จ่ายภาครัฐในอนาคต อีกทั้งทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ อันเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ ประกอบกับยุทธศาสตร์๙ติ (พ.ศ. 2561-2580) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2561 กำหนดไว้ชัดเจนในด้านการปรับสมดุล และพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ประเด็นที่ 4.3 ว่า จะดำเนินการให้ภาครัฐมีขนาดเล็กลง เหมาะสมกับภารกิจ ส่งเสริมให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งมีการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างการบริหารราชการ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้มีความชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อนกัน รวมทั้งถ่ายโอนภารกิจที่สำคัญ และการกระจายอำนาจในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้ชุมชนและท้องถิ่นเข้มแข็ง
สำนักงาน ก.พ.ร. จึงเสนอให้มีการทบทวนข้อเสนอการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐตามแผนการปฏิรูปประเทศต่อคณะกรรมการ ก.พ.ร. เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ
สำหรับเหตุผลสำคัญกรณีนี้คือ แผนการปฏิรูปประเทศที่กำหนดให้มีหน่วยงานตั้งใหม่รวม 52 หน่วยงานนั้น ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ สมควรที่คณะรัฐมนตรีจะได้มีมติให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ตัดข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ออกจากแผนการปฏิรูปประเทศ โดยให้หน่วยงานถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2561 โดยเคร่งครัด ทั้งนี้ถ้าจะขอจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นยิ่ง กับต้องมีข้อเสนอให้ยกเลิกหรือยุบรวมหน่วยงานที่มีอยู่เดิม เพื่อมิให้เกิดความซ้ำซ้อนทั้งในด้านภารกิจ และงบประมาณ และให้เสนอแผนการนำ Digital Technology มาใช้ในการปฏิบัติงานทุกขั้นตอน ประกอบคำขอจัดตั้งหน่วยงานใหม่ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการปรับสมดุล และพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐตามยุทธศาสตร์ชาติ
นอกจากนี้ ก.พ.ร. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ในการจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาตินั้น มิให้มีการกำหนดเรื่องการจัดตั้งหน่วยงานไว้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับแผนการปฏิรูปประเทศอีก (ดูเอกสารประกอบท้ายรายงาน)
นี่คือเหตุผลชัด ๆ จาก ก.พ.ร. ที่นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี กระทั่งต้นปี 2562 มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ ก.พ.ร. และกำหนดแนวทางแผนการปฏิรูปประเทศใหม่ หากไม่มีกรณีจำเป็นอย่างยิ่ง จะไม่สามารถจัดตั้งหน่วยงานใหม่ได้
ส่วนฝ่ายคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ที่ถูกตั้งโดย คสช. ที่ถูกตัดทิ้ง-ทำหมันข้อเสนอจัดตั้งหน่วยงานรัฐใหม่ 52 แห่ง จะมีท่าทีอย่างไรต่อไป คงต้องติดตามกัน!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/