เอ็กซ์คลูซีฟ: 'สนง.ปรมาณู' รับมีข้อผิดพลาดตรวจสอบไม่ถี่ถ้วน ปมสร้างตึก518 ล. ล่าช้า
“...ตอนนี้ก็ยอมรับข้อผิดพลาดตรงนั้น เพราะว่า ห้องปฏิบัติในชั้น 7-9 ออกแบบครบถ้วนตามหลักการการป้องกันอันตรายจากรังสี รวมถึงพื้นชั้นใต้ดินด้วยว่า ต้องอยู่ลึกกว่าพื้นดินลงไป 10 ม. ในห้องดังกล่าวจะต้องมีความหนาของผนังและฐานอย่างน้อย 1.5 ม. ตามข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฟินแลนด์ แต่พอไปตรวจสอบกลับพบว่า ความหนาของพื้นชั้น 1 หรือเพดานชั้นใต้ดินนั้น มีความหนาเพียง 10 ซม. อาจเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ปส. ไม่ได้เกี่ยวข้องในการเขียนแบบ แต่ในส่วนนี้ข้อมูลอยู่แล้ว ขอให้ผู้สื่อข่าวทำเรื่องขอข้อมูลตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาที่ ปส. อีกครั้ง เพราะ ไม่ทราบข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเขียนแบบแปลน เพียงแต่ ปส. มาทราบในเวลาต่อมาในหน้างานที่ต้องปรับเพิ่มความหนา...”
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับเรื่องร้องเรียนให้ช่วยตรวจสอบการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคาร มูลค่า 600 ล้านบาท ของ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดยอ้างว่า โครงการก่อสร้างดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ ก่อสร้างล่าช้า ผ่านไปกว่า 3 ปี แต่งานก่อสร้างชั้นใต้ดินก็ยังไม่แล้วเสร็จ และเริ่มมีปัญหาน้ำซึมเนื่องจากการเปลี่ยนแบบฐานรากของอาคารดังกล่าว
ขณะที่ นางสาวกรรณิกา มณีวรรณ์ นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการพิเศษ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รักษาการแทนเลขานุการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ชี้แจงว่า โครงการก่อสร้างอาคารของ ปส. มีโครงการเดียว คือ โครงการก่อสร้างอาคารมาตรวิทยารังสีแห่งชาติ วงเงิน 518 ล้านบาท ไม่ถึง 600 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวมีการเปลี่ยนแก้ไขแบบและก่อสร้างล่าช้าจริง เนื่องจากเป็นอาคารแบบพิเศษ แต่ได้มีการชี้แจงเหตุผลต่างๆ เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างดังกล่าวกับหน่วยการต่างๆ ทั้ง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ วท. รวมทั้งหน่วยงานจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ให้ผู้สื่อข่าวทำหนังสือขอสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการไปที่ ปส. และจะชี้แจงในประเด็นคำถามอีกครั้ง เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ได้ส่งหนังสือขอสัมภาษณ์ผู้บริหาร ปส. อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว (อ่านประกอบ : ร้อง ‘อิศรา’ สอบปมตึกสนง.ปรมาณู 518ล. เปลี่ยนทีโออาร์แบบฐานรากวุ่น สร้าง 3 ปีไม่เสร็จ)
โดยโครงการดังกล่าวคือ โครงการก่อสร้างอาคารมาตรวิทยารังสีแห่งชาติ วงเงิน 518 ล้านบาท มีการจัดประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (เลขที่โครงการ : 58045054570) ตั้งราคากลางไว้ที่ 538,937,000 บาท จากวงเงินงบประมาณ 539,312,000 บาท ก่อนจะมีการตกลงจ้างงานอยู่ที่ตัวเลข 518,000,000 บาท ลงนามเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2558 โดยผู้ชนะการเสนอราคาได้รับงานไป คือ บริษัท รวมนครก่อสร้าง (ประเทศไทย) จำกัด (อ่านประกอบ : เจาะสัญญาตึกสนง.ปรมาณู518ล. ก่อนถูกร้องเปลี่ยนทีโออาร์แบบฐานรากวุ่นสร้าง3ปีไม่เสร็จ)
ล่าสุด นางสาววิไลวรรณ ตันจ้อย รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ มอบหมายให้ นางสาวอัมพิกา อภิชัยบุคคล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบบริหาร ร่วมกับ นายภานุพงศ์ พินกฤษ วิศวกรนิวเคลียร์ชำนาญการพิเศษ และเจ้าหน้าที่ ปส. ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ที่ ห้องรับรอง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เลขที่ 16 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
เบื้องต้น นางสาวอัมพิกา ให้สัมภาษณ์ว่า รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปส. ติดภารกิจสำคัญ จึงได้มอบหมายมาให้สัมภาษณ์ในฐานะที่เป็น ประธานคณะกรรมการตรวจการจ้าง
นางสาวอัมพิกา ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า ชั้นใต้ดินมีความลึกอยู่สองระดับ คือ 6 ม. และ 10 ม. ขั้นตอนการขุดต้องขุดให้ลึกมากกว่าความลึกจริง คือ 7 ม. และ 10 ม. ซึ่งส่วนที่ลึก 10 ม. นั้น เป็นพื้นที่สำหรับห้องปฏิบัติการที่มีรังสีแรงสูง ต้องมีความหนาเป็นพิเศษพอที่จะกันรังสีได้ ซึ่งหนามากกว่าตึกทั่วไป โดยหนาประมาณ 1.5 ม. และหากสารรังสีตัวใดมีความแรงมาก อาจจะต้องมีการป้องกันด้วยตะกั่วอีกชั้น ทำให้เพิ่มน้ำหนัก ดงันั้นการออกแบบพื้นจะต้องรับน้ำหนักได้มากกว่าพื้นปกติด้วย โดยพื้นปกติจะรับน้ำหนักได้ประมาณ 300 กก./ตร.ม. แต่พื้นของห้องปฏิบัติการในพื้นของห้องชั้นใต้ดินและชั้น 7-9 จะออกแบบให้รับน้ำหนักได้ประมาณ 5,000 กก./ตร.ม.
อาคารดังกล่าว ปส. มุ่งหวังที่จะให้เป็นศูนย์กลางทางมาตรวิทยารังสีของอาเซียน จะมีห้องปฏิบัติการที่มีความเป็นเลิศในด้านต่างๆ รวม 19 ห้องปฏิบัติการ
ในการออกแบบตึกจะมีกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นที่ปรึกษา และเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการควบคุมงาน รวมทั้งอยู่ในคณะกรรมการตรวจการจ้างด้วย ซึ่งตรวจครบทุกด้านตั้งแต่เริ่มโครงการ
นางสาวอัมพิกา กล่าวถึงการแก้ไขสัญญาว่า มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเดิม 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 แก้ไขในส่วนของความหนาพื้นอาคารชั้น 1 ซึ่งเป็นเพดานของชั้นใต้ดิน เดิมทีหนา 10 ซม. ซึ่งเป็นความหนาสำหรับอาคารทั่วไป โดยได้ปรับแก้ความหนาเป็น 1.5 ม. เพื่อให้ป้องกันรังสีได้ และยังได้ปรับเปลี่ยนแก้ไขโครงสร้างจากแบบ isolate foundation เป็น mat foundation ส่วนการแก้ไขครั้งที่ 2 แก้ไขในส่วนที่ต้องใช้ดินที่ขุดออกมาถมไปที่ช่องว่างระหว่างอาคารถึงกำแพงกันดิน เปลี่ยนเป็นการใช้ทรายถมลงไปแทน เนื่องจากดินที่ขุดขึ้นมาแล้ว เมื่อถมกลับลงไปต้องใช้เวลานานเพื่อให้ดินคงตัวแข็งแรงเช่นเดิม และมีการปูแนวกันซึมเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจมากขึ้นว่าจะไม่มีการรั่วซึมในชั้นใต้ดิน
นางสาวอัมพิกา กล่าวอีกว่า ผู้เชี่ยวชาญที่ฟินแลนด์มาดูว่า ห้องปฏิบัติการต่างๆ ควรอยู่จุดไหน ต้องมีความหนาเท่าไร โดยได้ให้คำแนะนำไว้หมดแล้ว ซึ่งได้ออกแบบตามคำแนะนำทุกอย่าง มีเพียงข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดจากการตรวจสอบไม่ถี่ถ้วน
“ตอนนี้ก็ยอมรับข้อผิดพลาดตรงนั้น เพราะว่า ห้องปฏิบัติในชั้น 7-9 ออกแบบครบถ้วนตามหลักการการป้องกันอันตรายจากรังสี รวมถึงพื้นชั้นใต้ดินด้วยว่า ต้องอยู่ลึกกว่าพื้นดินลงไป 10 ม. ในห้องดังกล่าวจะต้องมีความหนาของผนังและฐานอย่างน้อย 1.5 ม. ตามข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฟินแลนด์ แต่พอไปตรวจสอบกลับพบว่า ความหนาของพื้นชั้น 1 หรือเพดานชั้นใต้ดินนั้น มีความหนาเพียง 10 ซม. อาจเป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ปส. ไม่ได้เกี่ยวข้องในการเขียนแบบ แต่ในส่วนนี้ข้อมูลอยู่แล้ว ขอให้ผู้สื่อข่าวทำเรื่องขอข้อมูลตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาที่ ปส. อีกครั้ง เพราะ ไม่ทราบข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเขียนแบบแปลน เพียงแต่ ปส. มาทราบในเวลาต่อมาในหน้างานที่ต้องปรับเพิ่มความหนา”
เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราถามว่า มีการแก้ไขทีโออาร์เพื่อเอื้อเอกชนบางราย ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นางสาวอัมพิกา ตอบว่า “ไม่ทราบรายละเอียด น่าจะมีข้อมูลเอกสารอยู่ ให้ทำเรื่องขอเพิ่มเติมอีกครั้ง”
เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราถามว่า การเปลี่ยนแบบโครงสร้างจาก isolate foundation เป็น mat foundation ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นางสาวอัมพิกา ตอบว่า “คณะกรรมการชุดที่มีการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 1 น่าจะมีข้อมูลเหตุผลประกอบ ซึ่งตนเพิ่งมารับตำแหน่งประธานตรวจการจ้าง อาจจะไม่ทราบในรายละเอียด ขอให้ทำเรื่องขอข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม จากที่ได้ดูเอกสารเบื้องต้น พบว่า การแก้ไขจาก isolate foundation เป็น mat foundation นั้น เพื่อให้ตรงกับสภาพของหน้างาน และในการแก้ไขแบบฐานรากเป็นแบบ mat foundation มีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเซ็นรับรองแบบ ซึ่งเอกสารของกรมโยธาธิการฯ ขอให้ทำเรื่องขอเพิ่มเติมมาอีกครั้ง”
ขณะที่ นายภานุพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแบบฐานรากนั้น เนื่องจาก เมื่อมีการปรับเปลี่ยนความหนาของพื้นชั้น 1 ทำให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาประมาณ 1 ล้านบาท โดย ปส. ได้ส่งเรื่องสอบถามไปยัง กรมโยธาธิการฯ ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งได้รับคำแนะนำกลับมาว่า น่าจะเปลี่ยนเป็นฐานรากแบบ mat foundation ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าแบบ isolate foundation และพอเปลี่ยนมาเป็น mat foundation ทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลงประมาณ 10 ล้านบาท หักกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมา 1 ล้านบาทดังกล่าว ทำให้เหลือตัวเลขค่าใช้จ่ายถูกลง 9 ล้านบาท ซึ่งได้มีการนำไปใช้ในส่วนเพิ่มเติม เช่น ทรายถมช่องว่างบริเวณตัวอาคารถึงกำแพงกันดิน และอื่นๆ ซึ่งขณะนี้เหลือประมาณ 5 ล้านบาท หากเหลือจะต้องคืนสำนักงบประมาณต่อไป อีกทั้งฐานรากแบบ mat foundation ยังรับน้ำหนักได้ดีกว่าแบบ isolate foundation ด้วย
เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราถามว่า ผู้ร้องเรียนอ้างว่า การเปลี่ยนแบบฐานรากดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้ รองเลขาธิการท่านหนึ่งลาออก ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นางสาวอัมพิกา ตอบว่า “ประเด็นนี้ไม่ทราบข้อเท็จจริง ต้องถามเจ้าตัวเอง”
เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราถามว่า บริษัทมีการสร้างล่าช้า โดยอ้างว่า ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขอเท็จจริงเป็นอย่างไร นางสาวอัมพิกา ตอบว่า “คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจตามทีโออาร์ทุกอย่าง ถ้าเกิดการล่าช้าจริง มีการปรับตามสัญญา ประมาณ 500,000 บาท/วัน ซึ่งในแผนการทำงานของผู้รับจ้างได้จัดทำมาให้เป็นรูปแบบเอสเคิฟ คือ ในส่วนของชั้นใต้ดินมีความยาก ต้องทำด้วยความระวัง ซึ่งถ้าชั้นใต้ดินเสร็จ ชั้น 1-9 จะก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว ประมาณ 2 ชั้น ในระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งตามสัญญากำหนดให้เสร็จในวันที่ 14 เม.ย. 2562 ซึ่งผู้รับจ้างยืนยันว่าเสร็จทันเวลาตามแผน ก็ต้องเชื่อตามนั้น ถึงอย่างไรหากล่าช้าจะมีค่าปรับตามสัญญาอยู่แล้ว”
เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราถามว่า ตัวอาคารมีปัญหาเรื่องการรั่วซึมของฐานราก ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นางสาวอัมพิกา ตอบว่า “ไม่ทราบว่ามีปัญหาการรั่วซึม ได้ตรวจตามทีโออาร์ทุกอย่าง ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณงาน ซึ่งไม่มีข้อมูลปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด โดยตามการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา ครั้งที่ 2 นั้น ได้มีการเพิ่มการป้องกันการรั่วซึมเข้าไปด้วย”
นางสาวอัมพิกา กล่าวทิ้งท้ายว่า ในบางประเด็นอาจจะไม่มีข้อมูลที่ตอบได้อย่างละเอียด แต่ทั้งนี้ สามารถขอข้อมูลอย่างเป็นทางการเพิ่มเติมเข้ามาได้ ยินดีให้ข้อมูลและยืนยันว่าดำเนินการอย่างโปร่งใส
ทั้งหมดนี้เป็นคำชี้แจงล่าสุด ความคืบหน้าต่อไปนั้นจะเป็นอย่างไรโปรดติดตามในครั้งต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ฉบับเต็ม! ผลสอบ คตร. ชุด 'อนันตพร' ก่อนชี้สร้างตึกสนง.ปรมาณู 518 ล.วางแผนจัดทำงบไม่รอบคอบ
เผยเบื้องหลังสร้างตึกสนง.ปรมาณู518ล.ล่าช้า! คตร.ชุด'อนันตพร' ชี้วางแผนจัดทำงบไม่รอบคอบ
เจาะสัญญาตึกสนง.ปรมาณู518ล. ก่อนถูกร้องเปลี่ยนทีโออาร์แบบฐานรากวุ่นสร้าง3ปีไม่เสร็จ
ร้อง ‘อิศรา’ สอบปมตึกสนง.ปรมาณู 518ล. เปลี่ยนทีโออาร์แบบฐานรากวุ่น สร้าง 3 ปีไม่เสร็จ