1 ใน 49 เล่ม หนังสือวันเด็กแห่งชาติปี 2516
ในอดีตเป็นประจำทุกปี การจัดงานวันเด็กแห่งชาติจะควบคู่กับการจัดทำหนังสือวันเด็กแห่งชาติ นับจากปี 2502-2552 มีการจัดทำหนังสือวันเด็กแห่งชาติมาแล้ว 49 เล่ม (ปี 2507 งดจัดงานวันเด็กแห่งชาติ 1 ปี)
การจัดงานวันเด็กแห่งชาติ มีขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2502 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่นายกฯ จะให้คำขวัญวันเด็กแล้ว ปี 2502 ถือเป็นปีแรกที่มีการจัดพิมพ์ ‘หนังสือวันเด็กแห่งชาติ’ เล่มแรก ชื่อ เด็กของเรา ขึ้นเผยแพร่ให้ความรู้แก่ผู้ใหญ่ในการอบรมเด็ก โดยมีเจตนาให้ผู้ใหญ่เข้าใจถึงธรรมชาติของเด็ก และมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ และผู้มีหน้าที่ดูแลเด็ก จำหน่ายเล่มละ 1 บาท
ในอดีตเป็นประจำทุกปี การจัดงานวันเด็กแห่งชาติจะควบคู่กับการจัดทำหนังสือวันเด็กแห่งชาติ นับจากปี 2502-2552 มีการจัดทำหนังสือวันเด็กแห่งชาติมาแล้ว 49 เล่ม (ปี 2507 งดจัดงานวันเด็กแห่งชาติ 1 ปี)
สำหรับปกหนังสือวันเด็กแห่งชาติ จะมีอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์เป็นปกหนังสือ รวมทั้งนำเสนอพระสาทิสลักษณ์ ภาพถ่าย ภาพวาด หรือภาพการ์ตูน มาเป็นปกหนังสือสะท้อนแนวคิดและเนื้อหาของหนังสือ
นอกจากนี้ยังรวมภาพวาดของนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกจากโรงเรียนประถมศึกษา และโรงเรียนมัธยมศึกษา มาขึ้นเป็นปกด้วย
ตัวอย่าง 1 ใน 49 เล่ม หนังสือวันเด็กแห่งชาติปี 2516
หน้าปกเป็นพระบรมฉายาลักษณ์โปรดเกล้าฯ พระราชทาน ขณะพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระยศในขณะนั้น) เสด็จโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปทรงเยี่ยมราษฎรชาวเขาหมู่บ้านป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
เรื่องสำคัญในเล่ม มีบทความที่หม่อมหลวงมณีรัตน์ บุนนาค เขียนถึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ เมื่อทรงเยาว์ จนกระทั่งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร
“สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขณะนี้ทรงมีพระชนมายุครบ 20 พรรษาแล้ว ทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย จะทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารในกาลต่อไป
ตั้งแต่ทรงเยาว์มา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ โปรดความมีระเบียบ วินัย และความสะอาดเรียบร้อย ไม่ทรงนิยมฝ่าฝืนหรือละเมิดกฎข้อบังคับ ทรงแสดงความสนพระทัยในกิจการของกองทัพไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า การศึกษาวิชาทหารในประเทศออสเตรเลียมีหลักสูตรกว้างขวางและการฝึกอบรมเข้มงวด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ร้อยโท สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ เสด็จจากประเทศอังกฤษที่กำลังทรงศึกษาในโรงเรียนพับลิสกุล เข้าศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหารที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ผลการศึกษาปรากฏว่า พระองค์ทรงมีความเพียร และความอดทนอย่างดียิ่ง ทรงปฏิบัติได้ดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในด้านวิชาทหาร ทรงผ่านการทดสอบและการฝึกในขั้นต้นเป็นระยะเวลา 5 อาทิตย์ ซึ่งถือว่าเป็นระยะที่หนักที่สุดในชีวิตของนักเรียนนายร้อย ซึ่งพากันเรียกว่า “สัปดาห์นรก” จนได้เข้าประจำเหล่านักเรียนนายร้อยที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน
ในระยะที่โรงเรียนปิดภาคการศึกษา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ เสด็จกลับมาประเทศไทย ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ สมเด็จพระชนก สมเด็จพระชนนี และตามสมเด็จพระราชดำเนินไปในงานต่างๆ ตลอดจนทรงเยี่ยมราษฎรตามจังหวัดและที่ห่างไกล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ทรงสนพระทัย ทำความรู้จักคุ้นเคยกับข้าราชการและประชาชน ทรงทราบถึงความต้องการและสถานการณ์ที่แท้จริงของประเทศ อีกทั้งทรงฝักใฝ่สนพระทัยในพระพุทธศาสนา กิจการด้านกฎหมาย และสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณคงเคารพรัก เทิดทูนในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ไม่เฉพาะเพียงในฐานะสมเด็จพระราชโอรสเท่านั้น หากทรงปฏิบัติพระองค์เหมือนเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่ง ดังในภาพที่เสด็จลงจากเครื่องบินและทรงกราบถวายบังคมสมเด็จพระชนกชนนีบนลานบิน เมื่อทรงโดยเสด็จไปเยี่ยมชาวเขาในภาคเหนือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ทรงคุกพระชงฆ์ส่งของถวายด้วยกิริยาละมุนละม่อม จนมีผู้ทูลล้อจึงรับสั่งกับผู้นั้นว่า
“พ่อแม่ของเรา ถ้าไม่เคารพเองแล้ว จะให้ใครเขาเคารพ”
ไม่ทรงทำพระองค์เสมอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทำอะไรถวายได้ เช่น ถือของตามเสด็จก็ดีพระทัยแล้ว กับบุคคลทั่วไป ไม่ทรงเอ่ยคำแทนพระนามสมเด็จพระชนกเป็นอย่างอื่น นอกจาก “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
บางคราวคนไม่รู้จัก นึกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลูกยาเธอฯ เป็นเพียงทหารธรรมดาผู้หนึ่ง เคยกราบทูลสมเด็จพระชนนีเสมอว่า ความสุขอันสูงสุดของพระองค์ก็คือการทำให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงภาคภูมิพระทัย
ตั้งแต่ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหาร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ โปรดทำงานส่วนพระองค์เองเสมอ เป็นต้นว่า ทรงซักรีดฉลองพระองค์ ทำความสะอาดรถยนต์เอง ล้างถ้วยชาม แม้จนกระทั่งเสด็จกลับมาเมืองไทย ก็ไม่โปรดให้มหาดเล็กจัดกระเป๋าถวาย โปรดทรงทำเอง การเสวยก็ง่ายทุกอย่าง ไม่ทรงจู้จี้พิถีพิถันช่างเสวยเหมือนทรงพระเยาว์ เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ เสด็จออกไปศึกษาในต่างประเทศตั้งแต่พระชนมายุ 13 พรรษา ทรงยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีไทย โปรดฟังแผ่นเสียงหรือเทปเพลงไทย ทรงร้องเพลงไทยและหัดขับเสภา ที่เห็นอย่างเด่นชัด คือ ทรงหันเข้าหากวีนิพนธ์ไทย ได้ทรงนิพนธ์ถวายสมเด็จพระชนนีดังปรากฏ 2 คราวแล้วในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งบรรยายเหตุการณ์และความรู้สึกได้อย่างละเอียดลออ โดยเฉพาะบทนิพนธ์ที่ส่งมาถวายในวันที่ 12 สิงหาคม สมเด็จพระชนนีทรงทักถามไปว่า
พระราชโอรสทรงเช่นนี้ เพราะกลอนพาไปใช่หรือไม่
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ กราบทูลตอบว่า พระองค์ทรงเขียนมาจากพระทัยจริง
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ จะเสด็จกลับเมืองไทยเมื่อวิทยาลัยการทหารที่ดันทรูนปิดภาคเรียนกลางเดือนธันวาคม และในโอกาสนี้พระองค์ก็จะได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อประเทศชาติและประชาชนดังที่เคยทรงปฏิบัติมาก่อนแล้ว”
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/