อดีต รมว.สธ.ชี้ระบบหลักประกันสุขภาพกำลังเผชิญความท้าทาย ห่วงประโยชน์แอบแฝงผู้มีอำนาจ
'นพ.มงคล' ระบุ ระบบหลักประกันฯ กำลังเผชิญความท้าทายหลายด้าน ทั้งสังคมสูงวัย-เทคโนโลยีเปลี่ยน-ผลประโยชน์แอบแฝงจากกลุ่มผู้มีอำนาจ ชี้ต้องใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ ดึงงานมิตรภาพบำบัดช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 มูลนิธิมิตรภาพบำบัด (กองทุนนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) จัดงาน “รำลึก 11 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” ขึ้น ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่นโฮเทล กทม. โดยมีภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพและผู้ที่สนใจเข้าร่วมกว่า 500 ราย
นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกล่าวเปิดงาน ตอนหนึ่งว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ซึ่งมี นพ.สงวน เป็นเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คนแรก เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดขึ้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นระบบที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่จำเป็น ไม่ต้องล้มละลายด้วยการเจ็บป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง โดยรัฐบาลได้ใช้เงินภาษีของประชาชนช่วยสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชน
นพ.มงคล กล่าวว่า ที่ผ่านมามีประชาชนกว่า 90% แสดงความพึงพอใจกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเป็นที่ยอมรับและกล่าวขานด้วยความชื่นชมจากนานาประเทศ โดยตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ส่งทีมงานเข้ามาเรียนรู้การสร้างหลักประกันสุขภาพอย่างมากมาย นับเป็นผลงานชิ้นเอกและเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจของคนไทย
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่ท้าทายต่อไปคือเราจะสร้างความยั่งยืนในระบบหลักประกันสุขภาพได้อย่างไรภายใต้ความเสี่ยงและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลายปัจจัย เช่น สังคมผู้สูงอายุที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น เทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ที่มีราคาแพงและสามารถยืดอายุผู้ป่วยต่อไปได้ รวมถึงนโยบายแอบแฝงภายใต้ผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้มีอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยเหลือและช่วยกันผลักดันให้ประเทศไทยสามารถจัดการกับสิ่งท้าท้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหนึ่งในแนวทางการจัดการคือการแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้กับงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ทั้งนี้ ประกอบด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เสริมสร้างความเข้มแข็งบริการปฐมภูมิของประเทศ และอีกสิ่งสำคัญคือการนำแนวคิด “จิตอาสามิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน ผู้ป่วยช่วยผู้ป่วย” เพราะคนที่เจ็บป่วยต้องการคนที่เข้าใจ ต้องการคำแนะนำการปฏิบัติตัวจากประสบการณ์จริงของคนไข้ด้วยกัน เพราะการมีผู้ประสบปัญหาเดียวกันมาช่วยเหลือกัน ให้ข้อมูลแก่กันและกัน นับเป็นแนวทางสำคัญให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถยืนหยัดต่อสู้กับโรคภัยได้อย่างเข้มแข็ง
“ระบบหลักประกันสุขภาพและการดำเนินงานจิตอาสามิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อน ผู้ป่วยช่วยผู้ป่วย จะต้องเดินหน้าต่อไปแม้มีอุปสรรคบ้าง โดยรัฐบาลต้องดำเนินการเพราะเป็นการลงทุน เป็นกำลังของชาติและพัฒนาประเทศ นั่นเพราะความเจริญของประเทศและเศรษฐกิจจะเติบโตได้ก็ด้วยประชาชนมีสุขภาพดี” นพ.มงคล ณ สงขลา กล่าว