สมาคมประมงผุดไอเดียตั้ง “ศูนย์จัดหางานตังเก” 5 จว.ชายฝั่ง แก้ปัญหาค้ามนุษย์
รมว.พม.ชี้ค้ามนุษย์ภาคประมงไทยโดยเฉพาะแรงงานเด็ก ถูกต่างชาติจับตา-อาจถูกกีดกันการค้า สมาคมประมงโวยคนไทยเป็นตังเกน้อยเพราะกลัวถูกหลอก เสนอไอเดียตั้ง “ศูนย์จัดหาแรงงานประมง” 5 จว. ตราด สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา ระนอง แก้ปัญหาค้ามนุษย์-ขาดแคลนแรงงาน สร้างงานคนไทยแทนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง
วานนี้(18 ส.ค. 53) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย จัด “สัมนาผู้ประกอบการภาคประมงเพื่อพิจารณารูปแบบและแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานประมง” โดยนางกานดา วัชราภัย รองปลัด พม. กล่าวว่า แรงงานประมงเป็นอาชีพที่คนไทยไม่นิยมทำเพราะเป็นงานหนัก อันตราย ต้องอยู่กลางทะเลนาน จึงเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานอันนำไปสู่การค้ามนุษย์ในภาคประมง โดยมีนายหน้าหลอกลวงคนเพื่อส่งต่อไปบังคับใช้แรงงานบนเรือประมง นอกจากนี้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการบางรายหันไปใช้แรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง ซึ่งทำให้ปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้น
ดร.วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวถึง พัฒนาการภาคประมงไทย ว่าปัจจุบันเน้นการใช้เครื่องจักร และการออกทะเลไกลฝั่งมากขึ้นระยะเวลานานขึ้น ด้านแรงงานเมื่อก่อนใช้คนท้องถิ่นที่เป็นลูกทะเลอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันใช้คนต่างถิ่นซึ่งไม่รู้จักทะเล ทำให้มีความยากลำบากในการทำงาน แต่มีบางส่วนสู้และอดทนเพราะผลตอบแทนที่คุ้มค่า จึงเสนอให้มีการจัดตั้ง “ศูนย์จัดหางานเพื่อกิจการประมงทะเล” เพื่อจัดระเบียบและคุ้มครองสิทธิการใช้แรงงานในกิจการประมงทะเล ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว
“เพื่อแก้ไขปัญหาลูกเรือประมงอย่างเบ็ดเสร็จ (ทั้งไทยและต่างด้าว) จัดระเบียบการใช้แรงงานในกิจการประมงทะเล คุ้มครองสิทธิการใช้แรงงาน(ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง) ที่สำคัญศูนย์นี้จะเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านเศรษฐกิจและการค้ามนุษย์ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง”
ดร.วิชาญ กล่าวต่อไปว่า การตั้งศูนย์จัดหางานเพื่อกิจการประมงทะเล จะทำให้คนไทยกลับมาสู่แรงงานภาคประมงได้อย่างเต็มใจและจะสามารถแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาแรงงานต่างด้าว ผู้หลบหนี้เข้าเมืองในกิจการประมงทะเลให้หมดไป ซึ่งเสนอให้ตั้งศูนย์ดังกล่าวใน 5 จังหวัด ได้แก่ ตราด สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา และระนอง
“ความสำเร็จต้องเกิดจากความร่วมมือภาคประมง ทั้งการแก้ปัญหาตัวเองและปัญหาชาติ เสียสละและแบ่งปันผลประโยชน์ส่วนตนและอยู่ในกติกา แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดในกระบวนการ การแก้ปัญหาก็เป็นไปไม่ได้ อีกส่วนคือรัฐต้องสนับสนุนจริงจัง แก้ระเบียบกติการองรับแนวคิดวิธีการใหม่ๆที่เหมาะสม”
ด้านนายอนุรักษ์ ทศรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดระบบแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จุดล่อแหลมที่เกิดการค้ามนุษย์คือการจัดหาแรงงานเพื่อไปทำงานในภาคประมง ซึ่งส่วนใหญ่มักให้ข้อมูลแรงงานไม่รอบด้านว่าลักษณะการทำงานมีความยากลำบากและเสี่ยงอย่างไร
“ลงเรือไปแล้วเปลี่ยนใจไม่ได้ ยิ่งเรือที่ออกนอกน่านน้ำไทยใช้เวลานานเป็นเดือนกว่าจะกลับเข้าฝั่ง แต่บางส่วนที่ทำให้แรงงานไม่หนีไปไหนคือค่าตอบแทน ลูกเรือประมงมีค่าตอบแทนสูงกว่าบนบก ซึ่งศูนย์ที่กำลังจะจัดตั้งถือเป็นแนวคิดที่ดี ผมอยากฟังว่าผู้ประกอบการจะยอมรับแนวคิดนี้ได้หรือไม่ กฏระเบียบอะไรต่างๆผมรับไปที่จะคิดและแก้ไขเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ”
นางนนทพรรณ ศรีมังกร นักการทูตปฏิบัติการ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับศูนย์จัดหางานเพื่อกิจการประมงทะเลว่า นอกจากแนวคิดที่จะดูแลเรื่องแรงงานในอาชีพ ควรมองประเด็นการให้ความช่วยเหลือแรงงานประมงของไทยที่ไปถูกจับในต่างแดนด้วยจึงจะถือว่ามีการตั้งเป้าหมายแก้ปัญหาอย่างครอบคลุม
นายมานะ ศรีพิทักษ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาในภาคเศรษฐกิจการประมงว่า การใช้ทรัพยากรในประเทศที่ผิดพลาด ทำให้สัตว์น้ำในน่านน้ำไทยมีจำนวนลดลงมาก นอกจากนี้ปัจจุบันคนไทยสนใจเข้ามาทำงานในภาคประมงน้อย ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการค้ามนุษย์
“ต้องยอมรับว่าที่เราไม่มีแรงงานไทยมาใช้ในภาคประมงเพราะมันมีการค้ามนุษย์หลอกให้แรงงานมาทำงาน ทำให้คนงานไทยไม่อยากเข้ามาเลย แล้วคนงานไทยที่มีประสิทธิภาพก็เลยไม่มี ต้องทำลายกระบวนการพวกนี้ให้ได้ การพัฒนาประมงไทยถึงจะไปรอด”
นายมานะ กล่าวว่า ปัจจุบันชาวประมงที่มาจากภาคอีสานส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในจังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และสุรินทร์ ซึ่งถ้าได้เรียนรู้กระบวนการทำงานและเริ่มทำงานในประเทศก่อน ในอนาคตคนเหล่านี้อาจมีคุณภาพไปสู่การเดินเรือระหว่างประเทศได้
“ถึงเวลาแล้วที่ภาคประมงควรใช้แรงงานไทย เวลานี้ใช้แรงงานต่างด้าวค่าจ้างสูงกว่าคนไทย อย่างที่สมุทรสงครามจ้างแบบเหมา 25 คนเดือนละ 120,000 บาทต่อลำ ถ้าทำให้คนไทยเข้ามาและพัฒนาทักษะฝีมือ อนาคตได้เป็นไต๋เรือเป็นเจ้าของกิจการ จะดีต่อภาคประมง เป็นการประมงที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืน”
นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการ พม. กล่าวว่า สถานการณ์และปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมง กำลังเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองจากต่างประเทศ ไม่ว่าสหรัฐอเมริกา หรือกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป และอาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการค้าของไทย ถูกกีดกันสินค้าประเภทประมง หากพบว่ามีการค้ามนุษย์หรือการบังคับใช้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานเด็ก กระทรวงพัฒนาสังคมฯ จึงให้ความสำคัญในการแก้ปัญหานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวพันกับการหลบหนีเข้าเมืองก่อให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย เนื่องจากมีการตั้งตัวเป็นนายหน้าจัดหาแรงงาน หรือเป็นหัวหน้ากลุ่มข่มขู่คนต่างด้าวด้วยกันเอง ยังเกิดปัญหาโรคติดต่อ ความแออัด ซึ่งทางราชการไม่มีข้อมูลหรือทะเบียนในการสืบค้นจึงแก้ปัญหายาก
“ข้อคิดเห็นวันนี้ จะนำไปศึกษาวิเคราะห์นำเสนอรัฐบาลโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อนำไปสู่การกำหนดเป็นนโยบายแก้ปัญหาดังกล่าว วันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่เป็นก้าวสำคัญที่จะส่งผลให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ธุรกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานประมงอย่างยั่งยืน หวังว่าจะส่งผลให้การค้ามนุษย์ลดลงและหมดไปในที่สุด” .