“ชัยพร พรหมพันธุ์” ชาวนาเงินล้าน แนะปลูกข้าวเบารับมือน้ำท่วม
“ชัยพร พรหมพันธุ์” ชาวนาเงินล้าน ชี้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส แนะปลูก “ข้าวเบาหนีน้ำ” รับมือน้ำท่วมนาข้าว หลุดกรอบชาวนายากจน นำการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยฝ่าวิกฤตฤดูน้ำหลากปี 55
นายชัยพร พรหมพันธุ์ ชาวนาเงินล้าน ในฐานะเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2538 ทำนาในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ จนได้รับฉายาว่าชาวนาเงินล้าน กล่าวภายหลังเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่กลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคม (นปปส.) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า กลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคม (นปปส.) ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานยัง อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เพื่อเรียนรู้การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในภาคเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยพิบัติเมื่อปี 2554 ชาวนาประสบปัญหาข้าวเกิดความเสียหายเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ ทุกคนอยู่ในภาวะขาดทุน สูญเสียทรัพย์สิน เงินทองและกำลังใจ ตนซึ่งเป็นชาวนามาแต่กำเนิดและเรียนรู้วิธีการทำนามาทุกรูปแบบ
ดังนั้นตนมองว่าการหันมาปลูกข้าวหนีน้ำ หรือที่เรียกกันว่าข้าวเบา ซึ่งใช้ระยะเวลาในการปลูกเพียง 3 เดือนก็เก็บเกี่ยวข้าวได้แล้วเป็นแนวทางการรับมือน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นอีก ซึ่งในปีที่ผ่านมาชาวนาส่วนใหญ่หรือเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์จะปลูกข้าวหนัก ที่ต้องใช้เวลาในการปลูก 4 เดือน เนื่องจากได้ราคาดีกว่าข้าวเบาเกวียนละ 1,000 บาท อีกทั้งข้าวหนักเป็นข้าวที่รัฐบาลรับประกันราคา
“ผมและคนในชุมชน หมู่ 1 หมู่ 2 หมู่ 8 ของ อ.บางปลาม้าทั้งทุ่ง กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จึงหันมาปลูกข้าวเบากันในปีนี้ จากที่แทบไม่มีใครปลูกเลย เพราะเมื่อหันมาปลูกข้าวที่ใช้ระยะเวลาในการเติบโตสั้นเราจะสามารถเก็บเกี่ยวข้าวภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจะหนีน้ำทัน และเรายังขายข้าวให้กับโรงสีข้าวได้ เราจึงไม่เสี่ยงกับการขาดทุนด้วยการปลูกข้าวหนัก เพราะเมื่อปีที่แล้วน้ำท่วมนาข้าวแค่เพียง 2 สัปดาห์ ผมเสียเงินไปถึง 4 แสนบาท นอกจากนี้ชาวนาที่ปลูกข้าวอยู่ในละแวกเดียวกันยังรวมกลุ่มกันช่วยกันดูแลที่นา
หากเกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้นอีกในปีนี้ ทุกคนก็จะช่วยกันลงแรงหรือลงแขกวิดน้ำออกจากที่นา ช่วยกันเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อให้ทันก่อนที่น้ำจะท่วมนา นอกจากนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเห็นว่าชาวบ้านรวมตัวกันในการรับมือกับภาวะน้ำท่วมก็ยินดีเข้ามาช่วยสนับสนุนเครื่องมือต่างๆ ด้วย เช่น เครื่องสูบน้ำ เชื้อเพลิง เป็นต้น เป็นความสามัคคีในชุมชนเพื่อรับมือกับอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งก็ได้” นายชัยพร กล่าว
ด้านอารีวรรณ จตุทอง กรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ คณะกรรมการปฎิรูปกฎหมายและในฐานะตัวแทนผู้นำการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่ากลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคม (นปปส.) เป็นกลุ่มที่รวบรวมบุคลากรจากทุกภาคส่วนในสังคมทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรภาคีเครือข่าย และภาคประชาชน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ซึ่งเป็นความร่วมมือได้มาร่วมกันขับเคลื่อนรูปแบบการทำงานด้านสังคมในมิติใหม่ของคนทำงานด้วยการติดอาวุธทางปัญญาให้กับผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคม ผลักดันประเทศไทยให้น่าอยู่
ทั้งนี้ โดยส่วนตัวตนทำงานภาคประชาชน จึงมีโอกาสได้มาเข้าร่วมโครงการดังกล่าว และจากการลงพื้นที่และเรียนรู้การทำเกษตรแบบยั่งยืนของนายชัยพร ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่นำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในกลุ่มชาวนา แสดงให้เห็นถึงกระบวนการเรียนรู้และศึกษาพัฒนาการทำการเกษตรของตนเองอยู่ตลอดเวลา สามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานและการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้อย่างดี นอกจากนี้ยังมีความละเอียดรอบคอบคล้ายนักวิจัย คิดออกนอกกรอบ ทวนกระแส หาเหตุผลที่มาที่ไป ไม่ยอมแพ้จนสามารถก้าวข้ามปัญหาได้
ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ทำให้ชัยพรมีความโดดเด่น ฉีกกรอบจากชาวนาทั่วไป นำไปปรับใช้และเปลี่ยนทัศนคติที่คนทั่วไปมักมองว่าชาวนายากจนและรอการช่วยเหลือจากภาครัฐเสมอ ทำให้นักเรียน นปปส.ที่ไปดูงานเห็นได้ว่า หากเราจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องมีคุณสมบัติอย่างไร และยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ได้อีกด้วย