ฉบับเต็ม! ผลสอบ คตร. ชุด 'อนันตพร' ก่อนชี้สร้างตึกสนง.ปรมาณู 518 ล.วางแผนจัดทำงบไม่รอบคอบ
"...สรุปผลการตรวจสอบและการดำเนินการ : จากการประชุม คตร. ครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2558 ที่ประชุมมีมติรับทราบสาเหตุในการขอเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้าง เนื่องจากความผิดพลาดในการประมาณการค่าก่อสร้างในขั้นการจัดเตรียมงบประมาณ เนื่องจากเป็นอาคารรูปแบบเฉพาะ และเห็นความจำเป็นในการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนเทคโนโลยีการก่อสร้างอาคารในพื้นที่จำกัด รวมทั้งปรับแบบรูปรายการให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้ประโยชน์สำหรับอาคารพิเศษ..."
"คตร. มีข้อสังเกตว่า การเพิ่มวงเงินสูงขึ้น คิดเป็นร้อยะ 20.63 แสดงว่า ในขั้นตอนการวางแผนและการจัดทำงบประมาณ ไม่ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบและครบถ้วน"
คือ สาระสำคัญที่ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ชุดที่มี พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธานฯ (ในขณะนั้น) แจ้งความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายหลังได้รับมอบมีมติมอบหมายให้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุของความล่าช้าในการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการด้านนิวเคลียร์และรังสีดังกล่าว หลังจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ทำเรื่องขออนุมัติปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณก่อสร้างจากจำนวน 448,000,000 บาท เป็นจำนวน 540,441,000 บาท คิดเป็นวงเงิน 92,441,000 บาท พร้อมขอขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ จากระหว่างปีงบประมาณ 2557-2559 เป็นระหว่างปีงบประมาณ 2557-2561 ให้เหตุผลว่าเนื่องจากมีห้องปฏิบัติการจำนวนมากที่ต้องรับน้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์ปกติ และมีความจำเป็นต้องจัดทำโครงสร้างพิเศษในส่วนของพื้นที่อาคารและกำแพงกันดิน จึงทำให้ราคาเพิ่มขึ้น (อ่านประกอบ : เผยเบื้องหลังสร้างตึกสนง.ปรมาณู518ล.ล่าช้า! คตร.ชุด'อนันตพร' ชี้วางแผนจัดทำงบไม่รอบคอบ)
ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญอีกชุดหนึ่ง ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบ ภายหลังได้รับเรื่องร้องเรียนให้ช่วยเข้าไปตรวจสอบการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคาร มูลค่า 600 ล้านบาท ของ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) โดยอ้างว่า โครงการก่อสร้างดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ ก่อสร้างล่าช้า ผ่านไปกว่า 3 ปี แต่งานก่อสร้างชั้นใต้ดินก็ยังไม่แล้วเสร็จ และเริ่มมีปัญหาน้ำซึมเนื่องจากการเปลี่ยนแบบฐานรากของอาคารดังกล่าว
ขณะที่ นางสาวกรรณิกา มณีวรรณ์ นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการพิเศษ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รักษาการแทนเลขานุการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ชี้แจงว่า โครงการก่อสร้างอาคารของ ปส. มีโครงการเดียว คือ โครงการก่อสร้างอาคารมาตรวิทยารังสีแห่งชาติ วงเงิน 518 ล้านบาท ไม่ถึง 600 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวมีการเปลี่ยนแก้ไขแบบและก่อสร้างล่าช้าจริง เนื่องจากเป็นอาคารแบบพิเศษ แต่ได้มีการชี้แจงเหตุผลต่างๆ เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างดังกล่าวกับหน่วยการต่างๆ ทั้ง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ วท. พร้อมขอให้ผู้สื่อข่าวทำหนังสือขอสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการไปที่ ปส. และจะชี้แจงในประเด็นคำถามอีกครั้ง ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้ส่งหนังสือขอสัมภาษณ์ผู้บริหาร ปส. อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว
ต่อมา สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจ้างภาครัฐ พบว่า โครงการก่อสร้างอาคารมาตรวิทยารังสีแห่งชาติ วงเงิน 518 ล้านบาท มีการจัดประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (เลขที่โครงการ : 58045054570) ตั้งราคากลางไว้ที่ 538,937,000 บาท จากวงเงินงบประมาณ 539,312,000 บาท ก่อนจะมีการตกลงจ้างงานอยู่ที่ตัวเลข 518,000,000 บาท ลงนามเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2558 โดยผู้ชนะการเสนอราคาได้รับงานไป คือ บริษัท รวมนครก่อสร้าง (ประเทศไทย) จำกัด (อ่านประกอบ : ร้อง ‘อิศรา’ สอบปมตึกสนง.ปรมาณู 518ล. เปลี่ยนทีโออาร์แบบฐานรากวุ่น สร้าง 3 ปีไม่เสร็จ, เจาะสัญญาตึกสนง.ปรมาณู518ล. ก่อนถูกร้องเปลี่ยนทีโออาร์แบบฐานรากวุ่นสร้าง3ปีไม่เสร็จ, เปิดตัว บ.รวมนครฯ คู่สัญญาสร้างตึก สนง.ปรมาณู 518 ล. ก่อนเกิดปัญหาล่าช้า 3 ปีไม่เสร็จ)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในการแจ้งความเห็นต่อที่ประชุม ครม. ของคตร. ดังกล่าว พลเอกอนันตพร ประธานฯ คตร. (ในขณะนั้น) ได้ทำหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ คสช(คตร)/345 ลงวันที่ 3 มี.ค. 2558 ถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอาคารมาตรวิทยารังสีแห่งชาติดังกล่าวอีกหนึ่งฉบับด้วย โดยระบุว่า เห็นชอบในหลักการการอนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณโครงการฯ จำนวน 92,441,000 บาท ตามที่ วท. เสนอ และในการดำเนินการต่อไปในทุกขั้นตอนจะต้องมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ แต่มีข้อแนะนำว่า ในโอกาสต่อไป ขอให้มีการเตรียมการให้พร้อมตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการจัดทำโครงการ
โดยปรากฎรายละเอียดดังนี้
จากการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2558 มีมติมอบหมายให้ คตร. ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริง สาเหตุของความล่าช้า รวมทั้งผู้รับผิดชอบต่อความบกพร่องในโครงการ และนำเสนอผลการตรวจสอบและข้อเสนอต่อ ครม. ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไรนั้น
คตร. ดำเนินการตรวจสอบแล้ว สรุปได้ดังนี้
1. เรื่องเดิม : โครงการก่อสร้างอาคารมาตรวิทยารังสีแห่งชาติ เป็นโครงการซึ่งดำเนินการในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2557-2559 วงเงิน 448,000,000 บาท เมื่อได้จัดจำรูแปบบรายการและกำหนดราคากลางแล้ว มีวงเงินเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 92,441,000 บาท รวมเป็นวงเงิน 540,441,000 บาท และขอขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ จากปีงบประมาณ 2557-2559 เป็น 2557-2561
2. การตรวจสอบ : คตร. ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยเชิญ เลขาธิการ ปส. มาชี้แจงในการประชุม คตร. ครั้งที่ 4/2558 เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2558 ซึ่ง ปส. แจ้งให้ทราบว่า ได้ทำการสำรวจพื้นที่ก่อสร้างในปีงบประมาณ 2553 และมอบหมายให้ กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้ออกแบบ ซึ่งกรมโยธาฯ ได้ออกแบบอาคารตามความต้องการและใช้ราคามาตรฐานการก่อสร้างสำหรับห้องปฏิบัติการทั่วไปเป็นข้อมูลราคาสำหรับประมาณการค่าก่อสร้าง เป็นเงิน 346 ล้านบาท
จากการตรวจสอบของ สำนักงบประมาณ ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ให้พิจารณาเพิ่มเติมค่าตกแต่งอาคาร และค่าควบคุมงาน จำนวน 102 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าตกแต่งอาคาร 95 ล้านบาท และค่าควบคุมงาน 7 ล้านบาท และได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ วงเงิน 448 ล้านบาท (ปีงบประมาณ 2557 จำนวน 67.2 ล้านบาท)
ในปีงบปะมาณ 2557 กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ปรับปรุงรูปแบบรายการตามคำแนะนำของ ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิวเคลียร์และรังสี จากประเทศฟินแลนด์ และได้ส่งมอบรูปแบบรายการฉบับสมบูรณ์ พร้อมราคากลาง โดยอาคารมีทั้งหมด 9 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 1 ชั้น ราคาค่าก่อสร้างจำนวน 540.44 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มสูงกว่าวงเงินที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 92.44 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.63 เนื่องจากมีความจำเป็นต้องก่อสร้างกำแพงกันดินในระหว่างก่อสร้างชั้นใต้ดินและปรับปรุงห้องปฏิบัติการให้มีผนังและพื้นเพื่อรองรับน้ำหนักเครื่องมือ อุปกรณ์ และป้องกันการรั่วไหลของรังสี
3.ข้อพิจารณาด้านเทคนิค : ในการตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2558 โดยสรุปความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าวต่อไป โดยมีข้อพิจารณาดังนี้
3.1 มีความจำเป็นที่จะต้องก่อสร้างชั้นใต้ดินเพื่อเป็นห้องปฏิบัติการและสถานที่เก็บสารต้นกำเนิดรังสี โดยพิจารณาจากความเป็นมาตรฐานสากลและความน่าเชื่อถือในระดับประเทศและภูมิภาคของสถาบัน
3.2 มีความจำเป็นในการก่อสร้างกำแพงกันดิน เพื่อป้องกันการเลื่อนตัวของดิน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการก่อสร้างชั้นใต้ดิน และเพื่อไม่ให้เกิดการทรุดตัวของอาคารและคูน้ำรอบพื้นที่ก่อสร้าง และขอให้กรมโยธาธิการฯ เปรียบเทียบข้อมูลราคาของ ปส. กับการก่อสร้าง รพ.ศิริราช ผลการเปรียบเทียบพบว่า ราคาใกล้เคียงกัน
3.3 การพิจารณาทางเลือกอื่นเพื่อลดงบประมาณ เช่น การตัดอาคารจอดรถอาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากใช้พื้นที่ลานจอดรถทำการก่อสร้าง, การออกแบบใหม่ อาจทำให้เกิดการชะลอโครงการไม่ต่ำกว่า 1 ปี และการย้ายจุดก่อสร้างไปในสถานที่อื่นนั้น เมื่อพิจารณาสถานที่ตั้งโครงการแล้วไม่สามารถดำเนินการได้
4.สรุปผลการตรวจสอบและการดำเนินการ : จากการประชุม คตร. ครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2558 ที่ประชุมมีมติรับทราบสาเหตุในการขอเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้าง เนื่องจากความผิดพลาดในการประมาณการค่าก่อสร้างในขั้นการจัดเตรียมงบประมาณ เนื่องจากเป็นอาคารรูปแบบเฉพาะ และเห็นความจำเป็นในการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนเทคโนโลยีการก่อสร้างอาคารในพื้นที่จำกัด รวมทั้งปรับแบบรูปรายการให้เหมาะสมกับลักษณะการใช้ประโยชน์สำหรับอาคารพิเศษ
จึงเห็นชอบในหลักการการอนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณโครงการฯ จำนวน 92,441,000 บาท ตามที่ วท. เสนอ สำหรับการดำเนินการต่อไป ในทุกขั้นตอนจะต้องมีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
ทั้งนี้ ในโอกาสต่อไป ขอให้มีการเตรียมการให้พร้อมตั้งแต่ขั้นการวางแผนการจัดทำโครงการ (ดูเอกสารประกอบท้ายเรื่อง)
นี่คือ ข้อมูลสำคัญอีกชุด เกี่ยวกับปัญหาความล่าช้า ในการโครงการก่อสร้างอาคารมาตรวิทยารังสีแห่งชาติ วงเงิน 518 ล้านบาท ที่ยังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นทางการมาก่อน
และมีเงื่อนปมสำคัญอีกหลายแง่มุม ที่ชวนให้เข้าไปติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เผยเบื้องหลังสร้างตึกสนง.ปรมาณู518ล.ล่าช้า! คตร.ชุด'อนันตพร' ชี้วางแผนจัดทำงบไม่รอบคอบ
เจาะสัญญาตึกสนง.ปรมาณู518ล. ก่อนถูกร้องเปลี่ยนทีโออาร์แบบฐานรากวุ่นสร้าง3ปีไม่เสร็จ
ร้อง ‘อิศรา’ สอบปมตึกสนง.ปรมาณู 518ล. เปลี่ยนทีโออาร์แบบฐานรากวุ่น สร้าง 3 ปีไม่เสร็จ