เปิดชนักติดหลัง‘ชัชชาติ’ก่อนชิงเก้าอี้นายกฯ โดนคดีอะไรบ้างในชั้น ป.ป.ช.?
เปิดคดี ‘ชัชชาติ’ ถูก ป.ป.ช. ไต่สวนอย่างเป็นทางการ พบโดนแค่กรณีจ่ายเงินเยียวยาม็อบทางการเมือง ตกเป็น 1 ใน 34 รัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหา ส่วนคดีบริหารจัดการน้ำเหลืออีก 3 กรณี ยังไม่เจอชื่อ ‘รมต.ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’ โดนสอบ
เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562 มีกระแสข่าวสะพัดว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมปัดฝุ่นรื้อคดีการบริหารจัดการน้ำ และการจ่ายเงินเยียวยาม็อบทางการเมือง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมาดำเนินการอีกครั้ง
เป้าหมายพุ่งไปที่ฉายา ‘รมต.ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’ อย่างนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ อดีต รมว.คมนาคม สมัยรัฐบาล ‘นารีขี่ม้าขาว’
เนื่องจากช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวเช่นกันว่า ‘นายใหญ่’ นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ 2 อดีตนายกรัฐมนตรี ‘ไฟเขียว’ ให้นายชัชชาติ อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เทียบรุ่นกับ ‘คุณหญิงหน่อย’ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำใหญ่พรรคเพื่อไทยตอนนี้
ขณะเดียวกันน่าสังเกตว่า ข่าวที่ถูกปล่อยว่า ป.ป.ช. เตรียมรื้อคดีบริหารจัดการน้ำ ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 3.5 แสนล้านบาท และคดีจ่ายเงินเยียวยาม็อบทางการเมือง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น สื่อบางฉบับอ้างว่ามาจาก ‘แหล่งข่าว’ โดยไม่มีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน ?
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นอย่างไร แต่ประเด็นสำคัญคือนายชัชชาติ มีคดีที่ยังค้างในชั้น ป.ป.ช. หรือไม่
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นให้ทราบ ดังนี้
ในช่วงที่นายชัชชาติ ดำรงตำแหน่ง รมช.คมนาคม (18 ม.ค.-27 ต.ค. 2555) และ รมว.คมนาคม (27 ต.ค. 2555-22 พ.ค. 2557) พบว่า ถูกกล่าวหาในชั้น ป.ป.ช. จำนวน 1 คดี (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ได้แก่
คดีคณะรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวม 34 ราย ละเว้นการปฏิบัติไม่ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของประเทศ จำนวน 1,921,061,629 บาท กรณีจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบทางจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553 โดยไม่มีอำนาจ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับ และช่วยเหลือพวกพ้องของตนเอง
กรณีนี้เมื่อเดือน พ.ค. 2558 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้คณะอนุกรรมการไต่สวนฯแจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรีรวม 34 ราย กรณีอนุมัติและจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553 โดยไม่มีอำนาจ และไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนฯพิจารณาแล้วเห็นว่า ที่คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555 และเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2555 เห็นชอบให้มีการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองปี 2548-2553 และให้ใช้งบประมาณจากงบประมาณรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 2 พันล้านบาท มาใช้ในการดำเนินการดังกล่าว โดยออกหลักเกณฑ์และอัตราเยียวยาขึ้นใหม่ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีกฏหมายใดมารองรับการจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าว ทั้งนี้ปรากฏข้อมูลว่า มีอดีตรัฐมนตรีหลายรายเดินทางเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากับ ป.ป.ช. แล้ว
รายชื่อคณะรัฐมนตรีทั้ง 34 ราย ได้แก่ 1.นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 2. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรี 3.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี 4.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง 5.พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีตรองนายกรัฐมนตรี 6.นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 7.นางนลินี ทวีสิน อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 8.นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 9.พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม 10.นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย อดีต รมช.คลัง 11.นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ อดีต รมช.คลัง 12.นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ 13.นายสันติ พร้อมพัฒน์ อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 14.นายธีระ วงศ์สมุทร อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ 15.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ 16.นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.คมนาคม
17.พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก อดีต รมช.คมนาคม 18.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมช.คมนาคม 19.นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 20.น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 21.นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ อดีต รมว.พลังงาน 22.นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ 23.นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ อดีต รมช.พาณิชย์ 24.นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ อดีต รมช.มหาดไทย 25.นายฐานิสร์ เทียนทอง อดีต รมช.มหาดไทย 26.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีต รมว.ยุติธรรม 27.นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ อดีต รมว.แรงงาน 28.นายสุกุมล คุณปลื้ม อดีต รมว.วัฒนธรรม 29.นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 30.นายสุชาติ ธาดาดำรงเวช อดีต รมว.ศึกษาธิการ 31.นายศักดา คงเพชร อดีต รมช.ศึกษาธิการ 32.นายวิทยา บุรณศิริ อดีต รมว.สาธารณสุข 33.นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ อดีต รมช.สาธารณสุข และ 34.ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ อดีต รมว.อุตสาหกรรม
ส่วนคดีบริหารจัดการน้ำที่สื่อบางสำนักยกขึ้นมาควบคู่กันนั้น จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า มีอย่างน้อย 3 คดีที่ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. ได้แก่
หนึ่ง คดีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมพวกจำนวน 5 ราย ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และละเลยต่อหน้าที่ตามตามที่กฎหมายกำหนด ในการออก พรก.กู้เงินจำนวน 3.5 แสนล้านบาท มาใช้ในการวางระบบบริหารจัดการน้ำ
ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 ราย ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย นายธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท 4.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีต รมว.คลัง 5.นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน กระทรวงการคลัง
โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายปลอดประสพ และนายธงทอง ถูกกล่าวหาว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง ในโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้าง ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนฯ ภายใต้ พรก. ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อการวางระบบ บริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยได้ให้กลุ่มบริษัทเอกชนต่าง ๆ มายื่นข้อเสนอฯ ตามแผนงาน จำนวน 10 โมดูล (Module) และได้ประกาศผลผู้ชนะในวันที่ 10 มิ.ย. 56 และได้นำเรื่องเข้าสู่ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 56 ปรากฏตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 940/2556 คดีหมายเลขแดงที่ 1025/2556 ลว. 27 มิ.ย. 56
ส่วนนายกิตติรัตน์ และนายพงษ์ภาณุ ถูกกล่าวหาว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยกระทำการลงนามในสัญญาเงินกู้ (Term Loan) กับธนาคาร 4 แห่ง วงเงินรวม 324,606 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่ทราบแล้วว่า ศาลปกครองกลาง ได้อ่านคำพิพากษา ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1025/2556 แล้ว โดยที่ไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดที่จะต้องเร่งรีบลงนามกู้เงินดังกล่าวมาใช้
สอง คดีลงมติเห็นชอบ พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำฯ 3.5 แสนล้านบาท ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
ข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี และ ส.ส. ที่ลงมติเห็นชอบ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการตราพระราชกำหนด เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 55 และลงมติเห็นชอบพระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 จำนวน 350,000 ล้านบาท โดยไม่มีการชี้แจงรายละเอียดการใช้จ่ายเงิน และบทบัญญัติมาตรา 3 และมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว บัญญัติให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้ยืมเงิน จำนวน 350,000 ล้านบาท และสามารถนำไป ใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง ตามกฎหมายวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง อันเป็นการฝ่าฝืน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169
สาม คดีไม่ได้ศึกษารายละเอียดการก่อสร้างตามแผนบริหารจัดการน้ำ เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง
ข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับพวกรวม 14 ราย ขอให้วุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ของรัฐธรรมนูญฯ ถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 - 15 ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กระทำการโดยทุจริต และใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติ แห่งกฎหมาย
โดย 1. ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2554 ลว. 10 พ.ย. 54 และกำหนดให้มีแผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการฯ โดยมิได้มีการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์สอดคล้องระหว่าง โครงการลงทุนต่าง ๆ และความเป็นไปได้ ทางเทคนิค ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วนเพียงพอ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนในเขต พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างรุนแรง ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 57 และมาตรา 67 และ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 40 มาตรา 47 และมาตรา 48 ปรากฏตาม คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 940/2556 ลว. 27 มิ.ย. 56
2. ไม่ได้กระทำการเปิดเผยราคากลางและรายละเอียดการคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง ตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103/7 ในการดำเนินโครงการ จ้างออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารทรัพยากรน้ำฯ 3. ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อมิให้มีการแข่งขันราคากัน อย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคารายใด รายหนึ่งให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ขัดต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาฯ พ.ศ.2542 มาตรา 12
นี่คือข้อมูลทั้งหมดเท่าที่สืบค้นได้จากการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช. อย่างไรก็ดีขณะนี้ข้อมูลบนเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างปรับปรุงนับตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. 2561 ทำให้ปัจจุบันไม่สามารถสืบค้นข้อมูลอย่างเป็นทางการได้ว่า คดีใดมีผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มเติม หรือความคืบหน้าแต่ละคดีถึงขั้นตอนใดแล้วบ้าง
ดังนั้นข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายชัชชาติ ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีจ่ายเงินเยียวยาม็อบทางการเมืองแค่ 1 คดี ส่วนคดีเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำอีก 3 คดีที่เหลือ ยังไม่พบว่า มีชื่อของนายชัชชาติ ปรากฏเป็นผู้ถูกกล่าวหาอย่างเป็นทางการ
ส่วนความเคลื่อนไหวจาก ป.ป.ช. เมื่อเจอกระแสข่าวดังกล่าว พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ออกมาคอนเฟิร์มแล้วว่า ปัจจุบันไม่มีการรื้อคดีทางการเมืองขึ้นมาดำเนินการแต่อย่างใด เพราะเวลาจะนำคดีใดเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องมีการพิจารณาอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้สังคม หรือนักการเมืองนำไปขยายความ หรือเป็นการดิสเครดิตทางการเมือง (อ่านประกอบ : เป้านักการเมือง! ป.ป.ช.ปัดเร่งคดี'ชัชชาติ'สกัดนั่งนายกฯ-ลั่นไม่เป็นเครื่องมือใคร)
ท้ายที่สุดนายชัชชาติ จะถึงฝั่งฝัน ถูกดันเป็นนายกรัฐมนตรี หรือว่าจะร่วงหล่นเนื่องจากตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในชั้น ป.ป.ช. ก่อน คงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด !
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายชัชชาติ จาก ไทยรัฐออนไลน์