ไส้ในผลงานชิ้นโบว์แดง รบ.คสช.ประมูลเมกะโปรเจกต์7แสนล.-'ทุนจีน' ยึดกระดูกสันหลัง'อีอีซี'?
"...ล่าสุดในช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา รัฐบาล คสช. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำ สามารถผลักดันให้มีการเปิดประมูลเมกะโปรเจกต์บนพื้นที่อีอีซีในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน 5 โครงการรวด ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนสูงถึงเกือบ 7 แสนล้านบาท และตั้งเป้าว่าจะเซ็นสัญญากับเอกชนให้ได้ก่อนการเลือกตั้ง..."
หลังจากตั้งแท่นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ซึ่งเป็น “กระดูกสันหลัง” ในพื้นที่โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มาเป็นเวลากว่า 2 ปี
ล่าสุดในช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา รัฐบาล คสช. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำ สามารถผลักดันให้มีการเปิดประมูลเมกะโปรเจกต์บนพื้นที่อีอีซีในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน 5 โครงการรวด ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนสูงถึงเกือบ 7 แสนล้านบาท และตั้งเป้าว่าจะเซ็นสัญญากับเอกชนให้ได้ก่อนการเลือกตั้ง
@ พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสนามบินอู่ตะเภาในพื้นที่อีอีซี 5 เม.ย.2560
ทว่าการเปิดประมูลเมกะโปรเจกต์ทั้ง 5 โครงการ แม้ว่าจะเป็นเวทีแข่งขันของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งในและนอกประเทศ แต่ปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การเข้ามาแข่งขันประมูลของกลุ่มทุนรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่จากจีน ซึ่งรัฐบาลจีนให้การสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม
เริ่มจากการเปิดประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่า 224,544 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย การก่อสร้างและบริหารการเดินรถไฟความเร็วสูง ระยะทาง 220 กิโลเมตร การพัฒนาและบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ 2 แห่ง คือ ที่ดินสถานีรถไฟมักกะสัน 150 ไร่ และที่ดินสถานีศรีราชา
@ แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
ผลปรากฏว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้ชนะประมูลโครงการนี้ โดยกลุ่มซีพีและพันธมิตร เสนอขอรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐเพียง 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่าวงเงินอุดหนุนที่ภาครัฐกำหนดไว้ 119,425 ล้านบาท และต่ำกว่าคู่แข่ง คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ ที่เสนอขอรับการอุดหนุน 169,934 ล้านบาท
การที่กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด ได้พันธมิตรอย่าง China Railway Construction Corporation Limited (CRCC) รัฐวิสาหกิจด้านรถไฟความเร็วสูงของจีน ซึ่งเดินสายประมูลรถไฟความเร็วสูงทั่วโลก เพื่อสนองนโยบาย “ส่งออก” รถไฟความเร็วสูงของจีน มีส่วนสำคัญที่ทำให้กลุ่มซีพีฯ “กด” ต้นทุนค่าก่อสร้างลงได้มาก
ที่สำคัญโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นนี้ ยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก CITIC Group Corporation ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของจีน และ China Resources (Holdings) Company Limited (CRC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านการส่งออกของจีน ทำให้มี “แต้มต่อ” ในการจัดหาแหล่งเงินลงทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าคู่แข่ง
@ ศุภชัย เจียรวนนท์ เข้าร่วมยื่นซองข้อเสนอประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 12 พ.ย.2561
มาถึงตรงนี้อาจสรุปได้ว่าการลงทุนลงแรงของรัฐวิสาหกิจจีน เพื่อให้ได้รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมาครอบครอง และนับเป็น “ก้าวที่สอง” ในการรุกคืบเพื่อสร้างเส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 หรือ “One Belt, One Road” ตามนโยบายของรัฐบาลจีน
หลังจากก้าวแรก ที่รัฐบาลจีนประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ไทยเริ่มก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วงแรก “กรุงเทพ-นครราชสีมา” และเตรียมผลักดันการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 2 “นครราชสีมา-หนองคาย” ซึ่งจะเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ที่ทอดยาวจาก “นครคุนหมิง-นครเวียงจันทน์”
@ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานในพิธีเริ่มก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นกรุงเทพ-นครราชสีมา 21 ธ.ค.2560
“นโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภาพรวม เช่น สนามบินอู่ตะเภา การลงทุนอุตสาหกรรมในอีอีซี และการเชื่อมโยงกับรถไฟความเร็วสูงสายอีสานไปยังหนองคาย จะขับดันให้โครงการนี้ (รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน) มีความมั่นคงไปด้วย” ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวเมื่อวันที่ 12 พ.ย.2561
และแน่นอนว่าก้าวต่อไปของจีน คงไม่หยุดอยู่แค่เส้นทางรถไฟแน่นอน เพราะนอกจากการเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแล้ว กลุ่มทุนรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีน ยังเข้ามามีส่วนร่วมในการประมูลเมกะโปรเจกต์ในอีอีซี โดยได้ซื้อซองเอกสารประมูล 3 โครงการ
ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 วงเงิน 114,047 ล้านบาท (รัฐบาลไทยอุดหนุน 53,490 ล้านบาท และเอกชนลงทุน 60,557 ล้านบาท)
@ ท่าเรือแหลมฉบัง
โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด วงเงิน 55,400 ล้านบาท (รัฐบาลไทยอุดหนุน 12,900 ล้านบาท และเอกชนลงทุน 42,500 ล้านบาท) และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก วงเงิน 290,000 ล้านบาท (รัฐบาลไทยอุดหนุน 17,768 ล้านบาท และเอกชนลงทุน 272,232 ล้านบาท)
โดยล่าสุดรัฐวิสาหกิจจีนเบอร์ใหญ่ๆ และกลุ่มทุนจีน ต่างเข้าซื้อซองเอกสารประมูลทั้ง 3 โครงการ ไม่ว่าจะเป็น Sino Hydro Corporation Limited รัฐวิสาหกิจด้านวิศวกรรมพลังงานน้ำและก่อสร้าง ที่มีผลงานในการสร้างเขื่อน “สามผา” ซึ่งเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก China State Construction Engineering Corporation Limited รัฐวิสาหกิจด้านก่อสร้างของจีน และเป็นหนึ่งบริษัทก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก China Harbour Engineering Company Limited รัฐวิสาหกิจที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทางทะเล การขุดลอกและถมถนน และสะพานทางรถไฟสนามบิน และบริษัทขุดลอกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกChina Railway Construction Corporation Limited (CRCC) รัฐวิสาหกิจด้านการก่อสร้างและวิศวกรรมของจีน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างระบบรางรถไฟความเร็วสูง และเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
@ ขอบคุณภาพ : MGR Online
China Resources (Holding) Company Limited รัฐวิสาหกิจด้านการส่งออกของจีน ซึ่งปัจจุบันลงทุนในธุรกิจหลายหลากทั้งในจีนและฮ่องกง เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ก๊าซ ซีเมนต์ เอทานอล พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก และเครื่องดื่ม
China Communications Construction Company LTD. บริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง ที่ทำธุรกิจด้านการออกแบบและก่อสร้างงานโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางหลวง อุโมงค์รถไฟและรถไฟความเร็วสูง รถไฟใต้ดิน สนามบิน และท่าเรือทางทะเล ซึ่งรายได้ต่อปีอยู่ที่ 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
China Railway Construction (Southeast Asia) Co.,Ltd บริษัทด้านวิศกรรมก่อสร้างของจีน
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทจีนอื่นๆที่เข้าซื้อซอง คือ China GeZhouBa Group Company Limited และ Shekou Container Terminals Ltd. (อ่านตารางประกอบ 1-3)
@พล.อ.ประยุทธ์ หารือทวิภาคีกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในการผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูง เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2560 ที่เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฟูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน
ดังนั้น การเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอเข้าร่วมลงทุนทั้ง 3 โครงการ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.2562 มีความเป็นไปได้สูง ที่กลุ่มทุนรัฐวิสาหกิจจีนจะร่วมกับพันธมิตรในไทยยื่นข้อเสนอประมูลทุกโครงการ
โดยเฉพาะการยื่นข้อเสนอประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีความสำคัญ และจะทางออกทางทะเลของจีนตอนจีนในอนาคต อีกทั้งยังต่อจิ๊กซอว์เส้นทางสายไหมศตวรรษ 21 ให้มีสมบูรณ์มากขึ้น
หากนโยบายรุกคืบลงตอนใต้ออกทะเลผ่านไทย ซึ่งรัฐบาลจีนตั้งความหวังไว้ประสบความสำเร็จ ในอีกไม่ช้าเราจะได้เห็นอิทธิพลของจีนและกลุ่มทุนจีน หลั่งไหลเข้ามายึดกุมหัวใจของพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทยอย่างพื้นที่อีอีซี เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน 30-50 ปีเลยทีเดียว
ทั้งหมดนี่ คือ ผลงานที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ส่วนไส้ในผลการดำเนินงานโครงการแต่ละส่วน จะเป็นอย่างไร? บทสรุปท้ายที่สุดแล้วใครจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีวงเงินนับแสนล้านบาท มากกว่ากัน ระหว่าง กลุ่มทุนจากไทย หรือกลุ่มทุนจากจีน
คงต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยมีผลประโยชน์ของคนไทยทั้งชาติเป็นเดิมพัน!
ตารางที่ 2 เอกชนที่ซื้อซองประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (42 ราย)
ตารางที่ 3 เอกชนที่ซื้อซองประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (32 ราย)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/