แผนฯ 11 ฉบับปชช.(อ่าน)เข้าใจง่าย รอคนไทยเป็นเจ้าของร่วมกัน
“พ่อ...จะอ่านเพื่อไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยเหรอ” ประโยคแซวสั้นๆ ของลูกในวันวาน ที่นายแก้ว สังข์ชู ประธานศูนย์ประสานงานภาคีองค์กรเครือข่ายชุมชนพัทลุง หยิบนำมาเล่าไว้ในงานประชุมประจำปี 2553 ทิศทางแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดไปเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี จ.นนทบุรี
ไม่ว่าใครจะพูดกันอย่างไร แต่ด้วยความอยากรู้ ว่า “เขาจะพาเราไปไหน” น้าแก้ว ได้พยายามหาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับ มาสะสม ไล่ตามเก็บทุกๆ 5 ปี จำได้แม้กระทั่ง “สี” ของปก การเปิดอ่านแผนฯ ชาติเล่มหนาๆ กว่าจะจบก็เล่นเหนื่อยเอาการ
ปีที่แล้ว สถานที่เดิมแห่งนี้ เขาก็เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนร่วมออกความคิดและข้อเสนอทิศทางการพัฒนาประเทศ ไทยจะเป็นอย่างไร มาปีนี้แผนฯ 11 เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว จากที่ได้อ่านทิศทางแผนฯ 11 “น้าแก้ว” บอกว่า เข้าใจ อ่านแล้วไม่มึน เล็กที่สุด แต่มีคุณค่า ถ้าเรานำเรื่องนี้ไปปฏิบัติกันอย่างจริงจัง
โดยเฉพาะหน้า 70 ในเอกสารประกอบการประชุมฯ เรื่อง กระบวนการขับเคลื่อนแผนฯ 11 ไปสู่การปฏิบัติ แค่ 2 บรรทัดสั้นๆ แต่มีความหมายสำหรับประธานศูนย์ประสานงานภาคีองค์กรเครือข่ายชุมชนพัทลุง อย่างมากมาย เพราะแสดงให้เห็นว่า ในแผนฯ 11 จะให้ความสำคัญ “แผนชุมชน” สภาชุมชน กรรมการหมู่บ้าน และประชาสังคมในแต่ละพื้นที่ที่จัดทำแผนชุมชน
“วันนี้กว่าสภาพัฒน์ฯ จะได้ร่างแผนฯ 11 ใช้เวลากว่า 3 ปี แต่ที่ผ่านมา เราทำแผนแบบเลียนแบบ ไม่ได้เป็นแผนเรียนรู้ ถามว่า แผนเป็นอะไร แล้วมีกระบวนการอย่างไร ข้อมูลการตัดสินใจในการทำแผนเอามาจากไหน มีทั้งฉบับสมบูรณ์ ฉบับ 2 ชั่วโมง ฉบับนอนมาแผนก็ลอยมาก็มี
ผมพูดให้เห็นความสำคัญ ถ้าเราให้ความสำคัญเรื่องกระบวนการ กระบวนการจัดทำแผนฯ ที่สภาพัฒน์ฯ กำลังขับเคลื่อนอยู่นี้ มันจะส่งผลประโยชน์ ให้คนทำมีเจ้าของ”
นายแก้ว ผู้ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเรื่องกระบวนการ ตั้งคำถามแบบตรงไปตรงมา ว่า วันนี้สำคัญที่สุดก่อนจะตั้งขบวน สภาพัฒน์ฯ จะทำอย่างไรให้แผนฯ 11 ให้ทุกส่วน ทุกกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องและมีผลได้ผลเสีย เป็นเจ้าของร่วมกัน ถ้าวันนั้นเกิดขึ้น ถือว่า สำเร็จไปแล้วกว่า 80%
“ถ้าบอกนี่แผนสภาพัฒน์ฯ ฉันไม่เกี่ยว นี่แผนพัฒนาจังหวัด ฉันไม่เกี่ยว ไม่ยุ่งกับแผนสภาพัฒน์ฯ แล้วงบประมาณลงทุนไปไม่เกิดผลในเชิงปฏิบัติ ฝากสภาพัฒน์ฯ จะทำอย่างไร จะทำอย่างไรให้แผนฯ 11 แปลงไปสู่การที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน” ประธานศูนย์ประสานงานภาคีองค์กรเครือข่ายชุมชนพัทลุง อาศัยประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่กับการจัดทำแผนชุมชน ชี้ให้เห็นทิศทางการเชื่อมแผนให้ติด
เผชิญ 5 ความเสี่ยง 6 ภูมิคุ้มกัน
เป็นที่รู้กันว่า ระยะเวลาอีก 1 ปี ข้างหน้า กว่าแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) จะผ่านมติคณะรัฐมนตรี และประกาศใช้ บวกลบคูณหารแล้วใช้เวลาถึง 3 ปี จุดเปลี่ยนแผนฯ 11 นี้ อยู่ตรงกระบวนการที่แตกต่างจากการทำแผนฯ ครั้งที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะสภาพัฒน์ฯ ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วม การส่งเจ้าหน้าที่ลงไปฝังตัวกับชาวบ้านเพื่อเก็บข้อมูล รับฟังความคิดเห็นก่อนนำมาประมวลผล และนำเสนอ
จนคนไทยได้เห็น (ร่าง) ทิศทางแผนฯ 11 ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน จากการประชุมระดมความคิดเห็นของประชาชน ตั้งแต่ในระดับชุมชน หมู่บ้าน และระดับภาค 22 เวที 132 หมู่บ้านทั่วประเทศ ,ประชุมระดมความคิดเห็นระดับภาคทั้ง 4 ภาค นอกจากนั้นยังมีการประชุมระดมความคิดเห็น “เฉพาะกลุ่ม” รวม 4 กลุ่ม กลุ่มธุรกิจ ผู้สูงอายุ เด็กเยาวชน และสื่อมวลชน
ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สศช. อธิบายถึงการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ของแผนฯ 11 สู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ลงไปสอบถาม ลงไปทำความเข้าใจ ได้พบบทสรุปที่คนเห็นพ้องยอมรับต้องกันว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภายในและภายนอกประเทศที่จะเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย ในช่วงแผนฯ 11 ประเทศไทยอยู่บน 5 ความเสี่ยง
1. การบริหารงานภาครัฐที่อ่อนแอ อำนาจรัฐถูกใช้เพื่อผลประโยชน์คนบางกลุ่ม เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบ การคอรัปชั่น
2. โครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่สามารถรองรับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน การพึ่งฐานเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออกและการใช้แรงงานราคาถูก เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก และกฎ กติกาการกีดกันทางการค้า ทำให้สูญเสียความสามารถทางการแข่งขันและคุณภาพชีวิตลดลง
3.โครงสร้างประชากรไม่สมดุล ใน 3 มิติ ทั้งอายุ คุณภาพ ความรู้และทักษะ ส่งผลให้ผลิตภาพการผลิตลดลง เป็นภาระต่อฐานะการคลังของประเทศด้านสวัสดิการและการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะประชากรผู้สูงอายุมีสัดส่วนร้อยละ 11.9 ในปัจจุบัน และจะเพิ่มเป็นร้อยละ 14.8 เมื่อสิ้นสุดแผนฯ 11 ประเทศไทยจึงจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2568
4.ค่านิยมที่ดีงามของไทยเสื่อมถอย ทำให้คนไทยขาดความสามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเคารพสิทธิผู้อื่น
และ5.ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของ ประเทศมีแนวโน้มเสื่อมโทรมรุนแรง กระทบต่อฐานการผลิตภาคเกษตรและความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน
เมื่อรู้ดังนี้แล้ว เลขาธิการ สศช. เปิดข้อสรุปที่ได้จากการสอบถามความคิดเห็น โดยสิ่งที่ทุกคนคิดว่า เป็นแนวหลักสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ที่จำเป็นต้องเร่งฉีดให้ประเทศนั้น คือ 1.การ ที่ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข 2.ให้ภาคการเกษตรเป็นฐานรายได้หลัก และความมั่นคงด้านอาหาร 3.การพัฒนาประเทศให้อยู่บนฐานความรู้และเทคโนโลยี ที่ทันสมัย 4.สังคมไทยมีค่านิยมและวัฒนธรรมที่ดีงาม 5.ชุมชนเป็นกลไกที่มีความสามารถในการบริหารจัดการ 6.ประเทศไทยมีศักดิ์ศรีของความเป็นเอกราชและเป็นมิตรกับนานาประเทศ
หลังจากเราได้เข้าใจความเสี่ยงของประเทศ เข้าใจภูมิคุ้มกันที่เป็นหลักยึดไว้แล้ว สภาพัฒน์ฯ ได้ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ที่มีลำดับความสำคัญสูง ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ สร้างความเป็นธรรมในสังคม, ยุทธศาสตร์ การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน, ยุทธศาสตร์ การสร้างความสมดุลและมั่นคงของอาหารและพลังงาน, ยุทธศาสตร์ การสร้างเศรษฐกิจฐานความรู้และการสร้างปัจจัยแวดล้อม , ยุทธศาสตร์ การสร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในภูมิภาค และยุทธศาสตร์ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์นี้ ดร.อำพน บอกว่าจะต้องมีกระบวนการไปรับฟังความคิดเห็น เพื่ออีก 1 ปีข้างหน้า จะนำประเด็นเหล่านี้กลับไปหารือ กลับลงไปยังหมู่บ้าน ก่อนจะกำหนดเป็นแนวยุทธศาสตร์เพื่อประกอบเป็นร่างแผนฯ 11 จากนั้นจะนำเสนอให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณา ก่อนส่งเข้าครม.
แปลงแผนสู่ปฏิบัติ บอกให้ได้บทนี้ของใคร
“ในอดีตผู้เล่นหลักการพัฒนาประเทศ คือภาคราชการเท่านั้น แต่วันนี้ มีผู้เล่นมากขึ้น การเมืองเข้มแข็งขึ้น ในระบบการจัดทำแผนประเทศ นโยบายทางการเมืองเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ ดูได้จากปรากฏการณ์เอาเงินเทลงในพื้นที่ ที่สามารถอธิบายการเมืองเชิงนโยบายได้”รศ.วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ชี้ให้เห็นจุดเปลี่ยนที่มีผลกระทบต่อการจัดทำแผนของประเทศในวันนี้ และว่า สิ่งสำคัญ คือ การออกแบบระบบให้แผนฯ 11 ขับเคลื่อนได้ ให้การทำงานของทุกฝ่ายผนึกกำลังเพื่อให้มีโมเมนตัมที่แรงกว่า ต่างคนต่างทำ ซึ่งอยากเห็นเป้าหมายของการพัฒนาใน “ยุทธศาสตร์” แต่ละเรื่องมีทิศทางที่ชัดเจน
รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อธิบายเพื่อให้เห็น ยุทธศาสตร์กับความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้กรอบความคิดเรื่องการออกแบบ นโยบาย หรือแผนชาติเพื่อนำไปสู่การปฏิบัตินั้น ต้องคิดใหม่ โดยเฉพาะความมีอยู่ของทรัพยากร โดยเฉพาะเม็ดเงิน วันนี้ เงินทับมีถึง 5 ชั้น ชั้นแรก เงินกระทรวง ทบวง กรม งบลงทุนไปอยู่ที่กลุ่มจังหวัด ตามแผนงบประมาณแผ่นดิน ชั้นที่สอง เม็ดเงินกลุ่มจังหวัด ชั้นที่สาม เงินท้องถิ่น ชั้นที่สี่ เงินชุมชน กองทุนหมู่บ้าน เอสเอ็มแอล ชั้นที่ห้า ครีมทับอยู่ คือเงินตามนโยบายรัฐบาล เช่น โครงการไทยเข้มแข็ง ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงอันนี้ มีความสำคัญ หากพูดถึงความขาดแคลนทรัพยากร คำตอบไม่ใช่การขาดแคลน แต่คือการจัดการมากกว่า
เมื่อ ได้ดูร่างแผนฯ 11 แล้ว รศ.วุฒิสาร มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง อ่านแล้วเข้าใจง่าย แต่ก็ยังมีคำถามว่า เราจะเลือกการขับเคลื่อนแผนพัฒนาประเทศรูปแบบใด การออกแบบ หากเอาแผนเป็นตัวนำ แล้วให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติตาม แปลว่า รัฐต้องมีเครื่องมือ คืองบประมาณ แต่ในเมื่อวันนี้ทุกภาคส่วนมีการเปลี่ยนแปลง คนมีอิสระมากขึ้น องค์กรท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่ง มีแผนชุมชน 7 หมื่นกว่าแผน ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาท การออกแบบทำให้แผนฯ 11 สำเร็จตามเป้าหมายจะเป็นอย่างไร
“จุดที่ต้องทำให้ชัดเจน แผนพัฒนาฯ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของภาคราชการ รัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนในการผลักดันเรื่องนี้ เป็นเป้าหมายของชาติ วันนี้แผนระดับภูมิภาค (Regional Plan) มีความสำคัญ ทำให้เกิดยุทธศาสตร์ในเชิงที่เหมาะสมกับภูมิสังคมมากขึ้น ขณะที่ จิกซอว์ ระหว่าง แผนชาติ แผนจังหวัด แผนส่วนราชการ แผนท้องถิ่น แผนชุมชน แผนเอกชน ยังไม่เกาะกัน หรือเกาะกันก็เกาะโดยบังเอิญ แบบไม่ได้ตั้งใจ”
สุดท้าย รศ.วุฒิสาร ย้ำว่า การบริหารจัดการแผนฯ 11 ไปสู่การปฏิบัติ ยังคงรอการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม ชัดเจน สอดคล้อง และสัมพันธ์กันในแต่ละระดับ
โดยเฉพาะคีย์เวิร์ด ในแต่ละเรื่อง เวลาที่เหลือจะต้องบอให้ได้ว่า "How to Who done" ทำอย่างไร แล้วไปทางไหน ต้องบอกได้ว่า บทนี้เป็นของใคร....
ที่มา http://www.thaireform.in.th/flow-reform/scoop-commercial-news-documentary/25-2009-11-09-11-42-03/1743--11-.html