ผลสะเทือนมติเยียวยา (2) เสียงจาก "สะบ้าย้อย" วอนสังคมอย่ามองแค่เงิน 7.5 ล้าน
"พอเรื่องกลับมาดังอีกครั้ง เมื่อรัฐมาบอกว่าจะจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาให้ ก็รู้สึกกลัวขึ้นมา บอกไม่ถูกว่ากลัวอะไร รู้แค่ว่ากลัว ยิ่งตัวเลขเยียวยามากแบบนี้ ยิ่งรู้สึกกลัว"
เป็นความรู้สึกของ อามีเนาะ เลาะสูหลง หญิงสาววัย 28 ปี ซึ่งต้องกลายเป็นหม้ายเพราะสามีคือ อับดุลฮาเล็ม ลือมูซอ ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 28 เม.ย.2547 ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
เรื่องราวของเยาวชนทีมฟุตบอลบ้านสูโส๊ะ 19 คน ซึ่งแต่ละคนล้วนเป็นเด็กดี มีอนาคตไกล แต่จู่ๆ ก็ฉวยเอามีด ดาบ และไม้บุกโจมตีป้อมจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในตัวอำเภอสะบ้าย้อย เมื่อเช้าของวันที่ 28 เม.ย.2547 จนถูกยิงเสียชีวิตทั้งหมด เคยตกเป็นข่าวคึกโครมหลังเกิดเหตุใหม่ๆ แต่แล้วทุกอย่างก็เงียบหายไปกับกาลเวลา คนที่ตายก็ตายไป คนที่อยู่ก็สู้ชีวิตต่อ โดยแทบจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ
เพราะฝ่ายรัฐถือว่าเยาวชนทีมฟุตบอลเป็นฝ่ายผิด บ้างก็ว่าพวกเขาเป็นแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบ...
ทว่าเมื่อเร็วๆ นี้ ความสูญเสียที่ อ.สะบ้าย้อย กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง เมื่อคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน และมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นตัวจักรสำคัญ ได้ผลักดันให้จ่ายเงินเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 19 ราย
และคณะกรรมการฯก็เพิ่งมีมติไปเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา อนุมัติตัวเลขเยียวยาให้กับครอบครัวทีมฟุตบอลเยาวชนบ้านสูโส๊ะ รายละ 7.5 ล้านบาท พร้อมๆ กับกรณีอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ กรณีตากใบ 7.5 ล้านบาท กรณีกรือเซะ 4 ล้านบาท กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร 7.5 ล้านบาท และกรณีคนหาย 4-7.5 ล้านบาท
แม้การช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียและผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบจะเป็นเรื่องดี แต่มติของคณะกรรมการฯครั้งนี้กลับก่อปัญหาขึ้น เมื่อครอบครัวผู้เสียชีวิตจากกรณีกรือเซะมองว่าพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ถึงขั้นรวมตัวกันกว่า 60 ชีวิตอ่านแถลงการณ์คัดค้านที่หน้ามัสยิดกรือเซะ เนื่องจากได้รับการช่วยเหลือน้อยกว่ากรณีอื่นๆ โดยเฉพาะกรณีสะบ้าย้อยซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นวันเดียวกัน และลักษณะของเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน แต่กลับได้เงินเยียวยามากกว่า
และนั่นได้ทำให้ข่าวดีเรื่องเงินเยียวยาของชาวบ้านสะบ้าย้อยกลายเป็นแรงกดดัน และส่งผลให้ชาวบ้านเริ่มหวาดกลัวดังเช่นที่ อามีเนาะ เผยความรู้สึกให้ฟัง
"เมื่อ 8 ปีก่อนตอนที่เกิดเหตุใหม่ๆ เราก็กลัว ไม่กล้าไปไหนคนเดียว แม้กระทั่งการเดินเรื่องเรียกร้องขอความเป็นธรรมยังต้องให้พี่ชายของสามีเป็นคนเดินเรื่องให้ พอเรื่องเงียบลงก็รู้สึกสบายใจอย่างบอกไม่ถูก กล้าไปไหนมาไหนคนเดียว รู้สึกมีความปลอดภัย รู้สึกว่ามีอิสระ แต่พอเรื่องกลับมาดังอีกครั้งทำให้เรารู้สึกกลัว ยิ่งมีบางกลุ่มไม่พอใจที่พวกเราได้ 7.5 ล้านบาท ก็ยิ่งรู้สึกกลัวมากขึ้นไปอีก แต่ก็อยากให้เข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนั้นกับทีมฟุตบอล พวกเขายอมแพ้แล้ว แต่รัฐยังทำกับเขาอีก ถือว่ากระทำเกินกว่าเหตุ จึงสมควรที่จะได้รับความช่วยเหลือ"
ในความเห็นของ อามีเนาะ เธอบอกว่าสิ่งที่สังคมควรมองมากกว่าเรื่องตัวเลขเงินเยียวยา คือชีวิตที่ต้องประสบแต่ความยากลำบากตั้งแต่วันที่สูญเสียสามีจนถึงปัจจุบัน
"ตอนนี้ก็ยังกรีดยางกับแม่อยู่ทุกวัน หลังจากแบ่งกับแม่แล้วก็มีรายได้วันละ 200 บาท ก็เอามาเลี้ยงลูกสาว ด.ญ.ตัสนิม เลาะสูหลง เป็นลูกสาวคนเดียว ตอนที่สามีเสียชีวิตเราท้องได้ 4 เดือน ตอนนี้ตัสนิมอายุ 8 ขวบ ก็เท่าๆ กับระยะเวลาที่พ่อของเขาจากไป"
อย่างไรก็ดี อานีเนาะ บอกว่ารู้สึกดีใจมากที่รัฐจะให้ความช่วยเหลือมากมายขนาดนี้ เพราะเธอไม่เคยคิดเลยว่าจะได้ จึงรู้สึกเริ่มเห็นความเห็นธรรมขึ้นมาบ้าง เพราะแสดงให้เห็นว่ารัฐไม่ได้ทอดทิ้งผู้สูญเสีย ยังมองว่าเป็นประชาชนที่ต้องให้การดูแลอยู่
"ถ้าได้เงินมาก็จะสร้างบ้านอยู่กับลูกและซื้อสวนยางให้ลูก เพื่อจะได้ทำกินต่อไป แค่นี้ก็พอแล้ว ชีวิตที่เหลือคงพอมีความสุขบ้าง และสิ่งแรกที่จะทำทันทีถ้าได้รับเงินเยียวยามา ก็คือทำบุญให้สามีให้มากกว่าที่เคยทำอยู่ทุกวันนี้ เพราะตลอดมาก็ทำได้แค่อ่านยาซีน (บทหนึ่งในอัลกุรอาน) และทำอาหารเลี้ยงคนที่มัสยิดเล็กๆ น้อยๆ (เป็นการทำบุญให้คนตายตามคติความเชื่อของพี่น้องมุสลิม) ตามประสาคนที่ไม่ค่อยมีฐานะเท่านั้น" เธอบอก
ขณะที่ พาซียะห์ กาลอ พี่สาวของ สะรอนิง กาลอ หนึ่งใน 19 เยาวชนทีมฟุตบอลบ้านสูโส๊ะที่เสียชีวิต กล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้พิจารณาเรื่องเงินเยียวยาอย่างเป็นธรรม และน่าจะเยียวยาในมาตรฐานเดียวกัน ไม่ต้องแบ่งแยกว่าผู้เสียชีวิตมีอาวุธหรือไม่มี เพราะคนที่เสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะอาจมีคนที่ไม่รู้เรื่องหรือเพียงไปปฏิบัติศาสนกิจแล้วเกิดเหตุขึ้นพอดีรวมอยู่ด้วย
แม้จะมีชื่อได้รับเงินเยียวยาถึง 7.5 ล้านบาท แต่สิ่งที่ พาซียะห์ ยังค้างคาใจคือข้อกล่าวหาที่มีต่อน้องชายซึ่งเธอเห็นว่าไม่เป็นธรรม และไม่อยากให้จบไปหลังจ่ายเงิน
"ความจริงยังคลุมเครือกับสิ่งที่น้องชายถูกกล่าวหา เราอยากรู้เหมือนกันว่าความจริงของเหตุการณ์เป็นอย่างไรกันแน่ อยากให้มีการตัดสินที่เป็นธรรมมากกว่านี้ ไม่ใช่จ่ายเงินแล้วเรื่องจะได้จบไป เราคิดว่าเจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ เพราะคนที่เสียชีวิตถูกยิงที่ศีรษะจากด้านหลังเกือบทุกคน เหมือนเป็นการจ่อยิงมากกว่าการยิงปะทะกัน ถ้ายิงปะทะจริงฝ่ายเจ้าหน้าที่น่าจะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตบ้าง"
"เรารู้อยู่แก่ใจว่าน้องเราไม่ผิด เขากำลังจะไปเรียนต่างประเทศ ฉันอุตส่าห์หยุดเรียนมหาวิทยาลัยไป 2 ปีเพื่อทำงานเก็บเงินให้เขาได้ไปเรียน แต่ก็มาเกิดเหตุร้ายเสียก่อน"
ชีวิตวันนี้ของ พาซียะห์ ก็ลำบากไม่แพ้ อามีเนาะ แม้เธอจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่ก็ได้งานทำที่ไม่ค่อยมั่นคง อีกทั้งครอบครัวของเธอเป็นครอบครัวใหญ่ มีพี่น้องมากถึง 9 คน เมื่อ สะรอนิง เสียชีวิตไปก็เหลือกัน 8 คน ในจำนวนนี้ 6 คนยังอยู่ในวัยเรียน คนสุดท้องอยู่แค่ ป.6 เธอจึงต้องรับจ้างกรีดยางส่งน้องๆ เรียนต่อให้จบ
"ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะได้เงินเมื่อไหร่และอย่างไร แต่ก็ปรึกษากันแล้วว่าถ้าได้เงินมาจะนำไปซื้อสวนยางเป็นของครอบครัวสักแปลง จะได้มีรายได้ที่มั่นคง เพราะตอนนี้รับจ้างเขากรีดยางอยู่ทุกวัน น้องๆ ก็เรียนกันทุกคน ต้องจัดสรรเรื่องทุนการศึกษาก่อน เพื่อให้น้องทุกคนได้จบปริญญาตรี" พาซียะห์ บอกถึงความตั้งใจ
ด้าน แมะซู อาบูบากา ภรรยาของ ยะยา มะหิงตะ ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เดียวกัน กล่าวอย่างท้อๆ กับชีวิตที่ยากลำบากมาตลอด 8 ปีเต็มเพราะต้องแบกภาระเลี้ยงดูลูกๆ ถึง 4 คนว่า ช่วงแรกหลังเกิดเหตุยิ่งลำบาก เพราะยังทำใจไม่ได้ แต่หลังจากนั้นก็ต้องปรับตัวปรับใจ ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะชีวิตที่เสียไปแล้วไม่มีทางฟื้นขึ้นมาใหม่ มันหวนกลับไม่ได้แล้ว แต่ที่แปลกใจคือเรื่องเกิดมาตั้งนานทำไมถึงเพิ่งมาเยียวยากัน
"ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาทำเพื่ออะไรแน่ (หมายถึงการจ่ายเยียวยาของรัฐบาล) แต่การเยียวยาเป็นเพียงส่วนหนึ่ง และทดแทนชีวิตที่เสียไปไม่ได้อยู่แล้ว คนที่ไม่เคยสูญเสียแบบนี้ไม่มีวันเข้าใจหรอก"
แมะซู บอกว่า เงินที่จะได้มาทั้งหมด จะนำไปซื้อสวนยางและส่งเสียลูกๆ ทั้ง 4 คนให้ได้เรียนหนังสือสูงๆ โดยเฉพาะคนที่ 4 ที่อายุเพียง 8 ขวบ เนื่องจากตอนที่สามีเสียชีวิต เธออุ้มท้องลูกคนนี้ได้ 7 เดือน
ส่วนเรื่องการรื้อคดีเพื่อเรียกคืนความเป็นธรรมนั้น แมะซู กล่าวอย่างปลงๆ ว่า ไม่ได้คิดแล้ว เพราะเรื่องผ่านมาถึง 8 ปี อยากให้จบๆ ไปมากกว่า
"เรื่องของสะบ้าย้อย ญาติเกือบทุกคนของผู้เสียชีวิตต่างเอือมระอากับการรื้อฟื้นคดี เราก็คิดแบบชาวบ้านนะ ทุกคนส่ายหน้ากันหมดถ้าได้ยินว่าต้องไปขึ้นศาล มันเสียเวลา เสียเงิน เสียทุกอย่าง บอกตรงๆ ว่าเหนื่อย ตอนนี้เขาอยากอยู่กันเงียบๆ ทั้งนั้น เรื่องเกิดมา 8 ปีแล้วก็ให้มันจบไป วันข้างหน้าจะทำอะไรค่อยว่ากันใหม่"
สิ่งที่ มะแซ เป็นห่วงมากที่สุดในยามนี้คือเรื่อง "นายหน้า" ที่จะมารับเดินเรื่องและขอส่วนแบ่ง เพราะเคยเจอเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยตัวเอง
"ตอนนี้ยังไม่มีนายหน้ามาติดต่อนะ แต่เคยมีช่วงที่เดินเรื่องขอความเป็นธรรมให้สามี เคยเซ็นสัญญากับนายหน้ามาแล้ว ในสัญญาเขาบอกว่าเราต้องจ่ายให้เขา สมมุติว่าเราได้เงิน 1 แสนบาท เราต้องจ่ายให้นายหน้าที่ดำเนินการขอความเป็นธรรม 6 หมื่นบาท เราจะได้ 4 หมื่นบาท แต่นั่นเป็นช่วงหลังเกิดเรื่องใหม่ๆ ส่วนกรณีที่จะได้ 7.5 ล้านบาทยังไม่มีใครมาติดต่อ ก็กำลังกลัวอยู่ว่านายหน้าคนนั้นจะเอาสัญญาฉบับเก่ามาอ้างกับพวกเราอีกหรือเปล่า" แมะซู เล่าด้วยความกังวล
เรื่องราวของครอบครัวเหยื่อความรุนแรงที่สะบ้าย้อยมีแต่แง่มุมร้ายๆ ไม่ต่างจากผู้สูญเสียในเหตุการณ์อื่นๆ ในเมื่อทุกคนล้วนร่วมชะตากรรมเดียวกัน ก็อย่าทำให้ประเด็นเรื่องเงินเยียวยากลายเป็นปัญหาพัวพันในชีวิตของพวกเขาอีกเลย...
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กุโบร์ (สุสาน) ที่สะบ้าย้อย สถานที่ฝังร่างเยาวชนทีมฟุตบอลบ้านสูโส๊ะ
2 อามีเนาะ เลาะสุหลง พลิกดูรูปถ่ายเก่าๆ ของสามี
3 ร้านอาหารสวยนะ ในตัวอำเภอสะบ้าย้อย จุดเกิดเหตุที่ทำให้เยาวชนทีมฟุตบอลต้องเสียชีวิต วันนี้กลายเป็นโรงเรือนร้าง แม้จะเปลี่ยนมือมาหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถทำการค้าได้อีก
4 แมะซู กับลูกๆ (ภาพทั้งหมดโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)
อ่านประกอบ : ผลสะเทือนมติเยียวยา (1) ตากใบยิ้มทั้งน้ำตา กรือเซะถามหาความเป็นธรรม
http://www.isranews.org/south-news/documentary/39-2009-11-15-11-15-13/7192--1-.html