ฉบับเต็ม คดี‘สุพจน์’ซุกเงินสด รถตู้ 20.4 ล. ขอให้ลงโทษสถานเบา ศาลฎีกาฯยืน
คำพิพากษาศาลฎีกาฯชั้นอุทธรณ์ฉบับเต็ม คดี ‘สุพจน์ ทรัพย์ล้อม’ ซุกเงินสด 17.2 ล. รถตู้โฟล์ค 1 คัน เจ้าตัวยกเหตุ ซื่อสัตย์ สุจริต ยึดมั่นในผล ปย.ชาติหลายโครงการ เสียสละส่วนตัว ไม่เคยถูกตั้ง กก.สอบ ขอให้ลงโทษสถานเบา รอลงโทษ ดูเหตุผลชัดๆ ทำไมพิพากษายืน จำคุก 5 กระทง 10 เดือน
กรณีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินเท็จ โดยไม่แสดงรายการ เงินสด 17,553,000 บาท และรถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกนหมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร ราคา 2,920,000 บาท รวมมูลค่า 20,473,000 บาท วันที่ 26 ก.ย.2560 ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 10 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ (คดีหมายเลขแดงที่ อม. 210/2560)
ต่อมา วันที่ 26 ก.ย.2560 นายสุพจน์ อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลฎีกาฯ กระทั่งเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2561 ศาลฎีกาฯในชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์พิพากษายืน (คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ. 3/2561) ตามที่ปรากฎเป็นข่าวก่อนหน้านี้
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงคำพิพากษาของศาลฎีกาฯในชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ มารายงาน
นายสุพจน์ อุทธรณ์ว่า รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและยึดมั่นในผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวมตลอดมา มีผลการปฏิบัติงานจนได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม ประวัติการรับราชการ ไม่เคยถูกตั้งกรรมการสอบสวนและไม่เคยกระทำผิดอาญาข้อหาใด ตลอดเวลารับราชการยึดแนวทางการปฏิบัติโดยใช้หลักความสุจริต หลักนิติรัฐ หลักนิติธรรมและมีหลักธรรมาภิบาลตลอดมาปฏิบัติราชการโดยรักษาผลประโยชน์ของทางราชการในหลายโครงการ
ศาลฎีกาฯวินิจฉัย สรุปว่า
1.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 39 กำหนดหลักการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการป้องกันการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐไปแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยสมควรซึ่งเป็นมาตรการในการควบคุมและกำกับการใช้อำนาจของรัฐเพื่อให้การดำเนินงานของรัฐให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล
2.นายสุพจน์ เคยดำรงตำแหน่งระดับสูงหลายตำแหน่งโดยเฉพาะตำแหน่งสุดท้ายคือปลัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่รับผิดชอบในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก อีกทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านรวมถึงทรัพย์สินตามคำร้อง มีมูลค่าทั้งสิ้น 64,998,587.52 บาท พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นให้ตกเป็นของแผ่นดินเพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติ การที่นายสุพจน์ปกปิดไม่แสดงรายการทรัพย์สินตามคำร้องทั้งสองรายการมีมูลค่าสูงถึง 20,473,000 บาท ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อผู้ร้อง ทั้งที่ผู้คัดค้านเป็นผู้บริหารในระดับสูงซึ่งควรที่จะต้องยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมอยู่ในกรอบของกฎหมายและศีลธรรมเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในสังคม แต่กลับมากระทำความผิดเสียเองนับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้ผู้คัดค้านไม่เคยกระทำความผิดและเคยประกอบคุณงามความดีมาก่อน ก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่ผู้คัดค้าน
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมาก เห็นว่าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน โดยไม่รอการลงโทษนั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
มีรายละเอียดดังนี้
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงวันที่ 26 เดือน กันยายน พุทธศักราช 2560 องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ รับวันที่ 11 เดือน มิถุนายน พุทธศักราช 2561
ผู้ร้องยื่นคำ ร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ 3) กรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ 3)และปลัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีเข้ารับตำแหน่ง กรณีพ้นจากตำแหน่ง และกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีผู้คัดค้านไม่แสดงทรัพย์สิน 2 รายการ คือ เงินสด 17,553,000 บาท และรถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกนหมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร ราคา 2,920,000 บาท ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ได้ยื่นต่อผู้ร้องรวม 5 ครั้ง คือ 1.กรณีพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ 3) มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี 2.กรณีพ้นจากตำแหน่งกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี 3.กรณีพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ 3) มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี 4.กรณีพ้นจากตำแหน่ง ปลัดกระทรวงคมนาคม และ 5.กรณีพ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ผู้ร้องมีมติว่า ผู้คัดค้านจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความ อันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ขอให้วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบและห้ามมิให้ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง กับให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 39, 41, 119 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ผู้คัดค้านให้การปฏิเสธ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำ แหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้วพิพากษาว่า นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ผู้คัดค้านจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบกรณีพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ 3) มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี กรณีพ้นจากตำแหน่งกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี กรณีพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ 3) มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี และกรณีพ้นจากตำแหน่ง และกรณีพ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ห้ามมิให้ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2555 อันเป็นวันที่ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่ง ปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายที่ผู้ร้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง กับมีความผิด ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 119 การกระทำของผู้คัดค้านเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากให้จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 10 เดือน
@ขอถอนอุทธรณ์บางข้อ ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาในระหว่างการพิจารณาขององค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ผู้คัดค้านขอถอนอุทธรณ์บางข้อ คงเหลือเพียงประเด็นขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์อนุญาต
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ตรวจสอบพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนประกอบรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ครั้งที่ 3) กรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ครั้งที่ 3) และปลัดกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2554 ขณะผู้คัดค้านและภริยาอยู่ในพิธีฉลองสมรสของบุตรสาวที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี มีคนร้ายหลายคนพร้อมอาวุธร่วมกันบุกปล้นบ้านของผู้คัดค้าน ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับคนร้ายพร้อมยึดเงินจำนวน 18,121,000 บาท เป็นของกลาง ผู้ร้องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้คัดค้านเมื่อครั้งดำรงตำ แหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม กระทำ ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ร่ำรวยผิดปกติ และตั้งอนุกรรมการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้คัดค้าน คณะอนุกรรมการไต่สวนนำหมายค้นของศาลอาญาเข้าตรวจค้นบ้านของผู้คัดค้าน พบรถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822กรุงเทพมหานคร ผู้ร้องมีมติว่า เงิน 18,121,000 บาท ของกลางในคดีอาญา เป็นของผู้คัดค้านจำนวน17,553,000 บาท มีเพียงบางส่วนจำนวน 568,000 บาท เป็นเงินที่มีผู้มอบให้ในพิธีสมรสของบุตรสาวผู้คัดค้าน และผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากร่ำรวยผิดปกติ และส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง พร้อมเอกสารประกอบให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวของผู้คัดค้าน ตกเป็นของแผ่นดิน ศาลฎีกาพิพากษาให้เงินจำนวน 17,553,000 บาท และรถยนต์ ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน หมายเลขทะเบียน ฮต 8822 กรุงเทพมหานคร รวมกับทรัพย์สินอื่น คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 64,998,587.52 บาท พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน ผู้ร้องมีมติว่า ผู้คัดค้านจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบโดยไม่แสดงทรัพย์สินทั้งสองรายการดังกล่าวในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย(ครั้งที่ 3) มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี กรณีพ้นจากตำแหน่งกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี กรณีพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(ครั้งที่ 3) มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี กรณีพ้นจากตำแหน่งและกรณีพ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม มาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี
พิเคราะห์แล้ว ในระหว่างการพิจารณาขององค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561โดยมาตรา 105 วรรคสาม ไม่ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีแตกต่างกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 40 (1) ประกอบมาตรา 33 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะผู้คัดค้านกระทำความผิด จึงเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่ผู้คัดค้านจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีตามคำร้อง ยังเป็นความผิดทางอาญาและต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลาห้าปีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ .ศ. 2542 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง และมาตรา 119 หรือไม่
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมาตรา 105 วรรคสามไม่ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.กรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี แต่มาตรา 188 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มีมติว่าผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบไว้แล้วในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับให้เป็นอันใช้ได้...” และมาตรา 192 วรรคท้าย บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาและพิพากษาของศาลสำหรับคดีที่ยื่นฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาลไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมยังมีผลใช้บังคับอยู่จนกว่าคดีจะถึงที่สุด” เมื่อคดีนี้มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ใช้บังคับ จึงต้องถือว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยังมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไปจนกว่าคดีถึงที่สุด ศาลต้องพิจารณาและพิพากษาคดีไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การที่ผู้คัดค้านจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบกรณีพ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีตามคำร้อง จึงยังคงเป็นความผิดทางอาญาและต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเวลาห้าปีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง และมาตรา 119
@ อ้าง ประวัติดี สุจริต เสียสละ ไม่เคยถูกตั้ง กก.สอบ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า มีเหตุให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษหรือไม่
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ผู้คัดค้านรับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและยึดมั่นในผลประโยชน์ของประเทศชาติ
และประชาชน เสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวมตลอดมา มีผลการปฏิบัติงานจนได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม ประวัติการรับราชการ ไม่เคยถูกตั้งกรรมการสอบสวนและไม่เคยกระทำผิดอาญาข้อหาใด ตลอดเวลารับราชการยึดแนวทางการปฏิบัติโดยใช้หลักความสุจริต หลักนิติรัฐ หลักนิติธรรมและมีหลักธรรมาภิบาลตลอดมาปฏิบัติราชการโดยรักษาผลประโยชน์ของทางราชการในหลายโครงการ
@ ผู้บริหารระดับสูงควรยึดมั่นความถูกต้อง ชอบธรรม ไม่ใช่ทำผิดเสียเอง
เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 39 กำหนดหลักการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการป้องกันการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐไปแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยสมควรซึ่งเป็นมาตรการในการควบคุมและกำกับการใช้อำนาจของรัฐเพื่อให้การดำเนินงานของรัฐให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ผู้คัดค้านเคยดำรงตำแหน่งระดับสูงหลายตำแหน่งโดยเฉพาะตำแหน่งสุดท้ายคือปลัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่รับผิดชอบในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก อีกทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านรวมถึงทรัพย์สินตามคำร้อง มีมูลค่าทั้งสิ้น 64,998,587.52 บาท พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นให้ตกเป็นของแผ่นดินเพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติ การที่ผู้คัดค้านปกปิดไม่แสดงรายการทรัพย์สินตามคำร้องทั้งสองรายการมีมูลค่าสูงถึง 20,473,000 บาท ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อผู้ร้อง ทั้งที่ผู้คัดค้านเป็นผู้บริหารในระดับสูงซึ่งควรที่จะต้องยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมอยู่ในกรอบของกฎหมายและศีลธรรมเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในสังคม แต่กลับมากระทำความผิดเสียเองนับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง แม้ผู้คัดค้านไม่เคยกระทำความผิดและเคยประกอบคุณงามความดีมาก่อน ก็ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่ผู้คัดค้าน องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมาก เห็นว่าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงโทษจำคุกกระทงละ 2 เดือน โดยไม่รอการลงโทษนั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/