ข้อครหาเลือก ส.ว.-โต๊ะจีน พปชร.! 2 เผือกร้อนวัดฝีมือ กกต.สอบก่อนเลือกตั้ง?
จากผังโต๊ะจีน พปชร. 650 ล้าน โต๊ะชื่อคล้ายหน่วยงานรัฐหรา 33 โต๊ะ 99 ล้าน ดร.เอก-อั๋น โผล่ 40 โต๊ะ 120 ล้าน ถึงข้อครหาเลือกตั้ง ส.ว. อย่างน้อย 9 องค์กร-มูลนิธิ-สมาคม วัตถุประสงค์ไม่ตรง แต่การันตีผู้สมัครด้านกฎหมาย 2 เผือกร้อนวัดฝีมือ กกต. สอบเสร็จก่อนเลือกตั้ง ส.ส.
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังกลายเป็นพื้นที่ ‘ตำบลกระสุนตก’
จากประเด็น ‘เลื่อน-ไม่เลื่อน’ การเลือกตั้ง เพราะกลายเป็นหน่วยงานเดียวที่ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ‘โบ้ย’ ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ ขณะที่พรรคการเมืองหลายแห่ง และภาคประชาชนบางส่วน ต่างพุ่งเป้าโจมตีไปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาล รวมถึง กกต. ในประเด็นนี้ด้วย
นอกเหนือจากประเด็น ‘เลื่อน-ไม่เลื่อน’ เลือกตั้งครั้งนี้แล้ว ยังมีอีกอย่างน้อย 2 กรณีสำคัญ ๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่การสอบสวนของ กกต. และถูกกระแสข่าวอื่นกลบจนหายไปหมดในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ?
มีกรณีอะไรบ้าง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมให้ทราบ ดังนี้
@งานระดมทุนจัดโต๊ะจีน 650 ล้าน พรรคพลังประชารัฐ
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2561 พรรคพลังประชารัฐ จัดงานระดมทุนโต๊ะจีน 200 โต๊ะ โต๊ะละ 3 ล้านบาท รวมยอดเบ็ดเสร็จตามคำให้สัมภาษณ์ของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ ‘โต้โผ’ ผู้จัดงานดังกล่าว ระบุว่า ได้เกินที่ตั้งใจ รวมทั้งหมดประมาณ 650 ล้านบาท
อย่างไรก็ดีภายในงานดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบแผนผังการจัดงานโต๊ะจีนดังกล่าว โดยมีชื่อโต๊ะคล้าย หรือชื่อย่อคล้ายกับหน่วยงานรัฐ อย่างน้อย 3 แห่ง รวม 33 โต๊ะ 99 ล้านบาท ได้แก่ คลัง 20 โต๊ะ 60 ล้านบาท ททท 3 โต๊ะ 9 ล้านบาท และ กทม 10 โต๊ะ 30 ล้านบาท
ขณะเดียวกันยังพบโต๊ะในชื่อของ ท่านเลขา (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์) 4 โต๊ะ 12 ล้านบาท หัวหน้าพรรค (นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม) 1 โต๊ะ 3 ล้านบาท กรรมการบริหารพรรค 7 คน 3 โต๊ะ 9 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังพบชื่อของ ดร.เอก (นายณพพงศ์ ธีระวร ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์) 24 โต๊ะ 72 ล้านบาท และ ดร.อั๋น (นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก) 16 โต๊ะ 48 ล้านบาท ด้วย
เบื้องต้นผู้บริหารหน่วยงานรัฐ 3 แห่ง ได้แก่ กระทรวงการคลัง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกมาปฏิเสธ ยืนยันไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐไปซื้อโต๊ะ หรือร่วมงานดังกล่าว แต่หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐทำจริง จะเอาผิดอย่างแน่นอน
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ในฐานะผู้จัดงาน ให้สัมภาษณ์สื่อภายหลังกรณีนี้ว่า ยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐมางานระดมทุน และพร้อมจะตรวจสอบข้อมูล หากพบว่ามีอะไรไม่ถูกต้องพร้อมจะคืนเงิน (อ่านประกอบ : เปิดเอกสารผังงานโต๊ะจีน 650 ล. พปชร. ชื่อคล้าย‘คลัง-ททท-กทม’หรา บริจาครวม 99 ล.)
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกโรงยื่น กกต. ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้เป็นการด่วน โดยเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ ได้หอบพยานหลักฐาน ข้อกฎหมาย รวมถึงรูปแผนผังที่สำนักข่าวอิศรานำมาเผยแพร่ ไปยื่น และให้ถ้อยคำเพิ่มเติมต่อ กกต. เพิ่มเติมด้วย (อ่านประกอบ : 'ศรีสุวรรณ'ใช้หลักฐาน'อิศรา'ให้ปากคำ กกต.เพิ่มปมผังโต๊ะจีน พปชร. 650 ล.)
ประเด็นของเรื่องคือ ตามกฎหมายพรรคการเมือง กำหนดห้ามเจ้าหน้าที่รัฐ หรือข้าราชการทางการเมือง ใช้อำนาจหน้าที่เรี่ยไรเงินเพื่อระดมทุน หรือบริจาคเงิน หรือทรัพย์สินอื่นใดให้แก่พรรคการเมือง นอกจากนี้บุคคลธรรมดาไม่สามารถบริจาคเงินให้พรรคการเมืองได้เกิน 10 ล้านบาท/ปี/คน ส่วนในนามนิติบุคคล หรือเอกชน หากบริจาคเกิน 5 ล้านบาท/ปี/แห่ง จะต้องแจ้งที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้รับทราบด้วย
ดังนั้นสิ่งที่ กกต. จำเป็นต้องตรวจสอบโดยด่วนคือ 1.มีเจ้าหน้าที่รัฐไปงานระดมทุนจริงหรือไม่ หากไปจริง ใช้เงินส่วนตัว หรือเงินหลวง หากไปโดยไม่ได้จ่ายเงิน แล้วใครเป็นผู้ซื้อโต๊ะให้ ทำไมถึงต้องใช้ชื่อโต๊ะคล้ายกับหน่วยงานรัฐ 2.มีเจ้าหน้าที่รัฐ หรือข้าราชการการเมือง ใช้อำนาจหน้าที่เรี่ยไรเงินให้มาบริจาคหรือไม่ โดย 2 ประเด็นนี้ กกต. สามารถเรียกออแกไนเซอร์ที่จัดงานมาให้ข้อมูลได้โดยตรง
(ขอบคุณภาพ จาก The Momentum)
@ข้อครหาการเลือกตั้ง ส.ว.
ส.ว. ในช่วง 5 ปีแรก มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งแตกต่างจาก ส.ว. ที่ผ่าน ๆ มาในอดีต ทำให้การเลือกตั้งคราวนี้ถูกจับตามองจากหลายฝ่ายว่าอาจมีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะท้ายที่สุดผู้เคาะชื่อคือ คสช. ?
ประเด็นของเรื่องนี้คือ ในการเลือกตั้ง ส.ว. กลุ่ม 2 ด้านกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ในหลายจังหวัด พบว่า มีองค์กร สมาคม หรือมูลนิธิ หลายแห่ง ไม่มีวัตถุประสงค์ในด้านกฎหมายฯ แต่กลับการันตีชื่อผู้สมัครให้เข้าสมัครในกลุ่ม 2 ส่งผลให้เกิดการร้องเรียนต่อประธาน กกต. ให้เข้าไปตรวจสอบเป็นการด่วน เพราะเกรงว่า การเลือกตั้งคราวนี้จะไม่เป็นธรรม
ยกตัวอย่าง การเลือกตั้ง ส.ว. ขอนแก่น กลุ่ม 2 พบว่า มีผู้สมัคร 3 ราย ที่ถูกการันตีโดย 3 มูลนิธิ ได้แก่ มูลนิธินายศรีผ่อง-นางกี่ ภูเก้าล้วน จ.กระบี่ มูลนิธิแห่งนี้เป็นของคนสกุล ‘ภูเก้าล้วน’ ตระกูลการเมืองชื่อดังในกระบี่ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุนการศึกษาเด็กเรียนดีใน จ.กระบี่ ไม่มีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ด้านกฎหมาย มูลนิธิอุษรินทร์ กทม. มีนางอุษา มนต์เสรีนุสรณ์ มาดรานายเอธัส มนต์เสรีนุสรณ์ นักธุรกิจชื่อดังเป็นเจ้าของ มีวัตถุประสงค์ให้ทุนการศึกษาเด็กเรียนดีเช่นกัน ไม่มีวัตถุประสงค์ด้านกฎหมาย ส่วนมูลนิธิมหาจุฬามณีเจดีย์ ศรีสุวรรณภูมิ ที่ตั้งอยู่ในวัดจันทรสุข จ.ปทุมธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแผ่ศาสนา ไม่มีส่วนใดเกี่ยวกับด้านกฎหมาย และมีเจ้าอาวาสวัดจันทรสุขเป็นประธาน
เมื่อขยายผลเพิ่มเติมพบว่า มีมูลนิธิ องค์กร หรือสมาคม อีกหลายแห่ง ที่ไม่มีวัตถุประสงค์ด้านกฎหมาย การันตีผู้สมัคร ส.ว. เป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่าง มูลนิธินายศรีผ่อง-นางกี่ ภูเก้าล้วน ส่งผู้สมัครถึง 11 คน มูลนิธิมหาจุฬามณีเจดีย์ ศรีสุวรรณภูมิ 11 คน เป็นต้น (อ่านประกอบ : เปิด 9 มูลนิธิ-องค์กรการันตีส่งผู้สมัคร ส.ว. ก่อนถูกร้อง กกต.สอบขัดคุณสมบัติ, เปิดตัว 3 มูลนิธิดันผู้สมัคร ส.ว. ก่อนถูกร้องขัดคุณสมบัติ-วัดฝีมือ กกต. สอบ?)
ขณะที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 ระบุหลักเกณฑ์และคุณสมบัติ กำหนดให้องค์กรนิติบุคคลประชุมกรรมการลงมติ และประธาน หรือนายกสมาคมฯ ต้องลงชื่อรับรองว่า ผู้ที่ส่งลงสมัครเป็นสมาชิก หรือเคยเป็นสมาชิก ทำงานหรือเคยทำงานที่นิติบุคคลไม่น้อยกว่า 2 ปี ที่สำคัญต้องมีประวัติ ระบุเพศ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และสาขาอาชีพของผู้ที่จะส่งลงสมัคร
นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า องค์กรที่แนะนำผู้สมัคร ส.ว. สามารถเลือก 10 กลุ่มอาชีพได้เพียงกลุ่มเดียว แม้องค์กรไหนมีวัตถุประสงค์ตรงตามกลุ่มอาชีพเกิน 2 กลุ่ม ก็เลือกได้เพียงกลุ่มเดียว
ดังนั้นมูลนิธิ และสมาคมต่าง ๆ ข้างต้นไม่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับกฎหมายเลย แต่กลับส่งคนเข้าไปสมัครหลายคน ในหลายจังหวัด ตรงนี้เข้าข่ายขัดคุณสมบัติหรือไม่ นี่คือประเด็นสำคัญในการร้องเรียนเรื่องนี้
ทั้งหมดคือ 2 เผือกร้อน ที่ กกต. จำเป็นจะต้องรีบสอบสวนโดยด่วน เพราะอย่างช้าที่สุดในเดือน มี.ค. 2562 (หากเกิดกรณีเลื่อนเลือกตั้ง) จะต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส. เกิดขึ้น ถัดจากนั้นจึงมีการประกาศชื่อผู้ได้เป็น ส.ว.
หาก กกต. ยังชักช้า (เหมือนที่หลายคนวิจารณ์ว่า ประวิงเวลา) อาจทำให้การเลือกตั้งทั้ง ส.ส. และ ส.ว. มีมลทิน ประชาชนอาจไม่ยอมรับ และกรรมการ กกต. เองจะถูกร้องเรียนเอาผิดในภายหลังได้ ?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/