กรมบัญชีกลาง จ่ายงบฟื้นฟูผลกระทบ “พายุปาบึก” จังหวัดละ 20 ล้าน
ธนาคารต่างๆเร่งออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก ขณะที่กรมบัญชีกลาง เปิดวงเงินฉุกเฉินให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก จังหวัดละ 20 ล้านบาท และพร้อมขยายวงเงินตามความจำเป็น
วันนี้ 6 ม.ค. 2562 น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางได้เปิดวงเงิน ให้หน่วยงานราชการต่างๆ ทดลองเบิกจ่าย เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากพายุปาบึกไว้แล้ว จังหวัดละ 20 ล้านบาท โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องประกาศให้จังหวัดนั้นเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ก่อนจึงจะสามารถเบิกเงินดังกล่าวได้ หากจำเป็นต้องเพิ่มวงเงินก็สามารถร้องขอมาได้ โดยกรมฯจะจัดวงเงินให้ตามความจำเป็นในทันที
นอกจากนี้ ยังเตรียมมาตรการผ่อนปรนสำหรับการก่อสร้าง หรือการจัดซื้อจัดจ้างภายหลังที่เกิดภัยพิบัติเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นการช่วยเหลือสำหรับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ไม่สามารถก่อสร้าง หรือจัดซื้อจัดจ้างได้ตามกำหนดอีกด้วย ซึ่งมาตรการนี้ จะดำเนินการภายหลังที่เกิดเหตุภัยพิบัติแล้ว (อ่านข่าวเพิ่มเติม : 3 แบงก์ “ลดดอกเบี้ย-พักหนี้-ซ่อมบ้าน” ช่วยผู้ประสบภัยพายุปาบึก )
ขณะที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ให้เจ้าหน้าที่ธ.ก.ส. ในพื้นที่ นำเงินจากกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยธรรมชาติไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนในพื้นที่ประสบภัย รวมถึงจะเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุและฟื้นฟูหลังประสบภัย
สำหรับ เกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย จนกระทบต่อรายได้ ธ.ก.ส. จะมีพิจารณาขยายเวลาชำระหนี้ออกไปก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และพิจารณาให้สินเชื่อ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและฟื้นฟูการประกอบอาชีพเป็นกรณีพิเศษ (อ่านข่าวเพิ่มเติม : สำรวจความเสียหาย หลัง “ปาบึก” พัดผ่าน )
ด้าน ธนาคารออมสิน ออกมาตรการบรรเทาช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อทุกประเภทของธนาคารฯ โดยพื้นที่ใดที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัย และเป็นบุคคลที่มีที่พักอาศัยหรือสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบเสียหาย ส่งผลให้รายได้ลดลง ตลอดจนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สามารถพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งเมื่อครบกำหนดแล้ว ให้พักชำระเงินต้นได้อีก 2-3 ปี โดยในระหว่างพักชำระเงินต้น ให้ชำระเฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยรายเดือน 50-100% ของดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น โดยเงื่อนไขการพักชำระหนี้หรือการผ่อนชำระหนี้ดังกล่าว จะพิจารณาตามความรุนแรงหรือผลกระทบที่ลูกค้าได้รับ
ส่วน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประกาศ 6 มาตรการ ช่วยเหลือลูกค้าประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ เตรียมวงเงิน 1,000 ล้านบาท จัดทำ “โครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2562” เช่น กรณีลูกค้าเดิมที่หลักประกันเสียหาย ลดภาระดอกเบี้ยเหลือ 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรก ,กรณีลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมที่หลักประกันเสียหาย ให้กู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ ดอกเบี้ยพิเศษ 3.00% ต่อปี นาน 3 ปี ,กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ สามารถขอประนอมหนี้ ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรก ไม่ต้องชำระเงินงวด และกรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ให้ปลอดหนี้
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ออกมาตรการฉุกเฉินให้ความช่วยเหลือ 2 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 ลูกค้า บสย.ปัจจุบันที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่ออายุค้ำประกันสินเชื่อ สามารถขอขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันออกไปได้อีก 6 เดือน มาตรการที่ 2 จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อพิเศษ โครงการค้ำประกันสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบภัยพิบัติภาคใต้ ฟรีค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสูงสุด 2 ปี ค้ำประกันสูงสุดรายละ 5 ล้านบาท