ขีดเส้นแบ่งอำนาจ ป.ป.ช.-ป.ป.ท.สอบคดีทุจริต เปิด 9 ความผิดร้ายแรงมีอะไรบ้าง?
เปิด 9 ความผิดร้ายแรงที่เข้าข่าย ป.ป.ช. สอบ เรื่องกล่าวหากระทบศีลธรรม-เศรษฐกิจการคลัง-ความมั่นคงชาติ-ความเสียหายเกิน 5 แสน-กระทบบริหารราชการในภาพรวม ส่วน จนท.ระดับล่าง ‘ผู้พิพากษา-อัยการ’ เข้าข่ายถูกสอบได้ด้วย
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่มีผลบังคับใช้ช่วงปลายเดือน ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา นอกเหนือจากประเด็นการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ที่เกิดปัญหาคาราคาซังมาถึงปัจจุบันเกี่ยวกับการกำหนดผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และเจ้าหน้าที่รัฐอื่นรายใดต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินบ้างนั้น
ยังมีประเด็นที่ซ่อนอยู่น่าสนใจ ในมาตรา 61 62 63 และ 64 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. รวมถึงในมาตรา 234 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการมอบหมายเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการฯ ที่มิใช่เป็นความผิดร้ายแรงให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตดำเนินการแทนได้
หรืออธิบายให้ง่ายคือ หาก ป.ป.ช. เห็นว่าเรื่องไหนความผิดไม่ร้ายแรง สามารถโอนเรื่องให้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หรือพนักงานสอบสวน เป็นผู้ดำเนินการแทนได้
คำถามคือ ความผิดแบบไหนร้ายแรง ไม่ร้ายแรง มีกำหนดบทนิยามส่วนนี้อย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
เมื่อปลายเดือน ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติกำหนดแนวทางในการพิจารณาเรื่องกล่าวที่มีลักษณะเป็นความผิดร้ายแรง ดังต่อไปนี้
1.เรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีลักษณะเป็นความผิดร้ายแรง ได้แก่
1) เรื่องกล่าวหาที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน สิ่งแวดล้อม หรือประโยชน์สาธารณะที่สำคัญ
2) เรื่องก่ลาวหาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจ หรือการคลังของประเทศ
3) เรื่องกล่าวหาที่สำคัญระดับประเทศที่อยู่ในความสนใจของประชาชน
4) เรื่องกล่าวหาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีหรือเรื่องที่กล่าวหา
5) เรื่องกล่าวหาที่สำคัญ และเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติ หรือมีเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศมีส่วนเกี่ยวข้อง
6) เรื่องกล่าวหาที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินงบประมาณเกินกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีมูลค่าความเสียหายเกินกว่า 5 แสนบาทขึ้นไป และอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างกว้างขวาง
7) เรื่องกล่าวหาที่เกี่ยวกับการที่รัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ให้สัมปทานที่มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์โดยมิชอบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา เห็นว่า เป็นเรื่องที่มีลักษณะร้ายแรง
8) เรื่องกล่าวหาที่มีผลกระทบต่อระบบบริหาราชการในภาพรวม แม้ไม่อาจคำนวณมูลค่าความเสียหายเป็นตัวเงินได้
9) เรื่องกล่าวหาอื่นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า มีลักษณะเป็นความผิดร้ายแรง
2.กรณีเรื่องกล่าวหาที่มีลักษณะความผิดตามข้อ 1. หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ลักษณะความผิดร้ายแรงดังกล่าว พฤติการณ์แห่งคดีได้เปลี่ยนแปลงไปหรือมีเหตุอื่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจพิจารณาว่า เป็นเรื่องที่มิใช่เป็นความผิดร้ายแรงตามคำสั่งนี้ก็ได้
3.กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้หรือการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจตีความและวินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เป็นที่สุด
เมื่อทราบกันไปแล้วว่า เรื่องใดบ้างทีเข้าข่ายเป็นความผิดร้ายแรง ประเด็นถัดมาคือ เจ้าหน้าที่รัฐตำแหน่งใดบ้าง ที่กระทำผิดแล้วอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ?
หลายคนอาจทราบไปแล้วว่า นักการเมือง และข้าราชการระดับสูง ในระดับผู้อำนวยการระดับสูงในหน่วยงานต่าง ๆ ล้วนอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อยู่แล้ว ส่วนตำแหน่งระดับล่างลงมาอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)
อย่างไรก็ดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐ ระดับผู้อำนวยการระดับสูง หรือเทียบเท่าลงมา ที่เห็นสมควรให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนเรื่องถูกกล่าวหาว่าทุจริตด้วย ได้แก่
1.ผู้พิพากษาและตุลาการ
2.พนักงานอัยการ
3.ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4.เจ้าพนักงานของรัฐในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
5.เจ้าพนักงานของรัฐในหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต
6.เจ้าพนักงานของรัฐซึ่งร่วมกระทำความผิดกับบุคคลตาม 1.-5.
นอกจากนี้หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐนอกเหนือจากข้อ 1.-5. แต่กระทำความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม การกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ก็อยู่ในข่ายดำเนินการของ ป.ป.ช.
นี่คือข้อมูลสำคัญว่า นิยามความผิดร้ายแรงสำหรับ ป.ป.ช. คืออะไร และมีเจ้าหน้าที่รัฐระดับล่างรายไหนบ้างที่เข้าข่ายอยู่ในอำนาจที่ ป.ป.ช. จะสอบ