ระดมสมองร่างแผนฯ 11 หลังผ่านประชาพิจารณ์ 132 หมู่บ้าน 4 ภาค
เวทีทิศทางแผนฯ11 นายกฯย้ำการมีส่วนร่วม เลขาสภาพัฒน์เผย 6 ยุทธศาสตร์ลด 5 ความเสี่ยงประเทศ โฆษิตเสนอแผนภาคเพิ่มคนชั้นกลางให้ท้องถิ่นเป็นเสาหลักพัฒนา ทิศทางพัฒนาคน-ทรัพยากร เน้นสร้างรายได้เกษตรกร ความมั่นคงอาหาร พลังงานทดแทน เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนเข้มแข็ง
เผยร่างแผนฯ 11 หลังผ่านหลายเวทีประชาพิจารณ์ ก่อนกำหนดใช้ ต.ค.54
วันนี้ (6 ส.ค. 53) ที่เมืองทองธานี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดประชุม“ทิศทางแผนพัฒนาฯฉบับที่ 11” โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ที่จะใช้ในเดือนตุลาคม 2554 นี้ จะกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในช่วง 5 ปีถัดไป รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อรับมือปัญหาใหม่ๆที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศ โดยกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน
“แผนพัฒนาฯในระยะแรกตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว จะได้รับความสำเร็จในการพัฒนาเฉพาะด้าน แต่การพัฒนานั้นมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจมีผลกระทบให้เกิดปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม ในระยะหลังจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ตรงนี้ยังเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่แผนการพัฒนาที่สามารถตอบโจทย์ หรือฟันผ่าปัญหาท้าทายต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ดร.อำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สศช.กล่าว ว่า การยกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและวิสัยทัศน์ประเทศไทยปี 2570 ให้ความสำคัญกับการให้ทุกภาคส่วนทุกระดับในสังคมร่วมกำหนดแนวทาง มีการประมวลและสังเคราะห์ผลจากการทำประชาพิจารณ์กับชาวบ้าน 22 เวที 132 หมู่บ้าน 4 เวทีระดับภาค และ 4 กลุ่มเฉพาะ ได้แก่ ภาคเอกชน ผู้สูงอายุ เด็กเยาวชน สื่อมวลชน โดยพบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยง 5 ประการ 1.การบริหารภาครัฐอ่อนแอ อำนาจถูกใช้เพื่อผลประโยชน์คนบางกลุ่ม ทำให้เกิดความแตกแยกในประเทศ 2.โครงสร้างเศรษฐกิจไม่สามารถรองรับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะพึ่งพิงการส่งออกมากเกินไป และต้องแลกแรงงานกับทรัพยากรเพื่อรายได้จากการส่งออก 3.โครงสร้างประชากรไม่สมดุล ประเทศเผชิญปัญหาสังคมผู้สูงอายุ 4.ค่านิยมที่ดีงามของไทยเสื่อมถอย และ 5.ฐานทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เลขาสภาพัฒน์ เผย 6 ยุทธศาสตร์ ลด 5 ความเสี่ยงประเทศไทยในแผนฯ 11
“สิ่งช่วยลดความเสี่ยงคือสร้างภูมิคุ้มกันสังคมระยะยาว โดยใช้ฐานการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข, ฐานการเกษตรเป็นรายได้หลักและความมั่นคงทางอาหาร, การพัฒนาประเทศบนฐานความรู้เทคโนโลยีทันสมัย, ฟื้นฟูค่านิยมวัฒนธรรมดีงาม, ให้ชุมชนเป็นกลไกบริหารจัดการและมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทำให้ประเทศมีศักดิ์ศรี เป็นเอกราช เป็นมิตรกับนานาชาติ”
ดร.อำพน กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ว่ากำหนดวิสัยทัศน์“สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง” ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ 1.สร้างความเป็นธรรมในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ 2.พัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน 3.สร้างความสมดุลและมั่นคงของอาหารและพลังงาน 4.สร้างเศรษฐกิจบนฐานความรู้และสร้างปัจจัยแวดล้อม ไม่ใช่หารายได้จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมหรือต่างประเทศ แต่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการรายย่อยหรือวิสาหกิจชุมชนเข้ามาสร้างฐานราย ได้ในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 5.สร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในภูมิภาค และ 6.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
“โฆษิต” เสนอแผนภาค-เพิ่มคนชั้นกลาง ให้ท้องถิ่นเป็นเสาหลักพัฒนาประเทศ
คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ประธานคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่า แผนพัฒนาฯในช่วงที่ผ่านมามักมีลักษณะมหภาค ชาวบ้านไม่ค่อยมีส่วนร่วมและถูกบังคับให้ใช้ แต่แผนฉบับนี้ลงไปถึงชาวบ้านมากขึ้น เป็นการหาสมดุลที่จะช่วยสร้างความสามารถในการพึ่งตนเองท่ามกลางการเปลี่ยน แปลงเศรษฐกิจโลก มองว่าหากเพิ่มอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นแล้วก็ควรเพิ่มให้หนักแน่น ทั้งนี้อาจใช้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็งเข้าไปเสริมการทำงานด้วย
นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองที่ผ่านมามีจุดร่วมที่เป็นประเด็นปัญหาคือการ พัฒนาที่ไม่มีคุณภาพ หากจะพูดถึงการพัฒนาในระยะต่อไป ต้องทบทวนแนวทางและเพิ่มเติมคุณภาพมากกว่านี้ โดยหลีกเลี่ยงการพัฒนาเศรษฐกิจที่นำไปสู่หนี้สินเกินขอบเขตและเน้นต่าง ประเทศซึ่งส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งนี้ประเทศไทยยังมีชนชั้นกลางน้อยและกระจุกตัวเกินไป สะท้อนชัดว่ายังมีประชาชนขาดโอกาสอีกมาก สาเหตุสำคัญคือไม่มีงานที่สร้างรายได้สร้างคุณภาพและสร้างอนาคต สิ่งที่อยากเพิ่มเติมในแผนพัฒนาฉบับนี้คือกระบวนการเพิ่มชนชั้นกลางและ กระจายไปสู่ภูมิภาค โดยอาศัยแผนพัฒนาระดับภาคเป็นเครื่องมือ
“การ พัฒนาที่จะสร้างชนชั้นกลาง ต้องอาศัยประสิทธิภาพที่มาจากฝีมือ ความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการ อย่างภาคอีสานประชากรเยอะมากแต่กลับมีชั้นชั้นกลางน้อยกว่าภาคอื่น ไม่ใช่เพราะไม่มีทรัพยากรแต่เป็นเพราะมีความรู้แต่ไม่มีการเชื่อมโยงให้เกิด กิจกรรมทางเศรษฐกิจ หากมีแผนภาคขึ้นมาจะช่วยในจุดนี้และท้องถิ่นจะเป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศ ได้ต่อไป”
ประธานหอการค้าติงคนยังไม่เข้าใจเศรษฐกิจพอเพียง
นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในภาคเอกชนสิ่งที่เป็นปัญหามาตลอดคือการมีแผนดี แต่ไม่นำสู่การปฏิบัติและไม่มีการติดตามประเมินผลให้สอดคล้องกับการพัฒนา ทำให้ขาดความต่อเนื่อง
“แผนพัฒนาช่วง 5 ปีแรกดีเห็นชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลง แต่มาหลังๆเริ่มอ่านเข้าใจยากและมีผลยาก อย่างแผนฯ 10 ที่บอกว่าเน้นเศรษฐกิจพอเพียง วันนี้ถามว่ามีคนเข้าใจคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงมากน้อยแค่ไหน นี่คือเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจสู่การปฏิบัติให้ได้”
นายดุสิต กล่าวอีกว่า ควรเพิ่มเรื่องการวางระบบและเสริมศักยภาพการศึกษาให้สอดคล้องและพร้อมรับมือ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ, มีแนวทางดึงภาคธุรกิจไปช่วยเหลือชุมชน, หาจุดเน้นในการส่งเสริมการลงทุนว่าสิ่งใดควรนำหรือตาม โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงรวมอาเซียนเป็นหนึ่ง, เพิ่มนวัตกรรมการวิจัยเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา และการทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์นำสิ่งดีๆที่มีมาต่อยอด
ทิศทางพัฒนาทรัพยากร “คน” และ “สิ่งแวดล้อม” ในแผนฯ11
นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ รองเลขาฯ สศช. กล่าวถึงยุทธศาสตร์การสร้างสมดุลอาหารและพลังงานในแผนพัฒนาฯฉบับ 11 ว่าเป้าหมายสำคัญคือ 1.เพิ่มมูลค่าผลผลิตภาคเกษตรกรรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 2.เพิ่มปริมาณผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการและมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล 3.เกษตรกรมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง 4.เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคเกษตรและพลังงานทดแทน 5.สร้างสมดุลความมั่นคงด้านพลังงาน และความหลากหลายของทรัพยากรทางเลือก
ส่วนยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดแนวทางการพัฒนาให้มีการอนุรักษ์ฟื้นฟูและสร้างความมั่นคงของฐาน ทรัพยากร, ปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาและพฤติกรรมการบริโภคสู่สังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวด ล้อม, เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของภาคการผลิตและบริการ, จัดการสิ่งแวดล้อมเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน, ยกระดับขีดความสามารถการปรับตัวรับมือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพโปร่งใส และเป็นธรรม
ด้านการพัฒนาคนและสังคมในแผนพัฒนาฯฉบับ 11 นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ทำให้คนวัยแรงงานลดลง และมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้างสังคม ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่แตกต่างกันถึง 22.8 เท่า
ทั้งนี้หัวใจ สำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันคือทำให้ทุกคนมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ไปพร้อมกัน ผู้ด้อยโอกาสต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างทั่วถึงเท่าเทียม มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่มีความสุขเสมอภาคเป็นธรรมมี ภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อทำให้ครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่นเข้มแข็งเป็นฐานรากของสังคมที่มีคุณภาพ.