รู้ประวัติศาสตร์ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" ผ่านหนังสือ 2 เล่ม
พิธีรับพระบรมราชาภิเษกนี้ ราชประเพณี เรียกกันว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งก็มีความหมายว่า พิธีการแต่งตั้งองค์ประมุขของราชอาณาจักรขึ้นเป็นบรมราชาภิเษก โดยพิธีภิเษก หรือ การรดน้ำ
พุทธศักราช 2562 ถือเป็น ปีมหามงคล เมื่อสำนักพระราชวัง ออกประกาศ เรื่องสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 และนับเป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลและพสกนิกรชาวไทยจะได้เตรียมการพระราชพิธีที่เป็นทางการตามจารีตประเพณี
สำหรับพิธีมหามงคลยิ่งใหญ่ของประเทศ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" คนไทยสามารถหาอ่านและเข้าใจราชประเพณีที่ถือกันมาแต่โบราณได้ผ่านหนังสือ 2 เล่ม สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) คัดบางช่วงบางตอนมานำเสนอ
เล่มแรก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สำนักพระราชวัง เคยรวบรวมและจัดพิมพ์สนองพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อพุทธศักราช 2533
"ทุกราชอาณาจักร บรรดาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ย่อมจะต้องมีพิธีการที่องค์พระประมุข จะขึ้นรับตำแหน่งหน้าที่ขององค์พระประมุขด้วยกันทุกประเทศ จะแตกต่างกันก็แต่เนื้อหาของพิธีว่า ทำอย่างไรกันบ้าง และเรียกชื่อพิธีดังกล่าวนั้นว่าอย่างไรเท่านั้น
แต่ที่เหมือนกันอยู่ทุกประเทศก็คือ ต่างถือว่า เป็นพิธีที่สำคัญอย่างยิ่งยวดของชาติด้วยกันทั้งสิ้น
ราชอาณาจักรไทย เป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และในราชประเพณีอันสืบเนื่องกันมาแต่ปางบรรพ์นั้น เมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใดได้เสร็จขึ้น เถลิงไอศวรรยาธิปัตย์ ปกครงประเทศในตำแหน่งพระประมุขของทวยนาคร ไม่ว่าจะโดยการที่เรียกกันว่า สืบราชสันตติวงศ์ หรือการปราบดาภิเษกสถาปนาพระราชวงศ์ขึ้นใหม่ก็ตาม การได้อำนาจในการปกครองบ้านเมืองเพียงเท่านั้น ตามราชประเพณียังไม่ถือว่า กษัตริย์พระองค์นั้นทรงเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ ต่อเมื่อทรงรับพระบรมราชาภิเษกแล้ว จึงจะเรียกกันว่า ทรงดำรงพระอิสริยฐานันดรนามในตำแหน่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ถ้าเพียงแต่ได้ขึ้นครองราชย์ หรือมีศัพท์ที่มักเรียกกันว่า เสด็จขึ้นผ่านพิภพแล้วไซร้ จะยังไม่ถือกันว่า องค์พระประมุขนั้นจะทรงเป็นพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ จะต้องทรงได้รับพระบรมราชาภิเษกเสียก่อน
พิธีรับพระบรมราชาภิเษกนี้ ราชประเพณี เรียกกันว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งก็มีความหมายว่า พิธีการแต่งตั้งองค์ประมุขของราชอาณาจักรขึ้นเป็นบรมราชาภิเษก โดยพิธีภิเษก หรือ การรดน้ำ
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีสำคัญพิธีหนึ่งสำหรับราชอาณาจักรที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข พิธีนี้เป็นเครื่องเชิดชูเฉลิมพระเกียรติยศองค์พระประมุขว่า ได้ทรงเป็นพระราชาธิบดีของราชอาณาจักรนั้นโดยสมบูรณ์แล้ว สำหรับเนื้อหาแห่งพิธีนั้นย่อมแตกต่างกันออกไปตามขนบธรรมเนียมของแต่ละราชอาณาจักร
การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทยนั้น ถือประเพณีสืบเนื่องมาแต่ลัทธิพราหมณ์ พราหมณ์มีส่วนสำคัญในการราชพิธีนี้ เช่น เป็นผู้กล่าวคำถวายสิริราชสมบัติ และถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ อาจกล่าวได้ว่า ได้ยึดถือแบบอย่างการพระราชพิธีที่ได้เคยกระทำกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ปรากฎความในพระราชพงศาวดารว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้เสด็จขึ้นผ่านพิภพ โดยคำอัญเชิญของบรรดาเสนามาตย์และราษฎรทั้งปวง เมื่อ พ.ศ.2325 แล้ว ก็ได้ทรงกระทำพิธีปราบดาภิเษกแต่โดยสังเขปก่อน แล้วจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการผู้รู้แบบราชประเพณีครั้งกรุงเก่า ซึ่งมีเจ้าพระยาเพชรพิชัย เป็นประธาน ประชุมปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะผู้ใหญ่ ทำการสอบสวนค้นคว้าคัมภีร์และแบบแผนพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อได้แบบแผนโดยสมบูรณ์และบ้านเมืองก็ว่างศึกสงครามแล้ว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้สมบูรณ์ตามแบบแผนอันได้เคยมีมาแต่เก่าก่อนอีกครั้งหนึ่ง
การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลต่อมา ก็ได้ยึดถือหลักการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ พ.ศ. 2328 เป็นแบบอย่างจะเปลี่ยนแปลงก็เฉพาะสถานที่ เช่น รัชกาลที่ 1 ทรงทำพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ส่วนรัชกาลที่ 2 ทรงทำพิธีบรมราชาภิเษกที่พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร
เหตุที่เปลี่ยนสถานที่ก็เนื่องด้วยพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทนั้น เดิมสร้างเป็นปราสาทเครื่องไม้ ภายหลังจากที่รัชกาลที่ 1 ทรงทำพิธีบรมราชาภิเษกแล้วถูกฟ้าผ่าไฟไหม้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปราสาทก่ออิฐขึ้นใหม่ในที่เดิม พระราชทานนามว่า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคต ได้เชิญพระบรมศพไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ฉะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 จึงทรงทำพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร ในรัชกาลต่อๆ มาก็ได้ทรงทำพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร สืบมาทุกรัชกาล
ในรัชกาลที่ 6 ได้ทรงทำพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2453 ณ พระที่นั่งหมู่พระมหามณเฑียร ต่อมาในปี พ.ศ.2454 ได้ทรงกระทำพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลต่อมาถึงรัชกาลปัจจุบันจัดพระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร เป็นพระราชพิธีมณฑลสืบเนื่องกันมาทุกรัชกาล
การที่ในบางรัชกาล มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้งนั้น ในหนังสือจดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 6 ได้บรรยายถึงเหตุผลไว้โดยชัดแจ้ง ดังมีข้อความต่อไปนี้
"เหตุที่ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็น 2 งานนั้น เพราะตามราชประเพณีในสยามประเทศนี้ ถือเป็นตำรามาแต่โบราณว่า พระมหากษัตริย์ซึ่งเสด็จผ่านพิภพ ต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อนจึงจะเป็นพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ ถ้ายังมิได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ตราบใด ถึงจะได้ทรงรับรัชทายาทเมื่อเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในพระราชวังหลวง ก็เสด็จอยู่เพียง ณ ที่พักแห่งหนึ่ง พระนามที่ขานก็คงใช้พระนามเดิม เป็นแต่เพิ่มคำว่า "ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน" เข้าข้างท้ายพระนาม แลคำสั่งก็ยังไม่ใช้พระราชโองการจนกว่าจะสรงมุรธาภิเษก ทรงรับสุพรรณบัฏจารีกพระบรมราชนามาภิไธยกับทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์จากพระราชครูพราหมณ์ผู้ทำพิธีราชาภิเษกแล้ว จึงเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียร ครอบครองสิริราชสมบัติสมบูรณ์ด้วยพระเกียรติยศแห่งพระราชามหากษัตริย์แต่นั้นไป เพราะถือเป็นนิติดังกล่าวนี้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดเสด็จผ่านพิภพ จึงรีบทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกภายใน 7 วันบ้าง กว่านั้นบ้าง อย่างช้าภายในเดือนเศษ เป็นประเพณีสืบมา
ครั้นถึงรัชกาลปัจจุบันนี้เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านพิภพ ทรงพระราชดำริว่า ตั้งแต่ในรัชกาลที่ 5 มาทางพระราชไมตรีที่มีกับนานาประเทศนับถือกันสนิทสนมยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงกับทั้งพระองค์เองก็ได้ทรงคุ้นเคยกับพระเจ้าแผ่นดินแลเจ้านายต่างประเทศที่มีพระราชไมตรีโดยมาก การบรมราชาภิเษกนั้นประเพณีในนานาประเทศทางยุโรป ย่อมถือกันว่า เป็นการมงคลอันสำคัญ โดยปกติมักรอไว้ทำต่อเมื่อเสร็จงานพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน ออกจากไว้ทุกข์แล้วจึงทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นการรื่นเริงอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินแลประธานาธิบดีของประเทศที่เป็นมิตรไมตรีมักแต่งเจ้านายหรือขุนนางผู้ใหญ่เป็นผู้แทนไปช่วยให้เป็นเกียรติ เจ้านายในประเทศนี้ก็ได้เคยไปช่วยงานบรมราชาภิเษกประเทศอื่นมาหลายคราว
ลักษณะการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบโบราณเช่นเคยทำมาในประเทศนี้ เมื่อคิดเทียบกับความนิยมของประเทศทั้งปวงในสมัยนี้ มีข้อขัดข้องอยู่ 2 อย่าง คือ เหมือนหนึ่งทำการรื่นเริงในเวลากำลังไว้ทุกข์อย่างหนึ่ง รีบทำไม่ให้เวลาแก่ราชตระกูลหรือประเทศที่เป็นสัมพันธมิตรมีโอกาสได้มาช่วยงานตามอัธยาศัยและประเพณีที่นิยมกันในประเทศนั้น อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ควรจะแก้ไขระเบียบงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่าให้ขัดขวางกับความนิยมในประเทศทั้งปวง ทรงปรึกษากระแสพระราชดำริแก่พระบรมวงศานุวงศ์แลเสนาบดีผู้ใหญ่ ก็เห็นชอบพร้อมกันตามพระราชบริหาร เห็นว่า ควรจัดระเบียบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทำเป็น 2 ครั้ง
ครั้งแรกให้เป็นการพระบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรตามโบราณราชประเพณี แต่งดการแห่เสด็จเลียบพระนคร แลการรื่นเริงอย่างอื่นไว้ เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแล้ว จึงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชอีกครั้งหนึ่ง ให้เป็นการรื่นเริงสำหรับประเทศ แลให้นานาประเทศที่เป็นสัมพันธไมตรีมีโอกาสที่จะมาช่วยงาน
แลการที่ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็น 2 ครั้ง เช่นนี้ ก็ไม่ผิดโบราณราชประเพณีด้วยเยี่ยงอย่างเคยมีมาในรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อแรกเสด็จปราบดาภิเษกในปีขาล พ.ศ.2325 ทรงทำพระราชพิธีราชาภิเษกแต่พอเป็นสังเขปครั้งหนึ่ง ต่อมาเมื่อทรงสร้างพระนครกับทั้งปราสาทราชมณเฑียรเสร็จแล้ว ก็ทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามตำรา เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ.2328 อีกครั้งหนึ่ง
ต่อมา รัชกาลที่ 5 เมื่อแรกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2411 ครั้งหนึ่ง อาศัยเหตุซึ่งทรงพระราชดำริดังกล่าวมา จึงดำรัสสั่งให้ทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระราชมณเฑียรเมื่อปีจอ พ.ศ.2453 แลทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชเมื่อปีกุน พ.ศ.2454"
การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น มีขั้นตอนของพิธีที่อาจแบ่งแยกออกไปได้เป็น 5 ตอน ดังนี้
1.ขั้นเตรียมพิธี มีการทำพิธีตักน้ำและตั้งพิธีเสกน้ำสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษกกับทำพิธีจารึกสุพรรณบัฏและดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล
2.พิธีเบื้องต้น มีการเจริญพระพุทธมนต์ ตั้งน้ำวงด้าย จุดเทียนชัย และเจริญพระพุทธมนต์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
3.พิธีบรมราชาภิเษก มีพิธีสรงมุรธาภิเษก แล้วประทับพระแท่นอัฐทิศอุทุมพรรับน้ำอภิเษก ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐรับการถวายสิริราชสมบัติและเครื่องราชกกุธภัณฑ์
4.พิธีเบื้องปลาย มีการเสด็จออกมหาสมาคม...
5.เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราทั้งทางสถลมารคและชลมารค
ขณะที่ในหนังสือ พระราชพิธีและรัฐพิธีในรัชกาลปัจจุบัน จัดพิมพ์โดยสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เมื่อปี 2550 ก็ได้ระบุถึง พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 การเสด็จออกสีหบัญชร ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทว่า การเสด็จออกสีหบัญชรให้ประชาชนเฝ้าเนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ เป็นธรรมเนียมใหม่ ที่มีขึ้นเป็นครั้งแรก ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/