ผู้ประกันตน 1.2 ล้านคน รู้ยัง! สปส.เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร จาก 400 เป็น 600 บาทแล้ว
ปัจจุบันผู้ประกันตน 1,202,009 ราย มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตร และมีจำนวนบุตร 1,326,695 คน ขณะที่ตัวเลข ปี 2560 กองทุนประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทน กรณีสงเคราะห์บุตร 6,750 ล้านบาท
ตามที่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 มาตรา 75 ตรี กำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรจำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 อัตราเหมาจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร 400 บาทต่อเดือนต่อบุตรหนึ่งคน ไม่ได้ถูกปรับมานาน และไม่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน
ดังนั้น เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน โดยกำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเป็นเงินในอัตรา 600 บาทต่อเดือน
ข่าวดีเปิดศักราชใหม่ ต้อนรับ ปีกุน ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ กฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรพ.ศ. 2561 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรให้เหมาจ่ายเป็นเงินในอัตรา 600 บาทต่อเดือนต่อบุตรหนึ่งคน ซึ่งมีอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3คน โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 (อ่านประกอบ:ประกันสังคม จ่ายเงินสงเคราะห์บุตร 600 บาท/เดือน ย้อนหลัง 1 ม.ค.61 )
สำหรับผู้ที่ต้องการรับสิทธิกรณีสงเคราะห์บุตร จะต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ย้อนหลัง
กรณีผู้ประกันตนออกจากงาน เงินสงเคราะห์บุตรจะหยุดจ่าย นอกจากเข้าทำงานกับนายจ้างใหม่ หรือ สมัครมาตรา 39 ต้องยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคมที่สะดวก ยกเว้นสำนักงานใหญ่ ทั้งนี้จะได้รับสิทธิสงเคราะห์ย้อนหลังไม่เกิน 1 ปี และได้รับเงินเฉพาะเดือนที่ผู้ประกันตนมีการนำส่งเงินสมทบเท่านั้น
ในส่วนของเอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อขอรับประโยชน์ค่าสงเคราะห์บุตร ก็มีดังนี้
1.แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01
2.สำเนาสูติบัตรของบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)
3.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หากมีการเปลี่ยนชื่อสกุล นำสำเนาใบเปลี่ยนชื่อสกุลมาด้วย
4.กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ แนบสำเนาทะเบียนสมรส หรือสำเนาทะเบียนหย่าพร้อมบันทึกแนบท้ายของผู้ประกันตนหรือสำเนาทะเบียนรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 1 ชุด
5.สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชี
และมีขั้นตอนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร ดังนี้
1.ผู้ประกันตนต้องกรอกแบบ สปส.2-01 พร้อมลงลายมือชื่อและนำมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์โดยมีหลักฐานครบถ้วน (กรณีผู้ประกันตนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตร 3 คน ในคราวเดียวกันสามารถใช้แบบคำขอฯ ชุดเดียวกันได้)
2. เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐานและพิจารณาอนุมัติ
3. สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา
4. พิจารณาสั่งจ่าย จ่ายเป็นรายเดือนโดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ได้มีความเห็นให้กระทรวงแรงงานควรมีการรองรับในเรื่องจำนวนเงินของกองทุนประกันสังคมที่จะลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมในระยะยาว รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและกำหนดกลไกการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินสงเคราะห์บุตรเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนด และสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน
ซึ่งในกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรฯ ก็ระบุไว้ใน ข้อ 8 "เพื่อให้การจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรเป็นไปโดยถูกต้อง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบการมีชีวิตอยู่ของบุตร ซึ่งได้รับการสงเคราะห์ตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดในกรณีที่ไม่สามารถตรวจสอบตามวรรคหนึ่งได้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยการมีชีวิตอยู่ของบุตร ซึ่งได้รับการสงเคราะห์ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีสงเคราะห์บุตรแสดงหลักฐานการมีชีวิตอยู่ของบุตร ซึ่งได้รับการสงเคราะห์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากผู้มีสิทธิดังกล่าวไม่สามารถแสดงหลักฐานการมีชีวิตอยู่ของบุตรภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิระงับการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรไว้ก่อนได้"
ปัจจุบันผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตรมีอยู่จำนวน 1,202,009 ราย จำนวนบุตร 1,326,695 คน
ตัวเลข ปี 2560 กองทุนประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทน กรณีเจ็บป่วยมากที่สุด 43,565 ล้านบาท รองลงมา กรณีชราภาพ 11,050 ล้านบาท กรณีคลอดบุตร 7,181 ล้านบาท กรณีสงเคราะห์บุตร 6,750 ล้านบาท กรณีว่างงาน 6,634 ล้านบาท กรณีตาย 2,067 ล้านบาท และกรณีทุพพลภาพ 898 ล้านบาท ตามลำดับ
และเงินกองทุนสะสม 2 กรณี ได้แก่ กรณีสงเคราะห์บุตร และชราภาพ เพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนสำาหรับผู้ประกันตน มาตรา 33 และมาตรา 39 มีจำนวน 1.60 ล้านล้านบาท