แนะผู้ป่วย ‘บัตรทอง’ ร้องเรียนขอคืนเงิน หากถูก รพ.เก็บค่ารักษานอกเวลาราชการ
กก.ควบคุมคุณภาพฯ สปสช. ชี้ โรงพยาบาลไม่มีอำนาจเก็บค่ารักษาบริการนอกเวลาราชการจากผู้ป่วยบัตรทอง เหตุไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับให้ดำเนินการได้ แนะหากถูกเก็บเงินให้ร้องเรียนมายังคณะกรรมการฯ ยืนยันโรงพยาบาลต้องชดใช้พร้อมดอกเบี้ยสถานเดียว
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะให้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินนอกเวลาราชการ โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใดๆ รองรับการดำเนินการดังกล่าว ฉะนั้นหากโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจริงก็เท่ากับเป็นการลิดรอนสิทธิผู้ป่วย
“กรณีที่โรงพยาบาลขึ้นป้ายว่าหากเข้ารับการรักษานอกเวลาราชการจะถูกเก็บค่ารักษาพยาบาล 100 บาท หรือเท่าไรก็ตามนั้น หากผู้ป่วยร้องเรียนมายังคณะกรรมการควบคุมฯ สปสช. เราก็จะวินิจฉัยว่าโรงพยาบาลต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้ผู้ป่วยด้วย นั่นเพราะโรงพยาบาลไม่มีสิทธิเก็บเงินจากผู้ป่วยบัตรทองในทุกๆ กรณี” น.ส.สุภัทรา กล่าว
น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้ให้สิทธิผู้ป่วยบัตรทองสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลตามสิทธิทั้งในกรณีฉุกเฉิน กรณีที่มีความจำเป็น ตลอดจนกรณีอื่นๆ ทั้งในและนอกเวลาราชการ และหากพิจารณาตามประกาศของบอร์ด สปสช.ก็จะพบว่าไม่ได้มีข้อใดที่เปิดช่องให้โรงพยาบาลเก็บเงินจากผู้ป่วยบัตรทองได้ เว้นแต่ให้สามารถร่วมจ่าย 30 บาทได้ตามความสมัครใจของผู้ป่วยเท่านั้น ดังนั้นยืนยันว่าโรงพยาบาลไม่สามารถเก็บเงินผู้ป่วยบัตรทองได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้แต่อย่างใด
“ส่วนตัวคิดว่าหากจะประนีประนอม โรงพยาบาลสามารถเปิดเป็นเคาน์เตอร์หรือคลินิกพิเศษแยกออกมาได้ กล่าวคือเป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยบัตรทองว่าจะจ่ายหรือไม่จ่ายเงิน คือควรจะทำเป็นทางเลือก ไม่ใช่บังคับ” น.ส.สุภัทรา กล่าว
น.ส.สุภัทรา ย้ำอีกว่า แนวคิดการเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลาทำการของ สธ.นั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และ สปสช.ก็ไม่ได้มีอำนาจอะไรไปก้าวล่วงหรือไปสั่งห้ามไม่ให้หน่วยบริการจัดบริการได้ ดังนั้นประเด็นจึงอยู่ที่การดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวจะต้องแยกออกไปให้ชัด คือจะเปิดคลินิกพิเศษก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องเปิดเคาน์เตอร์สำหรับผู้ป่วยบัตรทองด้วย โดยผู้ป่วยจะเลือกใช้สิทธิบัตรทองหรือจะรับการรักษาในคลินิกพิเศษก็เป็นการตัดสินใจของผู้ป่วยเอง
“ถ้าโรงพยาบาลขึ้นป้ายเก็บค่าบริการนอกเวลาทำการ แล้วผู้ป่วยมาร้องว่าถูกเรียกเก็บเงิน คณะกรรมการควบคุมฯ มีทางเดียวก็คือต้องสั่งให้โรงพยาบาลคืนเงิน นั่นเพราะต้องเข้าใจด้วยว่ากฎหมายให้สิทธิผู้ป่วยบัตรทองใช้สิทธิรับบริการในกรณีที่จำเป็นด้วย เช่น ถ้าผู้ป่วยยืนยันว่าไม่สามารถเข้ารับบริการในเวลาราชการได้ เนื่องจากติดภารกิจต้องทำงาน มีเวลามารับบริการได้แค่หลังเวลาเลิกงานเท่านั้น เขาก็มีสิทธิมาได้ โดยไม่มีกฎหมายใดห้ามไม่ให้เขามา” น.ส.สุภัทรา กล่าว
น.ส.สุภัทรา ระบุอีกว่า เมื่อผู้ป่วยมีความจำเป็น ก็เป็นเรื่องของเขาที่จะอธิบายความจำเป็นนั้นๆ ว่าเหตุใดต้องมารับบริการนอกเวลาราชการ แต่ถ้าต้องการที่จะเก็บค่ารักษาจริงๆ ทางบอร์ด สปสช.ก็ต้องออกมาเป็นประกาศให้ชัดเจนว่าสามารถให้ดำเนินการได้ ซึ่งหากออกประกาศมาแล้วทางคณะกรรมการควบคุมฯ ก็ต้องปฏิบัติตาม แต่ ณ วันนี้ยังไม่มีประกาศใดๆ ให้อำนาจ หากมีคนร้องเข้ามา เราก็ต้องสั่งให้คืนเงิน เพราะการดำเนินการของหน่วยพยาบาลจะเข้ามาตรา 59 คือเรียกเก็บเงินในกรณีที่ไม่มีสิทธิเรียกเก็บ