ปิดฉากคดีพินัยกรรม 'ศักดิ์ชัย กาย-คนตระกูล ณ ปัอมเพ็ชร ' 300 ล้าน
"...การที่โจทก์กลับนำคดีนี้มารื้อร้องฟ้องกันว่ามีพินัยกรรมฉบับใหม่ลงวันที่ 21 ธ.ค.2548 ดังกล่าวอีก โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ ก็คือคู่ความเดียวกันเช่นนี้ ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสี่ แล้วพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น..."
สาธารณชนคงได้รับทราบข้อมูลกันไปแล้วว่า ในช่วงเดือนธ.ค.2561 ที่ผ่านมา ศาลฎีกา ได้มีการพิจารณายกคำร้องขออนุญาตฎีกาและไม่รับฎีกาของโจทก์ คือ นายศักดิ์ชัย กาย บรรณาธิการนิตยสารชื่อดัง “ลิปส์” ที่ยื่นฟ้องนายธีรวัต ณ ป้อมเพชร อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นางชวนพิศ วัชรสินธุ์, ม.ร.ว.นิวัตการ ณ ป้อมเพชร และนายพัชรพงศ์ ณ ป้อมเพชร เป็นจำเลยที่ 1-4 ในคดีมรดก พินัยกรรม กรณีที่ดินโฉนดเลขที่ 1003 เลขที่ 15 ถนนจันทร์ ต.ทุ่งวัดดอน อ.ยานนาวา กรุงเทพฯ รวมอาคารและสิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดเลขที่ 3 G คอนโดมิเนียมการ์เด้นคลิฟ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี รวมมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท
โดยคดีนี้ นายศักดิ์ชัย ยื่นฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2549 นายวิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร บิดาของจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ถึงแก่ความตาย มีโจทก์เป็นทายาทผู้รับพินัยกรรม จำเลยที่ 1, 3 และ 4 เป็นทายาทโดยธรรม และจำเลยที่ 1 และ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายวิวรรธน์ ก่อนถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2548 นายวิวรรธน์ได้ทำพินัยกรรมฉบับก่อนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1003 ต.ทุ่งวัดดอน อ.ยานนาวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์
ต่อมาวันที่ 14 มิ.ย. 2559 ศาลฎีกาพิพากษาว่าพินัยกรรมฉบับหลังเป็นโมฆะ ทำให้พินัยกรรมฉบับก่อนยังคงมีผลบังคับอยู่ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้ง 4 คนดังกล่าว โอนทรัพย์มรดกแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้ง 4 เพิกเฉย จึงขอให้บังคับจำเลยร่วมกันโอนที่ดินที่พิพาทดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์
ส่วนจำเลยทั้ง 4 เบิกความต่อศาลว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม พินัยกรรมตามฟ้องไม่สมบูรณ์ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2550 จำเลยที่ 1 เคยฟ้องโจทก์คดีนี้ เป็นจำเลยให้เพิกถอนพินัยกรรม ฉบับลงวันที่ 21 ธ.ค.2548 เนื่องจากเป็นพินัยกรรมที่โจทก์กับพวกร่วมกันทำปลอมขึ้นตามคดีหมายเลขดำที่ 2942/2560 ของศาลชั้นต้น ต่อมาศาลฎีกาในคดีเดิม พิพากษาว่าพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 21 ธ.ค. 2548 เป็นโมฆะ พินัยกรรมที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ มีวันที่และข้อความเดียวกับพินัยกรรมในคดีเดิม เมื่อคดีเดิมถึงที่สุด ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ และดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความไปแล้ว
เบื้องต้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษาให้ยกฟ้องคดีนี้ไปแล้ว เนื่องจากระบุว่า พินัยกรรมที่โจทก์นำมาฟ้อง โจทก์ยอมรับตามคำฟ้องว่ามีอยู่ก่อนพิพาทกันในคดีหมายเลขดำที่ 2942/2560 ซึ่งโจทก์ก็เป็นจำเลยในคดี แต่ก็ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ เมื่อแพ้คดีแล้วจะกลับมาอ้างเหตุว่า เพิ่งทราบว่ามีพินัยกรรมฉบับที่นำมาฟ้องเพิ่งจะมีผลนั้นไม่ได้ (อ้างอิงข่าวส่วนนี้ จาก https://www.thaipost.net/main/detail/24268)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่พิพากษาให้ยกฟ้องคดีที่ นายศักดิ์ชัย กาย เป็นโจทก์ฟ้องคนในตระกูล ณ ป้อมเพชร ดังกล่าว พบว่า มีการระบุเหตุผลพิพากษายกฟ้องคดีนี้ ว่า โจทก์ และจำเลยที่ 1 ในคดีเดิมกับคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน มรดกที่พิพาทในคดีนี้เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายรายเดียวกันกับในคดีเดิม จำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นโจทก์ในคดีเดิม ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2548 ขณะนายวิวรรธน์ มีอายุ 90 ปี เดินไม่ได้ต้องนั่งรถเข็นและมีอาการป่วยต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล จำเลยในคดีเดิมหรือโจทก์ในคดีนี้ ร่วมกับพวกทำหนังสือฉบับหนึ่งระบุว่าเป็นพินัยกรรม มีข้อความว่า นายวิวรรธน์ มีคำสั่งยกเลิกพินัยกรรมที่เคยทำไว้และแสดงเจตนายกที่ดินเนื้อที่ 3 ไร่ ตั้งอยู่ตำบลทุ่งวัดดอน อำเภอยานนาวา กรุงเทพฯ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดเลขที่ 3 G คอนโดมิเนียมการ์เด้นคลิฟ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ให้แก่จำเลยในคดีเดิมหรือโจทก์ในคดีนี้ นายวิวรรธน์ ไม่มีเจตนาอันแท้จริงยกทรัพย์ให้จำเลยในคดีเดิมหรือโจทก์ในคดีนี้ โดยลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ลายมือของนายวิวรรธน์ แต่เป็นพินัยกรรมปลอม ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรม ฉบับลงวันที่ 21 ธ.ค.2548 ของนายวิวรรธน์เป็นพินัยกรรมปลอม เป็นโมฆะ
ขณะที่ จำเลยในคดีเดิมหรือโจทก์ในคดีนี้ ให้การว่า นายวิวรรธน์ ทำพินัยกรรมด้วยตนเองในขณะที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์รู้สำนึกในการกระทำ สามารถแสดงเจตนาตามความประสงค์ ความชราและความเจ็บป่วยไม่เป็นอุปสรรคในการทำพินัยกรรมของนายวิวรรธน์ พินัยกรรมที่จำเลยที่ 1 ในคดีนี้หรือโจทก์ในคดีเดิมนำมาฟ้องเป็นพินัยกรรมที่แท้จริงถูกต้องตามแบบและชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาในคดีเดิมวินิจฉัยฟังไม่ได้ว่า ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 21 ธ.ค.2548 เป็นของผู้ตาย การที่โจทก์ในคดีนี้ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเดิมกลับนำคดีมาฟ้องโจทก์ในคดีเดิมเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เรียกร้องเอามรดกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1003 ตำบลทุ่งวัดดอน อำเภอยานนาวา กรุงเทพฯ โดยนำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 21 ธ.ค.2548 มาอ้าง แม้พินัยกรรมในคดีนี้กับพินัยกรรมในคดีเดิมเป็นคนละฉบับกัน และโจทก์อ้างเหตุในคดีนี้ ว่า พินัยกรรมในคดีนี้ทำขึ้นก่อนพินัยกรรมในคดีเดิม ศาลฎีกาพิพากษาว่า พินัยกรรมในคดีเดิมเป็นโมฆะ ทำให้พินัยกรรมในคดีนี้มีผลบังคับอยู่ ซึ่งต่างกับคดีเดิมก็ตาม แต่พินัยกรรมในคดีนี้กับพินัยกรรมในคดีเดิมต่างลงวันที่วันเดียวกัน และในวันดังกล่าวผู้ตายมีเจตนาทำพินัยกรรมยกมรดกที่พิพากให้แก่โจทก์ในคดีนี้ หรือจำเลยในคดีเดิมจริงหรือไม่
ฉะนั้น ในการวินิจฉัยคดีนี้ จึงมีข้อต้องวินิจฉัยเบื้องแรกว่า มีพินัยกรรมของผู้ตาย ฉบับลงวันที่ 21 ธ.ค.2548 หรือไม่ คดีเดิมกับคดีนี้จึงมีประเด็นอย่างเดียวกันว่า ในระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ใครเป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกที่พิพาทของผู้ตาย เมื่อในคดีเดิมศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดวินิจฉัยว่า ไม่มีพินัยกรรมของผู้ตาย ฉบับลงวันที่ 21 ธ.ค.2548 ดังที่โจทก์อ้างแล้ว การที่โจทก์กลับนำคดีนี้มารื้อร้องฟ้องกันว่ามีพินัยกรรมฉบับใหม่ลงวันที่ 21 ธ.ค.2548 ดังกล่าวอีก โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ ก็คือคู่ความเดียวกันเช่นนี้ ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสี่ แล้วพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ขณะที่การยื่นฎีกาคดีนี้ในเวลาต่อมา ศาลฎีกา ระบุเหตุผลการมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ฎีกา ยกคำร้องขออนุญาตฎีกาและไม่รับฎีกาของโจทก์ ว่า ได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า ฎีกาของโจทก์ที่ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1442/2550 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ และคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสี่เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือไม่นั้น ไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง (1) (3) และ (5) จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ฎีกา ยกคำร้องขออนุญาตฎีกาและไม่รับฎีกาของโจทก์ และคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่โจทก์
นับเป็นจุดสิ้นสุดของคดี ที่นายศักดิ์ชัย ที่ยื่นฟ้องนายธีรวัต ณ ป้อมเพชร อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นางชวนพิศ วัชรสินธุ์, ม.ร.ว.นิวัตการ ณ ป้อมเพชร และนายพัชรพงศ์ ณ ป้อมเพชร เป็นจำเลยที่ 1-4 ในคดีมรดก พินัยกรรม กรณีที่ดินโฉนดเลขที่ 1003 เลขที่ 15 ถนนจันทร์ ต.ทุ่งวัดดอน อ.ยานนาวา กรุงเทพฯ รวมอาคารและสิ่งปลูกสร้าง เป็นทางการ
หลังจากต่อสู้คดีกันมาเป็นระยะเวลาเกือบปีเศษ!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/