ตามดูการทำงานอุปกรณ์ EM -ศูนย์ควบคุมการติดตามตัวฯ แบบ Real Time
คุณสมบัติของอุปกรณ์ EM นั้น เป็นระบบการรายงานผลแบบ Real Time ที่สามารถติดตามผู้กระทำผิด ที่ถูกคุมประพฤติ ทุกๆ 2 นาที อุปกรณ์นี้จะรายงานผลมาที่ศูนย์ควบคุมการติดตามตัวระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง
ประเทศไทยมีคดีความที่เข้าสู่กระบวนการศาลยุติธรรมประมาณ 650,000 คนต่อปี และมีคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติ 200,000 คนต่อปี
วิธีป้องกันการกระทำผิดซ้ำ หนึ่งในนั้นคือการใช้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring:EM)
ยิ่งเทศกาลปีใหม่ ในช่วง 7 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด เราจะได้ยินข่าวที่ศาลมีคำสั่งติดอุปกรณ์ EM ในคดีขับรถขณะเมาสุรา ซึ่งยอดล่าสุด ณ วันที่ 1 มกราคม 2562 มีจำนวน 66 รายแล้ว โดยประเดิมติดอุปกรณ์ EM กับผู้ถูกคุมความประพฤติในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุราตามคำพิพากษาของศาล จำนวน 7 รายด้วยกัน
โดยก่อนหน้านี้ กรมคุมประพฤติก็ได้มีการเตรียมความพร้อมดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล กรณีใช้อุปกรณ์ EM ในระบบงานคุมประพฤติ จำนวน 4,000 เครื่อง ทั้งหารือกับสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับการนำอุปกรณ์ EM มาใช้กับผู้กระทำผิด และความพร้อมในการใช้อุปกรณ์ EM
และนี่คือ คุณสมบัติ ประสิทธิภาพของอุปกรณ์ EM ในการติดตาม เฝ้าระวัง และตรวจสอบผู้กระทำผิด
คุณสมบัติของอุปกรณ์ EM นั้น เป็นระบบการรายงานผลแบบ Real Time ที่สามารถติดตามผู้กระทำผิด ที่ถูกคุมประพฤติ ทุกๆ 2 นาที อุปกรณ์นี้จะรายงานผลมาที่ศูนย์ควบคุมการติดตามตัวระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง
ตัวอุปกรณ์ EM สวมใส่ได้ค่อนข้างง่ายและรวดเร็ว โดยสลักของกรมคุมประพฤติจะมี Serial Number ทุกๆ สลัก ปลดเมื่อใดต้องทำลายทุกครั้ง
เมื่อผู้ถูกคุมประพฤติใส่อุปกรณ์ EM เจ้าหน้าที่จะใส่ข้อมูลเงื่อนไขคุมประพฤติ โดยการตั้งค่า กำหนดพื้นที่ กำหนดขอบเขต เช่น ห้ามเข้าพื้นที่หวงห้าม กำหนดได้ห้ามเข้าบ้านพัก หรือห้ามออกจากบ้านพักช่วงไหน วันไหนได้ และหลายช่วงเวลา หลายสถานที่ ห้ามใช้ความเร็วเกินกำหนด แม้กระทั่งเส้นทางก็สามารถกำหนดได้เช่นกัน
สำหรับการทำงานของอุปกรณ์ EM จะรับสัญญาณจากดาวเทียมเป็นหลัก และ Cell site จากเทเลคอม ก่อนประมวลผลเพื่อได้พิกัดที่ถูกต้องและแม่นยำ จากนั้นจะส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และส่งมายังเซิร์ฟเวอร์ของกรมคุมประพฤติ
ระบบจะเตือนเมื่อมีการตัดสาย หรือพยายามทำลายใช้แรงกระแทกอุปกรณ์ EM และหากพบว่า ผู้ถูกคุมประพฤติจงใจฝ่าฝืนเงื่อนไขหรือข้อปฏิบัติในการใช้อุปกรณ์ พนักงานคุมประพฤติจะรายงานศาลหรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งโดยเร็วเพื่อมีคำสั่งต่อไป ซึ่งอาจมีคำสั่งเพิกถอนการคุมประพฤติ และถูกกำหนดโทษ หรือลงโทษจำคุก ตามที่รอการลงโทษ หรือพักการลงโทษ
อุปกรณ์ EM ตัวล่าสุดจึงมีความทันสมัย มีหน้าจอที่สามารถส่งข้อความจากกรมคุมประพฤติถึงผู้ถูกคุมประพฤติได้โดยตรง จากค่ายมือถือ 3 ค่าย ทรู ดีแทค และเอไอเอส และสามารถทำงานได้ทั่วโลกด้วย
และไม่ว่าหลบหนีออกนอกประเทศ ก็สามารถติดตามได้
ขณะที่ศูนย์ควบคุมการติดตามตัวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถเห็นการทำงานของอุปกรณ์ EM ได้ทั่วประเทศ รวมถึงดูข้อมูลได้ทั้งระดับจังหวัด และระดับสำนักงานก็ได้ แต่สำหรับพนักงานคุมประพฤติ ซึ่งเป็นเจ้าของคดีสามารถล็อกอินเข้ามาดูได้เฉพาะผู้ถูกคุมประพฤติในจังหวัดของตัวเอง ดังนั้น จะเห็นว่า ตัวระบบเองมีความปลอดภัย กำหนดสิทธิการเข้าใช้งาน เจ้าหน้าที่แต่ละคนจะมีสิทธิเฉพาะที่กรมคุมประพฤติกำหนดไว้เท่านั้น
และในอนาคตศูนย์แห่งนี้จะนำ AI (artificial intelligence) มาใช้ติดตามพฤติกรรมผู้ถูกคุมประพฤติแบบอัตโนมัติด้วย...