โรลส์รอยซ์-ข้าวจีทูจี-โรงพัก-ฟอกเงินกรุงไทย! รวมสารพัดคดีฉาว-จับตาบทสรุปปี 62
สินบนโรลส์รอยซ์-ระบายข้าวจีทูจีล็อตสอง-โรงพักร้างทั่วประเทศ-ฟอกเงินแบงก์กรุงไทย! รวมสารพัดคดีทุจริตโด่งดังปี 61 บิ๊กนักการเมือง-ขรก. ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา-จำเลยเพียบ จับตาบทสรุปสุดท้ายปี 62
ในห้วงปี 2561 ที่ผ่านมา มีคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวน หรือสอบสวนข้อเท็จจริงของหน่วยงานรัฐ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวมถึงอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล จำนวนหลายคดีด้วยกัน
คดีต่าง ๆ เหล่านั้น มีชื่อของอดีตนักการเมืองระดับชาติ และอดีตข้าราชการระดับสูงเข้าไปพัวพันมีชื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหาจำนวนไม่น้อย บางรายยังคงมีบทบาทโลดแล่นอยู่ในทางการเมืองขณะนี้ด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ประมวลคดีที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต แต่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ดังนี้
(นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ, ขอบคุณภาพจาก สปริงนิวส์)
@คดีการจ่ายสินบนโรลส์-รอยซ์
คดีนี้โด่งดังขึ้น เมื่อช่วงปี 2560 ศาลสหราชอาณาจักร สั่งปรับบริษัท โรลส์-รอยซ์ (Rolls Royce) บริษัทเครื่องยนต์สัญชาติอังกฤษ 671 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) หลังจากถูกสำนักงานต่อต้านการทุจริตแห่งสหราชอาณาจักร (SFO) ตรวจสอบพบว่า สมรู้ร่วมคิดในการติดสินบนในไทย จีน อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และในจีเรีย โดยคำวินิจฉัย SFO ระบุว่า โรลส์-รอยซ์ ยอมจ่ายเงินประมาณ 1.3 พันล้านบาทให้นายหน้าในภูมิภาคโดยบางส่วนจ่ายแก่ผู้แทนประเทศไทย และพนักงานของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริษัท การบินไทยฯ จัดซื้อเครื่องยนต์ T800 ระหว่างปี 2534-2548 เพื่อให้บริษัท การบินไทยฯ จัดซื้อเครื่องยนต์ T800 จำนวน 3 ลอตจากโรลส์-รอยซ์
ต่อมาสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลมติคณะรัฐมนตรีทั้งที่มีการเผยแพร่สาธารณะ และมติที่เป็นความลับ เพื่อเทียบเคียงสำนวนของ SFO พบว่า บริษัท การบินไทยฯ จัดซื้อเครื่องยนต์ T800 เป็น 3 ช่วง แบ่งเป็น 3 รัฐบาล ได้แก่ ก้อนแรกปี 2534-2535 วงเงิน 18.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.) ก้อนที่สองปี 2535-2540 วงเงิน 10.38 ล้านเหรีญสหรัฐ (รอยต่อระหว่างรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ) และก้อนที่สามปี 2547-2548 วงเงิน 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร 1) ซึ่งข้อมูลที่สำนักข่าวอิศราสืบค้นจากมติคณะรัฐมนตรี และข้อมูลจากแหล่งข่าว รวมถึงเอกสารจากบอร์ดการบินไทยช่วงปี 2534-2548 พบว่า เป็นข้อมูลที่ตรงกัน โดยมีสาระสำคัญคือการจัดซื้อเครื่องบินเพิ่มเติม รวมถึงจัดซื้ออะไหล่เครื่องยนต์ T800 มาติดตั้งบนเครื่องบินดังกล่าว
หลังจากนั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ เฉพาะช่วงที่ 3 คือระหว่างปี 2547-2548 ส่วนช่วงที่ 1-2 ถูกระบุว่า หมดอายุความแล้ว โดยช่วงที่ 3 ปรากฏชื่อของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร 1 เป็นผู้ถูกกล่าวหาด้วย
ปัจจุบันนายสุริยะ เป็นแกนนำสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ ที่แปรสภาพมาจาก ‘กลุ่มสามมิตร’ โลดแล่นอยู่ในแวดวงการเมืองอยู่ ส่วนคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. โดยติดขัดปัญหาอยู่ที่ไม่สามารถขอสำนวนและหลักฐานทั้งหมดจากศาลสหราชอาณาจักร และ SFO ได้ เนื่องจากประเทศไทยยังมีโทษประหารในคดีที่เกี่ยวกับการทุจริต และจนถึงขณะนี้ ป.ป.ช. ไม่มีการแถลงความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีนี้แต่อย่างใด
(นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์, ขอบคุณภาพจาก ไทยโพสต์)
@คดีระบายข้าวจีทูจีล็อต 2
คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรียกได้ว่าเป็น ‘มหากาพย์’ คดีหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีการระบายข้าวแบบจีทูจีทั้งหมด 10 สัญญา แต่ ป.ป.ช. พบว่า มีอย่างน้อย 8 สัญญา ที่เกิดการทุจริตขึ้น พฤติการณ์โดยสรุปคือ ไม่มีการนำข้าวไปขายจีทูจีให้รัฐวิสาหกิจจีนจริง แต่นำข้าวดังกล่าวมาเวียนขายต่อภายในประเทศ ผ่านบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด
ป.ป.ช. แบ่งสำนวนการไต่สวนออกเป็น 2 ล็อต ล็อตแรกมีบทสรุปชี้มูลความผิดนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ รวมถึงอดีตข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ และบรรดาเครือข่ายบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง รวมอยู่ด้วย และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุกหนักกันระนาวไปแล้ว
ยังเหลืออีกสำนวนเรียกกันโดยทั่วไปว่า คดีระบายข้าวจีทูจีล็อต 2 ที่ปรากฏชื่อนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รวมถึงกลุ่มก๊วนบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด และนายอภิชาติ ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาอีกเช่นกัน โดยพบพฤติการณ์เช่นเดิมคือ ไม่มีการนำข้าวขายแก่รัฐวิสาหกิจจีน แต่นำข้าวมาเวียนขายต่อในประเทศ เบื้องต้นพบแคชเชียร์เช็คมูลค่าหลายพันล้านบาท ถูกสั่งจ่ายโดยเครือข่ายบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด
คดีนี้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองขึ้นมา ภายหลังเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เข้าไปสอบปากคำนายบุญทรงถึงในเรือนจำ ภายหลังศาลฎีกาฯพิพากษาติดคุกแล้ว โดยทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกมาปูดว่า ป.ป.ช. ต้องการขยายผลไปถึงผู้อยู่เบื้องหลังโครงการรับจำนำข้าว และระบายข้าวจีทูจี ทำให้ความเคลื่อนไหวของสังคมกลับมาสนใจคดีนี้อีกครั้ง บรรดานักการเมืองหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ทั้งด้านบวกและแง่ลบเป็นจำนวนมาก
ความคืบหน้าคดีนี้ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหลายครั้ง ยืนยันว่า กรณีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ไปสอบปากคำเพิ่มเติมจำเลยในเรือนจำถือเป็นเรื่องปกติ และปัจจุบันอยู่ระหว่างรอดูสำนวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า จะมีการแจ้งผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มเติมหรือไม่
(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ, ขอบคุณภาพข่าวจาก mthai)
@คดีโรงพักร้างทั่วประเทศ
คดีนี้เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี มีการกล่าวหาว่า การก่อสร้างสถานีตำรวจ (โรงพัก) ทดแทน 396 หลัง ทั่วประเทศ ใช้งบประมาณกว่า 5.8 พันล้านบาท มีการเปลี่ยนแปลงสัญญาเหลือเพียงสัญญาเดียว จากเดิมเป็นสัญญารายภาค เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางราย ทำให้การก่อสร้างไม่เสร็จหลายแห่ง และถูกปล่อยทิ้งร้างจนถึงปัจจุบัน
เบื้องต้นคดีนี้ดีเอสไอ เข้าไปสอบสวน และสรุปสำนวนส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา มีกรรมการ ป.ป.ช. 9 ราย เป็นองค์คณะไต่สวน และตั้งคณะทำงานขึ้นมาแสวงหาพยานหลักฐาน ตอนแรกมีการแบ่งผู้ถูกกล่าวหาเป็น 2 สำนวน ได้แก่
1.กล่าวหานายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว และ 2.กล่าวหา พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีต ผบ.ตร. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุพร พันธุ์เสือ อดีตผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง รวมถึงคณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่พักสถานีตำรวจทดแทน จำนวน 396 แห่ง ของตำรวจภูธรภาค 1-9 และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ด้วย ปัจจุบันมีการรวม 2 สำนวนดังกล่าวมาเป็นสำนวนเดียวแล้ว
คดีนี้ได้รับความสนใจจากสาธารณชนอีกครั้ง เมื่อปลายปี 2561 เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกมาระบุว่า เตรียมจะสรุปสำนวนคดีนี้ และนายสุเทพ ยังคงเป็นผู้ถูกกล่าวหาอยู่ ทำให้นายสุเทพออกมาไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมยกพยานหลักฐานต่าง ๆ มาชี้แจงแก่ประชาชน ยืนยันว่าไม่ได้ทำอะไรผิด การอนุมัติสัญญาดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายทุกอย่าง พร้อมเข้าชี้แจงแก่ ป.ป.ช. เป็นรอบที่ 3
ความคืบหน้าคดีนี้ มีกระแสข่าวว่าคณะทำงานฯสรุปพยานหลักฐานในสำนวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว และส่งให้องค์คณะไต่สวนพิจารณา อย่างไรก็ดีเมื่อปรากฏเป็นข่าว มีผู้ถูกกล่าวหาบางรายยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติม ทำให้ ป.ป.ช. ต้องขยายเวลาออกไป เพื่อแสวงหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมตามที่ถูกร้อง โดยคาดว่าจะมีการสรุปสำนวนอีกครั้งในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า
(นายพานทองแท้ ชินวัตร, ขอบคุณภาพข่าวจาก mthai)
@คดีฟอกเงินธนาคารกรุงไทย
คดีนี้สืบเนื่องมาจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก อดีตบอร์ดบริหารธนาคารกรุงไทย อดีตคณะกรรมการสินเชื่อ และพนักงานธนาคารกรุงไทย รวมถึงสั่งปรับกลุ่มเอกชนเครือกฤษดามหานครรวม 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มกฤษดามหานครดังกล่าว กระทำโดยทุจริต ส่วนนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 ศาลได้นำคดีกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง เนื่องจากตอนแรกยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ‘บิ๊กบอส’ หรือ ‘ซูเปอร์บอส’ หมายถึงนายทักษิณ
ต่อมามีการตรวจสอบพบว่า เส้นทางการเงินในคดีนี้บางจำนวน มีการโอนไหลไปถึงบุคคลหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มของนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ นางกาญจนภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร (อดีตภรรยานายทักษิณ) นายวันชัย หงส์เหิน สามีนางกาญจนา
โดยคำวินิจฉัยส่วนตนของนายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา (ขณะนั้น ปัจจุบันลาออกจากราชการ) ในฐานะเจ้าของสำนวน ระบุว่า มีเช็คจำนวน 26 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท ไหลถึงกลุ่มของนายพานทองแท้ อย่างไรก็ดีต่อมาในชั้นการสอบสวนของดีเอสไอ สรุปไม่สั่งฟ้องนายพานทองแท้กรณีเช็ค 26 ล้านบาท เหลือแค่กรณีเช็ค 10 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนนางกาญจนภา และนายวันชัย สั่งฟ้องกรณีเช็ค 10 ล้านบาท โดยนำตัวนายพานทองแท้ไปฟ้องต่อศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางแล้ว
ขณะที่นางกาญจนาภา และนายวันชัย หลบหนีไม่ยอมมารับฟังคำสั่งฟ้องของดีเอสไอ ทำให้ต้องออกหมายจับ มีการระบุว่า ทั้งคู่หลบหนีไปฮ่องกงตั้งแต่เดือน ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า นายพานทองแท้ อาจหลบหนีไปต่างประเทศด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีนายพานทองแท้ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กยืนยันว่า ไม่ได้หลบหนีคดีดังกล่าวแต่อย่างใด แต่ไม่ได้ระบุว่า ปัจจุบันยังอยู่ในไทยหรือไม่
นี่เป็นแค่ 4 คดีสำคัญ ๆ ที่สาธารณชนให้ความสนใจ และน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง แต่ยังเหลือคดีอื่น ๆ เช่น คดีเงินทอนวัด คดีการยักยอก และคดีฟอกเงินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. และดีเอสไอ รวมถึงบางสำนวนอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลอยู่เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีคดีของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ยังค้างอยู่ในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกอย่างน้อย 3 คดี ได้แก่ คดีการปล่อยกู้แบงก์กรุงไทยโดยมิชอบ คดีปล่อยกู้เมียนมา 4,000 ล้านบาท (Exim Bank) และคดีหวยบนดิน
ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวคดีสำคัญ ๆ ในรอบปี 2561 ที่ยังไม่จบ และต้องรอบทสรุปในช่วงปี 2562