ก.เกษตรฯ ดัน 9 ด้านพัฒนาเกษตรสู่แผน 11 เร่งทำ 9 จว.นำร่องจัดการน้ำ
ก.เกษตรฯ เตรียมยกร่างแผนพัฒนาเกษตร 9 ด้านสู่แผนพัฒนาประเทศฉบับ 11 เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-เสริมความเข้มแข็งเกษตรกร-เป็นมิตร สวล.-แข่งขันในตลาดโลก พร้อมปรับบทบาทกระทรวงฯใหม่ เร่งทำโครงการพัฒนาระบบจัดการน้ำนำร่อง 9 จว.ตะวันออก
ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เตรียมยกร่างแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) โดยได้ทำประชาพิจารณ์ระดมความคิดทิศทางพัฒนาผ่านยุทธศาสตร์เป็นกรอบการทำงาน 5 ปี
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ผลสรุปเบื้องต้น 9 ด้าน คือ 1.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 2.เสริมสร้างความเข้มแข็งเกษตรกร เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร 3.ส่งเสริมการเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้เกษตรกรในระดับครัวเรือน 4.ส่งเสริมการทำการเกษตรในรูปแบบการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 5.สร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน โดยให้การศึกษาส่งเสริมความรู้ตั้งแต่เรื่องอาหารถึงกระบวนการผลิต
6.เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภาคเกษตร โดยนำภูมิปัญญาผนวกกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและเทคโนโลยี สร้างมูลค่าเป็นสินค้าที่มีประสิทธิภาพมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว 7.เศรษฐกิจการเกษตรสีเขียว ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยการดำเนินนโยบายและกำหนดวิธีปฏิบัติการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน 8.ความร่วมมือและข้อตกลงระหว่างประเทศ ติดตามกระแสการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับตัวและกำหนดมาตรการรองรับให้ภาคธุรกิจและภาคเกษตรภายในประเทศเข้มแข็งสามารถแข่งขันได้ และ 9.พัฒนาบทบาทการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ ตั้งแต่บุคลากร กระบวนการทำงาน และโครงสร้างหน่วยงานให้บูรณาการ เข้มแข็งสอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค
“มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเร่งวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลร่วมกับสถานการณ์ภาคเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯเดิม ประกอบการยกร่างแผนให้ตรงกับความต้องการของทุกภาคส่วน และเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรและคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป”
นอกจากนี้ นายธีระ ยังเปิดเผยถึงโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อเร่งลงทุนพัฒนาระบบจัดการน้ำและชลประทานให้เกิดผลกระตุ้นเศรษฐกิจว่า โครงการดังกล่าวเน้นการจัดหาแหล่งน้ำให้ทั่วถึงและเพียงพอ, เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการผลิตและเหมาะสมกับชนิดพืช รวมถึงขยายระบบกระจายน้ำในพื้นที่ชลประทานให้เกิดประโยชน์เต็มศักยภาพ
รมว.เกษตรฯ กล่าวต่อไปว่า ได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการฯ มีปลัดกระทรวงเป็นประธาน ทำงานเชิงบูรณาการหน่วยงานในสังกัดกับทุกภาคส่วน โดยคำนึงถึงศักยภาพในพื้นที่, ความต้องการของชุมชนและเกษตรกรโดยใช้พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นศูนย์กลางเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต การเพิ่มมูลค่า การตลาด และการบริหารจัดการอย่างมีเอกภาพ โดยมีคณะอนุกรรมการบูรณาการแผนปฏิบัติการพัฒนาด้านการเกษตรระดับจังหวัดเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน
ทั้งนี้แผนดังกล่าวประกอบด้วย 1.คัดเลือกสำรวจข้อมูลพื้นที่เป้าหมายที่เหมาะสมทั้งเชิงโครงสร้างและรายสินค้า อย่างน้อยจังหวัดละ 1 พื้นที่โครงการ โดยสำรวจครัวเรือนและจัดเก็บข้อมูลเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย 2.จัดทำเวทีประชาคมเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชน สรุปแผนงาน โครงการ กิจกรรม และงบประมาณให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและสินค้าที่มีศักยภาพทางการตลาด 3.นำแผนบูรณาการสู่การปฏิบัติในพื้นที่ เน้นการสื่อสารการปฏิบัติงานตามแผนงานบูรณาการทุกระดับเพื่อเชื่อมโยงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 4.ติดตามประเมินผลและรายงานแผนบูรณาการ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯจะเป็นผู้รายงานต่อผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ที่รับผิดชอบพื้นที่ และปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นรายเดือน
นายธีระ กล่าวอีกว่า มอบหมายให้แต่ละจังหวัดทำแผนเบื้องต้นส่งมายังกระทรวงฯ ภายใน 20 ส.ค.นี้ รวมทั้งจัดทำคู่มือแผนบูรณาการพัฒนาการเกษตรภายใต้พื้นที่โครงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรระดับจังหวัด เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติโดยเร็ว และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2554 อย่างไรก็ตามปีนี้จะเริ่มดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 9 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, นครนายก, สมุทรปราการ, ระยอง, ชลบุรี, จันทบุรี และตราด.