วิบากกรรมนักการเมืองดัง โดนโทษคุกจริง 'สุรพงษ์-ชูวิทย์'-เกษม'-ปี 62 ใครจะเป็นรายต่อไป?
"...นายปรีชา ศรีเจริญ ทนายความของนายสุรพงษ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า นายสุรพงษ์ได้ขอยื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์มูลค่า 5 ล้านบาท และศาลก็อนุญาตให้ประกันตัวได้โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามนายสุรพงษ์ออกนอกประเทศ ส่วนเรื่องการอุทธรณ์คดีที่มีระยะเวลา 30 วันตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 60 นั้น ตนก็จะยื่นอุทธรณ์ด้วยคำร้องว่าที่มาของ ป.ป.ช.ที่ดำเนินการสั่งฟ้องนายสุรพงษ์ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นยังมีความกำกวมอยู่ผลการยื่นอุทธรณ์และบทสรุปคดีของนายสุรพงษ์ เป็นอย่างไร คงต้องจับตาดูกันต่อไป..."
ในรอบปี 2561 ที่ผ่านมา มีนักการเมืองชื่อดัง ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นหลายรายที่ ถูกศาลพิพากษาตัดสินโทษ 'จำคุก' จากการฟ้องร้องคดีความทั้งในส่วนการซุกบัญชีทรัพย์สิน และการบริหารงานโครงการต่างๆ
นักการเมืองชื่อดังรายไหนบ้าง? ที่ต้องเผชิญวิบากกรรม จากผลกรรมการกระทำความผิดของตนเอง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมข้อมูลมานำเสนอ ณ ที่นี้อีกครั้ง
@จำคุก เกษม นิมลรัตน์ หลังชี้แจงศาลปมทรัพย์สินเพิ่มขึ้นไม่ได้
เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2561 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายเกษม นิมมลรัตน์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ เป็นจำเลย คดีร่ำรวยผิดปกติ 21 ล้านบาท กรณีดำรงตำแหน่งรองนายก อบจ.เชียงใหม่ สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยชี้มูลความผิดไปเมื่อปี 2560 (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ฟันซ้ำ!‘เกษม’รวยผิดปกติ 21 ล.ที่ดิน 2 แปลง-หุ้น ส่งศาลฎีกาฯยึดทรัพย์)
ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา ให้ยึดทรัพย์ นายเกษม นิมมลรัตน์ เป็นจำนวนเงิน 21 ล้านบาท ได้แก่ 1. ที่ดินที่อยู่ในชื่อของนายเกษม นิมมลรัตน์ จำนวน 2 แปลง มูลค่าขณะได้มา 11,865,000 บาท ได้แก่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 11777 ตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 3 งาน 96.4 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 11783 ตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 3 งาน 95 ตารางวา และ 2. เงินลงทุนในการซื้อหุ้นบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ASCON) ที่อยู่ในชื่อของ นางดวงสุดา นิมมลรัตน์ (คู่สมรส) จำนวน 61,838,310 หุ้น มูลค่าขณะได้มาหุ้นละ 0.15 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 9,275,746 บาท ตามที่ ป.ป.ช. ชึ้มูลความผิดในคดีร่ำรวยผิดปกติ
ศาลเห็นว่า ที่ดินของนายเกษมที่เพิ่มขึ้น 2 แปลงดังกล่าว ในระหว่างการดำรงตำแหน่งรองนายก อบจ.เชียงใหม่ เป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานใดที่จะเชื่อมโยงได้ว่า มีการเบิกถอนเงินจากบัญชีธนาคารของนายเกษม และนางดวงสุดา แล้วนำมาชำระราคาที่ดิน การชำระเงินค่าซื้อที่ดินทั้งสองแปลง จึงไม่ปรากฏเส้นทางการเงินจากนายเกษม และนางดวงสุดา ที่ดินทั้ง 2 แปลงดังกล่าว จึงเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติในระหว่างนายเกษมดำรงตำแหน่งรองนายก อบจ.เชียงใหม่
ส่วนเงินลงทุนในการซื้อหุ้นบริษัท แอสคอนฯ ที่อยู่ในชื่อนางดวงสุดานั้น จำนวน 61,838,310 หุ้น มูลค่าขณะได้มาหุ้น 0.15 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 9,275,746 บาท เป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ เนื่องจากนำเงินที่หมุนเวียนจากการซื้อขายหุ้นบริษัท วินโคสท์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด (มหาชน) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยคำวินิจฉัยแล้วว่า หุ้นบริษัท วินโคสท์ฯของนางดวงสุดานั้น เป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ จึงเป็นกรณีที่นำทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติไปแปรเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่น หรือจากการซ์้อหุ้นอื่น มีผลให้หุ้นดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติในระหว่างนายเกษมดำรงตำแหน่งรองนายก อบจ.เชียงใหม่ เช่นเดียวกัน
สำหรับคดีนี้ ในช่วงปี 2560 นายเกษม ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่าร่ำรวยผิดปกติ 21 ล้านบาท โดยเป็นการขยายผลสืบเนื่องจากเมื่อปี 2559 นายเกษมเคยถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่า จงใจแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ โดยแจ้งในส่วนของหนี้สินเท็จกว่า 72 ล้านบาท และร่ำรวยผิดปกติ วงเงินกว่า 168 ล้านบาท โดยคดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้จำคุกนายเกษม 1 ปี ไม่รอลงอาญา และยึดทรัพย์สินให้ตกเป็นของแผ่นดินกว่า 168 ล้านบาท (อ่านประกอบ : คุกจริง 1 ปี! 'เกษม' จงใจแจ้งบัญชีเท็จ-ยึดทรัพย์รวยผิดปกติ 168 ล.)
ส่วนทรัพย์สินที่ลอยมาอยู่ในชื่อนายเกษม และคู่สมรส แท้จริงแล้วเป็นของใครนั้น ยังไม่มีใครยืนยันได้ชัดเจน ณ ขณะนี้
@ ‘สุรพงษ์’ ไม่รอด โดนคุก 2 ปี ปมออกหนังสือเดินทางให้ ‘ทักษิณ’โดยมิชอบ
หลังคดีนายเกษมผ่านไป ไม่กี่วันต่อมา ก็มีการพิจารณาคดีครั้งใหญ่ กับนักการเมืองขั้วพรรคเพื่อไทยเช่นกัน
โดยเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2561 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำพิพากษา คดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ ในคดีคืนหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเป็นผลสืบเนื่องจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157 กรณีออกหนังสือเดินทางให้กับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกศาลสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ และถูกออกหมายจับในคดีก่อการร้าย และคดีอื่น ๆ ซึ่งขัดต่อระเบียบข้อบังคับกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ข้อ 21 (2) (3) และ (4) นอกจากนี้กรณีดังกล่าว ป.ป.ช. ได้ส่งเรื่องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการถอดถอน โดย สนช. มีมติเสียงข้างมากถอดถอน 231 เสียง ไม่ถอดถอน 4 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง จากทั้งหมด 238 เสียง
และต่อมาศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาให้จำคุกนายสุรพงษ์ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากนายสุรพงษ์ได้ออกหนังสือเดินทางให้กับนายทักษิณด้วยพฤติการณ์ปกปิดซ่อนเร้น ตั้งแต่ชั้นรับคำร้องจนไปถึงขั้นตอนการปลดรายชื่อนายทักษิณออกจากบัญชีรายชื่อที่ต้องตรวจสอบก่อนออกหนังสือเดินทาง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 ข้อ 21 โดยอ้างนโยบายของรัฐบาลที่ไม่มีอยู่จริง และคณะรัฐมนตรีไม่ได้เข้ามารู้เห็นเรื่องนี้ ทั้งยังอ้างระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง ข้อ 23/7 เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และหลบหนีหมายจับให้ในคดีข้อหาความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศสามารถเดินทางในต่างประเทศได้โดยสะดวก และรัฐบาลไทยไม่อาจขอให้รัฐบาลประเทศนั้นส่งผู้ร้ายข้ามแดนอันเนื่องมาจากไม่มีหนังสือเดินทางได้
ส่วนกรณีที่จำเลยยื่นคำร้อง โดยการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ได้แก่ กฎหมาย ป.ป.ช. , พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส, และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการไต่สวนคดี และสถานะของกรรมการ ป.ป.ช. คณะผู้พิพากษาลงความเห็นให้ยกคำร้อง เนื่องจากไม่ขัดต่อกฎหมายตามที่จำเลยกล่าวอ้าง
ทั้งนี้ นายปรีชา ศรีเจริญ ทนายความของนายสุรพงษ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า นายสุรพงษ์ได้ขอยื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์มูลค่า 5 ล้านบาท และศาลก็อนุญาตให้ประกันตัวได้โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามนายสุรพงษ์ออกนอกประเทศ ส่วนเรื่องการอุทธรณ์คดีที่มีระยะเวลา 30 วันตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 60นั้น ตนก็จะยื่นอุทธรณ์ด้วยคำร้องว่าที่มาของ ป.ป.ช.ที่ดำเนินการสั่งฟ้องนายสุรพงษ์ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นยังมีความกำกวมอยู่ (อ่านประกอบ:ศาลฎีกาฯสั่งคุกจริง2ปี!'สุรพงษ์'คืนพาสปอร์ต 'ทักษิณ' -ให้ประกันตัว 5 ล. ห้ามออกนอกปท.)
ผลการยื่นอุทธรณ์คดีของนายสุรพงษ์ เป็นอย่างไร ต้องจับตาดูกันต่อไป
@จำคุกชูวิทย์ 1 เดือน ซ่อนบัญชีทรัพย์สินภัตตาคาร ‘ซินกี่’
จากนั้น เพียงแค่ 3 วันถัดมา ก็เกิดกรณีจำคุกนักการเมืองระดับประเทศอีกครั้งหนึ่ง
โดยเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2561 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดพิจารณาคดีดำที่ อม 26/2561 ระหว่าง คณะกรรมการ ป.ป.ช. โจทก์ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ จำเลย ในฐานความผิดการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ โดยการอ่านคำพิพากษาเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 13.00 น. ซึ่งผลการพิจารณาคดีนั้น นายชูวิทย์ได้ให้การรับสารภาพในชั้นศาลยอมรับว่าได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จจริง ในตอนพ้นจากตำแหน่งครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 ในส่วนของหุ้นภัตตาคารอาหารเซ็งกี่มูลค่า 150,000 บาท เนื่องจากเข้าใจว่าได้โอนหุ้นดังกล่าวให้กับบุคคลอื่นแล้ว อีกทั้งเป็นหุ้นที่มีมูลค่าไม่มากเมื่อเทียบกับทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ตนมีเยอะมากเป็นจำนวน 500 ล้านบาท จึงไม่ต้องยื่นรายการบัญชีทรัพย์สิน ตนจึงขอแถลงการประกอบเพื่อให้ศาลพิจารณาโทษด้วย
ศาลฎีกาฯจึงพิเคราะห์คำร้องเอกสารประกอบคำฟ้องและคำให้การผู้ถูกกล่าวแล้ว เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อปี 2554 พ้นจากตำแหน่งปี 2556 ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะแก่ ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน นับจากวันเข้ารับตำแหน่ง, วันที่พ้นตำแหน่ง และวันที่พ้นตำแหน่งมาแล้ว 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 32, 33 ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาเคยยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในการดำรงตำแหน่ง ส.ส. ครั้งที่ 1 และ 2 มาแล้ว ย่อมทราบดีว่าผู้ถูกกล่าวหามีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินฯ ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
แต่ผู้ถูกกล่าวหายื่นรายการแสดงทรัพย์สิน โดยไม่แสดงรายการเงินลงทุนกับภัตตาคารซินกี่ มูลค่า 150,000 บาท โดยชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ว่า ได้โอนหุ้นให้พนักงานสถานประกอบการไฮคลาส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ 2 ราย ไปก่อนกำหนดการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งขัดกับคำให้การของพนักงานสถานประกอบการไฮคลาสฯ ทั้ง 2 รายต่ออนุกรรมการไต่สวนว่า พยานเป็นเพียงพนักงานของสถานประกอบการไฮคลาสฯ และมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหาเพื่อยื่นเรื่องขอใบอนุญาตสถานประกอบการเท่านั้น แต่ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริง
พฤติการณ์จึงเชื่อว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ถือหุ้นของภัตตาคารที่ร่วมลงทุน แต่มีเจตนาไม่แสดงรายการทรัพย์สินดังกล่าว ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีหน้าที่ยื่นบัญชีรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อใช้ตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ จึงฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ครั้งที่ 2
ศาลฎีกาฯ พิพากษาว่า จำเลยจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิด ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ห้ามจำเลยดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2556 ที่พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ครั้งที่ 2 และให้จำคุก 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 1 เดือน จำเลยเคยรับโทษจำคุกเกิน 6 เดือน ไม่ใช่คดีหมิ่นประมาทหรือลหุโทษ และพ้นโทษมาไม่เกิน 5 ปี จึงไม่อาจรอการลงโทษได้ (อ่านประกอบ:คำพิพากษาฉบับเต็ม!คดีจำคุก‘ชูวิทย์’ ที่แท้ซุกหุ้น‘ภัตตาคารซินกี่’ ใช้ลูกน้อง‘นอมินี’)
@ศาลฟัน 'สุพจน์' หลัง ปปช.ชี้มูลปมร่ำรวยผิดปกติโครงการถนนไร้ฝุ่น
และอีกกรณีหนึ่งที่ต้องพูดถึงด้วยก็คือกรณีการจำคุกนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม เพราะนายสุพจน์แม้จะไม่ใช่นักการเมือง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนร่วมในโครงการทางการเมืองระดับสำคัญ ในโครงการถนนไร้ฝุ่นซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคภูมิใจไทย โดยช่วงเวลาที่นายโสภณได้เป็นปลัดกระทรวง ก็มีรัฐมนตรีกระทรวมคมนาคมคือ นายโสภณ สารัมณ์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตั้งแต่ 20 ธ.ค.2551 – 9 ส.ค. 2554 และโครงการเริ่มต้นเมื่อปี 2553
โดยเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2561 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์คดีนี้ โดยพิพากษายืนจำคุก 10 เดือน ไม่รอลงอาญา นายสุพจน์ กรณีจงใจปกปิดทรัพย์สินช่วงดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม (ปี 2552-2554) และกรรมการรัฐวิสาหกิจ 3 ตำแหน่ง เป็นเงินสด 17,553,000 บาท (เงินที่ได้จากการถูกปล้นบ้าน) และรถโฟล์คสวาเกน 1 คัน มูลค่า 3 ล้านบาท หลังจากช่วงปี 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 10 เดือนคดีดังกล่าวไปแล้ว แต่นายสุพจน์อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา (อ่านประกอบ : อุทธรณ์พิพากษายืนคุก 10 เดือน ไม่รอลงอาญา อดีตปลัด‘สุพจน์’จงใจปกปิดทรัพย์สิน)
กรณีนี้สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ร้องให้ศาลวินิจฉัย หลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูความผิดนายสุพจน์ คดีจงใจปกปิดทรัพย์สิน เป็นเงินสด 17,553,000 บาท และรถโฟล์คสวาเกน 1 คัน มูลค่า 3 ล้านบาท รวมวงเงินประมาณ 20 ล้านบาท
กรณีนี้สืบเนื่องจากที่มีคนร้ายบุกปล้นบ้านนายสุพจน์ ในซอยลาดพร้าว 64 เมื่อค่ำวันที่ 12 พ.ย. 2554 โดยผู้ร่วมทำผิดทางอาญาได้ให้การว่า พบเงินสดในบ้านของนายสุพจน์ประมาณ 500 ล้านบาท โดยนายสุพจน์ไม่สามารถชี้แจงที่มาที่ไปของเงินประมาณ 17 ล้านบาทเศษ และรถโฟล์คสวาเกนคันดังกล่าวได้
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ 9 ราย พิจารณาแล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายสุพจน์ไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินทั้ง 2 รายการ ระหว่างดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ทั้งที่ควรต้องเป็นตัวอย่างที่ดี แต่กระทำผิดเสียเอง จึงนับว่าเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง แม้นายสุพจน์ไม่เคยกระทำผิดมาก่อน และเคยประกอบคุณงามความดีปฏิบัติหน้าที่ราชการจนได้ตำแหน่งระดับสูง ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอให้รอการลงโทษ อุทธรณ์ของนายสุพจน์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนจำคุก 10 เดือน และห้ามดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐ 5 ปี และให้คืนหลักประกัน 2 ล้านบาท (อ่านประกอบ:ร่ำไห้กลางศาล!ละเอียดคำพิพากษาคุกจริง 10 เดือน ‘สุพจน์’ ปกปิดทรัพย์สิน)
ทั้งหมดนี้ คือ บทสรุปคดีฟ้องร้องการกระทำความผิดของนักการเมืองดัง รวมไปถึงผู้ใกล้ชิด ที่ถูกศาลพิพากษ์สั่งลงโทษจำคุกจริง ในช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา
แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีกรณีของนักการเมืองซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล และกำลังจ่อคิวรอผลการพิจารณาคดีในชั้นศาลอีกหลายราย ได้แก่
@ ป.ป.ช.ฟัน 'สุรทิน' ปมบัญบัญชีทรัพย์สิน ล่าสุด พบเป็นแคนดิเดต ส.ส.อุดรฯ
เมื่อช่วงวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลคดีการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมฆินทร์ อดีต ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย ศาลสุดศาลฎีกาฯ รับเป็นคดีหมายเลขดำที่ อม.92/2562 นัดพิจารณาครั้งแรกหรือนัดฟังคำพิพากษา วันที่ 1 พ.ย.2561
ประวัติ พ.ต.ท.สุรทิน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.อุดรธานี สังกัดพรรคความหวังใหม่ ปี 2539 ต่อมาถูกทางการประเทศลาวจับกุมและคุมขังในเรือนจำโพนต้อง นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ในข้อหาเป็นจารชนของฝ่ายรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2543 ออกจากเรือนจำเมื่อเดือนธันวาคม 2545 ต่อมา ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2550 พรรคพลังประชาชน และ เป็น ส.ส.สมัยที่สาม ในปี 2554 สังกัดพรรคเพื่อไทย ในปี 2555 พ.ต.ท. สุรทิน ส่งบุตรสาวสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี แข่งขันกับนายวิเชียร ขาวขำ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย พ.ต.ท. สุรทิน มีบทบาทเป็นแกนนำในกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) (ข้อมูลจากวิกีพีเดีย)
ทั้งนี้ พ.ต.ท.สุรทิน ยื่น ป.ป.ช. ระบุครั้งล่าสุดมีทรัพย์สินทั้งสิ้น 30,132,982 บาท เป็นเงินสด 3.5 แสนบาท เงินฝาก 82,982 บาท ที่ดิน 12.5 ล้านบาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 16 ล้านบาท ยานพาหนะ 1.2 ล้านบาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 41.9 ล้านบาท เป็นเงินกู้จากธนาคาร 5 ล้านบาท จำนองที่ดิน 4 แปลง 10.9 ล้านบาท (ช่วงปี 2557) และเป็นหนี้นางบุญญาพร นาตะธนะภัทร์ 29 ล้านบาท (ช่วง ก.พ. 2558) (อ่านประกอบ:ป.ป.ช.ฟัน 'สุรทิน' อดีต ส.ส.อุดรฯ คดีบัญชีทรัพย์สิน-แจ้ง 30.1 ล. หนี้ 41.9 ล.)
แต่อย่างไรก็ตาม ในการลงพื้นที่ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการประกาศรายชื่อของผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ส. ก็พบว่ามีชื่อของ พ.ต.ท.สุรทิน ลงเลือกตั้งในเขต 4 จ.อุดรธานี
ในขณะนี้สังคมกำลังรอความชัดเจนว่าการพิพากษา พ.ต.ท.สุรทินจะเป็นอย่างไรต่อไป
@ ป.ป.ช.ฟัน ‘นวพล บุญญามณี’ ส่อทุจริตปมซื้อกุ้งก้ามกราม
นอกจากนี้ ยังมีกรณีกล่าวหานายนวพล บุญญามณี น้องชายนายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ส่อทุจริตปมซื้อกุ้งก้ามกราม
โดยเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2561 นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดสงขลา กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหานายนวพล บุญญามณี น้องชายนายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อครั้งนายนวพลดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กับพวก กรณีสมยอมกันในการเสนอราคาตามโครงการจัดซื้อพันธุ์สัตว์น้ำ (กุ้งก้ามกราม) จำนวน 40 ล้านตัว งบประมาณ 10,000,000 บาท โดยเอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคาบางรายให้มีสิทธิทำสัญญา
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติเอกฉันท์ ว่า 1. นายนวพล บุญญามณี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ผู้ถูกกล่าวที่ 1 มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 และมีมูลเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 79
นอกจากนี้ ในกรณีของนายนวพล บุญญามณี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นั้น ให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันนายนวพล บุญญามณี ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 18 ปี 24 เดือน ในคดีนำรถยนต์ราชการไปจำนำที่บ่อนการพนัน
อย่างไรก็ตามในกรณีดังกล่าวนั้นทางนายนิพนธ์ได้ปฏิเสธไปแล้วว่าไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับงานของน้องชายแต่อย่างใด (อ่านประกอบ:ป.ป.ช.เชือด‘นวพล บุญญามณี-พวก’ ปมซื้อพันธุ์กุ้ง 10 ล.เอื้อประโยชน์เอกชน)
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลคผลสรุปคดีฟ้องร้องการกระทำความผิดของนักการเมืองดังทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นหลายรายที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2561 ที่หลายคนถูกตัดสิน จำคุก จริงไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีคดีค้างที่เกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกรายราย ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ตรวจสอบ หรืออยู่ในขั้นตอนการต่อสู้คดีในชั้นศาล ต้องรอดูกันว่าในปี 2562 ประเด็นเหล่านี้จะมีบทสรุปความชัดเจนหรือไม่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/