อีกครั้งกับม็อบนักศึกษา...อีกครั้งกับปัญหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
การกระทบกระทั่งกันระหว่างกลุ่มนักศึกษาชายแดนใต้ที่อธิบายว่ารวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม กับหน่วยงานความมั่นคงที่อ้างภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ยังคงปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นระยะจากปัญหาการใช้กฎหมายพิเศษ จนกลายเป็นความไม่เข้าใจและหวาดระแวงระหว่างกันตลอดระยะเวลาร่วม 1 ทศวรรษที่ไฟใต้คุโชน
4 มิ.ย.2555 นักศึกษามหาวิทยาลัยราชฏักยะลาทั้งหญิงและชายราว 200 คน รวมตัวชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมและยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กับ พ.ท.พิเชษฐ ติเดโช ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา 11 สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 31 พ.ค.2555 กำลังทหารหน่วยเฉพาะกิจยะลา 11 ได้เข้าปิดล้อมจับกุมนักศึกษาที่บ้านเลขที่ 81/11 ซอยศรีปุตรา บ้านตลาดเก่า ต.สะเตง อ.เมืองยะลา
ข้อมูลจากกลุ่มนักศึกษาระบุว่า บ้านหลังดังกล่าวเป็นที่ตั้งของศูนย์ประสานงานเยาวชนนักศึกษาประจำจังหวัดยะลา
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้เชิญผู้ที่อยู่ในบ้านไป 3 คน คือ นายสือกรี เต๊ะ เลขาธิการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา นายอิลยัส สะมะแอ นักศึกษาชั้นปีที่4 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และ นายนุรมาน ดอเลาะ พนักงานของสหกรณ์อิบนูอัลฟาน สาขายะลา
แม้ต่อมาฝ่ายทหารจะยอมปล่อยสองนักศึกษา แต่สำหรับนายนุรมานยังคงถูกควบคุมตัว...
ข้อมูลจากทางฝั่งนักศึกษายังระบุด้วยว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่มีลักษณะไม่ให้เกียรติ มีการรื้อค้นเอกสารการทำกิจกรรมนักศึกษา เหมือนกับว่านักศึกษาเป็นผู้ร้าย
ข้อเท็จจริงจากฝ่ายทหาร
พ.ท.พิเชษฐ ติเดโช ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา 11 กล่าวว่า การที่กลุ่มนักศึกษาเดินทางมาเรียกร้องความเป็นธรรมถือว่าเป็นสิทธิ แต่อยากชี้แจงว่าช่วงที่มีการจับกุม เป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่กำลังเฝ้าระวังป้องกันเป็นพิเศษ เพราะอยู่ในช่วงที่ทางจังหวัดจัดงานสมโภชหลักเมือง ทั้งยังมีข่าวคนร้ายลอบวางระเบิด จึงทำให้หน่วยต้องสกรีนคนมากพิเศษ
"เรามีหลักฐานว่า นายนุรมาน ดอเลาะ เป็นผู้ต้องสงสัยคดีลอบวางระเบิดร้านคาราโอเกะเมื่อหลายปีที่ผ่านมา และอาศัยอยู่ในหอพักที่เราไปตรวจค้น เราจึงเข้าปิดล้อม และจำเป็นต้องเชิญตัวผู้ที่อาศัยอยู่ในหอพักแห่งนั้นทั้งหมดมาสอบสวน จากนั้นก็ได้ปล่อยตัวนักศึกษา 2 คนเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียง 1 คนซึ่งไม่ใช่นักศึกษาและเป็นผู้ต้องสงสัยเท่านั้น" ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา 11 กล่าว
พ.ท.พิเชษฐ ยังบอกด้วยว่า การที่กลุ่มนักศึกษาอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติการเกินกว่าเหตุนั้น ขออธิบายว่าเรามีกฎหมายคุ้มครองการเข้าปิดล้อมตรวจค้นโดยชอบ และอยากให้เข้าใจว่าการเข้าตรวจค้นแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่เองก็ต้องระวังตัว เพราะไม่ทราบว่าคนที่อยู่ในบ้านหรือในหอพักมีอาวุธหรือไม่
เปิดใจนักศึกษาถูกคุมตัว
นายสือกรี เต๊ะ เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดยะลา กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ถึงเหตุการณ์ที่เขาและเพื่อนถูกตรวจค้นจับกุม พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษอย่างพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นปัญหาทางความรู้สึกของคนในพื้นที่มาตลอด
"คืนนั้นเวลาประมาณ 2 ทุ่ม มีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบฝ่ายจำนวน 10 กว่านาย แต่งกายนอกเครื่องแบบ มาขอตรวจค้นตามหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังเชิญตัวพวกเรา 3 คนไปขึ้นรถ โดยไม่ได้แจ้งว่าจะพาไปไหน แต่เมื่อลงจากรถจึงทราบว่าไปที่หน่วยเฉพาะกิจยะลา 11"
"จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จับแยกพวกเรา และพาไปสอบปากคำ โดยเจ้าหน้าที่ได้เก็บข้อมูลประวัติส่วนตัว และสอบถามแต่เรื่องความมั่นคง เจ้าหน้าที่ที่ซักถามใช้คำพูดไม่สุภาพ แสดงกิริยาท่าทางเหมือนกับว่าเราเป็นผู้ต้องหา เมื่อสอบสวนเสร็จประมาณตี 1 ก็ให้พัก พอช่วงเช้าก็มีเจ้าหน้าที่ชุดนิติวิทยาศาสตร์น่าจะเป็นของทหาร มาเก็บดีเอ็นเอ (สารพันธุกรรม) ของพวกเราไว้เป็นหลักฐานด้วย"
สือกรี บอกว่า กระทั่งช่วงบ่ายของวันรุ่งขึ้น พวกเขา 2 คนที่เป็นนักศึกษาจึงได้รับการปล่อยตัว ส่วนนายนุรมานถูกพาไปคุมตัวที่ฐานทหารอีกแห่งหนึ่ง
"ตอนบ่ายอีกวันหนึ่ง ทหารมาบอกให้ขึ้นรถโดยไม่ได้บอกว่าจะพาไปไหนอีกเหมือนเคย ซึ่งผมกับอิลยัส สะมะแอ ที่เป็นนักศึกษาได้นั่งรถคันเดียวกัน ส่วนนุรมาน ดอเลาะ นั่งรถอีกคันหนึ่ง ช่วงนั้นคิดในใจว่าเจ้าหน้าที่คงพาพวกเรากลับไปส่งที่บ้าน แต่เมื่อรถแล่นงสะพานข้างทางรถไฟ รถของผมกับเพื่อนขับเข้าเมือง แต่รถคันของนุรมานไม่ได้ขับตามมา รู้อีกครั้งว่าเจ้าหน้าที่นำตัวนุรมานไปควบคุมต่อที่ค่ายทหารพราน 41 (กรมทหารพรานที่ 41) ค่ายวังพญา (อ.รามัน จ.ยะลา)"
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตัวปัญหา
ในมุมมองของ สือกรี เขาเห็นว่าการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ เป็นต้นตอของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำให้ปัญหาบานปลาย
"การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง คนบริสุทธิ์ทุกคนมีสิทธิโดนจับ หากเจ้าหน้าที่สังสัยเมื่อไหร่ก็จับได้ทันทีเพราะมีกฎหมายพิเศษเป็นเครื่องมือ จากประสบการณ์ของผมอยากเสนอว่าเมื่อฝ่ายความมั่นคงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแล้วสถานการณ์ความไม่สงบยังไม่ยุติ ทำไมจึงไม่ลองกลับไปใช้กฎหมายปกติเหมือนพื้นที่อื่นๆ บ้าง อาจจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นก็ได้ เพราะการร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิน่าจะลดน้อยลง"
"แต่หากจำเป็นต้องใช้จริงๆ รัฐควรพิจารณาให้รอบคอบกว่านี้ และต้องชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติเข้าใจความรู้สึกของมวลชนด้วย เพราะอย่าลืมว่าพื้นที่นี้หากใครชิงมวลชนได้ก่อนจะเป็นผู้ชนะ"
สือกรี ยังประเมินมุมมองของฝ่ายเจ้าหน้าที่ว่า จริงๆ แล้วนักศึกษายะลาเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมเรื่องสิทธิของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ แต่จากเรื่องนี้คงทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมองว่ากลุ่มนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวให้กับกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ หากเจ้าหน้าที่ยังคิดแบบนี้ก็อย่าหวังจะมาแก้ปัญหา และควรมองบทบาทของนักศึกษาเสียใหม่ว่าพวกเราเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนในพื้นที่
ซัดหวังสลายขบวนการนักศึกษา
"สิ่งหนึ่งที่ผมยังไม่เข้าใจ คือเจ้าหน้าที่อ้างว่าต้องการจับกุมนุรมาน ดอเลาะ แต่ทำไมไม่ไปจับที่บ้านหรือที่อื่นๆ ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่มีข้อมูลของเขาอย่างชัดเจนว่าบ้านอยู่ที่ไหน แต่ทำไม่จึงต้องมาจับที่บ้านพักของนักศึกษา เหมือนกับว่าเจ้าหน้าที่พยายามลากกลุ่มนักศึกษาเข้าไปร่วมด้วย"
"เห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่พยายามจะสลายขบวนการนักศึกษา เพราระเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้วนักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ"
เขายังแสดงความเห็นสนับสนุนแนวคิดการมี "คนกลาง" อย่างเช่นผู้นำศาสนา เข้าไปทำความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน รวมทั้งกลุ่มนักศึกษา โดยอาจเปิดวงพูดคุยกันบ่อยๆ เพื่อรับฟังซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่ความเข้าใจและลดความหวาดระแวงลงได้ในที่สุด
วอนอย่ามองนักศึกษาในคราบโจร
ส่วนความเกี่ยวข้องระหว่างกลุ่มนักศึกษากับขบวนการก่อความไม่สงบนั้น สือกรี ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้
"ผมคิดว่ากลุ่มนักศึกษาไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบ เพราะเราคงไม่มีเวลามากขนาดนั้น แค่เวลาจัดกิจกรรมกับเวลาเรียนก็แทบจะไม่พออยู่แล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปเคลื่อนไหว"
อย่างไรก็ดี ในส่วนของ นายนุรมาน ดอเลาะ ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่ามีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด เกี่ยวพันกับเหตุลอบวางระเบิดเมื่อหลายปีก่อนนั้น สือกรี บอกว่า ไม่ได้อยู่กับนุรมานตลอดเวลา แต่ก็ตั้งคำถามกลับถึงการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายทหาร
"โดยส่วนตัวแล้วเราไม่ได้อยู่กับเขาตลอด บังเอิญวันนั้นนุรมานมาเที่ยวที่บ้านพัก แต่เหตุการณ์มีความผิดปกติหลายอย่าง โดยเฉพาะทำไมในเมื่อเจ้าหน้าที่มีหลักฐานอยู่แล้วจึงไม่ไปจับนุรมานที่บ้าน หรือว่าที่ทำงานของเขา ผมยืนยันว่านักศึกษาคนอื่นๆ ไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะกิจกรรมของนักศึกษาจริงๆ คือทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และให้กำลังใจกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง เราพยายามเป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับชาวบ้าน แต่เจ้าหน้าที่กลับมองเราเป็นนักศึกษาในคราบโจร"
"นักศึกษาจะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และปัจจุบันนักศึกษาในพื้นที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้น แต่ติดอยู่ที่ว่าเจ้าหน้าที่มักลากเราให้เข้าไปอยู่กับกลุ่มโจร ขอย้ำว่าเรายืนอยู่เคียงข้างผู้ได้รับผลกระทบ อยากให้คนที่คิดร้ายกับนักศึกษากลับไปคิดใหม่ว่าหากในพื้นที่ไม่มีนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว สันติภาพก็คงเกิดได้ยาก ฉะนั้นอย่านำเราไปเกี่ยวข้องกับโจร" สือกรี กล่าว และว่าเงินทุนสนับสนุนการทำกิจกรรมของนักศึกษา ล้วนเป็นเงินอุดหนุนของมหาวิทยาลัยแทบทั้งสิ้น
สำหรับการให้ความช่วยเหลือ นายนูรมาน ดอเลาะ ซึ่งเป็นอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาด้วยนั้น มีรายงานว่า ญาติของนายนูรมานได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งปล่อยตัว เพราะนายนูรมานยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ลอบวางระเบิดตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้าง
เสียงจากชาวบ้าน "ประเทศของผม...ผมก็รัก"
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก ก่อผลกระทบในพื้นที่ไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกควบคุมตัวไป แต่ภายหลังได้รับการปล่อยตัว ไม่ถูกแจ้งความดำเนินคดี ทำให้รู้สึกว่าตนเองถูกจับขังฟรี ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้มีแต่กลุ่มนักศึกษา แต่ยังมีประชาชนทั่วไปอีกจำนวนมากด้วย
เมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมปาร์ควิว อ.เมืองยะลา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้นัดพบปะกับประชาชนในพื้นที่ จ.ยะลา กว่า 200 คนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกจับกุมในคดีความมั่นคง และออกมาร่วมแสดงตนเป็นผู้บริสุทธิ์ โดย ศอ.บต.และคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน มีแนวคิดที่จะให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนกลุ่มนี้ด้วย
นายสมาน มะ ชาวบ้านจากหมู่ 3 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา กล่าวว่า ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางจังหวัดยะลาตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.2548 เป็นเวลา 2 ปี จากข้อกล่าวหาในคดีความมั่นคง ต่อมาศาลยกฟ้อง ยืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่สิ่งที่ยังติดตัวอยู่คือการตกเป็นจำเลยของสังคม
"ตอนนี้ครอบครัวผมแตกแยก ต้องรับภาระเลี้ยงดูลูกทั้ง 5 คนและแม่ที่แก่ชรา ทำให้รายได้ไม่พอจุนเจือครอบครัว ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีใครกล้ารับเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำ วันนี้รู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับเลขาธิการ ศอ.บต."
"ผมอยากบอกว่าการเยียวยาที่สำคัญที่สุดคือการเยียวยาด้านจิตใจ ผมเป็นคนไทยแต่ต่างศาสนา พ่อแม่ผมเป็นคนไทย เราอยู่ในแผ่นดินไทยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่อยากให้มองเราเป็นพวกแบ่งแยกดินแดน ประเทศของผม ผมก็รัก พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้บ้านผม ผมก็รัก ผมรักในหลวง และเชื่อว่าทุกคนในประเทศก็รักในหลวง อยากให้ประเทศเกิดความสงบ ชาวบ้านจะได้ทำมาหากินอย่างมีความสุข จึงอยากขอให้หน่วยงานรัฐจริงใจในการแก้ปัญหา ใช้หลักความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ถ้ายึดความเป็นธรรมก็สามารถแก้ปัญหาภาคใต้ได้" นายสมาน กล่าว
ทั้งนี้ พ.ต.อ.ทวี พร้อมด้วยรองเลขาธิการ ศอ.บต.ยังได้เดินทางไปพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีความมั่นคงในอีกหลายพื้นที่ เช่น ที่มัสยิดบ้านกำปงบารู ต.เรียง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส โดยได้พูดคุยกับชาวบ้านที่ถูกฝ่ายความมั่นคงเชิญตัวไปซักถามตามค่ายทหารต่างๆ รวม 191 คน ในจำนวนนี้มี 91 คนที่ถูกออกหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (หมาย ฉฉ.) แต่อีก 100 คนไม่ถูกออกหมายใดๆ โดยทั้งหมดได้ยืนยันขอแสดงความบริสุทธิ์ใจและพร้อมให้ความร่วมมือกับทางราชการทุกกรณี เพียงแต่ขอให้เจ้าหน้าที่อย่าประณามว่าพวกเขาเป็นโจร และขอให้ทาง ศอ.บต.ช่วยจ่ายค่าชดเชยกรณีขาดรายได้ช่วงที่ถูกคุมตัวไปซักถาม
ส่วนอีก 2 จุดที่เลขาธิการ ศอ.บต.เดินทางไป ก็คือ ที่ว่าการอำเภอเมืองปัตตานี ได้พบปะกับชาวบ้านที่เคยถูกเชิญตัวหรือถูกดำเนินคดีความมั่นคงจำนวน 400 คน และที่ อ.เมือง จ.ยะลา พบปะกับผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษของฝ่ายความมั่นคงจำนวน 800 คน
เอ็นจีโอเสนอทดลองไม่ต่ออายุ พ.ร.ก.3 เดือน
สำหรับปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา เรียกร้องให้ทดลองหยุดการขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาต่ออายุออกไปอีก 3 เดือนเป็นครั้งที่ 28 ในวันที่ 19 มิ.ย.2555 รวมเวลาบังคับใช้เกือบ 7 ปีเต็ม (ตั้งแต่ ก.ค.2548) เพราะยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีการเคลื่อนไหวจากประชาคมในพื้นที่หลายกลุ่มเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ทั้งนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเสนอให้รัฐบาลทดลองไม่ขยายการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารโดย ศอ.บต.สามารถดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่เน้นการพัฒนาและสร้างสันติภาพโดยสันติวิธี เพื่อเปรียบเทียบถึงความจำเป็นที่จะยังคงมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไป
องค์การนิรโทษกรรมสากล ชี้ 2 ปมปัญหาสิทธิมนุษยชนชายแดนใต้
ก่อนหน้านั้น ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อ.เมืองปัตตานี องค์การนิรโทษกรรมสากล (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล) สาขาประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดแถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2555 รวมถึงสรุปภาพรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมจัดเวทีเสวนา "สถานการณ์การซ้อมทรมานและการลอยนวลพ้นผิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" โดยมี นายอิสมาแอ เตะ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งเคยถูกจับกุมและอ้างว่าถูกซ้อมทรมาน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย
นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการองค์การนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นที่เฝ้าจับตาการละเมิดสิทธิในประเทศไทยมี 5 ประเด็นใหญ่ๆ และมี 2 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ
1.สถานการณ์ในพื้นที่ที่ขัดแย้งกันด้วยอาวุธ ผู้ที่ถูกสังหารยังคงเป็นพลเรือน และถูกโจมตีโดยไม่แยกแยะ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างความหวาดกลัวในบรรดาประชาชน และมากกว่าครึ่งของผู้เสียชีวิตเป็นชาวมุสลิม
2.การลอยนวลพ้นผิด สืบเนื่องจากปัญหาภาคใต้ที่ยังไม่มีการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดหลายๆ เหตุการณ์ เช่น การเสียชีวิตของชาวมุสลิม 85 คนที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส (เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ และการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมไปสอบสวนต่อที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547) หรือคดีซ้อมทรมานอิหม่ามยะผา กาเซ็ง จนเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวเมื่อเดือน มี.ค.2551 ที่ ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เป็นต้น
"สิ่งที่เราอยากเห็น คือยกเลิกการทรมานและปฏิบัติการอื่นๆ ที่โหดร้ายทารุณ รวมทั้งดำเนินการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพต่อปัญหาการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการยอมรับการชุมนุมอย่างสันติของประชาชนในพื้นที่" นางสาวปริญญา ระบุ
5 ปีไฟใต้ร้องเรียนซ้อมทรมาน 310 เรื่อง
ขณะที่ นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า คดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่แต่ปี 2550-2555 นั้น ทางศูนย์ทนายความมุสลิมได้รับการร้องเรียนกรณีถูกซ้อมทรมานทุกรูปแบบจำนวน 310 เรื่อง โดยเฉพาะในปี 2555 ตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึง เม.ย.มีทั้งหมด 13 เรื่อง ซึ่งเป็นการซ้อมทรมานในช่วงการถูกบังคับใช้กฎหมายพิเศษ
"ที่ผ่านมาเรายังไม่ประสบความสำเร็จในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษทางอาญาให้สังคมได้ประจักษ์รับรู้เลยแม้แต่รายเดียว ด้วยเหตุนี้เราจึงพบการทรมานผู้ต้องหาบ่อยครั้งในพื้นที่ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะประกาศคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาเอาไว้แล้วก็ตาม แต่สำหรับการดำเนินการทางแพ่ง เราประสบความสำเร็จ สามารถทำให้หน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นชดใช้ให้แก่ผู้ถูกซ้อมทรมานได้ อย่างเช่น กรณีของอิสมาแอ เตะ (ชนะคดีในศาลปกครองสงขลา)"
ทนายสิทธิพงษ์ ยังเสนอให้รัฐเร่งตรากฎหมายให้การซ้อมทรมานเป็นความผิดทางอาญา โดยยกร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อรองรับกรณีที่ไทยได้เป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้ มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 การชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาเรียกร้องให้ปล่อยตัวเพื่อนที่ถูกจับกุม
3 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. เดินสายพบปะพูดคุยและทำความเข้าใจเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีความมั่นคง และการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)
4 แอมเนสตี้ ประเทศไทย แถลงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ชายแดนใต้ (ภาพโดย แวลีเมาะ ปูซู)