5 ข่าวสืบสวนเด่น ปี 61 'กุญแจนักโทษ-AirRace1-รถท้องถิ่น-เครื่องบอดี้สแกน-ท่าสายลวด'
"...ในรอบปี 2561 ยังคงเหมือนทุกปีที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ยังคงได้ใช้กระบวนการทำข่าวเชิงสืบสวน เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเอกสารหลักฐานเพื่อนำไปใช้ในการตรวจสอบการใช้จ่ายเม็ดเงินของหน่วยงานภาครัฐในการจัดทำโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่สำคัญหลายโครงการ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลังการนำเสนอข่าว หน่วยงานตรวจสอบนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการขยายผลการสืบสวนต่อ ในโอกาสสิ้นสุดปี 2561 ก้าวเข้าไปปี 2562 สำนักข่าวอิศรา ได้คัดเลือกผลงาน 5 ข่าวสืบสวนเด่น ที่ทำไว้ในรอบปี 2561 มาให้สาธารณชนได้รับทราบกันอีกครั้ง..."
ในรอบปี 2561 ยังคงเหมือนทุกปีที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ใช้กระบวนการทำข่าวเชิงสืบสวน เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเอกสารหลักฐานเพื่อนำไปใช้ในการตรวจสอบการใช้จ่ายเม็ดเงินของหน่วยงานภาครัฐผ่านโครงการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานรัฐหลายโครงการ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลังการนำเสนอข่าว หน่วยงานตรวจสอบนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการขยายผลการสืบสวนต่อเนื่อง
ในโอกาสสิ้นสุดปี 2561 ก้าวเข้าไปสู่ปี 2562 สำนักข่าวอิศรา ได้คัดเลือกผลงาน 5 ข่าวสืบสวนเด่น ที่ทำไว้ในรอบปี 2561 มาให้สาธารณชนได้รับทราบกันอีกครั้ง
@ เจาะสัมพันธ์ลึก 2 บ. โดน ป.ป.ช.สอบคดีทุจริตเทศบาลท่าสายลวด-ขยายผลอีก 4 อบจ.?
ในช่วงกลางเดือนธ.ค.2561 สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหา นายสำรวย วิริยะ ในช่วงดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการก่อสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เมื่อปี 2555 โดยในช่วงเดือนส.ค.2561 ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาให้บริษัทเอกชน 2 ราย คือ บริษัท เมษานาดี จำกัด และ บริษัท ชีนะมงคล จำกัด มารับทราบข้อกล่าวหา แต่ไม่สามารถส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาให้บริษัททั้ง 2 แห่ง มารับทราบข้อกล่าวหา ตามที่อยู่ที่ปรากฎอยู่ตามเอกสารหลักฐานราชการได้ จึงได้มีการปิดประกาศหนังสือส่งบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาให้รับทราบโดยเปิดเผย ณ สำนักงาน ป.ป.ช.
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ได้สืบค้นข้อมูลบริษัทเอกชน ทั้ง 2 ราย จนตรวจสอบพบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า แท้จริงแล้วมีความสัมพันธ์ในลักษณะเป็นบริษัทกลุ่มเดียวกัน อาทิ บริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่ง แจ้งที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) แจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายปุ๋ย สารเคมี ให้บริการขนส่ง และปัจจุบันอยู่ระหว่างถูกกรมสรรพากรติดตามตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีเหมือนกัน ขณะที่ ผู้ริเริ่ม ก่อการจดทะเบียนตั้งบริษัททั้ง 2 แห่ง แจ้งใช้เบอร์โทรศัพท์เดียวกัน นอกจากนี้ ยังใช้คนทำบัญชี พยาน ผู้รับมอบอำนาจ กลุ่มเดียวกันด้วย
ขณะที่จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า นอกจากโครงการก่อสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติของเทศบาลตำบลท่าสายลวด เมื่อปี 2555 แล้ว ในช่วงปี 2555-2557 บริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่ง ยังได้ปรากฏเป็นผู้ทำสัญญากับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งสิ้น 6 สัญญา (เท่าที่ตรวจพบ) วงเงินรวมทั้งสิ้น 51,050,000 บาท แบ่งเป็น บริษัท เมษานาดี จำกัด จำนวน 4 สัญญา รวมวงเงิน 26,896,250 บาท และ บริษัท ชีนะมงคล จำกัด จำนวน 2 สัญญา รวมวงเงิน 24,153,750 บาท โดยหน่วยงานรัฐที่ปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญา ทั้ง 6 โครงการ เป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 4 แห่ง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง 3 โครงการ, องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ 1 โครงการ, องการบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร 1 โครงการ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ 1 โครงการ
อย่างไรก็ดี ในการตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง 2 สัญญาใหม่ มิได้เปิดเผยข้อมูลรายชื่อเอกชนที่เป็นคู่เทียบในการเสนอราคาแข่งขันงานไว้ด้วย จึงทำให้ยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่า เอกชนทั้ง 2 ราย เข้าร่วมแข่งขันเสนอราคาพร้อมกันอีกหรือไม่ เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ได้ทำเรื่องใช้สิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ขอข้อมูลรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างจากอบจ.ทั้ง 4 แห่ง มาตรวจสอบเพื่อเติมแล้ว ผลการใช้สิทธ์ตามกฎหมายครั้งนี้จะเป็นอย่างไร ต้องรอดูในช่วงต้นปี 2562 นี้ (อ่านประกอบ :กรมราชทัณฑ์ ขอเวลาหาเอกสารแข่งงานปี58 หลังอิศราพบ2 บ.ขายกุญแจเท้านักโทษส่อกลุ่มเดียวกัน)
@ แกะรอย กรมราชทัณฑ์ จัดซื้อกุญแจเท้านักโทษ 83 ล้าน
การจัดซื้อเครื่องพันธนาการ หรือกุญแจเท้า นักโทษ ของ กรมราชทัณฑ์ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สำนักข่าวอิศรา เข้าไปติดตามตรวจสอบข้อมูล
ทั้งนี้ ภายหลังจากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2561 กรมราชทัณฑ์ ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้าง บริษัท คาร์โก้เคมี แอนด์ ซัพพลาย จำกัด เป็นคู่สัญญาโครงการซื้อเครื่องพันธนาการรูปแบบใหม่ (กุญแจเท้าความมั่นคงสูง) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยวิธีเฉพาะเจาะจง จำนวน 5,000 ชุด วงเงิน 49,750,000 บาท จากราคากลาง 50,000,000 บาท เฉลี่ยชุดละ 9,950 บาท
ขณะที่ก่อนหน้านี้ กรมราชทัณฑ์ ได้ทำสัญญาจัดซื้อ เครื่องพันธนาการ จาก บริษัท คาร์โก้เคมี แอนด์ ซัพพลาย จำกัด มาแล้วจำนวน 2 สัญญา คือ 1. โครงการประกวดราคาซื้อเครื่องพันธนาการ จำนวน 2 รายการ โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 23,115,110 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 59 และ 2. ประกวดราคาซื้อเครื่องพันธนาการ จำนวน 2 รายการ (กุญเเจมือ กุญเเจเท้า และกุญเเจเท้าความมั่นคงสูง) โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 10,990,304 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 59 นับรวมวงเงิน 3 สัญญา 83,855,414 บาท
จึงทำให้เกิดคำถามว่า ทำไม เอกชนรายนี้ ถึงได้งานเจ้าเดียวหลายสัญญา โดยเฉพาะสินค้ากุญแจเท้าความมั่นคงสูง ก่อนจะได้รับคำชี้แจงทั้งจาก บริษัท คาร์โก้เคมี แอนด์ ซัพพลาย จำกัด และ กรมราชทัณฑ์ ว่า สินค้าดังกล่าวนี้มีผลิตอยู่เจ้าเดียวคือ บริษัท BOA โดยผลิตให้กับ 2 ยี่ห้อ คือ PEERLESS และ Smith & Wesson ซึ่งสินค้าชนิดนี้ถูกประกาศโดย กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นสินค้าควบคุมการผลิต ต้องมีใบ Export License จึงสามารถนำออกจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งทางบริษัทคาร์โก้ฯ เป็นเจ้าเดียวในประเทศไทยและมาเลเซียที่มี
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลว่า ในช่วงปี 2558 กรมราชทัณฑ์ ได้จัดทำ โครงการจัดซื้อเครื่องพันธนาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (เลขที่โครงการ : 57105167897) งบประมาณ 12,200,000 บาท แบ่งเป็น 2 รายการ คือ เครื่องพันธนาการ (กุญแจมือ กุญแจเท้า) จำนวน 374 ชุด ราคาชุดละ 3,208.56 บาท เป็นเงิน 1,200,000 บาท และเครื่องพันธนาการรูปแบบใหม่ (กุญแจเท้าความมั่นคงสูง) จำนวน 1,000 ชุด ราคาชุดละ 11,000 บาท เป็นเงิน 11,000,000 บาท
โดยปรากฏชื่อ บริษัท สุพรีม ซีเคียวริตี้ เซอร์วิส จำกัด เป็นผู้ชนะในรายการเครื่องพันธนาการ (กุญแจมือ กุญแจเท้า) จำนวน 1,000,000 บาท โดยจัดทำสัญญาเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2557 และ บริษัท ไฮย์ ซีเคียวริตี้ คอนซัลแตนส์ จำกัด ในรายการเครื่องพันธนาการรูปแบบใหม่ (กุญแจเท้าความมั่นคงสูง) จำนวน 8,500,000 บาท จัดทำสัญญาเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2557 รวมทั้ง 2 รายการ วงเงิน 9,500,000 บาท
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า บริษัท ไฮย์ ซีเคียวริตี้ คอนซัลแตนส์ จำกัด และ บริษัท สุพรีม ซีเคียวริตี้ เซอร์วิส จำกัด มีความเชื่อมโยงเป็นบริษัทกลุ่มเดียวกัน โดยแจ้งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทวันเดียวกัน คือ วันที่ 17 ต.ค.2557 และแจ้งเลิกบริษัทวันเดียวกัน คือ 18 ต.ค. 2561 โดยการดำเนินการทั้ง 2 ส่วน ปรากฎชื่อพยานและผู้รับมอบอำนาจชุดเดียวกัน ขณะที่การแจ้งประกอบธุรกิจขายวัสดุเสริมความมั่นคงและวัสดุป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลวดหีบเพลง โล่ปราบจราจล และอุปกรณ์จราจล ของทั้ง 2 บริษัท ก็ยังมีความเหมือนกันทั้งข้อความและรูปแบบตัวอักษร
เบื้องต้น นายปราโมทย์ ทองศรี นักวิชาการพัสดุชำนาญการพิเศษ กรมราชทัณฑ์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงข้อเท็จจริงการจัดซื้อเครื่องพันธนาการ ปี 2558 ว่า กำลังค้นหาข้อมูเกี่ยวกับสัญญการจัดซื้อดังกล่าวอยู่ แต่เบื้องต้นยังไม่พบเอกสาร ต้องขอเวลาในการสืบค้น เมื่อพบข้อมูลแล้วจะติดต่อสำนักข่าวอิศราเพื่อให้ข้อมูลอีกครั้ง
"จากการสอบถามเบื้องต้น คาดว่า กุญแจเท้าความมั่นคงสูงในสัญญาดังกล่าวนั้น จ่าจะเป็นยี่ห้อ Peerless เหมือนกันกับของ บริษัท คาร์โก้เคมี แอนด์ ซัพพลาย จำกัด (บริษัท คาร์โก้เคมี ฯ เป็นคู่สัญญาโครงการซื้อเครื่องพันธนาการรูปแบบใหม่ (กุญแจเท้าความมั่นคงสูง) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยวิธีเฉพาะเจาะจง จำนวน 5,000 ชุด วงเงิน 49,750,000 บาท จากราคากลาง 50,000,000 บาท เฉลี่ยชุดละ 9,950 บาท แต่ยังยืนยันข้อมูลส่วนนี้ไม่ได้ ต้องขอตรวจสอบข้อมูลเพื่อความชัดเจนและถูกต้องอีกครั้ง"
ความจริงของเรื่องนี้เป็นอย่างไร คงต้องติดตามดูกันต่อไป ในช่วงต้นปี 2562 นี้ (อ่านประกอบ : กรมราชทัณฑ์ ขอเวลาหาเอกสารแข่งงานปี58 หลังอิศราพบ2 บ.ขายกุญแจเท้านักโทษส่อกลุ่มเดียวกัน)
@ ตามล่าหาความจริง ปมเปลี่ยนชื่องานจัดแข่ง Air Race1 ชัดเลย World Series ไม่มีจริง!
ชัดแล้ว World Series ไม่มีจริง! ผู้ว่าฯ กกท. ลุยสืบต้นต่อชงครม.เปลี่ยนชื่อจัดแข่ง Air Race1 คือ พาดหัวข่าวล่าสุดในการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงการจัดแข่งขันเครื่องบินใบพัดหรือ Air Race 1 ของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันที่ 17-19 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา ของสำนักข่าวอิศรา ซึ่งพบข้อพิรุธสำคัญว่า ภายหลังจากที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณให้จัด Air Race 1 World Series แล้ว กลับมีการเปลี่ยนแปลงชื่อและรูปแบบการจัดงานเป็น Air Race 1 World Cup ซึ่งมีสถานะและความสำคัญน้อยกว่า และส่งผลทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) สั่งการให้ กกท. ไปติดตามประเด็นนี้ และนำเรื่องเข้าชี้แจงต่อที่ประชุมเพื่อให้เกิดความกระจ่าง
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เกิดขึ้นภายหลังสำนักข่าวอิศรา ได้รับการร้องเรียนจากคนในแวดวงกีฬาเกี่ยวกับปัญหาความไม่ชอบมาพากลในการจัดกิจกรรมแข่งขัน Air Race 1 ของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในช่วงเดือน พ.ย. 2560 ที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งใช้งบประมาณนับร้อยล้านบาท ว่า เดิมที่มีการเสนอเรื่องขออนุมัติต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะจัดกิจกรรมแบบแข่งขันสะสมคะแนนชิงแชมป์โลก ในชื่อ Air Race 1 Race of Thailand (World Series 2017) ที่เป็นลักษณะการจัดแข่งขันเก็บคะแนนในสนามแข่งประเทศต่างๆ ก่อนจะมาจัดแข่งขันเก็บคะแนนตัดสินชิงแชมป์ครั้งสุดท้ายในประเทศไทย แต่หลังจากที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุม ครม.ไปแล้ว กลับมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อจัดงานใหม่ เป็นชื่อการแข่งขัน AIR RACE 1 WORLD CUP 2017 ซึ่งเป็นทางการจัดการแข่งขันแบบครั้งเดียวจบในประเทศไทยแทน และมีสถานะความสำคัญน้อยกว่าแทน ขณะที่กระบวนการว่าจ้างเอกชนเข้ามารับงานก็มีข้อสังเกตหลายประการ เรื่องการลงนามในใบสั่งซื้อ/สั่งจ้างให้บริษัทจัดกิจกรรม ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2560 ซึ่งเกิดขึ้นล่วงหน้าก่อนกิจกรรม Air Race 1 จะจัดขึ้นในวันที่ 17-19 พ.ย.2560 หรือเพียงแค่ 4 วันเท่านั้นด้วย
ล่าสุด นายก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่า กกท. คนปัจจุบัน กล่าวยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่มีใครตั้งเรื่องขึ้นมาถึงตนว่ามีการสืบสวนและเอาผิดใคร จึงยังไม่ได้มีประเด็นให้พิจารณาว่าจะให้ดำเนินการอะไรบ้าง แต่อย่างไรก็ตามเรื่อง Air Race 1 ก็มีการรายงานข้อเท็จจริงเข้ามาให้ทราบตั้งแต่ที่ตนเข้ามาเริ่มทำงานในตำแหน่งผู้ว่าฯ กกท. แล้ว
นายก้องศักดิ์ กล่าวต่อว่า “เรื่องการเปลี่ยนชื่อจัดงานจาก World Series เป็น World Cup ที่มีการพูดถึงในที่ประชุม กกท. มีการรายงานข้อเท็จจริงเข้ามาให้ผมทราบแล้ว ประเด็นคือ การแข่งรายการนี้มันไม่ได้มีการแข่งขันเป็น World Series จริง เพราะตามข่าวก็คือไม่ปรากฏในฐานข้อมูลต่างๆเลยทั้งในเว็บไซต์และฐานข้อมูลการแข่งเป็น World Series แบบนั้น และการที่เสนอเรื่องและผ่านคณะรัฐมนตรีไปว่าเป็น World Series ดังนั้นก็เลยจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อ เพราะถ้าไม่เปลี่ยนก็ไม่ได้ เนื่องจากการแข่งขันดังกล่าวไม่มีอยู่จริง ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ผมได้รับการรายงานมา ดังนั้นก็ต้องไปสืบหาต้นตอว่าชื่อการแข่งขัน World Series นั้นมันมีที่มาอย่างไร และทำไมตอนแรกถึงมีการเสนอชื่อ World Series ขึ้นมาในการเสนอเรื่องและปล่อยให้ผ่าน ครม.ได้ ทั้งๆที่ไม่มีอยู่จริง"
บทสรุปของเรื่องนี้ จะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิด ในปี 2562 เช่นกัน (อ่านประกอบ : กก.หลายคนไม่สบายใจ! จี้ กกท.สางปมAir Race1-จ้างกรมทางหลวงสร้างสนามกีฬา1.4พันล.)
@ ผ่าขบวนการ กลุ่มบ.คิงส์ฯ โกยรถท้องถิ่นทั่วปท. 791ล.
เป็นอีกหนึ่งข่าวเด่น ในรอบปี 2562 ที่สำนักข่าวอิศรา ติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง สำหรับความสัมพันธ์เป็นบริษัทเอกชนกลุ่มหนึ่ง ที่เข้าร่วมประกวดราคาแข่งขันงานขายรถบรรทุกชนิดต่างๆ ให้กับหน่วยงานรัฐท้องถิ่น พร้อมกันหลายสัญญา โดยล่าสุดจากการตรวจสอบพบว่า ยอดรวมของสัญญาขายรถบรรทุกให้กับหน่วยงานรัฐท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่ทั้ง 4 บริษัท ได้รับไปทั้งหมดตั้งแต่ปี 2552 จนถึง 2560 มีจำนวน 306 สัญญา รวมวงเงิน 791,375,079 บาท
สำหรับจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในช่วงเดือน มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จังหวัดนครราชสีมา ได้ส่งหนังสือแจ้งให้ บริษัท คิงส์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และ บริษัท ชัยมงคล แฟคตอริ่ง จำกัด มารับทราบข้อกล่าวหา กรณีกล่าวหา นายสมชัย ปล้องพุดซา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา กับพวก ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 เกี่ยวกับการจัดซื้อรถบรรทุกน้ำดับเพลิง และบรรทุกขยะมูลฝอย รวม 2 คัน รวมวงเงินกว่า 4 ล้านบาท ของ เทศบาลตำบลหนองไข่น้ำ ในช่วงปี 2553 โดยเบื้องต้น เอกชนทั้ง 2 ราย ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจ้งข้อกล่าวหาต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว รวมถึงผู้เกี่ยวข้องคนอื่นๆด้วย
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ขยายผลการตรวจสอบพบว่า บริษัท คิงส์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และ บริษัท ชัยมงคล แฟคตอริ่ง จำกัด เป็นบริษัทกลุ่มเดียวกัน บุคคลที่ปรากฏชื่อเป็นผู้รับมอบอำนาจ และพยาน ของบริษัท ในการเดินทางไปติดต่องานกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวมถึงการทำบัญชีให้ เป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบว่า บริษัท รุ่งเจริญ อีควิปเมนท์ แอนด์ทรัค จำกัด และ บริษัท ไทยคาร์ อินดัสทรีส์ จำกัด ที่เข้าร่วมการประกวดราคาขายรถให้กับหน่วยงานรัฐพร้อมกันอีกหลายแห่ง ก็ปรากฏหลักฐานมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นบริษัทกลุ่มเดียวกันด้วย
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวใน สำนักงาน ป.ป.ช. ว่า ในคดีการจัดซื้อรถบรรทุกน้ำดับเพลิง และรถบรรทุกขยะมูลฝอย 2 คันๆ ละ 2 ล้าน รวมวงเงินกว่า 4 ล้านบาท ของ เทศบาลตำบลหนองไข่น้ำ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ในช่วงปี 2553 ปรากฏชื่อ บริษัท คิงส์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ชนะ ไปแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ปรากฏชื่อเป็นกรรมการผู้ถือหุ้นบริษัทเอกชน ให้การยอมรับว่า มีสถานะที่แท้จริงเป็นเพียงแค่คนงานในโรงงาน และถูกเอามาใช้เป็นเจ้าของบริษัทเพื่อเข้าร่วมการประมูลงานขายรถบรรทุกจากหน่วยงานรัฐต่างๆ แต่ที่สำคัญ คือ ในการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. พบว่า นายอุดร ไม่ใช่คนงานคนเดียวที่ถูกนำชื่อมาใช้ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ยังมีคนงานในโรงงานอีกหลายคนที่ถูกเอาชื่อมาใช้ด้วย
ด้าน นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ สตง. ไปตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้ ตามข่าวที่สำนักข่าวอิศรา แล้ว และเท่าที่เห็นข่าวที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอ คิดว่าจำนวนสัญญาและวงเงินที่บริษัทเอกชนกลุ่มนี้ได้รับงานไปมีจำนวนที่สูงมาก หน่วยงานท้องถิ่นที่จัดซื้อก็กระจายหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา รวบรวมข้อมูลจัดทำเป็นแผนที่แสดงจุดที่กลุ่มบริษัทคิงส์ฯ ได้ทำสัญญาขายรถบรรทุกให้กับเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ ทั่วประเทศ พบว่ามีทั้งสิ้น 81 แห่ง จากทั้งหมด 38 จังหวัด แบ่งเป็น บริษัทคิงส์ฯ 14 แห่ง บริษัทไทยคาร์ฯ 41 แห่ง และบริษัทรุ่งเจริญฯ 31 แห่ง บางแห่งทำสัญญาซื้อรถมากกว่าหนึ่งสัญญา (อ่านประกอบ :ข้องใจผูกเช่าบ.เดียว-ไม่ซื้อกรรมสิทธิ์ขาด!สตง.จี้ทอท.ส่งหลักฐานเครื่องบอดี้สแกนทุกสัญญา)
@ พบทอท. ทำสัญญาผูกขาดเช่าเครื่อง Body Scanner 5 ปี 1.3 พันล.
บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ทำสัญญาผูกขาดเช่าเครื่องตรวจวัตถุตามร่างกายผู้โดยสาร (Body Scanner) กับเอกชนรายเดียวต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนานเกือบ 5 ปี รวมวงเงินที่ใช้จ่ายไปแล้วกว่า 1.3 พันล้านบาท
คือ ข้อมูลสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา ให้ความสำคัญและติดตามนำเสนอข่าวเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ภายหลัง ตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานรัฐ พบว่า นับตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้ทำสัญญาเช่า เครื่องตรวจวัตถุตามร่างกายผู้โดยสาร (Body Scanner) จาก บริษัท เอ็ม.ไอ.ที.โซลูชั่น จำกัด มาแล้วจำนวน 6 สัญญา รวมวงเงินว่าจ้างทั้งสิ้น 1,347,172,800 บาท
โดยในช่วงปี 2559 มีการทำสัญญาเช่ามากที่สุดจำนวน 3 สัญญา รวมวงเงินทั้งสิ้น 1,082,155,200 บาท
ขณะที่สัญญาเช่าเครื่องตรวจวัตถุตามร่างกายผู้โดยสาร (Body Scanner) กับ บริษัท เอ็ม.ไอ.ที.โซลูชั่น จำกัด ฉบับล่าสุด วงเงิน 347,835,600 บาท ที่มีการลงนามในสัญญาเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2559 กำหนดอายุสัญญาไว้ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.2559 ถึงวันที่ 19 ธ.ค.2564
เป็นการตกลงเช่าเครื่องแบบ Automatic Target Detection (ATD) ยี่ห้อ L-3 รุ่น Pro Vision 2 จำนวน 9 เครื่อง กำหนดการจ่ายเงินเป็นงวดๆ เป็นรายเดือน จำนวน 60 งวด ในอัตรางวดละ 5,797,260 บาท
เฉลี่ยราคาเช่าต่อเครื่องจะอยู่ที่ 644,140 บาท
นอกจากนี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลราคากลางจัดซื้อของ General Services Administration Schedules (GSA) สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการอิสระภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลกลาง ทำหน้าที่ให้บริการหน่วยงานราชการ (ผู้ซื้อ) โดยการนำเสนอสินค้าและบริการต่างๆ จากพันธมิตรทางธุรกิจ (ผู้ขาย) มีลักษณะคล้ายกับการเป็นตัวกลางระหว่างหน่วยงานราชการ (ผู้ซื้อ) และภาคเอกชน (ผู้ขาย)
ในลิสต์ราคาดังกล่าวระบุว่า เครื่องตรวจวัตถุตามร่างกายผู้โดยสาร (Body Scanner) แบบเดียวกับที่ ทอท. เช่า มีราคากลางอยู่ที่ 171,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 5,643,000บาท ต่อเครื่อง
อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบกับราคาเช่าเครื่องที่ ทอท. จ่ายให้กับเอกชน ตามสัญญาต่อเครื่อง จำนวน 644,140 บาทต่อเดือน คำนวนจำนวน 60 งวด ที่ต้องจ่ายไปจะพบว่า มีราคาเฉลี่ยอยู่เครื่องละ 38,648,400 บาท มากกว่า 6 เท่า
จึงมีคำถามตามมาว่า ทำไมทอท. ถึงไม่ใช้วิธีการจัดซื้อแต่ใช้วิธีการเช่าแทน?
เบื้องต้นหลังจากการนำเสนอของสำนักข่าวอิศรา เกี่ยวกับประเด็นนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือแจ้งถึงผู้บริหารบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้ชี้แจงข้อมูลการทำสัญญาเช่าเครื่องตรวจวัตถุตามร่างกายผู้โดยสาร (Body Scanner) จาก บริษัท เอ็ม.ไอ.ที. โซลูชั่น จำกัด ทุกสัญญา พร้อมนำส่งเอกสารหลักฐานเพื่อนำไปใช้ประกอบการตรวจสอบเรื่องนี้เป็นทางการแล้ว
ปัจจุบัน ยังไม่มีการยืนยันข้อมูลจาก สตง. ว่า ผลการสอบสวนโครงการนี้ สรุปออกมาว่าอย่างไร แต่ก็นับเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการนำเสนอข่าวชิ้นนี้ อย่างเป็นทางการ และถือเป็นผลงานข่าวเด่น อีกชิ้นหนึ่งในรอบปี 2561 ที่ผ่านมา
นี่ยังไม่ได้การเข้าไปตรวจสอบปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการของรัฐบาล อาทิ การจัดซื้อโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ ธีออส 2 วงเงิน 7 พันล้านบาท โครงการประกวดราคาจ้างเอกชนผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3 จำนวน 15 ล้านเล่ม ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) งาน จัดซื้อจัดจ้างเปลี่ยนเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 26 เครื่อง และจ้างปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระของอาคารผู้โดยสาร รวมวงเงิน 2,880,500,000 บาท ที่สำนักข่าวอิศรา ให้ความสำคัญติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกถึงข้อสังเกตและปัญหาต่างๆ อย่างครบถ้วนรอบด้าน เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ นำข้อมูลไปใช้ประกอบในการดำเนินงานโครงการให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นด้วย (อ่านประกอบ : ข้องใจผูกเช่าบ.เดียว-ไม่ซื้อกรรมสิทธิ์ขาด!สตง.จี้ทอท.ส่งหลักฐานเครื่องบอดี้สแกนทุกสัญญา)
ทั้งหมดนี่ เป็นผลงานข่าวเชิงสืบสวน ของสำนักข่าวอิศรา ในการปฏิบัติหน้าที่สื่อสาธารณะ เพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์สาธารณะ ในรอบปี 2561 ที่รวบรวมนำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกัน
ส่วนปี 2562 จะมีผลงานข่าวเชิงสืบสวนอะไรบ้าง คงต้องติดตามดูกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/