โบกมือลา 2561 ปีทอง 'ประชานิยม' รบ.บิ๊กตู่ โปรย 'เฮลิคอปเตอร์มันนี่' ทะลุ 2 แสนล.
"...สรุปได้ว่าเพียงแค่ปีเดียวเฮลิคอปเตอร์มันนี่ ที่ครม.ประยุทธ์ โปรยเงินลงมาจากฟ้า อัดฉีดเม็ดเงินเศรษฐกิจรากหญ้า ผู้มีรายได้น้อย และข้าราชการบำนาญ คิดเป็นเม็ดเงินสูงถึง 203,739 ล้านบาท ...อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ ประชาชนเกือบ 15 ล้านคนพึงพอใจกับการรอรับเงินช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ จะพบว่าในช่วง 4 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ ปัญหาความยากจน และหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นทุกปี..."
ปี 2561 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป เรียกได้ว่า เป็นปีทองของนโยบายประชานิยมอย่างแท้จริง!
เพราะตลอด 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทยอยออกสารพัดมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินซื้อใจประชาชนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเกษตรกร และข้าราชการเกษียณอายุ ผ่านโครงการช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ จำนวนมาก
หากไม่นับมาตรการช่วยเหลือประชาชนเกี่ยวกับการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแล้ว จะพบว่าในรอบปี 2561 ครม.ประยุทธ์ โปรยเงินแจกให้ชาวบ้าน หรือที่เรียกว่า “เฮลิคอปเตอร์มันนี่ (Helicopter Money)”ทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นงบประมาณสูงถึง 203,739 ล้านบาท เลยทีเดียว
@ พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ จ.เชียงราย 29 ต.ค.2561
เริ่มจากช่วงต้นปี ครม.ประยุทธ์ อนุมัติงบ 35,679 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.46 ล้านคน ผ่านมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (มติครม. 9 ม.ค.2561) หลังจากเมื่อปีที่แล้ว ครม.ประยุทธ์อนุมัติงบ 46,000 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในโครงการประชารัฐสวัสดิการ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการฯ (มติครม.29 ส.ค.2560)
เมื่อจำแนกรายละเอียดการจัดสรรงบตามมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ พบว่า เป็นการแจกเงินให้ผู้ถือบัตรฯ สำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่นๆ คนละ 100-200 บาท เป็นวงเงินรวม 13,872 ล้านบาท
@ ขอบคุณภาพ thansettakij.com
จากนั้นในช่วงใกล้สิ้นปี ครม.มีมติอนุมัติงบอีก เป็นเงิน 38,730 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายตามมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (มติครม.20 พ.ย.2561) ซึ่งเป็นการยัดเงินใส่มือผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการฯ ซึ่งเพิ่มเป็น 14.5 ล้านคน ทั้งการจ่ายเงินครั้งเดียว และการทยอยจ่ายเป็นงวดๆไปจนถึงปีหน้า ในห้วงเวลาที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงินเป็นค่าใช้จ่ายช่วงปลายปี 500 บาท/คน ใช้งบ 7,250 ล้านบาท , เงินช่วยเหลือค่าน้ำประปาเดือนละ 100 บาท/คน และค่าไฟฟ้าเดือนละ 230 บาท/คน นาน 10 เดือน (ธ.ค.61-ก.ย.62) ใช้งบ 27,060 ล้านบาท , เงินค่าเช่าบ้านสำหรับผู้สูงอายุเดือนละ 400 บาท/คน ใช้งบ 920 ล้านบาท และเงินค่าเดินทางไปรักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ 1,000 บาท/คน ใช้งบ 2,200 ล้านบาท
@ ขอบคุณภาพ innnews.co.th
ขณะเดียวกัน ครม.ประยุทธ์ ยังอนุมัติมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 5% ให้ผู้มีรายได้น้อยที่ใช้บัตรสวัสดิการฯซื้อสินค้าที่ร้านธงฟ้าฯ โดยจะคืนแวตสูงสุดไม่เกินเดือนละ 500 บาท สำหรับการซื้อสินค้าในเดือน พ.ย.61-30 พ.ย.62 (มติครม.18 ก.ย.2561) ซึ่งภาครัฐตั้งงบคืนแวต เป็นเงิน 5,000 ล้านบาท
จึงสรุปได้มาตรการแจกเงินสดทันใจไปถึงมือผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการฯ โดยที่ผู้รับไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากไปยืนกดเงินหน้าตู้เอทีเอ็ม หรือนำไปใช้ซื้อสินค้าในร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านค้าที่ร่วมโครงการฯ ครม.ประยุทธ์ ต้องจัดสรรเม็ดเงินลงไป 57,602 ล้านบาท
ส่วนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะการแจกเงิน ต้องถือว่าเม็ดเงินที่ ครม.ประยุทธ์ อัดฉีดเงินไปถึงมือเกษตรกรสูงกว่าเงินที่แจกช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยกว่า 1 เท่าตัว และน่าจะมากกว่ารัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา
หากไล่เลียงตามขนาดเม็ดเงินที่อนุมัติจัดสรร พบว่า ครม.ประยุทธ์ แจกเงินให้ชาวนา 4.05 ล้านราย สูงที่สุดเมื่อเทียบกับเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ผ่านมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2561/2562 ด้านการตลาด (มติครม.24 ก.ค.2561)
ทั้งนี้ ภายใต้กรอบวงเงินช่วยเหลือชาวนาที่อนุมัติไว้ 100,648 ล้านบาท หากจำแนกเป็นเงินที่แจกไปถึงชาวนาโดยตรงพบว่า เป็นเงินสูงถึง 61,810 ล้านบาท แบ่งเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 12 ไร่ วงเงิน 57,722 ล้านบาท และเงินค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าว ตันละ 1,500 บาท วงเงิน 4,088 ล้านบาท
@ชาวนา จ.กาฬสินธุ์ รอกดเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวข้าว ปีการผลิต 2561/62 วันที่ 23 พ.ย.2561 ขอบคุณภาพ ผู้จัดการออนไลน์
รองลงมาเป็นโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง (มติครม. 20 พ.ย.2561) ซึ่งเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าครองชีพให้ชาวสวนยางในพื้นที่สวนยางเปิดกรีดจริงไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ แบ่งเป็นเจ้าของสวนยาง 9.99 แสนราย ได้เงินไร่ละ 1,100 บาท และคนกรีดยาง 3.04 แสนคน ได้เงินไร่ละ 700 บาท รวมแล้งโครงการนี้ต้องใช้งบอุดหนุน เป็นเงิน 18,071 ล้านบาท
ถัดมาเป็นโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต (มติครม.10 ต.ค.2561) เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำ ซึ่งส่งผลให้ราคาอ้อยลดลง โดย ครม.ประยุทธ์ อนุมัติงบแจกเงินค่าอ้อยช่วยเหลือให้ชาวไร่อ้อย 3.4 แสนราย ในอัตรา 120 บาท/ตันอ้อย เป็นเงิน 15,600 ล้านบาท
ครม.ประยุทธ์ ยังอนุมัติดำเนินงานโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน (มติครม.4 ธ.ค.2561) โดยจ่ายเงินช่วยเหลือให้ชาวสวนปาล์ม 1.5 แสนราย ไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ เป็นเงิน 3,375 ล้านบาท พร้อมทั้งอนุมัติโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบ 1.5 หมื่นราย ที่ได้รับผลกระทบจากการลดปริมาณการรับซื้อใบยาสูบเฉพาะฤดูการผลิต2561/2562 (มติครม.4 ธ.ค.2562) เป็นเงิน 159 ล้านบาท
ขณะที่ในช่วงต้นปี ครม.ประยุทธ์ ได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา ปี 2560/61 ภายใต้มาตรการรักษาเสถียรภาพสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 7 แสนไร่ (มติครม.27 มี.ค.2561) โดยแจกเงินอุดหนุนอัตราไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ เป็นเงิน 1,400 ล้านบาท
นอกจากการจ่ายเงินอุดหนุนชาวนา ชาวสวนยาง ชาวไร่อ้อย ชาวสวนปาล์ม และคนปลูกยาสูบแล้ว ครม.ประยุทธ์ ยังอนุมัติมาตรการลดภาระหนี้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อย (มติครม.31 ก.ค.2561) โดยลดดอกเบี้ย 3% สำหรับต้นเงินกู้ไม่เกิน 3 แสนบาท ให้เกษตรกร 3.81 ล้านราย ที่เป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
พร้อมทั้งขยายระยะเวลาการชำระหนี้เงินต้น หรือพักหนี้เงินต้น เป็นเวลา 3 ปี (1 ส.ค.2561-31 ก.ค.2564) โดยปี 2561/62 รัฐบาลต้องรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกรที่ 2.5% ต่อปี เป็นเงิน 16,305 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2562/63 และ 2563/64 รัฐบาลจะมีภาระชดเชยดอกเบี้ยอีกกว่า 32,000 ล้านบาท
เท่ากับว่าเม็ดเงินที่ ครม.ประยุทธ์แจกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อนจากราคาผลผลิตตกต่ำ และรับภาระชดเชยดอกเบี้ยตามโครงการลดหนี้ให้เกษตรกรในปี 2561 มีเม็ดเงินสูงถึง 116,720 แสนล้านบาท
ไม่เพียงเท่านั้น ครม.ประยุทธ์ ยังแจกเงินเข้ากระเป๋ากลุ่มคนอีก 2 กลุ่ม ได้แก่ อนุมัติเพิ่มค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) (มติครม.4 ธ.ค.2561) หรือการขึ้นเงินเดือนให้ อสม. กว่า 1 ล้านคน จาก 600 บาท/เดือน เป็น 1,000 บาท/เดือน ซึ่งทำให้รัฐบาลมีภาระเพิ่มขึ้น เป็นเงิน 4,158 ล้านบาท
รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) และการจ่ายบำเหน็จดำรงชีพ (มติครม.20 พ.ย.2561) โดยให้ข้าราชการบำนาญได้เงินเดือนเป็นไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน ซึ่งต้องใช้เงิน 559 ล้านบาท และขยายเพดานเงินบำเหน็จดำรงชีพให้ข้าราชการบำนาญที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป 1.6 แสนราย เพิ่มอีก 1 แสนบาท ทำให้รัฐบาลมีภาระเพิ่มขึ้น เป็นเงิน 24,700 ล้านบาท
สรุปได้ว่าเพียงแค่ปีเดียวเฮลิคอปเตอร์มันนี่ ที่ครม.ประยุทธ์ โปรยเงินลงมาจากฟ้า อัดฉีดเม็ดเงินเศรษฐกิจรากหญ้า ผู้มีรายได้น้อย และข้าราชการบำนาญ คิดเป็นเม็ดเงินสูงถึง 203,739 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ ประชาชนเกือบ 15 ล้านคนพึงพอใจกับการรอรับเงินช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ จะพบว่าในช่วง 4 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ ปัญหาความยากจน และหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นทุกปี
อีกทั้งความเหลื่อมล้ำรายได้ระหว่างคนรวย 10% แรก และคนจน 10% สุดท้าย ยังห่างกัน 19.29 เท่า (ดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาสภาพัฒน์ : 7 ธ.ค.2561) ส่วนความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินพบว่า 375.2 เท่า (ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล ศูนย์ศึกษาความเหลื่อมล้ำและนโยบายสาธารณะ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : 25 ธ.ค.2561)
จึงทำให้เกิดคำถาม และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังตามมาว่า เม็ดเงินที่ครม.ประยุทธ์แจกไปนั้น แท้จริงแล้วใครได้ประโยชน์ เพราะสุดท้ายแล้วเม็ดส่วนใหญ่จะไหลไปกองที่กลุ่มทุนค้าปลีกขนาดใหญ่ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจค้าปุ๋ย และค้ายาฆ่าแมลง
ซึ่งมีเจ้าของผูกขาดอยู่แค่ไม่กี่ตระกูลเท่านั้น?
ที่มา https://www.forbes.com/thailand-billionaires/list/
ที่มา : มติคณะรัฐมนตรี , สำนักข่าวอิศรารวบรวม ณ 28 ธ.ค.2561
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/