นักวิชาการชี้ “เหลือง-แดง” จุดเปลี่ยนชนบทและการเมืองไทย
ดร.ยุกติ ชี้ชนบทไทยก้าวพ้นชุมชนแบบเก่า วิทยุชุมชน-ปัญญาชนท้องถิ่นต่างมีบทบาท ดร.ผาสุกบอกการเลือกตั้งเปลี่ยนวิถีคิดชาวบ้าน ปรากฏการณ์ทักษิณโดนใจเพราะให้อย่างจับต้องได้ ดร.อภิชาติแจงเสื้อแดงไม่ได้เกิดจากปัญหาปากท้อง ถ้าไม่เข้าใจอาจปฏิรูปประเทศไม่ได้
วันนี้(18 ก.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรามูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา โครงการร่วมปฏิรูปประเทศไทยครั้งที่ 10/2553 เรื่อง “จุดเปลี่ยนชนบท จุดเปลี่ยนฐานการเมือง” มีนายวิลาส สุวี รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ , ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , นายอภิชาต ทองอยู่ ประธานมูลนิธิสวัสดี และศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมเสวนา
นายวิลาส กล่าวว่า ตั้งแต่ ปี 2533 ประชากรในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทำให้โครงสร้างของครัวเรือน ปรับเปลี่ยนมีครัวเรือนขยายเพิ่มมากขึ้น ทั้งประเภทอยู่คนเดียวหรือไม่ใช่ญาติ และเปลี่ยนบทบาทของผู้หญิงเป็นหัวหน้าครัวเรือน ซึ่งคนในชนบทย้ายเข้าสู่ชุมชนเมืองมากขึ้น
“ผลสำรวจความเดือดร้อนของประชากร ระหว่างวันที่ 18-24 มิ.ย. 53 ที่ผ่านมา ทั่วประเทศ พบว่า 14.5 % คิดว่าเป็นคนจน ซึ่งสาเหตุของความจนนั้น นอกเขตเทศบาล คิดว่า คือ ไม่มีทุนการประกอบอาชีพ และในกรุงเทพมหานคร คิดว่าขาดโอกาส การเรียนน้อย เกิดมาจน ขี้เกียจไม่ขวนขวาย ตามลำดับ”
นาย วิลาส กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ผลการสำรวจรายได้รายจ่าย พบว่า มีความห่างกันมากขึ้น ระหว่างชุมชนเมือง กับชุมชนชนบท เนื่องจาก โครงสร้างชนบทอยู่ในภาคเกษตร แต่จุดเด่นของสังคมเมืองคือ การบริการ ซึ่งจากสถานการณ์ความไม่สงบในบ้านเมืองเมื่อเร็วๆ นี้ คนในเมืองมองว่า ความขัดแย้งทางเมืองเป็นปัญหา 72 % ในขณะที่คนชนบทคิดเป็นปัญหาเพียง 58 %
ผศ.ดร.อภิชาติ กล่าวว่า จากผลวิจัยที่ได้สำรวจในเบื้องต้น เรื่อง ใครคือเสื้อเหลืองเสื้อแดง พบว่า ในด้านอาชีพ เสื้อแดง มีแนวโน้มเป็นเกษตรกร แรงงาน รับจ้างนอกระบบ ส่วนคนเสื้อเหลือง มีอาชีพ รับราชการ รัฐวิสาหกิจ ค้าขาย ส่วนการศึกษา คนเสื้อเหลืองจะสูงกว่าคนเสื้อแดง อยู่ในระดับอนุปริญญาตรีขึ้นไป และสำหรับรายได้ คนเสื้อเหลือง มีรายได้สูงกว่า แต่หากเทียบเส้นความยากจน ตามสำนักงานสถิติแห่งชาติ ไม่จัดว่าไม่มีคนกลุ่มใดเป็นคนจน แต่มีเพียงเศรษฐกิจต่างกันเท่านั้น
“สิ่งที่น่าสนใจคือ คนเสื้อแดงคิดว่ามีรายได้น้อยเพียง 18 % แต่คนเสื้อเหลืองบอกว่ายากจนกถึง 23 % ถือเป็นความเหลื่อมล้ำรุนแรงที่คนเสื้อเหลืองรู้สึกว่าห่างมากจนรับไม่ได้ มากกว่าเสื้อแดง ที่บอกว่า ห่างมากแต่พอรับได้”
ผศ.ดร.อภิชาติ กล่าวต่อว่า คนเสื้อแดงได้ประโยชน์จากประชานิยมอย่างชัดเจน จากโครงการ 30 บาท และกองทุนหมู่บ้าน เพราะอยู่นอกระบบประกันสังคม รายได้ผันผวนตามราคาพืชผล ไม่มีความมั่นคงทางด้านรายได้ โครงการต่างๆจึงสอดคล้องกับความต้องการ กลุ่มคนเหล่านี้จึงตอบรับนโยบายของพรรคไทยรักไทย ส่วนสาเหตุการประท้วง คือ ต่อต้านการเมืองจากการแทรกแซงจากทหาร ปัญหาสองมาตรฐานและความยุติธรรม การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนไม่มีคนใดเลือกเป็นเหตุผลจากการ ต่อสู้
“สรุปได้ 4 ประเด็นว่า ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ไม่ได้เป็นสาเหตุของความคับข้องใจของคนเสื้อแดง 2.ความเหลื่อมล้ำไม่ได้เป็นที่มาของคนเสื้อแดง 3.ฐานะเศรษฐกิจเสื้อแดงน้อยกว่าเสื้อเหลือง นโยบายประชานิยม จึงตอบโจทย์มากกว่า 4.หากปฏิรูปประเทศเน้นที่ความไม่เป็นธรรมในการกระจายรายได้เพียงอย่างเดียว ไม่แน่ใจว่าจะแก้ได้ นอกจากนั้นความรู้สึกโดนเหยียดหยาม ว่าเป็นคนอีสาน เป็นสีแดง ความรู้น้อย รู้สึกว่าสังคมมีการแบ่งชนชั้น ไม่ยุติธรรม เพราะคนเสื้อแดงทำอะไรก็ผิด รู้สึกต้องต่อสู้ ประท้วงเพื่อประชาธิปไตย ขอสิทธิคืน”
ดร.ยุกติ กล่าวว่า อยากให้ทำความเข้าใจชนบทในภาพใหม่ว่า ปัจจุบันชนบทเป็นตัวแบบชนชั้นกลางรุ่นใหม่และเป็นพลเมืองที่กำลังตื่นตัว เพราะจากการเมืองไทยหลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 เกิดเป็นการเมืองของชนชั้นกลางเก่า คือ เสื้อเหลือง กับชนชั้นกลางใหม่ เป็นกลุ่มเสื้อแดง เกิดขึ้นคู่ขนาน เป็นปรากฎการณ์ที่เปลี่ยนไป
“โดยกลุ่ม ชนชั้นกลางใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิ อาจจะประชดตนว่า เป็น ไพร่ เพื่อชี้ความเหลื่อมล้ำทางการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ มาจากชุมชนท้องถิ่น จากเครือข่ายทางการเมืองแบบใหม่ ก้าวพ้นชุมชนแบบเก่า มีแนวความคิดที่ถูกปลูกฝังจากวิทยุชุมชน ปัญญาชนท้องถิ่น ต่อยอดกับคนที่เป็นปัญญาชนในกรุงเทพที่เข้าไปให้ข้อมูลข่าวสารสู่ชนบทในการ ต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและสิ่งที่ควรจะได้รับมากขึ้น มากกว่าการรอคอยไม่มีปากเสียงเช่นเดิม และมองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีสิทธิเรียกร้อง”
นายอภิชาต กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนของชนบท แต่เป็นเพราะ วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดกระแสโลกาภิวัฒน์ ครัวเรือนเปิดกว้าง ร่วมสมัย และผลจากการเมือง โครงสร้างการเมืองเปลี่ยนไปที่คอร์รัปชั่นอย่างมหาศาล และการเปลี่ยนแปลงที่ขับเคลื่อนแนวประชานิยมที่ไม่มุ่งสร้างเงื่อนไขการ สร้างสังคมสวัสดิการอย่างถาวรทำให้เกิดการผลิตซ้ำของระบบอุปถัมภ์ใหม่
“ขณะนี้ชาวนากำลังออกจากอาชีพดั้งเดิม เป็นปัญหาที่ต้องรอให้จัดการสะสาง สร้างทัศนคติขึ้นใหม่ จากที่ชนบท ถูกกดทับจากพาณิชย์ จากนักการเมืองท้องถิ่นที่ใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไข สร้างเกิดความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพได้ยาก”
ศ.ดร.ผาสุก กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมไทยเกิดขึ้นกว่า 15 ปี หากดูสังคมโดยรวม มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทำให้คนท้องถิ่น มีสิทธิ์เลือกตั้ง กระบวนการเลือกตั้งส่งผลกับวิถีชีวิต ทัศนคติ สำคัญ คือ ได้เรียนรู้ ว่าเป็นช่องทางนำมาซึ่งงบประมาณต่างๆ ที่สามารถเรียกร้อง ให้มีบทบาทตัดสินใจนโยบายต่างๆ ในกระบวนการโหวตและสามารถจะปรับปรุงชีวิตได้ดีขึ้น
“ปรากฏการณ์ทักษิณจึงทำให้เกิดความมุ่งหวังของชาวบ้าน ว่าไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เพราะรัฐบาลยุคนั้นได้ทำทุกอย่างที่ได้สัญญาไว้ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านได้รับรู้ และสัมผัสได้จริง จุดประกายอะไรที่ทำให้เกิดกระบวนการขึ้น ซึ่งต่อไป การต่อสู้ของคนเสื้อแดงไม่ใช่เรื่องความยากจน แต่เป็นเรื่องของการไม่มีทางออกเมื่อผู้นำจากไป นำไปสู่ความต้องการกลับไปสู่การเมืองก่อนปี 2516 ”
ที่มา: http://www.thaireform.in.th/news-strong-communities/1580-2010-07-18-10-04-06.html