ดูตัวเลขชัดๆ tcas 5 รอบ ยอดสมัครไม่ถึง3แสน นศ.ล่องหน
เปิดข้อมูลสาขาวิชา-จำนวนรับ 5 รอบ TCAS62 ผู้ลงทะเบียนต่ำ ไม่ถึง 3 แสนคน ‘มอ.’ รับนศ.รวมมากสุด 3.6 หมื่นคน –‘เทคโนฯ สุรนารี’ 44 คณะเปิดรับสูงสุด ด้าน ทปอ.ห่วงมหาวิทยาลัยไม่ปรับตัว มีสิทธิถึงจุดเผา
กรณีข้อกังวลของสถานการณ์อุดมศึกษาไทยในปีการศึกษา 2562 ที่จำนวนนิสิตนักศึกษาลดน้อยลง จนทำให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งจำเป็นต้องหาวิธีปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด
ซึ่งข้อมูลจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) อ้างอิงฐานข้อมูลจากระบบการรับเข้าระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย (TCAS Requirement: TREQ) ได้รวบรวมข้อมูลมหาวิทยาลัย คณะ สาขาวิชา องค์ประกอบ เกณฑ์ และจำนวนรับนิสิตนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยทั้ง 92 แห่งที่เข้าร่วม TCAS62 พบว่า มีจำนวนรับรวมทั้งสิ้น 390,120 คน ประกอบด้วย
รอบที่ 1 จำนวน 129,247 คน
รอบที่ 2 จำนวน 99,320 คน
รอบที่ 3 จำนวน 69,441 คน
รอบที่ 4 จำนวน 62,406 คน
และรอบที่ 5 จำนวน 29,706 คน
ขณะที่ระบบการลงทะเบียน ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2561 มีจำนวนผู้ลงทะเบียนในระบบ TCAS ทั้งสิ้นแล้วจำนวน 264,227 คน และมีผู้สมัครที่ยังรอการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมอีก จำนวน 134 คน
จำนวนที่แตกต่าง มีผู้ลงทะเบียนในระบบไม่ถึง 300,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมานี่เอง ทำให้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ออกมาระบุว่า มหาวิทยาลัยปี 2562 เผาจริง!!! เด็กมีจำนวนน้อยลง เด็กไม่สนใจที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เพราะเทคโนโลยีกว้างไกล เด็กมีความรักอิสระมากขึ้น
และเมื่อลงรายละเอียดข้อมูลการคัดเลือก จะเห็นว่า
รอบที่ 1 Portfolio เป็นรอบที่มีจำนวนสถาบันเข้าร่วมมากที่สุด มีสาขาวิชา/หลักสูตรที่เปิดรับมากที่สุด และมีจำนวนรับรวมมากที่สุด รองลงมาคือในรอบที่ 2 รอบที่ 3 และรอบที่ 4 ตามลำดับ โดยในรอบที่ 1 นั้นมีจำนวนสถาบันที่เปิดรับ 68 สถาบัน จำนวนคณะ 721 คณะ มีจำนวนสาขาวิชา/หลักสูตร 4,692 สาขาวิชา/หลักสูตร คิดเป็นจำนวนรับรวมทั้งสิ้น 129,247 คน
รอบที่ 2 การรับแบบโควตา มีจำนวนสถาบัน 67 สถาบัน จำนวนคณะ 712 คณะ จำนวนสาขาวิชา/หลักสูตร 4,575 สาขาวิชา/หลักสูตร คิดเป็นจำนวนรับรวม 99,320 คน
รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน ซึ่งมีจำนวนสถาบัน 65 สถาบัน จำนวนคณะ 717 คณะ จำนวนสาขาวิชา/หลักสูตร 3,868 สาขาวิชา/หลักสูตร คิดเป็นจำนวนรับรวม 69,441 คน ตามลำดับ
รอบที่ 4 การรับแบบแอดมิชชัน มีจำนวนสถาบัน 64 สถาบัน จำนวนคณะ 667 คณะ จำนวนสาขาวิชา/หลักสูตร 3,741 สาขาวิชา/หลักสูตร คิดเป็นจำนวนรับรวม 62,406 คน
รอบที่ 5 การรับตรงอิสระมีจำนวนสถาบันที่เข้าร่วม 58 สถาบัน มีจำนวนคณะ 509 คณะ จำนวนสาขาวิชา/หลักสูตร 2,815 สาขาวิชา/หลักสูตร และจำนวนรับรวม 29,706 คน
ทั้งนี้ มีสถาบันจำนวนไม่น้อยที่แสดงความประสงค์จะเปิดรับในรอบที่ 5 แต่ได้ส่งข้อมูลมาเพื่อสงวนสิทธิ์การเปิดรับ และปรับเปลี่ยนจำนวนรับในภายหลัง
สำหรับหลักสูตรนานาชาตินั้น มีสถาบันที่เปิดรับ 12 สถาบัน คิดเป็นจำนวนคณะ 46 คณะ จำนวนสาขาวิชา/หลักสูตร 104 สาขาวิชา/หลักสูตร และจำนวนรับรวม 5,071 คน และโครงการทุนเต็มจำนวน มีสถาบันที่เปิดรับ 4 สถาบัน คิดเป็นจำนวนคณะ 9 คณะ จำนวนสาขาวิชา/หลักสูตร 16 สาขาวิชา/หลักสูตร และจำนวนรับรวม 172 คน ตามลำดับ
มอ.รับนักศึกษารวมมากสุด 3.6 หมื่นคน
ทั้งนี้ สถาบันที่มีจำนวนรับรวมมากที่สุด ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) (จำนวน 36,650 คน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (22,017 คน) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (19,973 คน) มหาวิทยาลัยพะเยา (17,728 คน) และ มหาวิทยาลัยบูรพา (17,633 คน) ตามลำดับ
จะเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสถาบันที่มีจำนวนรับมากที่สุดในรอบที่ 1 รอบที่ 2 รอบที่ 3 และรอบที่ 5 คิดเป็นจำนวน 12,805 คน 9,905 คน 4,872 คน และ 4,518 คน ตามลำดับ
โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีจำนวนรับมากที่สุดในรอบที่ 3 คิดเป็นจำนวน 5,426 คน
สถาบันที่มีจำนวนคณะที่เปิดรับมากที่สุด ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (เปิดรับจำนวน 44 คณะ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (37 คณะ) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (35 คณะ)มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (33 คณะ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยบูรพา (31 คณะ เท่ากัน)
ชี้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว-นศ.ลดเป็นลำดับ
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราไว้ก่อนหน้านี้ โดยมองว่า จำนวนนักศึกษาที่ลดลงนั้น ก็ลดลงเป็นลำดับ ไม่ได้ทีละเยอะแยะ ดังนั้น ฝ่ายผลิตก็คือมหาวิทยาลัยต้องปรับตัว เพราะนักศึกษาไปใช้กลไกอื่นในการเรียนรู้ เช่น หากอยากรู้เฉพาะเรื่องก็ไปเรียนในที่ต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว
" มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว เพราะเราไม่ได้มีหน้าที่ให้ดีกรีเท่านั้น สามารถให้ความรู้ด้านอื่นๆ ได้ คิดว่าเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยต้องปรับให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไป จึงมองเป็นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง"
ส่วนที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ปัจจุบันก็ยังไม่เห็นภาพชัดเหมือน ทปอ. เพราะต้องรอผลการรับสมัครทีแคสรอบ 2 หรือรอบโควต้าก่อน โดยในส่วน ทปอ.มรภ. ที่ผ่านมา พบว่า ได้มีการปรับหลักสูตร และปิดบางหลักสูตร พร้อมกับเชื่อว่า ปัญหาเด็กลดลงไม่ใช่เพิ่งมาเห็นปัญหา แต่เป็นมา 2 ปีแล้ว และคงถึงจุดต่ำสุด ปี 2562 คาดจะไม่ลดลงไปกว่านี้
(อ่านประกอบ:จำนวนนศ.ลดไม่น่ากังวล ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ชี้เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว)