ไทม์ไลน์พูดคุยดับไฟใต้ ดีเดย์ 15 ปีปล้นปืน
สถานการณ์ไฟใต้ที่ร้อนแรงขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งใกล้ครบวาระ 15 ปีเหตุการณ์ปล้นปืน 413 กระบอก จากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 ทำให้หลายคนอาจจะมองว่าช่วงเวลานับจากนี้คงจะมีแต่ข่าวความรุนแรง
แต่แท้ที่จริงแล้ว ในวาระครบรอบ 15 ปีปล้นปืนครั้งนี้ จะไม่ได้มีแต่ข่าวร้ายหรือข่าวในแนวสิ้นหวังเท่านั้น เพราะในวันที่ 4 ม.ค.ปีหน้า จะเป็นวันดีเดย์เดินเครื่องกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯรอบใหม่ ซึ่งเป็นความหวังดับไฟใต้ทั้งของคนในพื้นที่และคนไทยทั้งประเทศ
จะว่าไป สาเหตุที่สถานการณ์กลับมาร้อนระอุในช่วงนี้มีหลายเหตุผล นอกจากใกล้วาระ 15 ปีปล้นปืนแล้ว ยังปรากฏว่าปีนี้ฝนตกน้อยในพื้นที่ ไม่เหมือนปีก่อนๆ (ทุกปีสถิติเหตุรุนแรงช่วงนี้จะลดลงเพราะน้ำท่วม) และที่สำคัญมีความเคลื่อนไหวเรื่องพูดคุยสันติสุขฯ อาจทำให้กลุ่มต้านต้องแสดงตัว และเร่งก่อเหตุ
สำหรับกระบวนการพูดคุยฯที่จะเริ่มเดินหน้ากันใหม่ตั้งแต่ต้นปี 62 ในส่วนของรัฐบาลไทย นอกจากจะมีคณะพูดคุยฯชุดใหม่ที่มี พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นหัวหน้าคณะแล้ว ยังมีการตั้ง "สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" ใช้ชื่อย่อว่า "สล.คพส." ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีด้วย โดย สล.คพส.จะทำหน้าที่ประเมินสถานการณ์ในเชิงยุทธศาสตร์ของการพูดคุยฯ รวมทั้งประสานงานกับคณะทำงานระดับพื้นที่ และองค์กรต่างประเทศ
โดย สล.คพส. ขณะนี้จัดตั้งเสร็จสิ้นแล้ว เพิ่งประชุมนัดแรกไปเมื่อวันจันทร์ที่ 24 ธ.ค. และได้กำหนดไทม์ไลน์ของการพูดคุุยฯในปี 62 เอาไว้
เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 15 ปีเหตุการณ์ปล้นปืน คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ จะพบปะหารือเต็มคณะกับผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยคนใหม่ ซึ่งก็คืออดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลเซีย โดยวาระการหารือคือการวางกรอบการทำงานร่วมกัน
จากนั้นวันที่ 8 ม.ค. คณะพูดคุยฯที่นำโดย พล.อ.อุดมชัย จะหารือร่วมกับ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งรับผิดชอบคณะประสานงานระดับพื้นที่ของกระบวนการพูดคุยฯ
รุ่งขึ้นวันที่ 9 ม.ค. จะมีการแถลงข่าวใหญ่ต่อสื่อมวลชน ภาคประชาสังคม และผู้นำกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) จากนั้นวันที่ 11 ม.ค. จะเปิดแถลงข่าวต่อสื่อไทยและสื่อต่างประเทศ โดยการแถลงข่าวทั้ง 2 ครั้ง มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงแนวทางการทำงานและรับฟังความคิดเห็น
วันที่ 24 ม.ค. จะมีการประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นแนวทางการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้และแนวทางการทำงานของคณะพูดคุยฯ กับสถานทูต 5 ประเทศ
ส่วนในเดือน ก.พ. จนถึง ก.ย. ก็จะมีวาระงานตลอดทุกเดือน ทั้งการลงพื้นที่ การรับฟังความคิดเห็น การเปิดเวทีวิชาการ ควบคู่กับการพูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐที่จะเดินหน้าต่อไปตามกรอบการทำงานที่กำหนดเอาไว้
นี่คือความคืบหน้าของกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้ที่จะมีขึ้นในปีหน้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแม้จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในบ้านเรา กระบวนการพูดคุยฯก็จะไม่หยุดชะงัก
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกไทม์ไลน์จากรายการล่าความจริง เนชั่นทีวี 22
อ่านประกอบ : นายกฯตั้ง "สำนักเลขาฯ" คุมยุทธศาสตร์พูดคุยดับไฟใต้ เพิ่มบทบาทสันติบาล!