ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ....
ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ....
วันที่ 25 ธันวาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมเสนอว่า ปัจจุบันกลุ่มบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ เพศสภาพ หรือมีการแสดงออกที่แตกต่างจากเพศโดยกำเนิด ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้ใช้ชีวิตร่วมกันดั่งครอบครัวทั่วไป แต่ไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิและหน้าที่ในการเป็นคู่ชีวิต เพราะการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ระบุว่าจะต้องเป็นการสมรสระหว่างชายและหญิงเท่านั้น (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448) ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งเพศ ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชน และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสังคมปัจจุบัน ดังนั้น การบัญญัติให้มีกฎหมายรองรับสิทธิในการสร้างครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ จึงเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้มีความครอบคลุม อีกทั้งยังมีความสอดคล้องกับสภาวการณ์ของสังคมในปัจจุบันที่เปิดกว้างและยอมรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยการจัดทำร่างพระราชบัญญัติฯ จึงมีความจำเป็นต้องตรากฎหมายใน 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ ประเด็นที่ 1 : กำหนดบทนิยาม ผู้รักษาการตามกฎหมาย การจดทะเบียนคู่ชีวิต ประเด็นที่ 2 : ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิต ประเด็นที่ 3 : การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต ประเด็นที่ 4 : การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต มรดก และอายุความ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... ประกอบด้วย 6 หมวด 44 มาตรา ดังนี้
1. อารัมภบท (มาตรา 1 – 4 ) กำหนดเงื่อนเวลาในการบังคับใช้กฎหมาย คำนิยามสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะ คำว่า “คู่ชีวิต” รวมทั้งกำหนดรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้
2. หมวด 1 การจดทะเบียนคู่ชีวิต (มาตรา 5 – 20) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการจดทะเบียนคู่ชีวิต ตลอดจนความเป็นโมฆะของการจดทะเบียนคู่ชีวิต
3. หมวด 2 ความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิต (มาตรา 21 – 24) กำหนดสิทธิและหน้าที่ในความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิต
4. หมวด 3 ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต (มาตรา 25) กำหนดสิทธิและหน้าที่ในการจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต
5. หมวด 4 การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต (มาตรา 26 – 41) กำหนดเหตุที่ทำให้การเป็นคู่ชีวิตสิ้นสุดลง หลักเกณฑ์การสมัครใจเลิกกันจากการเป็นคู่ชีวิต การขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนคู่ชีวิต และเหตุแห่งการฟ้องเลิกการเป็นคู่ชีวิต ตลอดจนผลสืบเนื่องจากการสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต
6. หมวด 5 มรดก (มาตรา 42- 43) กำหนดสิทธิและหน้าที่ในการรับมรดกของคู่ชีวิต
7. หมวด 6 อายุความ (มาตรา 44) กำหนดอายุความสิทธิเรียกร้องระหว่างคู่ชีวิตภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้