สมัชชาคนจนจี้รัฐสาง 13 ปัญหาเดิม รับปากแล้วไม่ทำ ขู่เจอม็อบใหญ่
“สาทิตย์” รับเร่งแก้ 13 ปัญหาสมัชชาคนจน เขื่อนปากมูล-กรณีพิพาทที่ดิน-สถาบันความปลอดภัยแรงงาน-แม่เมาะ 21 ก.ค.ลงเขื่อนท่าแซะ ส่วนแก่งเสือเต้นรับเรื่องให้นายกฯ แกนนำมั่นใจผลเจรจา 60% และไม่หวังพึ่ง คปร.เพราะยังไม่เชื่อมั่น บอกถ้ารัฐทำไม่ได้เหมือนพูด เตรียมเจอม็อบชาวบ้านครั้งใหญ่
วันนี้(16 ก.ค.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน“การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มองค์กรและเครือข่ายภาคประชาชน(กลุ่มสมัชชาคนจน)” โดยมีการพิจารณา 13 กรณีปัญหา
รัฐรับปากแก้ทุกปัญหาสมัชชาคนจน-สั่งเปิดประตูปากมูล
กรณีเขื่อนปากมูล สมัชชาคนจนเสนอให้เร่งรัดเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนทันที เพราะเคยมีมติคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี 18 พ.ค. 52 ว่ากรณีที่ระดับน้ำในเขื่อนมีอัตราการไหลไม่ถึง 500 ลบ.ม.ต่อวินาที ให้เปิดประตูระบายน้ำ 8 บาน แต่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลฯ ได้ประชุมวันที่ 7 มิ.ย. 53 ปรับเกณฑ์การเปิดประตูระบายน้ำเป็นให้เปิดประตูระบายน้ำเมื่อวัดอัตราการไหลของน้ำที่สถานีสะพานเสรีประชาธิปไตยสูงถึง 500 ลบ.ม.ต่อวินาที ต่อเนื่อง 3 วัน และให้ประมงจังหวัดเฝ้าติดตามพฤติกรรมของปลาในลำน้ำ หากอัตราการไหลของน้ำยังไม่สูงถึงที่กำหนดแต่มีการอพยพของปลาปริมาณมาก ให้ส่งเรื่องไปยังผู้ว่าฯเพื่อสั่งการต่อไป
นางสาวนฤมล ทับชุมพล ตัวแทนคณะอนุกรรมการศึกษาข้อมูลงานวิจัยและข้อเท็จจริงการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล กล่าวว่า ฐานคิดการสร้างเขื่อนปากมูลเพื่อการชลประทานด้านเกษตร แต่ไม่ได้เกิดประโยชน์ตามที่อ้าง ยังทำให้อาชีพประมงและเกษตรลดลง มีการอพยพไปทำงานต่างพื้นที่ เนื่องในชุมชนไม่มีอาชีพเพราะไม่สามารถหาปลาได้เหมือนเดิม ส่งผลกระทบให้ชุมชนเหลือแต่คนชราและเด็ก
“จากข้อมูลที่ได้ทำวิจัย การตัดสินใจเลื่อนเปิดประตูเขื่อนในปี 2553 ไม่เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบภัยแล้งและพลังงานตามที่อ้าง รัฐบาลจึงควรเร่งให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลโดยเร็ว”
ด้านนายกฤษกร ศิลารักษ์ แกนนำชาวบ้านปากมูล เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า การที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลฯ กลับมติโดยปรับกฎเกณฑ์การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนนั้น หมายความว่าจะมีการระบายน้ำออกกรณีที่น้ำกำลังจะท่วมตัวเมืองอุบลฯเท่านั้น ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งนี้เบื้องต้นในวันนี้พอใจที่นายสาทิตย์มีคำสั่งให้เปิดประตูเขื่อนตามมติเดิม อย่างไรก็ตามยังไม่มั่นใจว่าในระดับการปฏิบัติจะทำได้จริงหรือเป็นเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจะติดตามต่อไป อย่างไรก็ตามการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนถาวรจะทำให้ชาวบ้านกลับสู่วิถีชีวิตเดิมได้ ซึ่งชาวบ้านต้องสู้ต่อไป
ผู้ป่วยจากงานทวง“สถาบันความปลอดภัย”-เยียวยาชาวบ้านแม่เมาะ
นางสมบุญ ศรีคำดอกแค แกนนำเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เครือข่ายฯ มีข้อเรียกร้อง 4 เรื่อง 1.ตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมการยกร่างสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน โดยประชาชนมีส่วนร่วม 2.ขอให้อพยพชาวบ้านบริเวณโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง อีก130 ครัวเรือน ที่เหลือออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยการตั้งกองทุนฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาทางการอ้างว่าหากตั้งกองทุนต้องตั้งคณะกรรมการก่อน
3.การเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนและคลินิกโรคจากการทำงาน ซึ่งนโยบายดีแต่มีปัญหาการปฏิบัติ เช่น ประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึงทำให้แรงงานไม่รู้สิทธิ, นายจ้างไม่ส่งตัวแทนหรือยื่นสิทธิให้เข้ากองทุนเงินทดแทน แต่ผลักเข้าประกันสังคม, เงื่อนไขการอุทธรณ์ระบุว่าต้องรุนแรงและเรื้อรังเท่านั้น และการสมัครเป็นผู้ประกันตนของผู้ตกงาน ให้ลูกจ้างสมทบเฉพาะตัวเองเพื่อลดภาระ 4.การเยียวยาเร่งด่วนเป็นรายกรณีในพื้นที่ จ.ระยอง 3 ราย กับ 1 กรณีเลิกจ้าง โดยไม่ชดเชยตามกฎหมาย
ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติให้กระทรวงแรงงานเป็นรับผิดชอบโครงการจัดตั้งคณะทำงานยกร่างสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ส่วนกรณีแม่เมาะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ไปสำรวจข้อมูลในพื้นที่และกำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจนในการดำเนินการ ส่วนการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเยียวยา คณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างใหม่เรียบร้อย่แล้ว ให้กระทรวงพลังงานติดตามความคืบหน้าแล้วตอบสมัชชาคนจน
ประเด็นการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคมจะไปประชาสัมพันธ์เพิ่มและทบทวนระเบียบที่ติดขัดให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องมากที่สุด ส่วนปัญหานายจ้างอาจต้องติดตามและบังคับใช้มาตรการลงโทษเด็ดขาด ส่วนการช่วยเหลือรายกรณีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาช่วยเหลือด่วน
นางสมบุญ เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า รู้สึกพอใจการตอบรับจากที่ประชุมครั้งนี้ แต่ที่ยังเป็นห่วงคือการส่งเสริมให้ความรู้เรื่องสิทธิแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงาน, อุปสรรคในการเรียกร้องค่าชดเชย และจำนวนแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ที่ยังมีน้อยมาก ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว
เร่งแก้กรณีพิพาทที่ดิน-สาทิตย์ลงเขื่อนท่าแซะ 21 ก.ค.
กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์ เช่น ดอนหลักดำ จ.ขอนแก่น เรียกร้องรัฐจ่ายค่าชดเชยชาวบ้าน, พื้นที่หนองยายโต๊ะ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี เรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาเรื่องแนวเขตไม่ตรงกันระหว่างราชการกับชาวบ้าน, พื้นที่โคกหนองกุง อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ มีการเรียกร้องให้ออกโฉนดแก่ชาวบ้านที่ไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนมรดกใบจอง โดย นายสาทิตย์ ให้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาก่อนการประชุมครั้งหน้า เช่น เรื่องการจ่ายเงินชดเชยให้พิจารณาเป็นกรณีไปเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว
สำหรับที่สาธารณะประโยชน์โนนหนองลาด จ.ขอนแก่น ที่เรียกร้องให้สอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อออกเอกสารสิทธิให้ชาวบ้าน 88 ราย มีการเสนอให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง(นสล.)เพื่อให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ประชุมให้แต่งตั้งคณะทำงานโดยมีตัวแทนสมัชชาคนจนร่วมด้วยเพื่อพิจารณาจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้าน1,000 กว่าไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนผังที่ดิน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. นี้
ส่วนกรณีน้ำท่วมนาข้าวโนนหนองลาด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งชาวบ้านระบุว่าเกิดจาก กฟผ. ปล่อยน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จึงเรียกร้องค่าเสียหายรายละ 50,000 บาท แต่ไม่ได้รับการตอบรับโดยอ้างว่าเกิดจากปริมาณน้ำฝนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และพื้นที่ดังกล่าวได้รับการเยียวยาจากรัฐเป็นค่าชดเชยทั้งที่เป็นเงิน เมล็ดพันธุ์และปุ๋ยไปแล้ว ที่ประชุมให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาโดยเร็ว, กรณีชาวบ้านขอซื้อที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์รวม 27 แปลงคืนจากราชพัสดุหนองน้ำพอง จ.ขอนแก่นในราคาซื้อเดิม ที่ประชุมมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าพบนายสาทิตย์วันที่ 16 ก.ค. และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง, กรณีอุทยานแห่งชาติภูพาน จ.กาฬสินธุ์ ประกาศเขตทับพื้นที่บ้านแก่งกะอามและบ้านดงบัง ที่ผ่านมาชาวบ้านเสนอให้จัดสรรที่ดินทำกินครัวเรือนละ 15 ไร่ 38 ครัวเรือน ซึ่งเรียกร้องไปหลายครั้งแต่ยังไม่เห็นรูปธรรม ครั้งนี้จึงต้องการให้ถอดถอนคณะทำงานชุดเดิม, กรณีสวนป่าดงมะไฟ จ.ยโสธร ชาวบ้านขอค่าชดเชยรื้อถอนตอไม้ยูคาลิปตัสและปรับสภาพให้เป็นป่าธรรมชาติภายหลังกรมป่าไม้คืนพื้นที่ให้ชาวบ้าน 318 ราย 2,501 ไร่ ในอัตราไร่ละ 3,000 บาท รวม 7,505,190 บาท ที่ประชุมให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาโดยเร็ว
กรณีปัญหาที่ดินในเครือข่ายประมงพื้นบ้านภาคใต้ ซึ่งมีความหลากหลายซับซ้อนเชิงพื้นที่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า เบื้องต้นให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาและเสนอมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนกรณีเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร ตนจะลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาชาวบ้านในวันที่ 21 ก.ค. นี้ สำหรับกรณีเขื่อนแก่งเสือเต้นที่เป็นประเด็นเพิ่มเติม จะรับข้อเสนอเพื่อยื่นต่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
สมัชชาคนจนขู่ทำไม่ได้อย่างพูด เตรียมรับมือ “ม็อบใหญ่ชาวบ้าน”
ด้านนายสวาท อุปฮาด ผู้ประสานงานเครือข่ายสมัชชาคนจน เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนภายหลังการประชุมว่า โดยภาพรวมข้อตกลงการเจรจาครั้งนี้พอรับได้ แต่เกรงว่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติของหน่วยงานเหมือนที่ผ่านมา ที่ตอบรับข้อเสนอดีแต่ไม่มีรูปธรรมการแก้ไขปัญหา
“เจรจาเป็นเพียงการลดการเผชิญหน้า ซึ่งทางสมัชชาคนจนเห็นว่าช่วยลดกระแสความรุนแรงได้ ทุกเรื่องที่ติงมาถ้าตั้งธงจาก 100% เรามั่นใจแค่ 60-70% ถ้าดูในพื้นที่มีมาตรการติดตามรองรับเรื่องพวกนี้หมดแล้วไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่ยังมีอยู่ตลอด หรือถ้าไม่ได้จริงๆการชุมนุมใหญ่ก็จำเป็น”
นายสวาท ยังกล่าวถึง การเชื่อมโยงปัญหาสู่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ(คปร.)ว่ายังไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องเข้าร่วมเพราะสมัชชาคนจนมีแนวทางแก้ปัญหาและจุดยืนที่ชัดเจน อีกทั้งกระบวนการดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับความเชื่อมั่น แต่ถ้าอนาคตทั้งเครือข่ายฯ และ คปร. มีความพร้อมมากขึ้นอาจพิจารณาใหม่ได้
แถลงการณ์ค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น
สมัชชาคนจนยังออกแถลงการณ์ค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น และให้ตรวจสอบวินัยผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่กรณีมีหนังสือถึงหน่วยราชการ สถานศึกษา รัฐวิสาหกิจ ในจังหวัดให้สนับสนุนเขื่อนแก่งเสือเต้น
แถลงการณ์ระบุว่า สมัยรัฐบาลชวลิต ยงใจยุทธ เคยมีมติ ค.ร.ม. 29 เม.ย.ให้ชะลอโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งอีก 4 เขื่อนที่ยังไม่ได้สร้างตามข้อเสนอของสมัชชาคนจน แต่ไม่นานนี้มีความพยายามปลุกกระแสเขื่อนแก่งเสือเต้นโดยอ้างสถานการณ์ความแห้งแล้งในภาคเหนือตอนล่าง ทั้งที่การศึกษาจำนวนมากบ่งชี้ว่าเขื่อนดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งและน้ำท่วมในลุ่มน้ำยมอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งไม่เหมาะสมทั้งทางเศรษฐศาสตร์และระบบนิเวศน์
โดยสมัชชาคนจน เรียกร้องรัฐบาลว่า 1.รัฐบาลต้องยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นทันที เพราะจะทำลายผืนป่าสักทองธรรมชาติขนาดใหญ่อันทรงคุณค่าของโลก และวิถีชีวิตของประชาชนกว่า 3,000 ครัวเรือน เพื่อแลกกับการแก้ปัญหาความแห้งแล้งและน้ำท่วมที่ไร้ประสิทธิภาพ 2.ให้มีการตั้งกรรมการตรวจสอบทางวินัยผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กรณีมีคำสั่งให้ลงชื่อและระดมคนสนับสนุนเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน .