สสส.ลงนามความร่วมมือ 3 ปี นำร่องสถานสงเคราะห์ 5 แห่งเพิ่มทักษะชีวิตเยาวชนก่อนออกสังคม
สสส.-กรมเด็กฯ-สมาคมวางแผนครอบครัวฯ ลงนามความร่วมมือ 3 ปี นำร่องสถานสงเคราะห์ 5 แห่งเตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนออกสู่สังคม เน้นพัฒนาทักษะชีวิต/อาชีพ ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน พึ่งพิงตนเองได้ พร้อมขยายผลสร้างกลไกเสริมสร้างศักยภาพครอบคลุมสถานสงเคราะห์อีก 16 แห่ง
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2561 ที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน(ดย.) มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในสถานรองรับเด็กของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ภายใต้โครงการเตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนออกสู่สังคมอย่างเป็นสุข ระหว่างกรมกิจการเด็กและเยาวชน(ดย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท.)
ดร.สมคิด สมศรี อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนในสถานรองรับเด็ก(สถานสงเคราะห์) ตั้งแต่แรกเกิดถึง 18 ปี จำนวน 30 แห่งทั่วประเทศ มีเด็กในความอุปการะ 6,513 คน เด็กในสถานสงเคราะห์มีความหลากหลาย เช่น เด็กกำพร้า พิการ ครอบครัวยากจน ครอบครัวไม่พร้อมด้านสภาพแวดล้อมและไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของเด็ก เด็กติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น บางรายมีความเปราะบางและเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อทางสังคมได้ง่าย เมื่อออกสู่โลกภายนอก จึงมักพบปัญหาร่วมของเด็ก 2 เรื่อง คือ ขาดความภาคภูมิใจในตนเอง ขาดแรงบันดาลใจและการตั้งเป้าหมายในชีวิต และขาดการฝึกฝนทักษะชีวิตในหลายๆ ด้าน ซึ่งการแก้ปัญหา ดย.ได้ดำเนินตามแผนกลยุทธ์กรมกิจการเด็กและเยาวชน ฉบับที่ 1 ( พ.ศ.2560 – 2564 ) ที่มุ่งเสริมสร้างทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนตามช่วงวัย โดยเน้นการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต มุ่งให้เกิดวินัยและคุณธรรม มีความรับผิดชอบเรื่องการดูแลสุขภาพทางเพศ และมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษา การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ดย. ได้กำหนดให้มีนโยบายการพัฒนาระบบคุณภาพสถานรองรับเด็ก ในสถานรองรับเด็กนำร่อง ทั้ง 5 แห่ง 1.สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านปากเกร็ด 2.สถานสงเคราะห์เด็กหญิงอุดรธานี 3.สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านราชสีมา 4.สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านเชียงใหม่ 5.สถานสงเคราะห์เด็กปัตตานี ตามเป้าหมายของโครงการ เพื่อพัฒนาสู่เป็นต้นแบบในการจัดสวัสดิการด้านเด็กและเยาวชนและเป็นศูนย์การเรียนรู้ และสามารถขยายผลการดำเนินงานไปสู่สถานรองรับเด็กอื่นๆ ทั้ง 16 แห่ง ในประเภทสถานรองรับเด็กอายุ 6 - 18 ปี ทั้งหญิงและชาย จำนวน 2,620 คน รวมถึงการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรและระบบบริหารจัดการองค์กรที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพในเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กกลุ่มเปราะบาง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส และพัฒนาศักยภาพในการพึ่งตนเอง ผ่านระบบและกลไกการพัฒนาเด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์ที่ได้รับการเสริมสร้างศักยภาพ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภายในและภายนอกสถานสงเคราะห์ และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนสนับสนุนโครงการเตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนออกสู่สังคมอย่างเป็นสุข โดยมุ่งหวังที่จะเกิดการพัฒนาระบบคุณภาพสถานรองรับเด็ก โดยเน้นผลลัพธ์ที่ตัวเด็กและเยาวชน เกิดสถานรองรับเด็กต้นแบบ ที่สามารถขยายผลการดำเนินงานไปสู่สถานรองรับเด็กอื่นๆ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากร ผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงาน ในระบบบริการหลักของสถานรองรับให้มีความรู้ความสามารถในการเตรียมเด็กและเยาวชนออกสู่สังคม ที่สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติได้เป็นอย่างดี และสนับสนุนเกิดกิจกรรมที่มีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กและเยาวชนคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมภายนอก และมีความพร้อมที่จะออกไปใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจ เป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไปในอนาคต
ด้าน ศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล นายกสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท.) กล่าวว่า สวท. ตระหนักถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมเด็กเยาวชนออกสู่สังคม โดยการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจและสังคมให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานสงเคราะห์ เพื่อลดภาวะที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ช่วยให้มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต มีทักษะในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข สำหรับโครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี โดยเน้น 3 เรื่อง คือ 1. พัฒนากระบวนการและชุดความรู้สำหรับการพัฒนาระบบคุณภาพสถานรองรับเด็กนำร่องทั้ง 5 แห่งให้เป็นต้นแบบเพื่อการขยายผลการดำเนินงานไปสู่สถานรองรับเด็กอื่นๆ จนครบ 16 แห่ง2.พัฒนาบุคลากรผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานในระบบบริการหลักของสถานรองรับเด็ก 3. สนับสนุนให้สถานสงเคราะห์เป้าหมาย 5 แห่ง เป็นสถานสงเคราะห์เปิด โดยดำเนินการให้สถานรองรับเด็กทำงานแบบมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เกิดนวัตกรรม เครื่องมือเทียบระดับ (BENCHMARKING) จำนวน 2 ชุด (คู่มือเทียบระดับและคู่มือระบบคุณภาพสถานสงเคราะห์) ที่ครอบคลุมเรื่องการประเมินตนเอง (SELF-ASSESSMENT TOOLS) และคู่มือการพัฒนาบุคคลากรในระบบบริการหลัก (PROGRAMMING TOOLS) 5 โปรแกรม และมีบุคลากรดูแลเด็กที่มีศักยภาพตามตัวชี้วัดในระบบหลักทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านการเรียนรู้ ,ด้านการดูแลสวัสดิภาพ และความปลอดภัย, ด้านนันทนาการ และด้านการศึกษาและวิชาชีพ