จากดินเนอร์ พปชร. ถึงมาเลฯ 'มหาธีร์' ชี้ชัดพรรคการเมืองจัดระดมทุน เป็นประตูสู่การทุจริต?
“...ผู้คนอาจจะมองว่าการที่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงจะต้องมีการจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองให้อีกนั้นอาจจะไม่เป็นธรรมได้ ดังนั้น รัฐบาลก็ต้องมาพิจารณาถึงทางเลือกอื่นด้วย เช่นการให้พรรคการเมืองถามหาการบริจาคเงินจากผู้สนับสนุน แต่อย่างที่นำเรียนไปแล้วว่านั่นถือเป็นการเปิดประตูไปสู่การทุจริต...”
สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2561 พรรคพลังประชารัฐ จัดงานระดมทุนโต๊ะจีน 200 โต๊ะ โต๊ะละ 3 ล้านบาท ที่อิมแพคเมืองทองธานี โดยมี นายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ 4 รัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะแกนนำพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้ร่วมงานมีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นหัวหน้าคณะผู้จัดงาน รวมถึงมีนักการเมืองระดับชาติ และนักธุรกิจเข้าร่วมอย่างคับคั่ง จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ และทำให้พรรคการเมืองต้องออกมาประสานเสียงส่งไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการความเหมาะสมของการบริจาคเงินในครั้งนี้ (อ่านประกอบ:เปิดผังงานโต๊ะจีน 650 ล. พปชร. ‘ดร.อั๋น-เอก’เหมา 120 ล. คลัง-ทททโผล่ 69 ล.,หวั่นถูกตัดสิทธิ์การเมือง! 4 รมต.พปชร.ไม่ขึ้นพูดเวทีระดมทุนโต๊ะจีน-บิ๊กนักการเมืองพรึบ,เจาะขั้นตอนสอบโต๊ะจีน 650 ล.พปชร. ควานหาต้นตอผัง-วัดฝีมือ กกต.?)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้พยายามตรวจสอบรายงานข่าวสื่อมวลชนต่างประเทศ เพื่อดูว่ามีประเทศไหนในโลก ที่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาเรื่องการจัดกิจกรรมระดมทุนสนับสนุนพรรคการเมืองเหมือนในประเทศไทยบ้าง
เบื้องต้น ยังไม่พบว่า มีปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแสดงออกซึ่งท่าทีที่ชัดเจนของผู้นำประเทศ คือ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมในลักษณะการระดมเงินทุนสนับสนุนพรรคการเมือง และมีความพยายามในการหางานแก้ไขปัญหาเรื่องอย่างเป็นรูปธรรม
โดยมีรายงานจากสื่อในประเทศมาเลเซีย ในช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา นำเสนอข่าว ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เรียกหารือกับแนวร่วมพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลเพื่อจะหาทางออกในประเด็นการหาเงินสนับสนุนพรรคการเมืองว่าจะทำอย่างไรถึงจะโปร่งใส
โดยรายงานข่าวจาก www.thestar.com ระบุข้อมูลดังนี้
“ขณะนี้รัฐบาลยังไม่พบวิธีการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อที่จะหาวิธีที่พรรคการเมืองจะได้เงินสนุบสนุนโดยไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับปัจจัยที่จะเอื้อไปสู่การทุจริต” มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียระบุ
พร้อมทั้งกล่าวย้ำว่า เพราะฉะนั้นรัฐบาลมาเลเซีย จึงต้องเปิดรับฟังประชาพิจารณ์จากประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อที่จะหาวิธีว่าจะหาเงินสนับสนุนให้พรรคการเมืองอย่างใสสะอาดและเป็นธรรมอย่างไร
ทั้งนี้ จากถ้อยคำของมหาธีร์ ระบุชัดเจนว่า การระดมทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากเพื่อจะให้พรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมต่อไปได้ แต่อย่างไรก็ตามการบริจาคเงินเข้าพรรคการเมือง และการระดมทุนนั้นก็อาจจะเป็นประตูไปสู่การทุจริตเช่นกัน
ซึ่งกรณีดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ทางนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้พยายามเน้นย้ำเสมอว่า ในการบริหารพรรคการเมืองจะต้องไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น เพราะการทุจริตที่ใหญ่โตที่สุดมักจะเกิดขึ้นในกระบวนการทำงานของพรรคการเมือง
แต่อย่างไรก็ตาม จากการหารือกันเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา กับสภาบริหารของพรรคแนวร่วมแห่งความหวัง (Pakatan Harapan) มาเลเซีย เพื่อที่จะหาวิธีว่าจะบริหารพรรคการเมืองอย่างไรเพื่อจะไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้นนั้น ก็ยังไม่ได้คำตอบที่เป็นรูปธรรม
ดังนั้น มหาธีร์ จึงได้สั่งการให้ทางพรรคไปศึกษาเพิ่มเติมาว่าพรรคจะอยู่ได้อย่างไรโดยไม่ต้องไปยุ่งกับความช่วยเหลือจากพรรคการเมืองอื่นๆ
ทั้งนี้ เมื่อก่อนพรรคแนวร่วมแห่งความหวังนั้น เคยใช้แนวทางการจัดดินเนอร์ ระดมทุนเพื่อจะหาเงินทุนเข้าพรรคเช่นกัน แต่ตอนนี้ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ และขณะที่พรรคได้ถือครองอำนาจรัฐบาลอยู่นั้น พรรคแนวร่วมแห่งความหวัง ไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีรายงานอีกว่า เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลมาเลเซียยังได้ปฏิเสธเงินบริจาคจำนวน 100 ล้านริงกิต (776,630,000 บาท) จากบริษัทแห่งหนึ่งที่บริจาคให้ กองทุน Tabung Harapan (กองทุนเพื่อความหวัง) เนื่องจากมองว่าการบริจาคนั้น อาจจะแรงจูงใจอะไรบางอย่างซ่อนอยู่
โดยมหาธีร์ ได้พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า "ไม่ต้องการที่จะให้บริษัทนำเงินมาให้กองทุนโดยคาดหวังว่าจะได้รับอะไรบางอย่างกลับมา เพราะแบบนั้นก็เท่ากับการทุจริต ซึ่งในตอนนี้ ก็มีคำแนะนำมาจากทางรัฐบาลในหลายเรื่อง โดยเฉพาะคำแนะนำว่ารัฐบาลน่าจะเอาแนวทางการเมืองของประเทศเยอรมนีมาใช้ โดยในประเทศเยอรมนีนั้น รัฐบาลจะกำหนดในเรื่องการจัดสรรเงินทุนให้กับทางพรรคการเมือง ดังนั้นพรรคการเมืองก็จะไม่ต้องไปพึ่งพาเงินบริจาคเข้ามา"
แต่อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ก็ยังไม่มีการพิจารณาเพื่อจะเลือกทางเลือกนี้ เพราะอาจจะเป็นการมองว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียภาษีเช่นกัน ซึ่งทางรัฐบาลมาเลเซียจะได้หาแนวทางอื่นๆต่อไป
“ผู้คนอาจจะมองว่าการที่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงจะต้องมีการจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองให้อีกนั้นอาจจะไม่เป็นธรรมได้ ดังนั้น รัฐบาลก็ต้องมาพิจารณาถึงทางเลือกอื่นด้วย เช่นการให้พรรคการเมืองถามหาการบริจาคเงินจากผู้สนับสนุน แต่อย่างที่นำเรียนไปแล้วว่านั่นถือเป็นการเปิดประตูไปสู่การทุจริต” มหาธีร์กล่าว
(เรียบเรียงเรื่อง-ภาพประกอบ จากเว็บไซต์: www.thestar.com.my/news/nation/2018/10/05/dr-m-govt-wants-public-input-on-how-political-parties-should-be-funded/#SVSxHgMOR7X4ViwR.99)
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการหาทางออกในประเด็นการหาเงินสนับสนุนพรรคการเมืองว่าจะทำอย่างไรถึงจะโปร่งใส ที่กำลังเกิดขึ้นในมาเลเซีย
ขณะที่ในประเทศไทย บทบาทท่าทีของ "ผู้นำประเทศ" ในยุคปัจจุบัน เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดูเหมือนจะยังไม่ค่อยปรากฎให้เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมมากเท่าไรนัก?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
เปิดผังงานโต๊ะจีน 650 ล. พปชร. ‘ดร.อั๋น-เอก’เหมา 120 ล. คลัง-ทททโผล่ 69 ล.
หวั่นถูกตัดสิทธิ์การเมือง! 4 รมต.พปชร.ไม่ขึ้นพูดเวทีระดมทุนโต๊ะจีน-บิ๊กนักการเมืองพรึบ
ภาพชุดใครเป็นใคร-ยลโฉมอาหารงานโต๊ะจีน 3 ล. งานระดมทุน 'พลังประชารัฐ'