เจาะขั้นตอนสอบโต๊ะจีน 650 ล.พปชร. ควานหาต้นตอผัง-วัดฝีมือ กกต.?
“ตรงนี้ต่างหากที่เป็นประเด็นสำคัญที่ กกต. สามารถเข้าไปตรวจสอบได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องรอการรายงานผลของพรรคพลังประชารัฐ ขณะเดียวกันหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อไปตรวจสอบต่อว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐ หรือข้าราชการเข้าไปซื้อโต๊ะจีนดังกล่าวจริงหรือไม่ หากซื้อจริงนำเงินจากไหนมาซื้อ หากไม่ได้ซื้อจริงแต่เป็นการชักชวนให้เข้าร่วมงาน ถือว่ารับเงินหรือทรัพย์สินเกิน 3 พันบาท ผิดกฎหมายของ ป.ป.ช. หรือไม่...”
กำลังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างร้อนแรง!
กรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบแผนผังว่า ในงานระดมทุนพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา มีการแบ่งโต๊ะออกเป็น 2 โซน ได้แก่ โซน V.I.P. 99 โต๊ะ และโซน ส.ส. 101 โต๊ะ โดยโซนฝั่ง V.I.P. ปรากฏชื่อโต๊ะที่คล้ายกับหน่วยงานรัฐ 3 แห่ง ได้แก่ คลัง 20 โต๊ะ 60 ล้านบาท (โต๊ะละ 3 ล้านบาท) ททท (ใช้ชื่อย่อคล้ายกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) 3 โต๊ะ 9 ล้านบาท และ กทม (ใช้ชื่อคล้ายกับ กรุงเทพมหานคร) 10 โต๊ะ 30 ล้านบาท นั้น (อ่านประกอบ : เปิดเอกสารผังงานโต๊ะจีน 650 ล. พปชร. ชื่อคล้าย‘คลัง-ททท-กทม’หรา บริจาครวม 99 ล., เปิดผังงานโต๊ะจีน 650 ล. พปชร. ‘ดร.อั๋น-เอก’เหมา 120 ล. คลัง-ททท.โผล่ 69 ล.)
เบื้องต้น หน่วยงานรัฐ 3 แห่งดังกล่าว ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงการคลัง ออกมาปฏิเสธเสียงหนักแน่นว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน และหากตรวจสอบพบ จะถือว่ามีความผิด
ส่วนพรรคพลังประชารัฐ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค และในฐานะ ‘แม่งาน’ วันดังกล่าว ยืนยันหลายครั้งว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องในงานวันดังกล่าวแน่นอน พร้อมตรวจสอบยอดเงิน ก่อนรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบภายใน 30 วัน
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นไปตามนี้หรือไม่
แต่หลักฐานชิ้นสำคัญในกรณีนี้คือ แผนผังการจัดโต๊ะจีนดังกล่าว ที่สำนักข่าวอิศราเคยนำเสนอไปแล้ว มีการระบุชื่อโต๊ะ จำนวนเท่าไหร่ แบ่งโซนกันอย่างไร ค่อนข้างชัดเจน
แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐ จะออกมาปฏิเสธว่า แผนผังดังกล่าวไม่ได้เป็นคนจัดทำ แต่กระบวนการตรวจสอบต่อจากนี้ กกต. สามารถสอบถามจากออแกไนเซอร์ที่เป็นผู้จัดงานดังกล่าวโดยตรง เพราะหากออแกไนเซอร์ไม่ได้รับคำยืนยันจากคณะผู้จัดงานแล้ว จะสามารถเขียนชื่อโต๊ะที่คล้ายคลึงหน่วยงานรัฐได้อย่างไรถึง 3 โต๊ะ ได้แก่ คลัง ททท และ กทม
ดังนั้นขั้นตอนการตรวจสอบต่อจากนี้ของ กกต. คือการเชิญออแกไนเซอร์ผู้จัดงานมาให้ถ้อยคำ เพื่อตรวจสอบที่มาที่ไปของผังดังกล่าวว่า ใช้ข้อมูลจากส่วนไหน อย่างไร
ต่อมาคือขั้นตอนการตรวจสอบกระบวนการเส้นทางการเงินในการจัดซื้อโต๊ะจีนดังกล่าว
หากดูตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 62 64 65 และ 66 ที่เกี่ยวข้องกับการบริจาคเงินและการระดมทุนของพรรคการเมือง สรุปได้ว่า การจัดระดมทุน หรือเงินบริจาคของพรรคการเมือง ต้องมีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานการได้มาซึ่งรายได้เป็นหนังสือ และต้องแจ้งให้ กกต. พร้อมกับเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบภายใน 30 วันหลังจัดกิจกรรมดังกล่าว โดยต้องระบุชื่อผู้สนับสนุนที่มีมูลค่าเกินกว่า 1 แสนบาทขึ้นไปด้วย นอกจากนี้บุคคลใดบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมือง เกิน 10 ล้านบาทต่อปีมิสามารถทำได้ ส่วนนิติบุคคลห้ามเกินปีละ 5 ล้านบาท
แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามแผนผังงานดังกล่าว พบว่า ในส่วนของโต๊ะที่ชื่อคล้ายหน่วยงานรัฐ 3 แห่ง บริจาคเงินรวมกันถึง 99 ล้านบาท ในส่วนนี้ถือว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น กกต. ต้องไปสืบเส้นทางการเงินต่อว่า ทั้ง 3 โต๊ะนี้เป็นโต๊ะของหน่วยงานรัฐจริงหรือไม่ และใช้เงินจากไหนมาร่วมระดมทุน
หากไม่ใช่โต๊ะของหน่วยงานของรัฐ แล้วเข้ามาร่วมงานวันดังกล่าวได้อย่างไร ทำไมถึงใช้ชื่อโต๊ะคล้ายคลึงกับหน่วยงานของรัฐ มีการใช้สถานะหรือตำแหน่งในการชักชวนหรือเชื้อเชิญให้มาเข้าร่วมงานระดมทุนดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร ?
นี่ยังรวมไปถึงโต๊ะของ 2 กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ได้แก่ ดร.เอก นายณพพงศ์ ธีระวร ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก และ ดร.อั๋น นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ บุตรชายนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ซื้อโต๊ะรวมกันถึง 40 โต๊ะ 120 ล้านบาท ตรงนี้ใช้เงินจากส่วนไหน เพราะหากเป็นเงินส่วนตัว ย่อมไม่สามารถบริจาคได้เกิน 10 ล้านบาทต่อคนต่อปีได้อยู่แล้ว ?
อย่างไรก็ดีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อ้างว่า ดร.เอก เป็นที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) แต่ถูกตั้งเป็นที่ปรึกษาแบบ ‘พิเศษ’ ทำให้ไม่เข้าข่ายเป็นข้าราชการการเมืองตามกฎหมาย
เพราะมาตราสำคัญคือมาตรา 73 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุว่า ห้ามมิให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไรหรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แต่ไม่รวมถึงการที่ข้าราชการการเมืองผู้นั้นเข้าร่วมกิจกรรมตามมาตรา 64 (การเข้าร่วมงานระดมทุนหรือบริจาคพรรค) โดยมิได้กระทำ หรือมีส่วนกระทำการอันเป็นการต้องห้ามนั้น
แต่ในข่ายของ โต๊ะท่านเลขา ตามที่ระบุในผังงานดังกล่าว มีจำนวน 4 โต๊ะ 12 ล้านบาท คำว่า ท่านเลขา หมายถึงนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ (รมว.พาณิชย์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ) หรือไม่ หากใช่ ส่วนเกินจำนวน 2 ล้านบาท มาจากไหน มีที่มาที่ไปอย่างไร มีการใช้สถานะหรือตำแหน่งเรี่ยไรหรือชวนให้บุคคลอื่นมาบริจาคให้พรรคการเมืองหรือไม่
ตรงนี้ต่างหากที่เป็นประเด็นสำคัญที่ กกต. สามารถเข้าไปตรวจสอบได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องรอการรายงานผลของพรรคพลังประชารัฐ ขณะเดียวกันหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อไปตรวจสอบต่อว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐ หรือข้าราชการเข้าไปซื้อโต๊ะจีนดังกล่าวจริงหรือไม่ หากซื้อจริงนำเงินจากไหนมาซื้อ หากไม่ได้ซื้อจริงแต่เป็นการชักชวนให้เข้าร่วมงาน ถือว่ารับเงินหรือทรัพย์สินเกิน 3 พันบาท ผิดกฎหมายของ ป.ป.ช. หรือไม่
อย่างไรก็ดีกระบวนการตรวจสอบของสำนักข่าวอิศรา เป็นเพียงการนำเสนอข้อเท็จจริง เพื่อให้หน่วยงานตรวจสอบนำไปขยายผลเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนามุ่งร้าย หรือทำลายตัวบุคคล หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งทั้งสิ้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ถ้ามีพร้อมคืนเงิน! พปชร.ปัดไร้หน่วยงานรัฐซื้อโต๊ะ-กกต.รอผลเปิดชื่อ คลัง-ททท.ปฏิเสธ
หวั่นถูกตัดสิทธิ์การเมือง! 4 รมต.พปชร.ไม่ขึ้นพูดเวทีระดมทุนโต๊ะจีน-บิ๊กนักการเมืองพรึบ
ภาพชุดใครเป็นใคร-ยลโฉมอาหารงานโต๊ะจีน 3 ล. งานระดมทุน 'พลังประชารัฐ'
หมายเหตุ : ภาพประกอบงานระดมทุนโต๊ะจีนจาก เดอะ สแตนดาร์ด