คกก.พืชน้ำมันฯ เห็นชอบชะลอนำเข้ามะพร้าวตามความตกลง WTO-AFTA ปี 62
คกก.พืชน้ำมันฯ เห็นชอบชะลอนำเข้ามะพร้าวตามความตกลง WTO-AFTA ปี 62 พร้อมนำข้อมูลเพิ่มเติมประกอบพิจารณาอีกครั้งกลาง ม.ค. ปีหน้า
วันที่ 24 ธ.ค. 2561 นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชว่า คณะกรรมการฯ มีมติให้ชะลอการนำเข้ามะพร้าวตามความตกลงของ WTO และ AFTA ปี 2562 ออกไปก่อนจนกว่าจะมีข้อมูลจากคณะทำงานระดับจังหวัด โดยในช่วงกลางเดือนมกราคม 2562 จะมีการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะนำข้อมูลจากทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกร ที่จะเสนอข้อมูลปริมาณมะพร้าวที่ผลิตได้ภายในประเทศ มาประกอบการพิจารณา
อย่างไรก็ตาม ได้มีการเสนอแนวความคิดเพิ่มเติม เพื่อให้การบริหารจัดการมะพร้าวในปี 2562 มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น คือ 1) การกำหนดสัดส่วนการซื้อมะพร้าว โดยมีแนวคิดว่าจะต้องมีการซื้อภายในประเทศให้หมดก่อนแล้วค่อยมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งสัดส่วนจะมีการพิจารณาร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง และ 2) การใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure : SSG) ภายใต้ความตกลงเกษตรขององค์การการค้าโลก (WTO) มีการกำหนดให้นำเข้ามะพร้าวได้ และถ้าเป็นมะพร้าวแปรรูปและส่งออกไป ผู้ประกอบการสามารถที่จะขอคืนภาษีได้ โดยในปีที่ผ่านมาไม่ได้มีการกำหนดปริมาณ แต่ในปี 2562 กระทรวงเกษตรฯ เสนอว่าถ้าไม่กำหนดปริมาณเลยและมีการนำเข้าเป็นจำนวนมาก จะมีผลกระทบต่อราคาเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น จึงใช้มาตรการปกป้องพิเศษ โดยดูจากข้อมูลตัวเลขในช่วง 3 ปีย้อนหลังว่ามีปริมาณการนำเข้าเท่าไหร่ โดยเฉลี่ย 3 ปีอยู่ที่ 156,655 ตัน เพราะฉะนั้นในกรอบของการนำเข้า ถ้านำเข้ามาเพื่อแปรรูปแล้วส่งออกออกไปในรูปผลิตภัณฑ์ ถ้าไม่เกิน 156,655 ตัน จะสามารถขอภาษีคืนได้ แต่ถ้าเกินกว่า 156,655 ตัน จะต้องเสียภาษีในอัตราเพิ่มขึ้นเป็น 72% ถือเป็นมาตรการที่เข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพของราคามะพร้าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการเปิดตลาดเมล็ดถั่วเหลือง ปี 2562 เนื่องจากมีปริมาณไม่เพียงพอ ซึ่งประเทศไทยผลิตได้เพียงประมาณ 40,000 กว่าตัน ในขณะที่เราต้องการบริโภคทั้งภาคอุตสาหกรรมหรือการผลิตอาหารสัตว์เกือบ 3,000,000 ตัน อย่างไรก็ตาม การนำเข้าจะเป็นไปตามกรอบการเปิดตลาดในปี 2562 มีผู้ประกอบการที่สามารถนำเข้าได้ จำนวน 6 สมาคม และ 20 บริษัท และได้กำหนดให้ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐในการดูแลพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง โดยได้กำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำตามชั้นคุณภาพ คือ เกรดถั่วเหลืองเพื่อสกัดน้ำมัน ราคา ณ หน้าฟาร์ม 17.50 บาท/กก. ราคา ณ หน้าโรงงาน กทม. 18.25 บาท/กก. เกรดถั่วเหลืองเพื่ออาหารสัตว์ ราคา ณ หน้าฟาร์ม 17.75 บาท/กก. ราคา ณ หน้าโรงงาน กทม. 18.50 บาท/กก. และเกรดถั่วเหลืองเพื่อแปรรูปอาหาร ราคา ณ หน้าฟาร์ม 19.75 บาท/กก. ราคา ณ หน้าโรงงาน กทม. 20.50 บาท/กก. ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดกรอบการบริหารการจัดการการนำเข้า จำนวน 3 ปี ซึ่งจะต้องมีการพิจารณากันปีต่อปีเพื่อพิจารณาการการเปิดตลาดต่อไป