ถึงเวลา คสช.ปลดล็อกคำสั่งลิดรอนเสรีภาพสื่อ-ประชาชน ก่อนเลือกตั้ง 62
พรรคการเมือง-องค์กรสื่อมวลชน จี้ คสช. ปลดล็อกคำสั่งลิดรอนสิทธิเสรีภาพนักข่าว-ประชาชน ก่อนเลือกตั้ง 62 หวังเป็นสัญลักษณ์ประชาธิปไตยที่ดี
การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 กำลังถูกจับตามองจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส ขณะเดียวกัน ยังมีกติกากฎเกณฑ์บางประการที่ประชาชนเเละสื่อมวลชนเห็นว่ายังลิดรอนสิทธิเสรีภาพเเละเป็นอุปสรรคในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอยู่
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงจัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ "ปลดล็อกสื่อมวลชน คืนเสรีภาพประชาชน เดินหน้าสู่ประชาธิปไตย" ณ ห้องอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยเชิญผู้แทนพรรคการเมืองหลายพรรคเข้าร่วมเสวนา พร้อมกับมีการยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงหัวหน้าพรรคทุกพรรคการเมือง ให้แสดงจุดยืนหลังปลดล็อกการเมืองแล้วยังมีคำสั่งและประกาศ คสช. ที่ยังไม่ได้ยกเลิก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะช่วงการเลือกตั้งจำเป็นต้องคืนเสรีภาพให้สื่อมวลชนและประชาชน
ส.นักข่าวชี้ 4 คำสั่งคสช.ยังไม่ถูกยกเลิก
นายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ สมาคมนักข่าว กล่าวว่า คำสั่งและประกาศคสช.ที่ยังไม่ยกเลิกประกอบด้วย 1.ประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การขอความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคสช.และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ กรณีการห้ามเสนอข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคง ความลับของหน่วยราชการ ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง 2.ประกาศคสช.ที่103 /2557 แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคสช.ฉบับที่ 97 /2557 โดยห้ามวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคสช.โดยเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคสช.ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ
3.คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่3/2558 (ข้อ5)ให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด และได้กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4.คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่41/2559 เรื่อง การกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ โดยมีเจตนาในการขยายอำนาจ ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ครอบคลุมไปถึงประกาศของคสช. ฉบับที่ 97/2557 และฉบับที่103/2557 รวมทั้งคุ้มครองการใช้อำนาจของ กสทช.
ด้าน นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ที่ปรึกษาอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติจะมีคำสั่งลักษณะแบบนี้มาทุกครั้งเพื่อไม่มีใครกล่าววิจารณ์ และเสถียรภาพสั่นคลอนหลังการปฏิวัติ ซึ่งคำสั่งที่ 97/2557 103/2557 และ 3/2558 เป็นการล้อมาจากประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินปี 2517 ฉบับที่ 42 หรือ ปร.42 มีเนื้อหาคล้ายกัน คือการให้อำนาจเบ็ดเสร็จในการให้อำนาจเจ้าพนักงานรัฐริดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งมีอำนาจบังคับใช้นับจากนั้นอีก 17ปี ที่มีการยกเลิกโดยออกพระราชกำหนดในปลายรัฐบาลของ พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ทั้งนี้เป็นคำสั่งที่ไม่ควรมีในยุคนี้แล้ว ซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนรวมตัวกันพยายามเรียกร้องให้ยกเลิก และขอพบตัวแทนคสช. ก็ได้แจ้งว่าการมีประกาศแบบนี้ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น และยืนยันว่าสื่อมีองค์กรในการกำกับดูแลกันเอง รวมทั้งมีกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดีกับสื่อมวลชนที่กระทำความผิดจำนวนมาก
“การใช้อำนาจในคำสั่งที่ 97/2557 มีครั้งเดียวกับผู้จัดการรายสัปดาห์ และใช้กับกรณีรายบุคคล คือการเรียกสื่อมวลชนที่เห็นว่าจะวิพากษ์วิจารณ์ลำเส้นไปรายงานตัวรายบุคคล เมื่อมีการรายงานตัวแล้วก็จบไป ไม่มีการใช้อำนาจตามประกาศนี้สักเท่าไร แต่ถ้าคำสั่งเหล่านี้ยังอยู่ ในการเลือกตั้งทุกอย่างเปลี่ยนไป ผู้มีอำนาจคนใหม่เข้ามาประกาศเหล่านี้จะยกเลิกหรือไม่หรือสิ้นสุดการบังคับหรือไม่ คือไม่ครับ”
นายจักร์กฤษ กล่าวอีกว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างน้อย 2 มาตราที่รับรองเสรีภาพของสื่อมวลชน คือ มาตรา 34 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน มาตรา 35 เสรีภาพในการเสนอข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน ฉะนั้นถ้าพิจารณาประกาศและคำสั่งทั้งหมดมีความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ถ้าเช่นนั้นจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร เชื่อว่าตัวแทนพรรคการเมืองคงจะมีแนวทางรับข้อเสนอไปดำเนินการอย่างไร เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ระบุว่า ประกาศหรือคำสั่งของคสช.หรือหัวหน้าคสช.ที่ใช้บังคับก่อนหน้าที่รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ หรือออกต่อไปจะยังคงมีผลเป็นกฎหมายต่อไป และหากจะยกเลิกก็ต้องยกเลิกโดยพระราชบัญญัติเท่านั้น
“เมื่อมีการปลดล็อกการเมืองแล้ว บรรยากาศกำลังไปสู่การเลือกตั้งที่เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย สาระสำคัญของการเป็นประชาธิปไตยยังแสดงออกด้วยสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนเป็นการทำหน้าที่แทนประชาชน ประเทศไหนก็ตามที่ประชาชนไม่มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นหรือมีความไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็น เพราะมีกฎเหล็กที่สามารถที่จะสามารถใช้ได้ฉับพลันบังคับใช้อยู่ ประเทศนั้นเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ และวันที่ 28 ธันวาคมนี้ สนช.จะปิดรับกฎหมายใหม่ หากไม่มีการเสนอกฎหมายใหม่เพื่อยกเลิกประกาศหรือคำสั่งคสช.ดังกล่าว ก็สามารถใช้ อำนาจตามมาตรา 44 ยกเลิกคำสั่งเหล่านี้ก็จะเป็นกุศลกับประเทศอย่างยิ่ง”
จุดยืนพรรคประชาธิปัตย์
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สนับสนุนการปลดล็อกคำสั่งคสช.ที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนทุกคำสั่งด้วยเหตุผล 3 ประการ 1.ทำให้ไม่มีการใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อตนเองและพวกพ้อง เพราะหัวหน้าคสช.ที่ออกคำสั่งกำลังจะมีชื่อถูกเสนอในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่สนับสนุนให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง 2.ถ้าปลดล็อกก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ไม่มีการใช้อำนาจใดใดมาก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเลือกตั้งทั้งทางตรงและทางอ้อม 3.การปลดล็อกคำสั่งฯจะทำให้เกิดการยอมรับต่อผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอีกทางหนึ่ง เพราะการเลือกตั้งต้องเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพร่วมแสดงออกทางการเมืองอย่างมีเสรี แต่บรรยากาศกลับพบว่ามีคำสั่งและประกาศของคสช.หลายเรื่องที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน
นายองอาจ กล่าวว่า ส่วนที่กระทบประชาชนได้แก่ คำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558 ในข้อ 4 ที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปในเคหะสถานหรือสถานที่ใดใดเพื่อตรวจค้น บุคคลและยานพาหนะ หากสงสัยว่าจะกระทำผิดเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง คิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข ถ้าเราปล่อยให้การเลือกตั้งเป็นในบรรยากาศโดยมีเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจนี้ตรวจค้นประชาชนในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ที่ต้องยอมรับความจริงว่าการเลือกตั้งครั้งนี้หัวหน้าคสช.ที่ออกคำสั่งเหล่านี้ที่เดิมคิดว่าจะเป็นกรรมการเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมือง แต่ตอนนี้กำลังจะมีชื่อในบัญชีรายชื่อของนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่สนับสนุนให้หัวหน้าคสช.เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังการเลือกตั้ง
“มองว่าเป็นการทับซ้อนของอำนาจที่น่าเกลียดมาก ถามว่าจะเป็นไปได้ไหมที่เจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจกลั่นแกล้งพรรคการเมืองอื่น อำนาจในลักษณะนี้ในหลายประเทศที่ไม่ไกลจากบ้านเราก็ใช้อำนาจแบบนี้เข้าไปดำเนินการก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคกับพรรคการเมืองที่ไม่ได้สนับสนุนผู้มีอำนาจขณะนั้น สิ่งหล่านี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้หากตราบใดมีคำสั่งลักษณะนี้อยู่”
นายองอาจ กล่าวอีกว่า ส่วนของสื่อมวลชนมีหลายคำสั่งจะมีใครตีความว่าสิ่งที่สื่อมวลชนเสนอข่าวนั้นขัดคำสั่งหรือไม่ ก็เป็นเจ้าหน้าที่ที่ถือกฎหมายเป็นคนตีความ ซึ่งจะเป็นการตีความเข้าข้างผู้มีอำนาจที่กำลังจะมีชื่อถูกเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง จึงต้องถามว่าความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าปล่อยให้มีและเกิดขึ้นอยู่
“ท่านอาจจะบอกว่าไม่ใช้อำนาจหรอกเพราะอยู่ในบรรยากาศของประชาธิปไตย แต่ใครจะไปเชื่อถือได้ในเมื่อมีคำสั่งเหล่านี้ การใช้คำสั่งเหล่านี้เมื่อไหร่ก็ได้ย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถามว่าเราควรจะคงคำสั่งเหล่านี้ไว้หรือไม่ ผมคิดว่าเราไม่ควรมีคำสั่งเหล่านี้ในบ้านเมืองอีกต่อไปถ้าเรากำลังเข้าสู่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ถามว่าเราอยู่ภาวะสงครามหรืออย่างไร จึงยอมให้มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ”
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากจะเตือนสติผู้มีอำนาจและคนในรัฐบาล และตัวแทนคสช.ว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวในโลก เพราะอยู่ในภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ในการชุมนุมและการเป็นสมาคม สิทธิที่จะมีชีวิต ความปลอดภัยและการมีส่วนร่วมทางการเมือง ถามว่าคำสั่งคสช.ที่ยังมีอยู่กติกาสากลเหล่านี้จะมีความหมายอะไรกับประเทศไทย ก็คงเป็นการลงนามไว้เท่านั้นแต่ในทางปฏิบัติแทบจะไม่ปฏิบัติอะไรเลย จึงเห็นว่าการปลดล็อกคำสั่งของคสช.ควรดำเนินการอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงกระทบกับสื่อมวลชน ประชาชนเท่านั้น แต่จะกระทบกับประเทศชาติบ้านเมืองโดยรวม เพราะหากระหว่างการเลือกตั้งมีการใช้คำสั่งเหล่านี้และไปกระทบกับนักการเมืองตรงข้ามกับผู้มีอำนาจหากไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองของเราที่อาจจะไม่สงบสุขปกติอีกต่อไป ก็จะเกิดผลเสียหายกับประเทศ
จุดยืนพรรคชาติไทยพัฒนา
นายนิกร จำนง ผู้แทนพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า อย่าลืมว่าตอนนี้ยังอยู่ในช่วงของการยึดอำนาจ และต้องเข้าใจที่มาของคำสั่งต่างๆ ซึ่งคำสั่งคสช.ที่ออกมาไม่ได้มีแค่เรื่องสื่อ แต่กวาดไปถึงประชาชนด้วยในการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการ ส่วนสื่อมวลชนนั้นมีการถ่ายอำนาจของคสช.ไปยังกสทช.ดำเนินการยับยั้ง ระงับ ทำให้จอดำได้ แต่สื่อสามารถฟ้องแพ่งได้ ในคำสั่งจึงเขียนคุ้มครองการทำหน้าที่ของกสทช.โดยไม่มีความผิด ซึ่งเรื่องเหล่านี้พรรคการเมือง นักการเมืองก็ต้องเรียกร้องในการให้คสช.ถอนคำสั่งทั้งเรื่องสื่อและประชาชนไม่ให้เหลือ เพราะหากยังเหลือคำสั่งก็จะคาสภาฯที่จะยุ่งยากและใช้เวลามาก จึงขอให้พรรคการเมืองรวมตัวกันไว้
“เชื่อว่าเขาจะเวฟคำสั่งไว้ ถ้าจะเอาออกได้ก็ต้องถอนเอาเอง ไม่ใช่ง่ายๆ เหมือนคำสั่งคณะปฏิวัติที่ผ่านมาต้องออกกฎหมาย ต้องผ่านสภาฯ ดังนั้นคำสั่งมาอย่างไรก็ต้องไปอย่างนั้น”
นายนิกร กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่ปลดล็อกเพียงนักการเมือง แต่จากนั้นจะมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งให้เสียงได้ ดังนั้นคำสั่งเหล่านี้ต้องผูกกับการเลือกตั้ง คือเรียกร้องให้ยกเลิกทั้งหมดคงไม่มีทาง แต่เสรีภาพของสื่อมวลชนคือเสรีภาพของประชาชนหากสื่อไม่อยู่กับร่องกับรอยก็ต้องดำเนินการ ในเมื่อกำลังจะมีการหาเสียงอยู่แล้วแต่สื่อมวลชนซึ่งเป็นช่องทางในการสื่อสารไปยังประชาชนถูกปิดกั้นไว้ ซึ่งเดิมเป็นอำนาจของคสช. แต่ตอนนี้กกต.เริ่มมีบทบาทเข้ามาที่ไม่นานการเสนอข่าวของสื่อก็จะถูกจำกัดมากขึ้นโดยอำนาจของพ.ร.บ.เลือกตั้ง ว่าสื่อควรเสนอข่าวอย่างไร มีเวลาเท่าไร เพราะฉะนั้นการปลดล็อกคำสั่งต้องเดินทีละก้าวจะขอถอนหมดไม่ได้ เราจะมีการเลือกตั้งโดยไม่มีสื่อก็ไม่ได้
“ผมเห็นด้วยที่จะให้ถอนคำสั่งคสช.ทั้งหมด เรากำลังจะมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเราไม่ปล่อยให้สื่อเป็นอิสระ ซึ่งกกต.ก็มีอำนาจเต็มในการเล่นงานสื่ออยู่แล้ว ฉะนั้นเปลี่ยนมือเถอะขอร้องกันแบบนี้ ดังนั้นการที่จะขอต้องเรียงให้ดี ขอในสิ่งที่เขาไม่มีเหตุผลในการปฏิเสธ แต่ถ้าจะขอให้ถอนทั้งหมดเราว่าไม่มีทาง เพราะเขาต้องแคปเอาไว้ เพื่ออ้างว่าอาจจะมีปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในเรื่องอื่นๆ ดังนั้นหากขอแบบนี้ก็ไม่มีคำตอบที่จะไม่ยอม ไม่มีเหตุมีผลเพียงพอ เสนอว่าขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 อีกสักครั้ง ใช้ในการรื้อคำสั่งตามมาตรา 44 เดิมทั้งหมด ไม่งั้นจะตกค้างไปสู่สภาเพราะจะสร้างปัญหาอีกมากมาย”
นายนิกร เสนอองค์กรสื่อว่า ขอให้หารือกันว่าส่วนไหนในเรื่องการเลือกตั้งที่กกต.มีอำนาจอยู่แล้ว ก็ขอให้ยกเลิกคำสั่งเพื่อสื่อจะได้ทำหน้าที่ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ประชาชนชนก็จะไม่สามารถรับรู้ได้เพราะสื่อไม่สามารถทำหน้าที่ คิดว่าหลักการนี้น่าจะคุยกันได้
จุดยืนพรรคเพื่อไทย
นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ ผู้แทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พวกเราอึดอัดกับการลิดรอนการรับรู้ข่าวสารของประชาชน หากได้รับการป้อนข้อมูลฝ่ายเดียวก็จะไม่เกิดความเป็นกลาง คิดว่าคำสั่งที่ค้างอยู่น่าจะมีการปลดล็อกก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ถ้ารัฐบาลอยากให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยสง่างามในสังคมโลก มีความน่าเชื่อมั่นในการเป็นประธานอาเซียน จะทำให้ความเชื่อมั่นกลับคืนมา โดยเปิดให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวการเลือกตั้ง ตรงไหนสุจริต ตรงไหนไม่สุจริตสามารถนำมาตีแผ่ได้เหมือนการเลือกตั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามปัจจุบัน คสช.ให้อำนาจผ่าน กสทช.ในการเข้าไปดำเนินการกับสื่อมวลชนแทนทหาร โดยการเรียกสื่อไปพบและลงโทษ พร้อมกับมีการตั้งคณะทำงานที่ติดตามการทำงานของสื่อที่มีหน้าที่มอนิเตอร์ติดตามรายการทีวี ถอดเทปให้กสทช.นำไปดำเนินการ ซึ่งยังมีล็อกอีกหลายจุดจนทำให้ทำงานลำบาก เป็นการคุกคามเสรีภาพชัดเจน
“การเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 นักสิทธิมนุษยชนเขาเชื่อว่าการเลือกตั้งจะไม่น่าเชื่อถือ หากพรรคการเมือง สื่อมวลชน และประชาชนถูกคุกคามแบบนี้ หากทำอะไรผิดก็จะโดนคดีอาญา การหาเสียงก็ต้องทำด้วยความระมัดระวังในช่วงที่มีการพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง เป็นการเลือตั้งที่ถูกจำกัดเสรีภาพอย่างมาก เป็นภาระของทุกพรรคการเมืองจะต้องช่วยกันแสดงจุดยืนออกมาให้คสช.คืนอำนาจให้ประชาชน ต้องทำให้เป็นประชาธิปไตย การที่จะเป็นประชาธิปไตยได้เสรีภาพของสื่อมวลชนต้องกลับมา สิทธิในการรับรู้ข่าวสารอย่างตรงไปตรงมาจากสื่อต้องเกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะที่ผ่านมาเวลามีกิจกรรมอะไรดีดีสื่อไม่สามารถเสนอข่าวได้เพราะถูกสั่งแบนทั้งหมด อันนี้เป็นภัยร้ายของสังคมไทยขณะนี้ ที่เราต้องช่วยกันฟันฝ่า”
นางลดาวัลลิ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยของเรียกร้องให้คสช. ยกเลิกคำสั่งต่างๆเพื่อให้สื่อทำงานโดยอิสระ เป็นธรรม เป็นกลาง เพื่อส่งเสริมให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรมโปร่งใสและประกาศให้ชาวโลกเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งของเราน่าเชื่อถือ
จุดยืนพรรคอนาคตใหม่
นางสาวพรรณิการ์ วานิช ผู้แทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เสรีภาพสื่อ ไม่ใช่แค่เสรีภาพประชาชน แต่คือเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ไม่ใช่ว่าสื่อมีศักดิ์ศรีมากหรือน้อยกว่าอาชีพอื่น ทุกอาชีพมีศักดิ์ศรีเหมือนกัน แต่เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพที่ประชาชนจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เที่ยงตรงและเป็นธรรม สำคัญอย่างยิ่งในการที่อีก 2 เดือนกว่าจะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งส่วนตัวมองว่าประกาศและคำสั่งดังที่กล่าวมามีล็อกถึง 4 ชั้นที่กดหัวสื่อและประชาชนไว้ คือ 1. กดด้วยคำสั่ง 4 ฉบับนี้ 2.นำไปสู่การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่รับมอบอำนาจให้เข้าไปควบคุมสื่อ เช่นการให้ทหารอาวุธครบมือไปเยี่ยมเยียนห้องข่าวโดยไม่มีสาเหตุ หลายสำนักเผชิญ ตัวเองเคยเป็นสื่อที่ถูกปิดมากที่สุด 19 ครั้ง โดยไม่ได้มีการอธิบายให้ทราบ เพราะในต่างประเทศการปิดสื่อถือเป็นเรื่องใหญ่มาก 3.การใช้อำนาจตามพรบ.ว่าก้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่โดนดำเนินคดีเมื่อวิจารณ์พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง และ4.ล็อกในรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ที่ยกเว้นการดำเนินการตามคำสั่งและประกาศคสช.ไม่มีความผิด ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงเสนอให้ใช้ม.44 เป็นยาแรงปลดคำสั่งทั้งหมดให้หมด เพราะเราอยากจะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่มีการเลือกตั้งมา 8 ปีแล้ว
ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ เสนออีกว่า 1.เรียกร้องคสช.ยุติการออกคำสั่งใหม่ และระงับการใช้อำนาจตามคำสั่งเดิมที่ออกมาทั้งหมดทันทีที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งออกมา 2.เรียกร้องให้พลเอก ประยุทธ์จันทร์โอชา ลาออกแล้วดำรงตำแหน่งเป็นรัฐบาลรักษาการเท่านั้น เพราะนายวิษณุ เครืองามเคยระบุว่ารัฐบาลนี้มีอำนาจเต็มจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งมองว่าการมีรัฐบาลแบบนี้จะทำให้การเลือกตั้งไม่เสรีและเป็นธรรม 3.เรียกร้องให้พรรรการเมืองทุกพรรคที่เคารพประชาธิปไตย ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 279 ที่ให้อำนาจคสช.ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ พร้อมกับตั้งคณะกรรมการจำแนกแยกแยะเพื่อดำเนินการกับคำสั่งคสช. ทั้งทำให้เป็นกฎหมายปกติ และยกเลิกพร้อมกับเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และ 4.พรรคการเมืองต้องสนับสนุนให้กำลังใจสื่อมวลชนให้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตย เพราะสื่อเป็นเสาหลักในการนำเสนอที่เที่ยงตรงเป็นธรรม ให้ประชาชนมีข้อมูลมากที่สุดในการตัดสินใจ
จุดยืนพรรคเพื่อชาติ
ดร.วิโชติ วัณโณ ผู้แทนพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า การที่สมาคมนักข่าวฯเชิญพรรคการเมืองมาในวันนี้คิดว่าเป็นการเคลื่อนที่ทำให้เห็นว่าภาคสังคมเองก็จับตา เพราะเรากำลังจะเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย ส่วนตัวคิดว่าคำสั่งที่ออกมาทั้งหลายเป็นสิ่งที่ทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะในหลักประชาธิปไตยเราถือเรื่องนี้เป็นสำคัญ ยึดถืออำนาจของประชาชนไม่มีใครเหนือกว่าใคร ดังนั้นกติกาที่ออกต้องส่งเสริมให้ประชาชนใช้เสรีภาพอย่างเต็มที่ ไม่ควรจำกัดหรือทำลาย เพราะเสรีภาพของสื่อเป็นจุดวัดความสมบูรณ์ของประชาธิปไตย ที่ประชาชนต้องสื่อสารและรับรู้ข้อมูลข่าวสาราของประชาชนได้ ดังนั้นคำสั่งทั้งหลายที่เป็นการละเมิดและขัดขวางสิทธิและเสรีภาพต้องยกเลิกทันที
“เราต้องร่วมกันเรียกร้องให้คสช.ยกเลิกคำสั่ง แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ดีดีเรียกร้องเฉยๆแล้วเขาจะให้ ต้องรวมพลังกันทุกฝ่าย ขอให้ปลดล็อกโดยเฉพาะสื่อมวลชน โดยให้ประชาชนมีเสรีภาพ ไม่ต้องคืนมา เพราะเสรีภาพอยู่กับประชาชนอยู่แล้ว”
จุดยืนพรรคไทยรักษาชาติ
นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ โฆษกพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า จุดยืนคือต้องการให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งทั้ง 4 ฉบับ ให้หมดเพื่อให้สื่อมวลชนได้ทำงานอย่างเต็มที่ เพราะมนุษย์ทุกคนควรมีเสรีภาพในการพูดการคิด แสดงความคิดเห็นตามปฏิญญาสากลของยูเอ็น รวมทั้งรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็รับรองสิทธิเสรีภาพเอาไว้ แต่ต้องไม่กระทบกับความมั่นคงของรัฐ ที่หมายถึงความมั่นคงของคสช.
“น่าเสียดายถ้าสื่อมวลชนไม่สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้ตัดสินใจอย่างเต็มที่ การเลือกตั้งครั้งนี้ก็เช่นกัน อีก 2 เดือนเท่านั้น ตราบใดที่คำสั่งเหล่านี้ยังอยู่ ก็น่าเสียดายที่สื่อมวลชนจะไม่สามารถนำแสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับประชาชนได้อย่างเต็มที่เพื่อให้ประชาชนประกอบการตัดสินใจว่า ถ้าในอนาคตหลังการเลือกตั้งปีหน้า รัฐบาลใดจะเข้ามาทำงานก็แล้วแต่ แต่หากมีการทำงานในลักษณะสืบทอดอำนาจคสช. ทัศนคติของผู้นำประเทศก็คงต้องเป็นเช่นเดิม สิทธิเสรีภาพสื่อก็จะเป็นแบบเดิม”
นายพงศ์เกษม กล่าวว่า พรรคไทยรักษาชาติปฏิเสธการใช้อำนาจตามมาตรา 44 มาตลอด แต่เมื่อต้นทางคำสั่งมาแบบนี้ ก็อยากจะเรียกร้องให้ยกเลิกโดยใช้ ม. 44 ยกลิกประกาศและคำสั่งของคสช.ทั้งหมด เพื่อให้สื่อมวลชนทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่
จุดยืนพรรคชาติพัฒนา
พลเอกฐิติวัจน์ กำลังเอก รองหัวหน้าพรรคพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า ขอบคุณสมาคมนักข่าวฯที่เชิญมาร่วมเวทีเสวนา การยกเลิกคำสั่งคสช.ที่เกี่ยวกับเสรีภาพสื่อและประชาชน เป็นที่สนใจของสังคม โดยขออ้างคำปรารภของรัฐธรรมนูญหน้า 2 บรรทัดที่ 9 ระบุว่า “การมีสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก การจำกัดตัดสิทธิเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น” ดังนั้นยังถือว่าเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งคำสั่งคสช.ทั้ง 4 ฉบับน่าหวาดกลัว เพราะตัวเองเคยออกเวทีเสวนาครั้งแรกก็กลัวเหมือนกัน ลังเลไม่แน่ใจว่าทำแล้วจะผิดหรือไม่ เพราะเคยเป็นข้าราชการมาตลอดชีวิตก็อยู่กับระเบียบคำสั่งมาตลอด แต่วันนี้มายืนที่พรรคชาติพัฒนาที่มีสโลแกนคือไม่สร้างปัญหาให้สังคม ในขณะเดียวกันพร้อมแก้ไขปัญหาให้สังคมเพราะสิทธิเสรีภาพที่ถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญถูกละเมิด เพราะหัวใจของเสรีภาพคือการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่จะเป็นสะพานแห่งความจริงเชื่อมให้ประชาชนเดินข้ามไปสู่จุดหมาย นั่นคือจุดหมายของประชาธิปไตยที่ให้เสรีภาพสื่อและประชาชน
“กำลังจะมีการเลือกตั้งซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะดุเดือดเข้มข้น สื่อก็ต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงที่มีผลกระทบกับความรู้สึกของประชาชน ประชาชนก็ต้องใช้สิทธิ์ของเขาในการกากบาทลงคะแนนเลือกผู้แทนของเขา สื่อก็จำเป็นต้องสื่อว่าคนไหนจะเป็นผู้แทนที่เป็นสมบัติของประชาชน ด่าได้ ชมได้ วิจารณ์ได้ เพราะผู้แทนราษฎรเป็นสมบัติของประชาชน”
พลเอกฐิติวัจน์ กล่าวว่า ในสื่อมวลชนก็มีสื่อเทียม หรือสื่อที่ทำให้เกิดการยุยงแตกแยก ในฐานะที่ทำงานด้านความมั่นคงมาก่อนก็เป็นห่วง ดังนั้นคำสั่งพวกนี้เหมือนกับครูยืนถือไม้เรียวไว้ตีนักเรียน แต่เมื่อก็ยังมีสื่อดีดีอีกมากที่เป็นหลัก ก็เห็นว่าสื่อเหล่านี้อยู่บนหลักความถูกต้องบนหลักของวิชาชีพสื่อ ที่เสนอบนหลักความจริง ซึ่งตัวผู้มีอำนาจเองก็ต้องหวังพึ่งสื่อเช่นกัน ดังนั้นสื่อก็ต้องนำเสนอข่าวตรงไปตรงมา ความจริงจะชี้ให้สังคมรู้ว่าใครผิดใครถูก ความจริงจะเป็นปัจจัยนำไปสู่ความปรองดองและการแก้ไขวิกฤติศรัทธาของสังคม .