แจกอีก! ครม.เห็นชอบแบ่ง ป่าอนุรักษ์ 5.9 ล้านไร่ ให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์!
คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบแบ่งป่าอนุรักษ์ จำนวน 5.9 ล้านไร่ จัดสรรให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินและการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ภายใต้การทำงานของ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. มีบทสรุปเมื่อช่วงบ่ายผ่านมา โดยนายอดิศร นุชดำรงค์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเลขานุการ คทช. ร่วมกันเปิดเผยความคืบหน้า โดยกำหนดพื้นที่จัดสรร 884 แห่ง จาก 70 จังหวัด เนื้อที่รวม 1.3 ล้านไร่ ที่ออกหนังสืออนุญาตใช้ประโยชน์ไปแล้ว 140 แห่ง รวมเนื้อที่ 400,000 กว่าไร่ มีชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จำนวน 52,362 คน แบ่งได้ 66,733 แปลง เพื่อพัฒนาเป็นที่ทำกินในรูปแบบของสหกรณ์
โดยคทช. ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายออกเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3,4,5 ก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541, กลุ่มที่ 2 ชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3,4,5 หลังมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 แต่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557, กลุ่มที่ 3 ชุมชนในเขตป่าสงวนฯ อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 ก่อนและหลังมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541, กลุ่มที่ 4 ชุมชนอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ก่อนและหลัง มติ ครม. 30 มิ.ย. 2541, กลุ่มที่ 5 ชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน คือ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เมืองและสิ่งปลูกสร้าง
ทั้งนี้จากการสำรวจภาพถ่ายทางดาวเทียมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ปี 2557 พบราษฎรครอบครองที่ดินก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 จำนวน 3.6 ล้านไร่ และครอบครองหลังมติ ครม. อีก 2.3 ล้านไร่ รวม 5.9 ล้านไร่ ซึ่งในมติ ครม.ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบในการแก้ปัญหาพื้นที่ทำกินดังกล่าว โดยจะแก้กฎหมาย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เพื่ออนุญาตให้อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ แต่ต้องอยู่ในเกณฑ์พิจารณาว่าเป็นชุมชนอาศัยเดิม ไม่มีการจัดที่ดินให้แก่บุคคลนอกพื้นที่ กำหนดขอบเขตที่ทำกินและยอมรับร่วมกันในชุมชน ซึ่งเป็นสิทธิทำกินแบบไม่มีเอกสารสิทธิ
โดยส่วนพื้นที่เปราะบางทางธรรมชาติ ส่วนมากอยู่ทางภาคเหนือ คือพื้นที่ลุ่มน้ำ ลาดชัน กรมอุทยานฯ กำลังพิจารณาว่ามีผบกระทบต่อระบบนิเวศหรือไม่ ซึ่งถ้าประเมินแล้วว่าอาจส่งผลต่อระบบนิเวศหรือการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพผิวดิน อาจต้องย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้ในพื้นที่ 5.9 ล้านไร่ พบบางพื้นที่ถูกแผ้วถางเป็นพื้นที่รกร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จะตกเป็นของรัฐต่อไป โดย คทช. เชื่อว่า การจัดสรรพื้นที่ทำกินครั้งนี้จะทำเสร็จครบตามจำนวนในรัฐบาลชุดนี้