กรมวิชาการเกษตร ยันปรับพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ไม่มีประเด็นจดสิทธิบัตรกัญชา
กรมวิชาการเกษตร ยันร่างปรับแก้พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ไม่มีประเด็นให้จดสิทธิบัตรพันธุ์พืชอื่นๆ รวมทั้งกัญชาในไทย ชี้สถานะเป็นพืชพื้นเมืองทั่วไป นำไปศึกษา ทดลอง วิจัย ปรับปรุงพันธุ์ เพื่อการค้าต้องขออนุญาตกรมวิชาการเกษตร
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงกรณีที่มีข่าวกล่าวอ้างว่า กรมวิชาการเกษตรเตรียมที่จะแก้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชให้เหมือนสหรัฐอเมริกา เพื่อเอื้อนายทุนต่างชาติให้จดสิทธิบัตรปรับปรุงพันธุ์พืชได้ในไทยนั้น เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง ซึ่งการปรับปรุงร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของกรมวิชาการเกษตรไม่มีข้อไหนที่บ่งบอกว่าทำเพื่อเอื้อนายทุนต่างชาติให้สามารถจดสิทธิบัตรปรับปรุงพันธุ์พืชได้ในประเทศไทย แต่การปรับแก้ร่างกฏหมายในพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชเป็นการปรับเพื่อให้มีความทันสมัยและให้สอดคล้องกับหลักสากล มีความเหมาะสมในหลายมิติ เช่น ชุมชนได้ใช้เงินกองทุนสะดวกขึ้น มีคณะกรรมการครอบคลุมทุกหน่วยงาน สนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนา และในส่วนของการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ได้ปรับปรุงให้มีระดับมาตรฐานเดียวกันกับกลุ่มประเทศในอาเซียนและสอดคล้องกับสากล โดยมีเป้าหมายสำคัญคือยกระดับการผลิตพืชให้เกษตรกรได้ปลูกเมล็ดพันธุ์ดีมีคุณภาพตรงตามพันธุ์ แก้ปัญหาเมล็ดพันธุ์ปลอม มีตัวเลือกหลากหลายพอที่จะเลือกซื้อได้ตามความต้องการ ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพขายได้ราคาดี โดยที่เกษตรกรรายย่อยยังคงเก็บเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่จดทะเบียนไว้ปลูกต่อได้ไม่มีโทษ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่มีส่วนใดแก้ไขเพื่อให้จดสิทธิบัตรในพืชได้อย่างแน่นอน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรณีกฏหมายของสหรัฐอเมริกาให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในพืชแบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ ระบบสิทธิบัตร ซึ่งจะให้การคุ้มครองสิทธิบัตรพืช เฉพาะในพันธุ์พืชที่ขยายพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ เช่น กิ่ง หน่อ เหง้า ส่วนการคุ้มครองที่ระดับยีนหรือกรรมวิธีจะเรียกสิทธิบัตรการประดิษฐ์ และกฎหมายอีกระบบหนึ่งเรียกว่า การจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งจะให้การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่เฉพาะในพืชที่ขยายพันธุ์โดยอาศัยเพศ เช่น เมล็ด ดังนั้นในกรณีของกัญชาสายพันธุ์ใหม่ในสหรัฐอเมริกา (โดยทั่วไปกัญชาจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด) นักปรับปรุงพันธุ์จึงยื่นจดคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่หรือสิทธินักปรับปรุงพันธุ์ (PBR) ซึ่งระบบ UPOV 1991 มีข้อยกเว้นให้สามารถนำพันธุ์ใหม่ที่จดทะเบียนไว้แล้วมาใช้ในการศึกษา วิจัย พัฒนา ปรับปรุงพันธุ์ต่อยอดได้ โดยไม่ผิดกฎหมายและไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ทรงสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืช แต่หากจะผลิตเมล็ดพันธุ์ใหม่ขายต้องขออนุญาตเจ้าของพันธุ์ก่อน
ขณะที่กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของประเทศไทยประกอบด้วย 3 ส่วน คือ การจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ การคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นของชุมชน และการคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า โดยที่ในส่วนของการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่นั้น นักปรับปรุงพันธุ์พืชสามารถยื่นขอจดทะเบียนพันธุ์ใหม่ได้ทั้งในพืชที่ขยายพันธุ์โดยอาศัยเพศและพืชที่ขยายพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ โดยที่จะต้องเป็นชนิดพืชที่รัฐมนตรีออกประกาศให้ยื่นจดได้เสียก่อน สำหรับกัญชายังไม่ได้มีการประกาศให้สายพันธุ์ใหม่ของกัญชานำมาจดทะเบียนคุ้มครองได้ นอกจากนี้กัญชาทั่วไปที่พบในประเทศไทยจัดเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป กฎหมายกำหนดให้ผู้ใดจะนำไปใช้ในการศึกษา ทดลอง วิจัย ปรับปรุงพันธุ์ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า จะต้องขออนุญาตและทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กับกรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นไปตามหลักการของอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ
“ขอยืนยันว่าร่างที่จะปรับแก้กฏหมายใน พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ไม่มีประเด็นการแก้ไขที่จะทำให้สามารถจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชในไทยได้ ไม่ว่าจะเป็นกัญชาหรือพืชอื่นๆ ในประเทศก็ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ทั้งนั้น ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และขณะนี้ร่างกฏหมายคุ้มครองพันธุ์พืชยังมิได้มีการประกาศใช้แต่อย่างใด เนื่องจากอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้านทั้งจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว