เบื้องหลังจับ รอง ผอ.อ.ต.ก.เรียกสินบน 1.5 ล. นับเงินในรถ บอก‘เคยรับกับรายอื่นมาแล้ว’
ฉบับเต็ม! คำพิพากษาศาลอุธรณ์ เบื้องหลัง คดีรอง ผอ. อตก.เรียกหัวคิว จัดซื้ออาหารดิบเรือนจำ 6% เปิดข้อความสนทนาบนโต๊ะอาหาร อ้างเป็น ขรก.รับเงินไม่ได้ ผู้เสียหายหิ้ว 1 ล.มาส่งในรยนต์ ยื่นให้ลูกน้องนับ บอกผู้เสียหาย “เคยรับเงินประเภทนี้กับบุคคลอื่นมาแล้ว” ก่อน คุก 8 ปี
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2560 มีคำพิพากษาคดี นายพงศ์วิทย์ เหลืองช่วยโชค รองผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (รอง ผอ. อ.ต.ก.) เรียกรับเงิน 1.5 ล้านบาท จากผู้ประกอบการค้าอาหารดิบเรือนจำจังหวัดชุมพร เพื่อแลกกับการอนุมัติจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการรายดังกล่าวที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคู่ค้าช่วงของ อ.ต.ก. ในการจัดส่งอาหารดิบให้แก่เรือนจำจังหวัดชุมพร สั่งจำคุกนายพงศ์วิทย์ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 8 ปี นายวิชา สัจจาวรรรณ์ จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 5 ปี 4 เดือน ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นอุทธณ์ ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ นายวิชา จำเลยที่ 2 ได้ขอถอนคำอุทธรณ์คดี ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงรับโทษจำคุก 5 ปี 4 เดือนไปตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดของศาลชั้นต้น
18 ม.ค.2561 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตฯ ที่มีคำพากษาเมื่อวันที่ 28 พ.ย.2560 พิพากษายืนให้จำคุก นายพงศ์วิทย์ เป็นเวลา 8 ปี โดยไม่รอลงอาญา
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำความเป็นมาของคดีนี้มารายงานไปแล้วว่า ภายหลัง อ.ต.ก.ทำ สัญญาจะซื้อจะขายอาหารดิบกับจังหวัดชุมพรเมื่อวันที่ 11 พ.ย.2556 (สัญญาเลขที่ 72/2557) โดยให้ อ.ต.ก. จัดส่งเครื่องบริโภคให้แก่เรือนจำจังหวัดชุมพร เป็นเวลา 324 วน นับตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.2556- 30 ก.ย.2557 เป็นเงิน 20,270,250 บาท อ.ต.ก.ได้จ้าง หจก.คณึงพาณิชย์ เป็นตัวแทนช่วง (คู่ค้าช่วง) จัดส่งอาหารดิบให้แก่เรือนจำชุมพร แทน ทาง อ.ต.ก.ได้จ่ายเงินค่าอาหารดิบงวด เดือนพ.ย.2556- ก.พ.2557 ตามปกติ แต่เมื่อถึงกำหนดเดือน มี.ค. ,เม.ย.และ พ.ค. 2557 อ.ต.ก.มิได้จ่ายเงินให้แก่เอกชนคู่ค้าช่วง จนมีการโทรศัพท์ทวงถาม ขณะที่นายพงศ์วิทย์เรียกสินบน 6%-ของวงเงินในสัญญา ต่อมาประมาณปลายเดือน เม.ย.2557 เอกชนได้ไปร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) และ วันที่ 30 พ.ค.2557 ร้องทุกข์ต่อพนักงานตำรวจกองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ปปป.ตร.) จากนั้นมีการวางแผนร่วมกับเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ช. และ เจ้าพนักงานตำรวจ ปปป.เพื่อจับกุมนายพงศ์วิทย์กับพวก (อ่านประกอบ: คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ รอง ผอ.อ.ต.ก.เรียกสินบน 6% เจรจาทางโทรศัพท์ 5 ครั้ง)
ต่อไปนี้เป็นเหตุการณ์ในการจับกุมนายพงศ์วิทย์กับพวก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงมารายงาน
@ล่อออกจากถ้ำ – นัดพบที่ร้านอาหาร ขอจ่าย 1.5 ล.แบ่ง 2 งวด
เจ้าหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ช. และ เจ้าพนักงานตำรวจ ปปป. ให้โจทก์ร่วม นายวิเชียร สุวรรณสิทธิ์ เจ้าของ หจก.คณึงพาณิชย์ นัดพบจำเลยที่ 1 มาพบที่ร้านอาหารพะนะคอน จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2557 เวลา 19.00 น. โดยให้โจทก์ร่วมสวมแว่นตาและพกปากกาซึ่งดัดแปลงเป็นอุปกรณ์ที่ใช้บันทึกภาพเคลื่อนไหว และเสียงไว้ด้วย ในการเจรจาดังกล่าว โจทก์ร่วม ผู้เสียหายที่ 1 และ นางวรรณา เลิศพนากร ภรรยาโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.คณึงพาณิชย์ ตกลงจะจ่ายเงินให้นายงพงศ์วิทย์ จำนวน 1,500,000 บาท แบ่งจ่ายเป็น 2 งวด ครั้งแรก 1,000,000 บาท เพื่อให้นายพงศ์วิทย์ จําเลยที่ 1 เบิกจ่ายค่าอาหารดิบงวดเดือนมีนาคม 2557 ให้แก่ผู้เสียหาย และเมื่อโจทก์ร่วมนําเงินมาให้อีก 500,000 บาท จําเลยที่ 1 จะเบิกจ่ายเงิน ค่าอาหารดิบสําหรับงวดเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม 2557 ให้แก่ผู้เสียหายที่ 1
@ถอนเงิน 5 แสน- นัดพบ 2 ครั้ง
จากนั้นโจทก์ร่วมและนางวรรณาเตรียมเงินสด 1,000,000 บาท เพื่อจะมอบให้แก่จําเลยที่ 1 โดยนางวรรณาได้เบิกถอนเงินสดจากธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาสวีจํานวน 500,000 บาท เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเงินที่จะนํามามอบให้แก่จําเลยที่ 1 จากนั้นโจทก์ร่วมติดต่อนัดหมายกับจําเลยที่ 1 เพื่อส่งมอบเงินในวันที่ 17 มิ.ย. 2557 เวลา 12.30 นาฬิกา ที่ห้องอาหารของโรงแรมนนทบุรีพาเลซ
ก่อนถึงเวลานัดโจทก์ร่วมเดินทางไปพบนายศรชัย ชูวิเชียร เจ้าหน้าที่สํานักงาน ป.ป.ช. และนําธนบัตร 100,000 บาท ซึ่งเป็นเงินส่วนหนึ่ง ของเงิน 1,000,000 บาท ดังกล่าวมาลงลายมือชื่อพร้อมทั้งถ่ายสําเนาบัตรไว้ เพื่อนําไปลงบันทึกประจําวัน เจ้าหน้าที่สํานักงาน ป.ป.ช. มอบแว่นตาและปากกาให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อใช้บันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียงขณะพูดคุยกับจําเลยที่ 1 โดยมีร้อยตํารวจเอกหัตถพล ทองคํา กับพวก เจ้าพนักงานตํารวจแต่งกายนอกเครื่องแบบจํานวนหนึ่งไปสังเกตการณ์อยู่ที่ห้องอาหารดังกล่าวด้วย
@หิ้ว 1 ล.ให้กลางโต๊ะอาหาร-ปฏิเสธอ้างเป็น ขรก.รับเงินไม่ได้ ขอให้ลูกน้องแทน
เมื่อพยานทั้งสองเดินทางไปถึงโรงแรมนนทบุรีพาเลซ ได้เดินเข้าไปในร้านอาหารของโรงแรม ส่วนผู้เสียหายที่ 2 และ น.ส.วิวรรณดา บุตรโจทก์ร่วมนั่งรออยู่ภายในรถยนต์ของโจทก์ร่วม พยานทั้งสองพบจําเลยที่ 1 นั่งอยู่กับจําเลยที่ 2 พยานทั้งสองไม่เคยรู้จักจําเลยที่ 2 มาก่อน จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 นั่งอยู่ด้านซ้ายและด้านขวาของโต๊ะอาหารส่วนพยานทั้งสองนั่งตรงกลางระหว่างจําเลยทั้งสอง จากนั้นมีการพูดคุยกันสักพักแล้ว โจทก์ร่วมขอส่งมอบเงิน 1,000,000 บาท ให้แก่จําเลยที่ 1 ที่โต๊ะอาหารดังกล่าว แต่จําเลยที่ 1 ไม่รับ อ้างว่าตนเป็นข้าราชการไม่สามารถรับเงินได้และจะให้จําเลยที่ 2 (นายวิชา สัจจวรรณ์) รับแทน โดยนําเงินไปใส่ไว้ในรถยนต์ของจําเลยที่ 1 ซึ่งจําเลยที่ 2 จะนั่งรออยู่ ในรถยนต์ดังกล่าว แต่โจทก์ร่วมปฏิเสธเนื่องจากไม่เคยรู้จักกับจําเลยที่ 2 มาก่อน และยืนยันว่าจะมอบเงินให้แก่จําเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว
@ขอเปลี่ยน รับในรถยนต์แทน ยื่นให้ลูกน้องนับก่อนครบ 1 ล.ไหม
เมื่อจําเลยที่ 1 (นายพงศ์วิทย์) ไม่ยอมรับเงิน โจทก์ร่วม (นายวิเชียร ) จึงเดินออกจากร้านอาหารไป ขณะอยู่ที่บริเวณด้านหน้าโรงแรม โจทก์ร่วมโทรศัพท์แจ้งเหตุการณ์ที่จําเลยที่ 1 ไม่ยอมรับเงินให้นายศรชัย และร้อยตํารวจเอกหัตถพลทราบ บุคคลทั้งสองแจ้งว่าโจทก์ร่วมต้องมอบเงินให้แก่ จําเลยที่ 1 เท่านั้น โจทก์ร่วมจึงโทรศัพท์แจ้งจําเลยที่ 1 ว่าหากไม่รับเงินตนจะเดินทางกลับจังหวัดชุมพร จําเลยที่ 1 ตอบว่าจะไปรับเงินภายในรถยนต์ของโจทก์ร่วมหลังจากนั้นประมาณ 5 นาที จําเลยทั้งสองจึงเดินออกจากร้านอาหารไปที่รถยนต์ของโจทก์ร่วม ขณะนั้นผู้เสียหายที่ 2 และ น.ส.วิวรรณดา ลงจากรถไปแล้ว จําเลยที่ 2 เข้าไปนั่งยังที่นั่งผู้โดยสารด้านหน้าข้างคนขับ ส่วนจําเลยที่ 1 นั่งยังที่นั่งข้างหลังด้านซ้าย โจทก์ร่วมเอี้ยวตัวส่งซองกระดาษสีน้ําตาลบรรจุเงิน 1,000,000 บาท ให้แก่จําเลยที่ 1 จําเลยที่ 1 รับซองดังกล่าวแล้วส่งให้แก่จําเลยที่ 2 เพื่อนับเงิน โจทก์ร่วมแจ้งว่าซองดังกล่าวบรรจุธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท มัดละ 100 ฉบับ จํานวน 10 มัด เมื่อจําเลยที่ 2 นับเงินเสร็จแล้วโจทก์ร่วมขอให้จําเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงิน ค่าอาหารดิบสําหรับงวดเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน 2557 โดยเร็ว หากได้รับเงิน ค่าอาหารดังกล่าวแล้วจะมอบเงินส่วนที่เหลืออีก 500,000 บาท ให้แก่จําเลยที่ 1 จากนั้นจําเลยทั้งสองได้ออกไปจากรถยนต์โจทก์ร่วม
@ 2 จนท.ป.ป.ช.เบิกความมัด-วางแผนจับ
โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายสุชาติ ฉิมน้อย และ นายทรงชัย บุตรงาม เจ้าหน้าที่สํานักงาน ป.ป.ช. เบิกความทํานองเดียวกันว่า ประมาณเดือนมิถุนายน 2557 โจทก์ร่วมและนางวรรณาเดินทางมาพบกับนายสุชาติ แจ้งเรื่องที่จําเลยที่ 1 เรียกเงินจากโจทก์ร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่จําเลยที่ 1 จะอนุมัติการเบิกจ่ายค่าอาหารดิบให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 โจทก์ร่วมนําแผ่นซีดีบันทึกเสียง การสนทนาระหว่างโจทก์ร่วมกับจําเลยที่ 1 มาแสดงต่อนายสุชาติด้วย แต่นายสุชาติ เห็นว่าพยานหลักฐานดังกล่าวยังไม่เพียงพอจึงแนะนําให้โจทก์ร่วมแจ้งเรื่องดังกล่าว ต่อเจ้าพนักงานตํารวจกองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อสืบสวนหาพยานหลักฐานต่อไป ได้มีการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จากนั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติให้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการ ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สํานักงานตํารวจแห่งชาติดําเนินการต่อไป โดยสํานักงาน ป.ป.ช. ยังคงประสานงานกับเจ้าพนักงานตํารวจเกี่ยวกับคดีดังกล่าวด้วย
ต่อมาวันที่ 6 มิ.ย. 2557 นายสุชาติ มอบแว่นตาและปากกาซึ่งดัดแปลงเป็นเครื่องมือพิเศษ ที่ใช้ในการบันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียงให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อใช้บันทึกภาพและเสียง ขณะพูดคุยกับจําเลยที่ 1 ที่ร้านอาหารพะนะคอน หลังจากโจทก์ร่วมพูดคุยต่อรองกับจําเลยที่ 1 แล้วได้นําอุปกรณ์ดังกล่าวมาคืน นายสุชาติมอบหมายให้นายทรงชัยดําเนินการถอดข้อมูลจากอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นข้อความ
@ ใช้อุปกรณ์พิเศษบักทึกภาพ เสียง -ส่งคนนั่งประกบ
จากนั้นวันที่ 16 มิ.ย.2557 โจทก์ร่วมเดินทางมาพบนายสุชาติ และแจ้งว่าได้นัดหมายกับจําเลยที่ 1 เพื่อส่งมอบเงิน 1,000,000 บาท ที่ห้องอาหาร ของโรงแรมนนทบุรีพาเลซ ในวันที่ 17 มิ.ย. 2557 นายสุชาติจึงรายงาน ต่อเลขาธิการ ป.ป.ช.เพื่อประสาน ขอกําลังเจ้าพนักงานตํารวจสถานีตํารวจภูธรนนทบุรีเข้าร่วมจับกุม ทั้งได้มอบแว่นตา และปากกาซึ่งเป็นอุปกรณ์พิเศษให้โจทก์ร่วมสวมใส่เพื่อบันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียงขณะพูดคุยกับจําเลยที่ 1 รวมทั้งมอบกล้องวิดีโอให้แก่นายทรงชัยซึ่งจะนั่งสังเกตการณ์ใกล้กับโต๊ะของจําเลยทั้งสองเพื่อบันทึกภาพเคลื่อนไหว ขณะโจทก์ร่วมกับจําเลยทั้งสองอยู่ในห้องอาหาร นายทรงชัยนํากล้องวิดีโอ ใส่กระเป๋าถือซึ่งได้เจาะช่องไว้เพื่อให้กล้องสามารถบันทึกภาพเคลื่อนไหวจากภายในกระเป๋าได้โดยนําฟิล์มปิดพรางช่องดังกล่าวไว้แล้วหันเลนส์กล้องไปที่โต๊ะอาหารที่โจทก์ร่วม นางวรรณา และจําเลยทั้งสองนั่งอยู่ห่างจากโต๊ะของนายทรงชัยประมาณ 1.5 เมตร นายทรงชัยได้ยินโจทก์ร่วมและจําเลยทั้งสองสนทนากันสักพักแล้วเห็น โจทก์ร่วมลกจากโต๊ะอาหารเดินออกไปข้างนอก สักพักจึงได้ยินเสียงเรียกเข้าดังขึ้นจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจําเลยที่ 1 แล้วได้ยินจําเลยที่ 1 พูดโทรศัพท์ว่า “เอางี้แล้วกัน เดี๋ยวผมออกไปนั่งในรถด้วยกันกับคนของผม” แล้วจําเลยทั้งสองเดินออกจากห้องอาหารไปที่รถยนต์ของโจทก์ร่วม จําเลยที่ 1 เปิดประตูด้านหน้าข้างซ้ายแล้วก้มตัว พูดกับโจทก์ร่วมที่อยู่ภายในรถยนต์ แล้วจําเลยที่ 2 เข้าไปนั่งในรถยนต์ดังกล่าว ที่ที่นั่งผู้โดยสารด้านหน้า และจําเลยที่ 1 เข้าไปนั่งที่ที่นั่งผู้โดยสารด้านหลังข้างซ้าย จากนั้นประมาณ 10 นาที จําเลยทั้งสองเปิดประตูและลงจากรถยนต์ของโจทก์ร่วมแล้ว เดินออกไปโดยจําเลยที่ 2 ถือซองสีน้ำตาลออกมาด้วย ขณะที่จําเลยทั้งสองเดินไปที่รถยนต์ของตน เจ้าพนักงานตํารวจเข้าควบคุมตัวจําเลยทั้งสอง ภายหลังนายทรงชัย ได้คัดลอกไฟล์ภาพและเสียงซึ่งบันทึกไว้ในแว่นตาและปากกาที่มอบให้แก่โจทก์ร่วมไปมาบันทึกไว้ในอุปกรณ์เก็บข้อมูล (Thumb Drive) และแผ่นซีดี และนําภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกได้จากกล้องวิดีโอที่นายทรงชัยใช้ ในวันเกิดเหตุและภาพจากแว่นตาที่โจทก์ร่วมสวมใส่มาทําเป็นภาพนิ่งตามภาพถ่าย และถอดข้อความสนทนาที่บันทึกได้จากแว่นตา ปากกา และกล้องวิดีโอ
@ 3 ตำรวจเบิกความจัด 4 ทีมในวันรวบ
นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมยังมี ร้อยตํารวจเอกรฐนนท์ หรือ ธรรมารัตน์ ทิพย์คูณ หรือ เรืองศิริสุธากูล พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ร้อยตํารวจเอกหัตถพล ทองคํา และ ดาบตํารวจวันชัย ศิริมาณนท์ เจ้าพนักงานตํารวจ สถานีตํารวจภูธรเมืองนนทบุรี ผู้จับกุมเป็นพยานเบิกความได้ความว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2557 โจทก์ร่วม ร้องทุกข์ต่อร้อยตํารวจเอกรฐนนท์ให้ดําเนินคดีแก่จําเลยที่ 1 ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ตามรายงานประจําวันเกี่ยวกับคดี ร้อยตํารวจเอกรฐนนท์สอบคําให้การผู้เสียหายที่ 2 โจทก์ร่วม และนางวรรณา ทั้งรวบรวมพยานหลักฐาน เนื่องจากเป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีอาญา ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ จึงส่งสํานวน ให้แก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนข้อเท็จจริง ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสํานวนดังกล่าว แล้วเห็นว่า พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานไว้บางส่วนแล้วจึงมีมติให้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดําเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีคําสั่งที่ 69/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ดําเนินการสืบสวนสอบสวนเรื่องที่จําเลยที่ 1 ถูกกล่าวหา
@ นายดาบ ตร.รวบลูกน้อง-คน ป.ป.ช.จับลูกพี่
ต่อมาวันที่ 17 มิ.ย. 2557 ร้อยตํารวจเอกหัตถพล ได้รับมอบหมาย จากพันตํารวจเอกสุรพงศ์ ถนอมจิตร รองผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัดนนทบุรี รักษาการในตําแหน่งผู้กํากับการ สถานีตํารวจภูธรเมืองนนทบุรี เรียกประชุมเพื่อวางแผนจับกุม โดยวางแผนแบ่งกําลังเป็น 4 ชุด ให้เจ้าพนักงานตํารวจหนึ่งชุด อยู่ในห้องอาหาร อีกหนึ่งชุดอยู่ที่ลานจอดรถ และเจ้าหน้าที่สํานักงาน ป.ป.ช. หนึ่งชุดอยู่ในห้องอาหาร และอีกหนึ่งชุด อยู่บริเวณด้านนอกห้องอาหาร เวลาประมาณ 11 นาฬิกาเศษ ร้อยตํารวจเอกหัตถพล เข้าไปภายในห้องอาหาร พบจําเลยที่ 1 นั่งอยู่กับจําเลยที่ 2 แล้วร้อยตํารวจเอกหัตถพลเข้าไปนั่งที่โต๊ะอาหารห่างจากจําเลยทั้งสองประมาณ 5 เมตร สักครู่หนึ่งโจทก์ร่วม และนางวรรณาเดินเข้ามาภายในห้องอาหารแล้วนั่งร่วมโต๊ะกับจําเลยทั้งสอง ร้อยตํารวจเอกหัตถพลได้ยินบทสนทนาของจําเลยทั้งสองกับโจทก์ร่วม ได้ความว่า โจทก์ร่วมจะมอบเงินจํานวน 1,000,000 บาท ให้แก่จําเลยที่ 1 โดยจําเลยที่ 1 ให้โจทก์ร่วมมอบให้แก่จําเลยที่ 2 แทน แต่โจทก์ร่วมยืนยันจะมอบให้แก่จําเลยที่ 1 เท่านั้น สักครู่หนึ่งเห็นโจทก์ร่วมลุกออกไปด้านนอกห้องอาหาร ในเวลาต่อเนื่องกัน โจทก์ร่วมโทรศัพท์ถึงร้อยตํารวจเอกหัตถพลเพื่อสอบถามว่าจะมอบเงินให้แก่จําเลยที่ 1 ภายในรถยนต์ของโจทก์ร่วมได้หรือไม่ ร้อยตํารวจเอกหัตถพลตอบว่าทําได้ แล้วร้อยตํารวจเอกหัตถพลเห็นจําเลยทั้งสองเดินออกจากห้องอาหารไป ร้อยตํารวจเอกหัตถพลจึงโทรศัพท์แจ้งดาบตํารวจวันชัยซึ่งอยู่ที่บริเวณลานจอดรถว่าจําเลยทั้งสองกําลังเดินออกไปบริเวณลานจอดรถเพื่อไปรับเงินภายในรถยนต์ ของโจทก์ร่วม ให้ดาบตํารวจวันชัยคอยสังเกตการณ์ แล้วร้อยตํารวจเอกหัตถพล เดินไปสังเกตการณ์อยู่บริเวณหน้าต่างภายในห้องอาหารซึ่งเป็นกระจกใส ดาบตํารวจวันชัยเห็นจําเลยทั้งสองเดินไปที่รถยนต์ของโจทก์ร่วม เมื่อจําเลยทั้งสองเข้าไปในรถยนต์ของโจทก์ร่วมประมาณ 5 นาที ก็ออกมา ร้อยตํารวจเอกหัตถพล จึงให้สัญญาณแก่ดาบตํารวจวันชัยเพื่อร่วมกันเดินเข้าไปควบคุมตัวจําเลยที่ 2 ซึ่งถือซองกระดาษสีน้ำตาลบรรจุเงินสดขณะกําลังเดินออกจากรถยนต์ของโจทก์ร่วม ส่วนจําเลยที่ 1 มีเจ้าพนักงานตํารวจอีกส่วนหนึ่งพร้อมเจ้าหน้าที่สํานักงาน ป.ป.ช. เข้าควบคุมตัวเช่นกัน
ชั้นจับกุมจําเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ร้อยตํารวจเอกหัตถพลยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อซัมซุง หมายเลขโทรศัพท์ 089-016 0888 ได้จากจําเลยที่ 1 และยึดเงินสด 1,000,000 บาท ซึ่งบรรจุในซองกระดาษสีน้ำตาลได้จากจําเลยที่ 2 ร้อยตํารวจเอกหัตถพลตรวจสอบโทรศัพท์ดังกล่าวของจําเลยที่ 1 พบรายละเอียดการติดต่อกับโจทก์ร่วม เมื่อตรวจสอบธนบัตร ดังกล่าวพบว่ามีธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จํานวน 100 ฉบับ มีหมายเลขตรงกับสําเนาธนบัตร
@ หมายเหตุ : ภาพนายพงศ์วิทย์ เหลืองช่วยโชค กำลังถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เข้าจับกุมตัว พร้อมของกลางเงินสด 1 ล้านบาท จากไทยรัฐ (https://www.thairath.co.th/content/430225)
ชั้นสอบสวนร้อยตํารวจเอกรฐนนท์ แจ้งข้อกล่าวหาจําเลยที่ 1 ว่าเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 และมาตรา 11 และแจ้งข้อหาแก่จําเลยที่ 2 ว่าสนับสนุนจําเลยที่ 1 กระทําการดังกล่าว จําเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ดังนี้
@ศาลเชื่อพยานพูดความจริง
เห็นว่า โจทก์ร่วมและนางวรรณาไม่เคยมีสาเหตุขัดแย้งโกรธเคืองกับจําเลยที่ 1 ส่วนนายสุชาติ นายทรงชัย ร้อยตํารวจเอกรฐนนท์ ร้อยตํารวจเอกหัตถพลและดาบตํารวจวันชัย เป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่รู้จักและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจําเลยที่ 1 มาก่อน ประกอบกับจําเลยที่ 1 เป็นพนักงานของรัฐซึ่งมีตําแหน่งหน้าที่ในระดับสูง จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ดังกล่าวจะมาเบิกความปรักปรําใส่ร้ายจําเลยที่ 1 อันเป็นการเสี่ยงต่อการถูกดําเนินคดีอาญาหรือความผิดวินัยข้าราชการอย่างร้ายแรงประกอบกับพยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความได้ข้อเท็จจริงโดยละเอียดสอดคล้องเชื่อมโยงต่อเนื่องเป็นไปในแนวเดียวกัน เชื่อว่า พยานโจทก์ทั้งหมดดังกล่าวเบิกความไปตามจริงข้อเท็จจริง
@จำเลยจำนนไม่ปฏิเสธว่าไม่ใช่คนที่ถูกถ่ายวิดิโอในวันถูกรวบ
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนจําเลยที่ 1 ถูกจับกุม จําเลยที่ 1 ได้เรียกเงินจากโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 1 จํานวน 1,700,000 บาท จากการที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้เป็นคู่สัญญากับองค์การตลาด เพื่อเกษตรกรตามสัญญาตัวแทนค้าต่างในการที่ผู้เสียหายที่ 1 เป็นตัวการส่งมอบสินค้า จําพวกวัตถุดิบสําหรับปรุงอาหารให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจําจังหวัดชุมพรเป็นเวลา 324 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 แต่โจทก์ร่วมปฏิเสธอ้างว่าไม่มีเงิน จําเลยที่ 1 จึงไม่ลงลายมือชื่ออนุมัติจ่ายเงิน ค่าสินค้าที่ผู้เสียหายที่ 1 ส่งมอบให้แก่เรือนจําจังหวัดชุมพรสําหรับงวดเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน 2557 เมื่อโจทก์ร่วมทวงถาม จําเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ร่วมจ่ายเงิน ที่เรียกนั้นก่อน โจทก์ร่วมจึงไปร้องเรียนที่สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และร้องทุกข์ที่กองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จากนั้นจึงได้มีการวางแผนจับกุมจําเลยที่ 1 โดยในการเจรจาระหว่างโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 กับจําเลยที่ 1 ที่ร้านอาหารพะนะคอน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557 นั้น นอกจากจะมีโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 เป็นประจักษ์พยานแล้ว ยังมีพยานหลักฐานเป็นภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงที่บันทึกได้ในระหว่างที่โจทก์ร่วมเจรจาต่อรองกับจําเลยที่ 1 ตาม กับเครื่องมือบันทึกข้อมูล และมีการถอดข้อมูลเสียงเป็นข้อความ ซึ่งจําเลยทั้งสองไม่ได้นําสืบปฏิเสธ
จึงรับฟัง ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในวันที่ 6 มิ.ย. 2557 โจทก์ร่วมเจรจาต่อรองกันว่าโจทก์ร่วมจะมอบเงิน 1,500,000 บาท แก่จําเลยที่ 1 เป็นค่าตอบแทนในการที่ จําเลยที่ 1 อนุมัติจ่ายเงินในนามขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกรเป็นค่าอาหาร และวัตถุดิบที่ผู้เสียหายที่ 1 ส่งมอบให้เรือนจําจังหวัดชุมพรสําหรับงวดเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน 2557 โดยโจทก์ร่วมต้องจ่ายเงินให้จําเลยที่ 1 จํานวน 1,000,000 บาท ก่อน ที่เหลืออีก 500,000 บาท โจทก์ร่วมจะจ่ายให้จําเลยที่ 1 เมื่อจําเลยที่ 1 ลงชื่ออนุมัติจ่ายเงินค่าอาหารและวัตถุดิบให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 แล้ว
@หลักฐานครบ-บอกผู้เสียหาย “เคยรับเงินประเภทนี้กับบุคคลอื่นมาแล้ว”
นอกจากนี้ ในวันที่จําเลยที่ 1 ถูกจับกุมคือวันที่ 17 มิ.ย. 2557 นั้น เป็นวันนัดให้โจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 นําเงิน 1,000,000 บาท ไปมอบให้จําเลยที่ 1 ที่ห้องอาหารภายในโรงแรมนนทบุรีพาเลซ ในวันดังกล่าว นอกจากจะมีโจทก์ร่วมเป็นประจักษ์พยานแล้ว ยังมีผู้เสียหายที่ 2 นายสุชาติ นายทรงชัย ร้อยตํารวจเอกหัตถพล และดาบตํารวจวันชัยเป็นพยานแวดล้อม ยิ่งกว่านั้น ยังมีวัตถุพยานคือภาพเคลื่อนไหว พร้อมเสียงที่บันทึก ตามแผ่นซีดีหมาย วจ.1 และ วจ.3 มาแสดงประกอบ โดยที่จําเลยที่ 1 ไม่ได้นําพยานหลักฐานมาสืบว่าบุคคลในภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกได้นั้นไม่ใช่จําเลยทั้งสอง และภาพเคลื่อนไหวกับเสียงตามที่ปรากฏในแผ่นซีดีหมาย ไม่ถูกต้อง หรือมีการปรุงแต่งดัดแปลงให้ผิดไปจากความจริงแต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในวันที่ 17 มิ.ย. 2557 จําเลยทั้งสองเข้าไปนั่งในรถของโจทก์ร่วม จากนั้น
โจทก์ร่วมมอบเงิน 1,000,000 บาท ให้แก่จําเลยที่ 1 แล้วจําเลยที่ 1 มอบเงิน ดังกล่าวให้จําเลยที่ 2 ตรวจนับ ระหว่างนั้น จําเลยที่ 2 พูดกับโจทก์ร่วมทํานองว่า ได้เคยกระทําการรับเงินประเภทนี้กับบุคคลอื่นมาแล้ว เมื่อตรวจนับได้เงินครบ 1,000,000 บาท จําเลยที่ 1 พูดทํานองว่า จะไปอนุมัติเงินค่าอาหารที่ยังไม่อนุมัตินั้น
และให้โจทก์ร่วมจ่ายเงินที่เหลืออีก 500,000 บาท นับว่าโจทก์และโจทก์ร่วม มีพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร ภาพถ่าย และวัตถุพยานที่สอดคล้องต้องกันน่าเชื่อถือ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง ไม่มีข้อพิรุธสงสัยดังที่จําเลยที่ 1 กล่าวอ้างในอุทธรณ์
@เงิน 1 ล.อ้างเงินใช้หนี้ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน
ส่วนที่จําเลยที่ 1 นําสืบทํานองว่า เงิน 1,000,000 บาท ดังกล่าว เป็นเงินที่โจทก์ร่วมชําระคืนจําเลยที่ 2 เนื่องจากโจทก์ร่วมเคยกู้ยืมจากจําเลยที่ 1 หลายครั้งแล้วไปเอาเงินมาจากจําเลยที่ 2 รวมเป็นต้นเงิน 1,000,000 บาท นั้น เห็นว่า ทางนําสืบของจําเลยที่ 1 ได้ความ เพียงว่า จําเลยที่ 1 รู้จักโจทก์ร่วมเนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 มาทําสัญญากับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 1 กับโจทก์ร่วมมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันหรือเป็นเพื่อนกันหรือเป็นญาติกันแต่อย่างใด จําเลยที่ 1 กลับให้โจทก์ร่วม ยืมเงินเป็นจํานวนรวมถึง 1,000,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินจํานวนมากโดยไม่มีการทําหลักฐานการกู้ยืมเงินไว้เป็นหลักฐาน ทั้งจําเลยที่ 1 ก็ไม่ได้นําสืบแสดงถึงที่มา ของเงินดังกล่าวว่านําเงินมาจากที่ใดเพื่อให้โจทก์ร่วมกู้ยืม จําเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างตนเองเป็นพยานไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่น่าเชื่อถือกว่านี้มาแสดงเพื่อสนับสนุน ข้ออ้างของตน ทางนําสืบของจําเลยที่ 1 จึงไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จําเลยที่ 1 กระทําความผิด ฐานเป็นพนักงานเรียกรับเงินโดยมิชอบเพื่อกระทําการอย่างใดในหน้าที่ ที่ศาลชั้นต้น วินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจําเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
(คดีหมายเลขแดงที่ 16175/2560)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
หัวคิว 6% ‘นำไปให้ผู้ใหญ่'! เปิดคำพิพากษาคดีบิ๊ก อ.ต.ก.รับสินบน 1.5 ล.
จำคุกอดีตรอง ผอ.อตก.8 ปี! เปิดใจผู้ถูกเรียกหัวคิว 1.5 ล. “สังคมจะได้ดีขึ้น”
ศาลคดีทุจริตฯจำคุก รอง ผอ.อ.ต.ก. 8 ปี เรียกรับหัวคิวจัดซื้ออาหารดิบ 1.5 ล.
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ รอง ผอ.อ.ต.ก.เรียกสินบน 6% เจรจาทางโทรศัพท์ 5 ครั้ง