ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560
วันที่ 18 ธันวาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยให้รับความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ยธ. เสนอว่า โดยที่พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไป ประกอบกับในปัจจุบันหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังบางเรื่องยังล้าสมัย ไม่ตอบสนองต่อนโยบายทางอาญาและหลักทัณฑปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมาะสมต่อการบำบัดฟื้นฟู และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังให้สามารถกลับตนเป็นพลเมืองดีของสังคม ไม่ยืดหยุ่นและไม่เอื้ออำนวยต่อการบริหารงานของกรมราชทัณฑ์ในปัจจุบันเท่าที่ควร ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่จึงสมควรปรับปรุงกฎกระทรวงมหาดไทยและกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังมีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ตอบสนองต่อนโยบายทางอาญาและหลักทัณฑปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงไป มีการบำบัดฟื้นฟูที่เหมาะสม พัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังให้สามารถกลับตนเป็นพลเมืองดีของสังคม การป้องกันการกระทำผิดซ้ำหรือการกำหนดให้นักโทษเด็ดขาดได้รับประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การเลื่อนชั้น การแต่งตั้งนักโทษเด็ดขาดให้เป็นผู้ช่วยเหลือ เจ้าพนักงาน การลดวันต้องโทษจำคุก การพักการลงโทษ การส่งออกไปฝึกวิชาชีพ การศึกษาอบรมนอกเรือนจำ ซึ่งจะทำให้การควบคุมผู้ต้องขังและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังมีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน อนุสัญญาและกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีตลอดจนเอื้ออำนวยต่อการบริหารงานของกรมราชทัณฑ์ จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดให้ยกเลิกกฎกระทรวงมหาดไทยที่ออกตามความในมาตรา 58 พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวม 16 ฉบับ เพื่อปรับปรุงให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันและเป็นไปตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ดังนี้
1. กำหนดบทนิยามคำว่า “เรือนจำ” “ผู้ต้องขัง” “นักโทษเด็ดขาด” “คนต้องขัง” “คนฝาก” “การจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง” “ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจำ” ฯลฯ
2. กำหนดให้มีมาตรการบังคับโทษด้วยวิธีการอื่นและการกำหนดสถานที่อื่นเป็นสถานที่คุมขัง
3. กำหนดประเภทของเครื่องพันธนาการที่จะใช้กับผู้ต้องขัง แบบและขนาดของเครื่องพันธนาการแต่ละประเภท ประเภทของเครื่องพันธนาการที่จะใช้กับผู้ต้องขังแต่ละกลุ่ม
4. กำหนดลักษณะของอาวุธอื่นนอกจากอาวุธปืนที่เจ้าพนักงานเรือนจำพึงมีหรือใช้ในการปฏิบัติหน้าที่
5. กำหนดรายละเอียดระบบจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง การควบคุม การแยกคุมขังและการย้ายผู้ต้องขัง
6. กำหนดขั้นตอนการร้องทุกข์ ยื่นเรื่องราว ถวายฎีกาสำหรับผู้ต้องขัง
7. กำหนดขั้นตอนการร้องเรียนและการดำเนินการกรณีผู้ต้องขังถูกล่วงละเมิดทางเพศจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าพนักงานเรือนจำ และกรณีผู้ต้องขังหญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศก่อนที่จะเข้ามาอยู่ในเรือนจำ
8. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้ต้องขัง เจ้าพนักงานเรือนจำ และส่วนที่เรือนจำเก็บไว้เป็นทุนหมุนเวียน
9. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินทำขวัญให้แก่ผู้ต้องขังซึ่งได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือตาย เนื่องจากการงานในเรือนจำหรือนอกเรือนจำ
10. กำหนดชั้นของนักโทษเด็ดขาด กำหนดหลักเกณฑ์การจัดชั้นให้ผู้ต้องขังเข้าใหม่ หลักเกณฑ์และวิธีการในการเลื่อนชั้นนักโทษเด็ดขาดกรณีปกติ หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเลื่อนชั้นนักโทษเด็ดขาดกรณีมีเหตุพิเศษ
11. กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการแต่งตั้งนักโทษเด็ดขาดทำหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจำ
12. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดวันต้องโทษจำคุกนักโทษเด็ดขาด
13. กำหนดลักษณะของงานสาธารณะและงานอื่นใดเพื่อประโยชน์ของทางราชการ กำหนดให้สามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการสนับสนุนการควบคุมนักโทษที่ออกไปทำงานก็ได้
14. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพักการลงโทษนักโทษเด็ดขาด
15. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตให้นักโทษเด็ดขาดออกไปฝึกวิชาชีพในสถานประกอบการนอกเรือนจำ
16. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตให้นักโทษเด็ดขาดออกไปรับการศึกษานอกเรือนจำ
17. กำหนดเงื่อนไขต้องห้ามกระทำการ เงื่อนไขให้กระทำการ หลักการให้สามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการสนับสนุนการควบคุมนักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษ
18. กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการส่งผู้ต้องขังป่วยออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ
19. กำหนดลักษณะของสิ่งของที่อนุญาตและไม่อนุญาตให้เก็บรักษาไว้ในเรือนจำและวิธีการดำเนินการกับสิ่งของต้องห้ามตามมาตรา 73 กรณีที่ไม่มีการดำเนินคดี
20. กำหนดกระบวนการสอบสวนกรณีผู้ต้องขังกระทำผิดวินัย ลักษณะการกระทำผิดที่ผู้บัญชาการเรือนจำสามารถลงโทษทางวินัยได้ในแต่ละสถาน การเยียวยาผู้ต้องขังหากต้องมีการเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัย และการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย